ถาม-ตอบ


การเข้าแท่งในระบบของ ก.พ.อ.
ถาม-ตอบ
การเข้าแท่งในระบบของ ก.พ.อ.
                   คำถามเข้ามามากมายในการเตรียมตัวเข้าระบบแท่งของข้าราชการพลเรือในสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะจะอยู่ในแท่งไหน จะได้เงินประจำตำแหน่งหรือไม่อย่างไร หรือหัวหน้างานจะอยู่ในแท่งไหน จะใช้ชื่อว่าอย่างไร  จะขอเป็นชำนาญการได้อีกหรือไม่  จะเปลี่ยนตำแหน่งได้อีกหรือไม่  การกำหนดระดับตำแหน่งของหน่วยงานหรือส่วนงานภายใน ที่กำหนดโดยมติสภามหาวิทยาลัยจะไปอยู่แท่งไหน ชำนาญการกับชำนาญงาน ต่างกันอย่างไร วิชาชีพเฉพาะ กับเชี่ยวชาญเฉพาะต่างกันอย่างไร หรือปฏิบัติการกับปฏิบัติงานต่างกันอย่างไร เป็นต้น เพื่อให้มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง จะได้ไม่ต้องวิตกกังวลมากมาย จึงขอนำเอาคำถามที่สอบถามมาเป็น(Case study) กรณีศึกษา ดังต่อไปนี้
     1.  หลักการเบื้องต้นในการเตรียมจัดเข้าระบบแท่ง มีอย่างไร
ตอบ 
ก. การได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและสิทธิประโยชน์อื่นไม่น้อยการที่ได้รับอยู่เดิม
ข. สอดคล้องและเทียบเคียงกับตำแหน่งและระดับตำแหน่ง ของ ก.พ.
ค. ช่วงเงินเดือนของตำแหน่งระดับเดียวกัน ต้องสอดคล้องและเทียบเคียงกับของ ก.พ.
ง. คำนึงถึงประเภทตำแหน่งที่แตกต่างกันและมีลักษณะเฉพาะของ ก.พ.อ.
จ. ครอบคลุมตำแหน่ง ระดับตำแหน่งที่มีอยู่เดิม
ฉ. หากต้องเพิ่มงบประมาณ ต้องเท่าที่จำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
    2. เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ชำนาญการ ระดับ 8 จะอยู่แท่งไหน จะได้เงินประจำตำแหน่งหรือไม่
ตอบ 
ก. อยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอกชำนาญการพิเศษ ที่ต้องให้ ก.พ.อ. กำหนดใหม่ให้มีระดับชำนาญการพิเศษ ขึ้นมารองรับ
ข. ยึดตามหลักการเบื้องต้น ยังคงสิทธิที่เคยได้ไว้เหมือนเดิม  ตรงนี้ เคยได้เงินค่าตอบแทน 3,500 บาท ก็ยังคงได้เหมือนเดิม เงินประจำตำแหน่งไม่มี จะมีเมื่อเป็นระดับเชี่ยวชาญ เพราะเป็นตำแหน่งตามโครงสร้าง ประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ 24  สายงาน 25 ตำแหน่ง
    3. นักวิจัย ระดับ 7  จะอยู่แท่งไหน
ตอบ จัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอก ชำนาญการ
    4. เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไประดับ 6 จะอยู่แท่งไหน
ตอบ  จัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอก ชำนาญการ
คำถามต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ชำนาญการหรือไม่ใช่ชำนาญการ
ตอบ  ไม่ใช่เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปชำนาญการ
 5. หัวหน้างานระดับ  7  จะอยู่แท่งไหน
ตอบ  จัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอก ชำนาญการ
คำถามต่อเนื่อง  เพราะเหตุใดจึงจัดอยู่แท่ง ชำนาญการ
ตอบ  เทียบเคียงกับระบบของ ก.พ. แล้ว ก็ไม่ได้จัดอยู่ในแท่งประเภทผู้อำนวยการระดับต้น ซึ่งกำหนดตั้งแต่ระดับ 8 จึงต้องจัดอยู่ในกระบอกชำนาญการเหมือนกับของ ก.พ.
คำถามต่อเนื่อง  ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้างานระดับ 7 มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ ถูกย้ายไปอีกหน่วยงานหนึ่ง ตัดโอนทั้งอัตราและตำแหน่ง โดยไม่ระบุว่าเป็นหัวหน้างาน จะอยู่แท่งอะไร
ตอบ  อยู่แท่งตำแหน่งประเภทวิชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอก ชำนาญการ
 6. ผู้ปฏิบัติการระดับกลาง ที่มีระดับ 6 หรือระดับ 7 และที่ไม่ใช่ดำรงตำแหน่งชำนาญการ จะอยู่ในแท่งไหน
ตอบ  จัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอก ชำนาญการ
คำถามต่อเนื่อง  ทุกตำแหน่งหรือไม่  แล้วเป็นเพราะเหตุใด ทำไมถึงไม่จัดอยู่แท่งบริหารทั่วไป
ตอบ  ทุกตำแหน่งที่เป็นผู้ปฏิบัติการระดับกลาง ซึ่งใช้วุฒิการศึกษาตั้งแต่ปริญญาขึ้นไปบรรจุอยู่ในกระบอกเดียวกันคือชำนาญการ  เหตุที่ไม่จัดอยู่ในแท่งประเภททั่วไป ก็เพราะเป็นตำแหน่งที่ใช้วุฒิการศึกษาปริญญา  แท่งตำแหน่งประเภททั่วไป คือตำแหน่งที่วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญา
 7.  หัวหน้างาน หรือหัวหน้ากลุ่มงานหรือฝ่าย ภายใน กอง /สำนักงานเลขาคณะ/สำนัก/สถาบัน/ศูนย์ ที่เป็นส่วนราชการและกำหนดเป็นระดับ  7 หรือ  8 ทำไมไม่กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทผู้บริหาร ที่ควรได้เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนด้วย
ตอบ
ก.  ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ ไม่ได้รับเงินตำแหน่งประเภทผู้บริหาร เพราะไม่ใช่ผู้บริหารหน่วยงานที่แบ่งส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา
ข. เมื่อดูของ  ก.พ. ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้นคือ ระดับ 8 และระดับสูงคือระดับ 9 จึงไม่สามารถเทียบเคียงให้เป็นตำแหน่งประเภทผู้บริหารได้
ค. เงินประจำตำแหน่ง  ก็ยังคงได้ตามตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ
 8. หน่วยงานที่แบ่งส่วนงานภายใน ตามมติสภาสถาบันอุดมศึกษา ผู้ดำรงตำแหน่งสังกัดหน่วยงานดังกล่าว ทำไมไม่เป็นตำแหน่งประเภทผู้บริหาร
ตอบ  การแบ่งหน่วยงานภายหรือส่วนงานภายในเป็นไปเพื่อประโยชน์ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยดุลพินิจของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา  จึงไม่ถือว่าเป็นการแบ่งส่วนราชการเพิ่มเพื่อรองรับตำแหน่งผู้บริหารที่เพิ่มขึ้นตาม  ซึ่งจะทำให้เป็นเพิ่มภาระต่องบประมาณแผ่นดินของประเทศ
 9. ตำแหน่งหัวหน้างาน ผู้ชำนาญการ  ผู้ปฏิบัติการ  เดิมที่มีระดับ  7 เมื่อถูกจัดอยู่ในกระบอก ชำนาญการ เหมือนกัน จะบริหารงานจัดการบังคับบัญชากันอย่างไรเมื่อไม่มีระดับแล้ว
ตอบ  มาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดว่าเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานสถาบันอุดมศึกษา อาจกำหนดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งและคุณสมบัติเฉาะตำแหน่งให้ชัดเจนยิ่งขึ้นได้
 10.  ทำไมสายสนับสนุนวิชาการ ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญการ  เชี่ยวชาญ หรือเชี่ยวชาญพิเศษ  ทุกตำแหน่งไม่ได้เงินประจำตำแหน่ง หรือได้  2 เด้งเหมือนสายวิชาการ
ตอบ ก.  เงินประจำตำแหน่ง  กับ เงินค่าตอบแทน ต้องแยกออกจากกัน  เงินค่าตอบแทนรัฐให้เมื่อตอนมีการปรับเงินเดือนข้าราชการ แต่ไม่ปรับให้ข้าราชการตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไป แต่มีการให้เป็นค่าครองชีพ เรียกว่าค่าตอบแทน เป็นเงินเพิ่มพิเศษ ซึ่งออกโดยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ดังนั้นผู้ที่เป็นระดับ 8  ขึ้นไปจึงได้เป็นค่าตอบแทน 3,500  บาทตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
        ข. เงินประจำตำแหน่ง   มีพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 มีกฎ ก.พ.  ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551  มีพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ ฉบับที่ 2 แก้ไข พ.ศ. 2538 และมีพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ฉบับที่ 6  พ.ศ.  2551  กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ  สำหรับการเตรียมจัดเข้าระบบแท่งนี้แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ  กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ   กลุ่มเชี่ยวชาญเฉพาะ  กลุ่มตำแหน่งวิชาการ
(1) วิชาชีพเฉพาะ ระดับชำนาญการ                  3,500  บาท
(2)วิชาชีพเฉพาะระดับชำนาญการพิเศษ              5,600  บาท
(3) วิชาชีพเฉพาะระดับเชี่ยวชาญ                     9,900  บาท
(4) วิชาชีพเฉพาะระดับเชี่ยวชาญพิเศษ                  13,000 บาท
(5) เชี่ยวชาญเฉพาะระดับเชี่ยวชาญ                    9,900 บาท
(6) เชี่ยวชาญเฉพาะระดับเชี่ยวชาญพิเศษ                13,000  บาท
(7) ผู้ช่วยศาสตราจารย์                                5,600 บาท
(8) รองศาสตราจารย์                                  9,900 บาท
(9) ศาสตราจารย์                                                13,000 บาท
(10) ศาสตราจารย์ญาณวิทย์                          15,600 บาท    
     ค. ตำแหน่งทางวิชาการของสายวิชาการ เป็นตำแหน่งวิทยฐานะ ผู้ครองตำแหน่งสามารถเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้นได้ทุกคน  ส่วนสายสนับสนุนวิชาการ ต้องทำการวิเคราะห์ประเมินตีค่างานกำหนดเป็นระดับสูงขึ้นก่อน แล้วจึงประเมินคนลงตำแหน่งนั้น ๆ ตามความเหมาะสม จึงมีความแตกต่างกันของ 2  สายงานในสถาบันอุดมศึกษา
 11.  ทำไมไม่ขยายเพดานเงินเดือนของเชี่ยวชาญพิเศษ ของสายทางการแพทย์ และสายวิทยาศาสตร์ จาก  64,340  บาท  เป็น 66,480 บาทเช่นเดียวกับสายทางการแพทย์และสายทางกฎหมายของ ก.พ.
ตอบ   สายทางการแพทย์ และสายกฎหมายทางกฤษฎีกา ของ ก.พ. เดิมได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าตลาดแรงงาน และเป็นสายงานที่ปฏิบัติภารกิจหลลักของหน่วยงานเฉพาะด้านนั้น ๆ  แต่ในสถาบันอุดมศึกษา สายวิชาการเป็นสายงานที่ทำหน้าที่ภารกิจหลัก จึงได้กำหนดขยายเพดานของตำแหน่งศาสตราจารย์ญาณวิทย์ แล้ว
 12.  ทำไมไม่ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานระดับต้นเปลี่ยนตำแหน่ง ก่อนจัดคนเข้าระบบแท่ง
ตอบ  การเปลี่ยนตำแหน่งเป็นดุลยพินิจของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา ก.พ.อ. มีประกาศมาตรฐานกลางไว้แล้ว ทุกสถาบันอุดมศึกษา ต้องไปจัดทำข้อบังคับของแต่ละสถาบันและดำเนินการตามนั้น
 13.  การวิเคราะห์ประเมินตีค่างาน ควรเอื้อต่อการเข้าสู่แท่ง ชำนาญการ หรือเชี่ยวชาญ ด้วย
ตอบ   ก. การวิเคราะห์ประเมินตีค่างาน เป็นไปตามลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบ  ความยุ่งยากของงาน  การกำกับตรวจสอบ และการตัดสินใจซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทตำแหน่ง
         ข. การกำหนดตำแหน่งให้เป็นประเภทใด ระดับใด  เป็นผลจากการวิเคราะห์ประเมินตีค่างานของแต่ละตำแหน่ง
 14.  การเข้าสู่ตำแหน่งทำไมไม่ประเมินปริมาณ คุณภาพของ  ภาระงาน ผลงานที่ปฏิบัติ  และ สมรรถนะมากกว่าประเมินผลงานที่แสดงความเป็นผู้ชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญ
ตอบ  หลักเกณฑ์การประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ที่  ก.พ.อ. กำหนด เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ กำหนดให้ประเมินจากผลงาน โดยมิได้กำหนดประเภทของผลงานว่าเป็นอะไรอย่างไร  ดังนั้นการกำหนดประเภทและมาตรฐานของผลงานเป็นดุลยพินิจของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา
 15.  หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน ระดับ  8 จะอยู่แท่งใด จะได้เงินประจำตำแหน่งหรือไม่
ตอบ  หน่วยตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี  การกำหนดเป็นระดับ 8 เพราะว่าเป็นหน่วยตรวจสอบ หน่วยงานรับคณะ สำนัก สถาบัน กอง ซึ่งผู้กำกับหน่วยงานกำหนดเป็นระดับ 8 จึงมีการกำหนดให้เป็นระดับ 8  การจัดเข้าระบบแท่งจึงไม่ใช่ตำแหน่งประเภทผู้บริหาร  จะอยู่ในแท่งประเภทตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอก ชำนาญการพิเศษ จะได้เงินค่าตอบแทนของระดับ 8
 16.  ครูชำนาญการ ระดับ 6 หรือครูชำนาญการ ระดับ 7-8 จะไปอยู่ตรงไหน
 ตอบ  ตามโครงสร้าง ก.พ.อ.  ให้ยุบตำแหน่งดังกล่าวในระบบ   แต่ยังเป็นปัญหาอยู่ที่ไม่สามารถจัดเข้าระบบตามโรงสร้างได้ เพื่อรักษาสิทธิต่าง ๆ ไว้เหมือนเดิม จึงต้องจัดให้อยู่ในแท่งตำแหน่งประเภททั่วไป ถ้าอยู่ในระดับ 6  จะอยู่ในกระบอก ชำนาญงาน  แต่ถ้าอยู่ในระดับ 7 หรือระดับ 8 จะอยู่ในกระบอก ชำนาญงานพิเศษ
 17.  ผู้ปฏิบัติการระดับกลางที่มีระดับ  5 จะอยู่ในแท่งอะไร  หรือถ้าเป็นระดับ 6 จะอยู่ตรงไหน
ตอบ   ก. ผู้ปฏิบัติการระดับกลาง ที่ใช้วุฒิการศึกษาบรรจุ ตั้งแต่ปริญญาตรี  จัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ
          ข. ผู้ปฏิบัติงานระดับต้น ที่ใช้วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญา  จัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภททั่วไป
          ค. ผู้ปฏิบัติการระดับกลางที่มีระดับ  3-5  จะอยู่ในกระบอก ปฏิบัติการ
         ง.  ผู้ปฏิบัติการระดับกลางที่มีระดับ 6       จะอยู่ในกระบอก ชำนาญการ
 18.  ระบบ  ก.พ. ตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ชำนาญการ ระดับ  7  จะได้รับเงินประจำตำแหน่ง 3,500  บาท  หรือ ตำแหน่งบรรณารักษ์ชำนาญการ 8  ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 5,600  บาท  และได้ค่าตอบแทนอีก 3,500 บาท  ทำไมของ ก.พ.อ. ไม่ได้จะแก้ปัญหาอย่างไร
ตอบ  ต้องไปศึกษากฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.  2551   ซึ่งระบบของ ก.พ.อ.  ขอเพิ่มเติมจาก ก.พ. อีกเป็นสายงานสุขศึกษา  สายงานวิศวกรรมเคมี  สายงานวิชาการช่างทันตกรรม   ต้องทำความเข้าใจการได้เงินประจำตำแหน่งกับการได้ค่าตอบแทน ให้ชัดเจน รวมทั้งต้องศึกษาโครงสร้างตำแหน่งของ ก.พ.อ. ว่าอะไรเป็นตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ หรือตำแหน่งเชี่ยวชาญเฉพาะ เพราะจะมีผลต่อกรได้รับเงินประจำตำแหน่ง 
 19.  ผู้ใช้วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับ  5  อยู่ในกระบอกชำนาญงาน เพดานสูงสุด  33,540  บาท แต่ผู้ใช้วุฒิปริญญาตรีระดับ 5 เพดานสูงสุด  22,220 บาท แล้วระบบแท่งจะดีตรงไหน ทำไมจึงแตกต่างกันเมื่อระดับเท่ากัน ระบบเดิมระดับเท่ากันเพดานก็สูงเท่ากัน
ตอบ    ก. ระบบเดิมมีปัญหาจึงต้องแก้ เพราะจะปรับบัญชีเงินเดือนต้องปรับทั้งหมด
          ข. การดำรงตำแหน่งในฐานะผู้มีประสบการณ์ ต่างกับการดำรงตำแหน่งในระดับควบ เพราะต้องมีการวิเคราะห์และตีค่างาน และยังต้องมีการประเมินตัวบุคคลด้วย
          ค. ถ้าต้องการให้ได้เงินเดือนสูงมีการขยายเพดาน ต้องขอเปลี่ยนกระบอก หรือขอเปลี่ยนแท่ง
          ง. หลักการคือต้องไม่ทำให้สิทธิที่ได้รับอยู่เดิมหรือที่จะได้รับเดิมต่อไปต้องเสียไป  และไม่ให้เปรียบเทียบระหว่างแท่ง เพราะทำเพื่อแก้ปัญหาทีมีอยู่เดิมว่าเหมือนกันทังหมด ดังนั้นเมื่อแนวคิดเปลี่ยนระบบใหม่ BROADBANDING จะต้องไม่ยึดติดระบบเดิม
 20.  เมื่อเข้าระบบแท่งแล้วจะก้าวหน้าอย่างไร
ตอบ   ต้องเสนอขอเปลี่ยนกระบอกในแท่งเดียวกัน หรือเสนอขอเปลี่ยนแท่ง
 21.  อธิการบดี  รองอธิการบดี  คณบดี  ผู้อำนวยการสำนัก  ผู้อำนวยการสถาบัน    ผู้อำนวยการศูนย์  ผู้อำนวยการวิทยาลัย ฯลฯ ตำแหน่งที่มีวาระตามพระราชบัญญัติของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา จะไปอยู่แท่งไหน
ตอบ   ตำแหน่งที่มีวาระนี้ไม่มีระบบแท่งรองรับ  แต่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทใดก็เข้าแท่งตามตำแหน่งนั้น ๆ เช่น ตำแหน่งรอศาสตราจารย์ ก็เข้าแท่งตำแหน่งวิชาการ กระบอกรองศาสตราจารย์  หรือตำแหน่งอาจารย์ ก็เข้าแท่งตำแหน่งวิชาการกระบอกอาจารย์
22.  อาจารย์ระดับ 8  จะอยู่ตรงไหน
ตอบ   อาจารย์อยู่ในแท่งตำแหน่งวิชาการ กระบอก  อาจารย์  แต่ต้องให้ได้รับเงินเดือนในระดับ 8   เดิม โดยทำ cap เป็นฝาปิดไว้เฉาะตัว
 23. รองศาสตราจารย์ ระดับ 10  จะอยู่ในแท่งอะไร
ตอบ  อยู่ในแท่งรองศาสตราจารย์    แต่ต้องให้ได้รับเงินเดือนในระดับ 10   เดิม โดยทำ cap เป็นฝาปิดไว้เฉาะตัว
 24. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 7  เคยได้รับเงินประจำตำแหน่ง 3,500 บาท  หรือรองศาสตราจารย์ ระดับ 8 เคยได้รับเงินประจำตำแหน่ง  5,600  บาท  ต่อไปจะเป็นอย่างไร
ตอบ  แท่งตำแหน่งวิชาการ  ทุกกระบอกจะมีการขยายเพดาน และมีเงินประจำตำแหน่งระดับเดียว คือ
        ก.  ผู้ช่วยศาสตราจารย์        เงินประจำตำแหน่ง        5,600  บาท
        ข.  รองศาสตราจารย์          เงินประจำตำแหน่ง        9,900   บาท
        ค.  ศาสตราจารย์              เงินประจำตำแหน่ง        13,000  บาท
        ง.  ศาสตราจารย์ญาณวิทย์    เงินประจำตำแหน่ง        15,600  บาท
 25. ลูกจ้างประจำ  และพนักงานราชการจะจัดเข้าอยู่แทงไหน
ตอบ  ระบบที่เตรียมนี้ไม่เกี่ยวกับลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ก็ไม่มีซีอยู่แล้ว
 26. พนักงานมหาวิทยาลัย  สังกัดสถาบันอุดมศึกษาที่ยังไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือพนักงานมหาวิทยาลัย สังกัดสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับหรือที่ออกนอกระบบแล้ว จะมีผลกระทบอย่างไร
ตอบ    ระบบแท่งที่เตรียมนี้ จะใช้เฉพาะข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือข้าราชการ   ก.พ.อ. เท่านั้นหรือข้าราชการที่ยังไม่ยื่นเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย   ผู้ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่มีผลกระทบแต่อย่างไร เพราะไม่มีซีอยู่แล้ว
  27 ผู้อำนวยการกอง ระดับ 8 สังกัดส่วนงานภายในที่กำหนดโดยมติสภาของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา  จะอยู่แท่งตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับต้นหรืออยู่แท่งไหน
       ตอบ   การแบ่งเป็นส่วนงานภายในเพื่อการบริหารจัดการตามยุทธศาสตร์ หรือเพื่อความกล่องตัวในการบริหารจัดการของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา ไม่จัดว่าเป็นผู้บริหารตามการแบ่งส่วนราชการ จะจัดอยู่ในแท่งตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ กระบอกชำนาญการพิเศษ โดยหลักการยึดระดับ(ซี)เป็นเกณฑ์ ในการจัดเข้า
คำถามต่อเนื่อง  ผู้อำนวยการกองระดับ 7 หรือเลขานุการคณะระดับ 7  เป็นส่วนราชการที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการประกาศแบ่งส่วนราชการในราชกิจจานุเบกษา
ตอบ  ยกผลประโยชน์ให้ โดยจะจัดเข้าแท่งตำแหน่งประเภทผู้บริหาร  กระบอกบริหารระดับต้น  และจะได้เงินประจำตำแหน่ง เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน
 
 …………………..
หมายเลขบันทึก: 422407เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2011 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท