Health Care


วิธีป้องกันภัยหนาว

สวัสดีค่ะ   เพื่อสุขภาพที่ดีบอกวิธีป้องกันภัยหนาว ดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอก

     เมื่ออากาศเย็นพัดมาเยือนหลายๆ คนอาจจะรู้สึกชื่นชอบ แต่สิ่งสำคัญที่มากับความหนาวเย็น คือผลที่ส่งต่อสภาพผิวพรรณของร่างกายไม่ว่าจะเป็น สภาพผิวที่แตกลอกเป็นขุย อาการไข้หวัด ในปัจจุบัน มีอาการรังแคบนผิวหนังอีกด้วย

     การป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง

          ผิวที่แห้งทำให้แก่เร็ว เกิดเป็นไฝ ฝ้า กระ ได้ง่าย รวมทั้ง ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ชั้นในของผิวหนังได้ง่าย เกิดการระคายเคือง การแพ้ได้ง่าย เกิดการกำเริบของโรคเรื้อนกวาง หรือเกิดเป็นโรค "เซ็บเดิม" ขึ้นได้

     วิธีการป้องกันผิวแห้งตามวิถีไทย อาทิ

          1. วิถีไทยในหน้าหนาว มักจะมีตำรับอาหารเฉพาะส่วนใหญ่การรับประทานอาหารที่มีไขมันอยู่บ้าง เช่น ข้าวปุ๊กหรือข้าวตำงา ข้าวหลาม รำหมกกล้วย บัวลอยไข่หวาน เป็นต้น เพื่อที่ต่อมไขมันจะได้มีการขับน้ำมันธรรมชาติมาเคลือบผิวไว้ ไม่ให้แห้งแตก น้ำมันธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้นมาจะสามารถเคลือบผิวได้ดี ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีความมันอยู่บ้าง นับว่าเป็นประโยชน์

          ข้าวปุ๊กหรือข้าวตำงานั้น นิยมนำไปปิ้งแล้วจิ้มน้ำตาล รับประทานจะให้รสชาติหวาน สำหรับรำหมกกล้วยนั้น มีคุณประโยชน์ทั้งจากรำข้าว ทั้งจากวิตามินอีธรรมชาติ ช่วยให้ผิวยืดหยุ่น เต่งตึง ลดจุดด่างดำ ลดริ้วรอย ตลอดจนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชลอวัย วิตามินบีรวม ช่วยในเรื่องบำรุงประสาท เหน็บชา ช่วยระบบเผาผลาญ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุสำคัญ อาทิ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี ช่วยเพิ่มพลังงาน เพิ่มการเผาผลาญ เสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมอง และเพิ่มการทำงานของระบบฮอร์โมน ผสมผสานกับกล้วยน้ำว้าที่มีคุณค่าทางอาหารสูงไม่แพ้กัน คือ กรดอะมิโน อาร์จินิน และฮีสติดิน วิตามินเอ วิตามินบี รวมทั้งแร่ธาตุแมกนีเซียม โพแทสเซียม ที่ช่วยป้องกันโรคความดันอีกด้วย สำหรับบัวลอยไข่หวานนั้น จะได้ประโยชน์จากกะทิที่มีความมัน เมื่อรับประทานไปแล้วจะช่วยให้ต่อมไขมันขับความมันมาเคลือบบริเวณผิว ทำให้ไม่แห้งกร้านรับอากาศหนาว

          2. การใช้น้ำมันทาเคลือบผิว ในสมัยก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแตก จะใช้น้ำมันมะพร้าวและน้ำมันงา รวมทั้งน้ำมันหมูมาทาผิวเพื่อไม่ให้ผิวแตกในหน้าหนาว ปัจจุบันนิยมใช้ครีมโลชั่น แต่ถ้าอากาศหนาวมากหรือความชื้นสัมพัทธ์ต่ำมาก ต้องใช้น้ำมันทาเหมือนในอดีต หรือต้องใช้เนื้อครีมหรือโลชั่นที่มีความเข้มข้นขึ้น รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่แรงเกินไปในการใช้ทำความสะอาดผิว และไม่แนะนำให้มีการล้างหน้าล้างมือบ่อยเกินไปในหน้านี้ ซึ่งในรายของผู้สูงวัยอาจใช้มะขามเปียกอาบน้ำแทนสบู่

     การป้องกันไม่ให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง

          เยื่อบุทางเดินหายใจเป็นช่องทางที่ร่างกายสัมผัสกับอากาศภายนอก มีเพียงชั้นเซลล์ที่มีความเปียกชุ่มกันอยู่เท่านั้น บริเวณชั้นเซลล์เหล่านี้มีเซลล์ที่ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นต้องไม่ให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง เพราะจะทำให้เชื้อโรค ฝุ่นละออง เข้าสู่เซลล์ได้ง่าย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย การที่ไม่ให้เยื่อบุทางเดินหายใจแห้งต้องดื่มน้ำมากๆ และรับประทานสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว เพื่อช่วยขับเสมหะให้มาเคลือบบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจไว้ให้ช่มชื่นอยู่เสมอ คนสมัยก่อนจึงนิยมให้รับประทานตำรับอาหารที่มีรสเปรี้ยว เช่น แกงส้มดอกแค แกงบอน เป็นต้น รวมทั้งถ้ามีอาการไอ จะนิยมทำยาแก้ไอจากผลไม้สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งในฤดูกาลนี้จะมีมะขามป้อมและสมอไทยออกมาพอดี

     การทำให้ร่างกายมีความอบอุ่นขึ้น

          ในสภาพที่อากาศเย็นจะส่งผลให้ธาตุไฟภายในร่างกายแปรปรวน ทำให้การย่อยอาหาร การไหลเวียนของเลือด ซึ่งต้องการธาตุไฟไปใช้ต้องบกพร่องไป ทำให้เกิดอาการท้องอืดอาหารไม่ย่อย หอบหืดกำเริบ เกิดอาการหนาวใน เป็นต้น ดั้งนั้นควรรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนในหน้าหนาว เพื่อช่วยเพิ่มธาตุไฟให้กับร่างกาย เช่น ข้าวหมาก พืชในตระกูลขิงข่า พืชผักที่มีรสร้อน เช่น พริก ดีปลี พริกไทย ตะไคร้ ใบกระเพรา เป็นต้น รวมทั้งหมอยาไทยยังนิยมใช้ยาตำรับที่มีรสร้อน เช่น พิกัดตรีสาร ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรที่มีรสร้อน คือ รากเจตมูลเพลิงแดง เถาสะค้าน รากช้าพลู ซึ่งจะช่วยในการไหลเวียนของเลือด ช่วยย่อยอาหาร และขับเสมหะ เป็นต้น

     การทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น

          ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น มีแสงแดดน้อย ทำให้เชื้อไวรัสหลายชนิดมีความทนทานในสภาพแวดล้อมได้ดี เช่น ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด หวัดใหญ่ ตาแดง สุกใส เป็นต้น และเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสได้มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก โดยเฉพาะโรคหวัด ดังนั้นการทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การที่จะต้องไรบแสงแดดบ้าง เพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ซึ่งมีความจำเป็นในการสร้างภูมิคุ้มกัน การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ การให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน เช่น วิตามินซี วิตามินอี ผักผลไม้ที่สี เช่น ฝาง หมากเม่า ดอกอัญชัน ผลไข่เน่า พืชตระกูลเบอร์รี่ มะขามป้อม เป็นต้น ดังนั้นตามวิถีไทยจะมีตำรับอาหารที่เหมาะสำหรับหน้าหนาว เช่น แกงบอน ต้มข่าไก่ใส่สะเลเต ทอดมัน เล็บครุฑ เป็นต้น

               หน้าหนาวแล้ว เริ่มต้นดูแลสุขภาพทั้งภายในและภายนอกตั้งแต่วันนี้นะคะ

   ข้อมูลดีๆ จาก ภญ.ดร.สุภาภรณ์   ปิติพร แห่งมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

คำสำคัญ (Tags): #ศรีสะเกษ7
หมายเลขบันทึก: 422472เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2011 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจริงๆ วิธีรักษาสุขภาพกายของคุณครูดวงดาว แต่อยากขอแนะวิธีห่มผ้าให้หายหนาวอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ นำเอาผ้าใบยางหรือพลาสติกมาซ้อนกับผ้าห่มของเรา ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิหรือความร้อนออกจากร่างกายของเราไม่มากจนเกินไป ก็จะทำให้อบอุ่นขึ้นได้อีกเยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท