ชีวิตที่เมืองลาว : 21 มกราคม 2554


สำหรับเหตุการณ์ในการทำงานที่เกิดขึ้นเมื่อวาน (๒๐ มกราคม ๒๕๕๔) ที่ควรจะบันทึกไว้มีอีก 2 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกันคือ หนึ่ง เรื่องปูน และ สอง เรื่องหินทราย

Large_2101201109

เมื่อวานตอนเช้าหลังจากที่แล้วเสร็จจากงานเทตอหม้อ งานที่จะทำต่อไปคือการเทเสาตอหม้อ จากแผนงานเดิมการเทฟุตติ้งหรือฐานตอหม้อนั้นเราใช้ปูนปอร์ตแลนด์ในการเท แต่เมื่อขึ้นมาถึงเรื่องของเสา คานและส่วนอื่น ๆ เราวางแผนไว้ว่าจะใช้ปูนซีเมนต์ผสมในการเท

แต่ทว่าเมื่อสีของปูนที่ผสมออกมาจากเครื่องโม่นั้นมีสีไม่ชินตา คือ ปกติปูนปอร์ตแลนด์สีจะออกค่อนข้างดำกึ่งเขียว แต่ปูนซีเมนต์ผสมสีออกจะค่อนข้างเทาขาว ๆ
ตอนนั้นเองเราก็เริ่มรู้สึกเอะใจและตั้งคำถามว่า “ปูนซีเมนต์ผสมนี้ใช้กับงานโครงสร้างได้หรือไม่...?”

สิ่งแรกที่เราทำก็คือเดินไปดู “ข้างถุง” ว่าอะไรเขียนไว้บ้าง
เพราะจากประสบการณ์ที่เคยทำงานเราจะใช้ปูนเสือตลอด เราจึงจำได้ติดตาว่าข้างถุงของปูนเสือซุปเปอร์จะมีการเขียนคำว่า “ก่อ ฉาบ เท” แต่คราวนี้แตกต่างออกไปเมื่อปูนที่เราได้ขนย้ายข้ามฝั่งมานี้เป็นลูกตรา “ลูกโลก” ซึ่งเราวางแผนไว้ว่า จะใช้ปูนตราลูกโลกสีน้ำเงิน ข้างถุงเขียนว่าสำหรับงานโครงสร้าง จำนวน 50 ถุง สำหรับงานเทฟุตติ้ง โดยมีการเผื่อไว้นิดหน่อยประมาณ 7-8 ลูก สำหรับการเทกรอกไส้ของปล่องเมรุฯ และได้คำนวณไว้อีก 150 ถุง ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ผสม ในครั้งนี้ได้ขนย้ายมาเป็นปูนลูกโลกสีเขียว ซึ่งข้างถุงเขียนไว้ว่าเป็นปูนสำหรับงาน “ก่อ ฉาบ”

ด้วยเหตุผลแค่ “ตัวหนังสือที่เขียนข้างถุง” นี้เอง เราจึงเริ่มหวั่นใจว่า ปูนซีเมนต์ผสมนี้จะใช้สำหรับงานโครงสร้างได้หรือไม่...?

แต่ทว่า  อีกคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจของตนเองจากการที่ได้ร่ำเรียนมาทางสายบริหารธุรกิจ ที่นักการตลาดมักจะแบ่งแยก ซอยย่อยประเภทสินค้าเพื่อหวังผลทางการตลาดมากกว่าผลทางการใช้งานจริง เราจึงมีอีกคำถามหนึ่งเกิดขึ้นในใจว่า ไอ้ข้างถุงที่เขียนไว้นี่ เขียนไว้เพื่อขายของเฉย ๆ หรือเปล่า...?

ดังนั้นเองเราจึงตัดสินใจโทรไปสอบถามข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญทางฝั่งไทยที่เคยทำงานด้วยสองท่าน ทั้งสองทั้งเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการปูนมาเป็นระยะเวลานาน โดยเราตั้งโจทย์สำหรับการสอบถามในครั้งนี้เป็นประเด็นหลัก ๆ ว่า 1. ตามหลักการแล้ว ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์กับปูนซีเมนต์ผสมต่างกันอย่างไร และ 2. ในสภาพความเป็นจริงขณะนี้ที่เราจะต้องใช้ปูนซีเมนต์ผสมในการทำงาน เราจะวิธีการใช้ปูนที่มีอยู่นี้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ (Efficiency) และ ประสิทธิผล (Effectiveness) ในการทำงานสูงที่สุด

 Large_2101201112

สำหรับคำถามที่ได้รับจากทั้งสองท่าน โดยทั้งสองท่านให้ข้อมูลทั้งในส่วนที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวและได้มีการ re-check กับไปยังวิศวกรที่เชี่ยวชาญงานปูนเฉพาะเป็นดังนี้

สำหรับคำถามที่ 1 คือ ปูนปอร์ตแลนด์กับปูนซีเมนต์ผสมนั้นต่างกันอย่างไร...?
เราได้คำตอบหลัก ๆ ว่า ปูนปอร์ตแลนด์ เป็นปูนซีเมนต์เพียว ๆ ส่วนปูนซีเมนต์ผสมนั้นจะมีส่วนผสมจำพวกทรายและส่วนผสมอื่น ๆ ประกอบเข้ามาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์

ทางด้านการใช้งานนั้น เราได้คำตอบว่า ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ว่าเป็นปูนซีเมนต์เพียว ๆ นั้น คุณสมบัติหลักของมันก็คือจะทำให้มีการเซทตัวไว คือค่าของแรงอัด จะขึ้นเร็ว สามารถทำงานในส่วนต่อ ๆ ไปได้ทันที อาทิเช่น การเทเสาแล้วจะต่อด้วยคาน หรือการเทคานแล้วจะเททันหลัง ก็สามารถทำงานต่อไปได้ทันที โดยมิต้องรอเวลาให้ปูนเซทตัว
ซึ่งแตกต่างจากปูนซีเมนต์ผสม ซึ่งหลัก ๆ มีการใส่น้ำยาหน่วงเพื่อให้ปูนเซทต่อช้า ซึ่งจะเหมาะสำหรับงานก่อฉาบที่จะต้องมีการปรับแต่งพื้นผิวจากการทำงานแล้วในระยะเวลาหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าหากใช้ปูนก่อฉาบมาเทงานโครงสร้าง ก็จะต้องระมัดระวังในการทำงานขั้นต่อไป ถ้าหากโครงสร้างที่เทไปแล้วมีการสำหรับน้ำหนักเป็นจำนวนมาก ซึ่งโดยปกติ ปูนซีเมนต์จะใช้เวลาเซทตัวเต็มที่ประมาณ 30 วัน แต่ทว่า ปูนปอร์ตแลนด์ ค่าแรงอัดจะสูงมากในช่วง 1-3 วันแรก คือ อาจจะขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ คือ ถ้าเราคำนวณแรงอัดไว้ที่ 280 ksc ในช่วง 1-3 วันแรก การใช้ปูนปอร์ตแลนด์เทงานโครงสร้าง ก็จะทำให้โครงสร้างสามารถรับแรงอัดได้ประมาณ 140 ksc ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเราสามารถทำงานก่อไปได้ทันที โดยจะไม่เกิดความเสียหายกับโครงสร้างชั้นล่างที่เทไปก่อนหน้า

แต่สำหรับปูนซีเมนต์ผสมนั้น จะต้องใช้เวลาถึง 7 วัน จึงจะมีกำลังแรงอัดสามารถรับน้ำหนักงานโครงสร้างที่จะทำงานต่อไปได้ แต่ท้ายที่สุด เมื่อครบกำหนด 30 วันตามระยะเวลาเซทตัวของปูนแล้ว ปูนซีเมนต์ผสมกับปูนปอร์ตแลนด์ก็จะมีค่าแรงอัดตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 30 วันของการเซทตัวของปูนทั้งสองชนิดนั้น การใช้ปูนปอร์ตแลนด์กับปูนซีเมนต์ผสมนั้นมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ...
แต่ทว่า... ข้อดีของการใช้ปูนซีเมนต์ผสมเทโครงสร้างก็มีเช่นเดียวกัน คือ การมีส่วนผสมของน้ำยาหน่วงในเนื้อปูนซีเมนต์ จะทำให้ลดข้อผิดพลาดจากการแตกต่างของการเซทตัวได้มากกว่าปูนปอร์ตแลนด์

เพราะการผสมปูนปอร์ตแลนด์นั้น ถ้าหากผู้ผสมใส่น้ำมากน้อยเกินไป หรือการผสมปูนไม่ได้มาตรฐาน ข้อดีในการเซทตัวไวของปูนปอร์ตแลนด์ก็จะกลายเป็น “หายนะ” เนื่องจากการแห้งตัวที่เร็วเกินไป ซึ่งจะทำให้โครงสร้างเกิดการแตกร้าวเนื่องจากการดึงตัวของปูนที่เร็วเกินไป ดังนั้น ถ้าหากเราใช้บริการปูนผสมเสร็จหรือที่เรียกว่า “ปูนสด” จากรถโม่ที่มีให้บริการในฝั่งประเทศไทยแล้ว การใช้ปูนปอร์ตแลนด์ในการเทโครงสร้างถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานมาก แต่ทว่า การผสมเองด้วยมือก็ดี หรือการผสมด้วยโม่ขนาดเล็กก็ดี สามารถมีแนวโน้มที่ในการที่จะเกิดความผิดพลาดจากส่วนผสมซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องถึงโครงสร้างที่ตามมาได้ ข้อสรุปสุดท้าย ซึ่งเป็นคำตอบแรกที่รับได้รับในเรื่องปูนทั้งสองชนิดนี้ก็คือ “เมื่อก่อนเขาก็ใช้ปูนผสมเทงานโครงสร้างกันมานมนานแล้ว...”

2. เราจะทำอย่างไรถ้าหากจะต้องการให้ปูนซีเมนต์ผสมมีคุณสมบัติในการทำงานโครงสร้างใกล้เคียงกับปูนปอร์ตแลนด์...?
สำหรับคำตอบที่ได้รับหลัก ๆ ก็คือ “ต้องเพิ่มปริมาณเนื้อปูนเข้าไปในการผสม”
ย้อนกลับไปถึงความแตกต่างระหว่างปูนปอร์ตแลนด์กับปูนผสม ก็คือ ปูนปอร์ตแลนด์เป็นปูนเพียว ๆ ปูนผสมก็ตามชื่อมีอย่างอื่นผสมอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าหากจะให้มีคุณภาพ หมายถึง มีกำลังแรงอัดขึ้นสูง ๆ ในวันแรก ๆ เช่นเดียวกับปูนปอร์ตแลนด์ เราก็ต้องใช้ปูนชดใช้ส่วนผสม 30 เปอร์เซ็นต์นั้น

สูตรคร่าว ๆ ที่เราสรุปมาได้จากการได้รับคำแนะจากผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านก็คือ
จากเดิมการผสมปูนปกติ จะใช้สูตร 1 : 2 : 3 หนึ่งหมายถึงปูน สองหมายถึงทราย และสามหมายถึงหิน
โดยปกติปูนหนึ่งถุง (50 กิโลกรัม) จะวัดง่าย ๆ จากถังปูนที่คนงานก่อสร้างได้จำนวน 7 ถัง ดังนั้น ถ้าหากใช้ปูน 1 ถุง ก็จะต้องใช้ทราย 14 ถัง และ หิน 21 ถัง ในการผสม
ดังนั้น ถ้าหากต้องการใช้ปูนผสมมาเทโครงสร้างและให้สามารถรับน้ำหนักได้จำนวนมากในวันแรก ๆ ก็จะต้องใช้เพิ่มอัตราส่วนในการผสเป็น 1.5 : 2 : 3

ในกรณีของข้าพเจ้านี้ คือ ไม่มีทางเลือกที่จะเปลี่ยนปูนจากปูนผสมเป็นปอร์ตแลนด์ เพราะเนื่องจากตอนนี้ทำงานอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำโขง การขนย้ายสินค้าลำบากมาก ถ้าหากจะสั่งปูนปอร์ตแลนด์เข้ามาใหม่ นอกจากที่จะต้องเสียเงินซื้อปูนแล้ว ก็ยังจะต้องเสียค่าขนส่งสินค้าอีกหลายทอดหลายต่อ ทั้งค่ารถ และค่ากรรมกรขนปูน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปูนผสมที่สั่งมา ถ้าไม่ใช่ก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน เก็บไว้นาน ๆ ก็แข็ง

แต่ถ้าหากเป็นงานครั้งหน้า ทางที่ดีที่สุด ถ้าหากไซด์งานอยู่ใกล้อยู่ในเขตบริการของแพลนท์ปูน ก็ควรจะสั่งปูนสดมาทำงานโครงสร้างจะเป็นการดีที่สุด เพราะเนื่องจากคุณสมบัติของปูนที่เซทตัวไวแล้ว อัตราส่วนการผสมก็ยังได้มาตรฐานกว่าการผสมมือ
และถ้าอยู่ในพื้นที่นอกเขตบริการของแพลนท์ปูน การใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทำงาน ถ้าหากเปรียบเทียบความแตกต่างของราคา โดยใช้ราคาที่ข้าพเจ้าซื้อมาก็คือ ปูนผสมลูกละ 115 บาท กับปูนปอร์ตแลนด์ลูกละ 130 บาท การเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ปูนปอร์ตแลนด์ จะถูกกว่าการเพิ่มอัตราผสมปูนผสม 1 ส่วน เป็น 1.5 ส่วน
แต่ข้อสำคัญที่พึงระวังในการใช้ปูนปอร์ตแลนด์ในการผสมปูนใช้เองก็คือ จะต้องควบคุมอัตราส่วนในการผสมให้ดี โดยเฉพาะความแห้งความเหลวของปูน
ถ้าแห้งเกิน ปูนเซทตัวไวไป ปูนก็มีสิทธิแตก
ถ้าเหลวไป กำลังอัดตก โครงสร้างที่ดีไซน์ไว้ก็จะไม่สามารถรับน้ำหนักได้ดังใจที่ปรารถนา...

๐๘.๒๓ นาฬิกา

ของเช้าวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๔



สำหรับเรื่องต่อเนื่องเรื่องที่ ๒ คือ เรื่อง “หินทราย”
เมื่อวานนี้ “อาจารย์ร่อน” ผู้ที่เคยหอบหิ้วสัมภาระมาส่งให้ข้าพเจ้านับตั้งแต่ครั้งแรกที่เดินทางมาถึง แต่หลังจากที่นำสัมภาระมาส่งให้แล้วอาจารย์ร่อนก็หายหน้าไปซักพักหนึ่ง หลังจากนั้นก็ได้ทราบข่าวว่าเขาได้ถูกไหว้วานจากเจ้าของท่าทรายให้ช่วยขับรถบรรทุกทรายให้สามสี่วัน

และด้วยเหตุแห่งการไปขับรถบรรทุกทรายนี้เอง อาจารย์ร่อนจึงมาเสนอไอเดียที่น่าสนใจให้ข้าพเจ้าและทีมงานฟังว่า หินทรายที่เราสั่งให้เขามาส่งนี้ เขาคิดเที่ยวละ 4,000 บาท แต่ถ้าเราวิ่งรถไปเอาเอง ก็จะเหลือราคาเพียงรถละ 3,200 บาท โดยอาจารย์ร่อนขันอาสาว่าจะไปคุยกับเถ้าแก่ที่เขาไปขับรถว่าให้เขาช่วยสนับสนุนรถขนหินและทรายในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าหินและทรายไปอีกเที่ยวละ 800 บาท

Large_2101201110

หินและทรายที่ใช้ในการทำงานครั้งนี้เป็นหินและทรายที่ถูกดูดขึ้นมาจากแม่น้ำโขง
หินแม่น้ำโขงนี้ เราเห็นครั้งแรกก็ตกใจ เพราะบ้านเราหินกลม ๆ ชนิดนี้เป็นหินที่มีราคาแพงมาก คนไทยบ้านเรานิยมใช้ในงานจัดสวนและใส่ตู้ปลา ซึ่งบ้านเราจะคัดแย่งขนาดและแบ่งใส่ถุงขายกันเป็นกิโล แต่ที่นี่อยู่ใกล้แม่น้ำโขง ไม่มีใครทำโรงโม่ เขาจึงดูดหินชนิดนี้มาขายกัน

เราก็ได้สอบถามอาจารย์ร่อนว่า หนึ่งรถบรรทุกที่เขาตักมาขายนี้มีปริมาณประมาณกี่คิว
อาจารย์ร่อนได้ตอบว่า “ประมาณ 4 บ่วง”
เราก็ถามตอบว่า “บ่วงรถแม็คโครเหรอ”
อาจารย์ร่อนตอบว่า “ไม่ใช่ บ่วงรถตัก ตักหนึ่งประมาณ 2 คิว” ดังนั้นรถหนึ่งเขาใส่มาให้เรา 4 บ่วง ก็ประมาณ 8 คิว ถ้าคิดราคาต้นทุนจากการที่เขามาส่งก็จะตกคิวละ 500 บาท แต่ถ้าวิ่งไปเอาเองก็จะเหลือคิวละ 400 บาท (แต่ถ้าเอาไปใส่ถุงขายบ้านเรา คิวหนึ่งน่าจะขายได้เป็นหมื่นบาท...)

เราก็เลยบอกอาจารย์ร่อนว่า ถ้าอย่างนั้นก็ลองไปคุยดู
พออาจารย์ร่อนขอตัวลากลับไป ทีมงานของเราก็มาปรึกษากับเราว่า ถ้าทางจะลำบากนะ เพราะเขาเป็นแค่คนขับรถ ต้องไปคุยกับเถ้าแก่ เถ้าแก่ก็ไม่รู้จะให้หรือเปล่า แต่เราก็ตอบกลับไปว่า “ลองให้เขาใช้ความสามารถดู...”

Large_2001201101

แต่สิ่งที่น่าแปลกใจมากก็คือ เราคุยกับอาจารย์ร่อนตอนประมาณสี่โมงเช้า (10.00 น.) หลังจากที่คุยกันเสร็จไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงคือประมาณห้าโมงเช้า รถหินเที่ยวแรกก็มาส่ง และในช่วงระหว่างพักเที่ยง รถคันเดิมก็วิ่งมาส่งทรายให้อีกเที่ยวหนึ่ง เป็นการทำงานที่รวดเร็วว่องไวมาก ซึ่งถ้าหากเทียบกับการสั่งครั้งแรก (ที่ต้องเสียเงินซื้อ) โทรสั่งตอนเช้า ตอนบ่ายถึงจะได้ แต่รถแต่ละเที่ยวก็ห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง....

Large_2001201102


 

๒๑ มกราคม ๒๕๕๔


ในช่วงเช้า นอกจากที่เราจะเห็นช่างสุภาที่มาถึงหน้างานประมาณแปดโมงกว่า ๆ แล้ว ไม่นับรวมถึง “ช่างเนา” ที่ไปช่วยบิณฑบาตตอนเจ็ดโมงเช้าอย่างสม่ำเสมอ ก็ยังเจออาจารย์ร่อนขี่มอเตอร์ไซด์เข้ามาหน้างานตอนเช้านี้ด้วย

ปกติอาจารย์ร่อนไม่เคยมาเช้าขนาดนี้ สำหรับข้าพเจ้าคิดว่า คงจะเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่ได้มีส่วนร่วมในการนำหินและทรายมาให้พวกเราได้ใช้กันอย่างรวดเร็วว่องไว ซึ่งทำให้เขามาเก็บเกี่ยวความปลื้มปิติใจในทรายทุกเม็ดและหินทุกก้อนที่ได้ถูกเทลงในโม่

นอกจากนั้น วันนี้อาจารย์ร่อนได้แสดงความกระตือรือร้นในการไปซื้อของให้อีก 2 รายการคือ ตะปู 2 นิ้ว จำนวน 2 กิโลกรัม รวมถึงใบเลื่อยวงเดือนอีก 1 ใบ

สิ่งสำคัญที่เราได้พบเห็นน้ำใจของอาจารย์ร่อนในวันนี้นอกจากการโชว์ความสามารถในการขอรถขนหิน ขนทรายแล้ว อาจารย์ร่อนยังบอกว่า สำหรับทรายรถนี้เขา “ขอถวาย” เขาบอกกับเถ้าแก่ว่า ตอนที่เขาไปช่วยขับรถบรรทุกทรายช่วงก่อนนั้น เขาไม่ขอรับเงิน ให้หักเป็นค่าทรายรถนี้แทน สาธุ สาธุ สาธุ...

เช้าวันนี้เป็นงานเข้าแบบเพื่อเทคานคอดิน...
ในช่วงเช้ามีพี่น้องจากบ้านสานะครามคุ้มหนึ่งมากันแต่เข้า เป็นผู้ชาย 3 คนและผู้หญิงประมาณ 7 คน
เมื่อมาถึง ช่างสุภาก็ได้แจกงานให้ผู้หญิงไปเสี้ยมไม้หน้าสามเพื่อทำเสาค้ำคาน ส่วนผู้ชายสองคนนั้นดูค่อนข้างจะอายุมาก เราก็เลยถามว่า “เข้าแบบเป็นไหม”
เขาก็ตอบว่า “เป็น แต่ไม่รู้ว่าจะให้มาทำงานนี้ เขาแค่บอกให้มาช่วย ก็เลยไม่ได้เอาเครื่องมือมา” จากนั้นเอง คุณลุงทั้งสองคนก็ปรึกษากันว่า จะต้องกลับไปเอาเครื่องมือที่บ้าน หลัก ๆ ก็มี ฆ้อน และ “น้ำเที่ยง (ระดับน้ำ)” พร้อมกับ “พร้า” เพื่อมาผ่าไม้

วันนี้จึงมีโอกาสที่ดีที่มีช่างมาช่วยงานเพิ่มอีกสองคน นอกเหนือจากช่างสุภาซึ่งเป็นหลักอยู่เพียงคนเดียว วันนี้งานเข้าแบบจึงทำไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

การแบ่งงานหลัก ๆ ได้แก่...
คุณลุงสองคนที่มาช่วยวันแรก มีหน้าที่ต่อไม้แบบ เพราะไม้แบบที่มีเป็นไม้หน้า 6 (20 เซนติเมตร) แต่คานคอดินของเรามีขนาด 30 เซนติเมตร ดังนั้น จึงต้องใช้ไม้หน้าหกประกบกันสองแผ่น ซึ่งลุงทั้งสองท่านทำงานได้อย่างรวดเร็วและคล่องแคล่ว

แต่ก็มีโจทย์ที่จะต้องให้ขบคิดอีกอย่างหนึ่งสำหรับเช้าวันนี้คือเรื่องของ “เลื่อย”
หลังจากที่เมื่อวานตอนเย็นเราไปขนไม้แบบที่เพิ่งเลื่อยมาใหม่จากอีกที่หนึ่งซึ่งเป็น “ไม้มะม่วง” ปรากฏว่าส่วนปลายยังตัดไม่ได้ฉาก
ดังนั้นช่างสุภาจึงคว้าฉากมาขีดพร้อมเลื่อยมาเลื่อย ฉึกฉัก ๆ
แต่ทว่า เลื่อยไปไม่เท่าไหร่ก็เริ่มได้ยินเสียงบ่นว่า แหม ลืมเอาเลื่อยวงเดือนมา

ในใจเราก็คิดว่า ถ้ามีเลื่อยวงเดือน (ไฟฟ้า) นี้งานจะเร็วมากขึ้นกว่านี้เยอะ
แต่ถ้าจะวิ่งรถไปเอาที่โน่นก็สิบกว่ากิโล แถมเป็นสิบกว่ากิโลที่ขรุขระน่าดู
ตอนนั้น เราก็ได้เห็นช่างเนาขี่รถจักรยานคู่ใจเข้ามาพอดี เราก็เลยบอกกับช่างสุภาว่า “นั่นไง เลื่อยวงเดือนปั่นจักรยานมาโน่นแล้ว...”

พอมาถึง เราก็ไม่รอช้าบอกกับช่างเนาทันทีว่า วันนี้จะให้รับหน้าที่เป็น “มือเลื่อย” นะ

Large_2101201101


วันนี้ช่างเนาหลังจากที่เอาอาหารมาส่งเสร็จก็หายหน้าไปสักซัก
ตอนแรกเราก็แปลกใจ เพราะปกติช่างเนาจะมาเป็นคนแรก แต่คราวนี้มาเกือบสามโมงเช้า แต่พอมาถึงเราก็ถึงบางอ้อว่า “ช่างเนากลับไปเอาระดับน้ำ (น้ำเที่ยง)”

เห็นช่างเนาขี้เมาอย่างนี้ แต่เขาก็มองงานออกนะว่าวันนี้จะต้องทำอะไร ใช้อะไร
เพราะขนาดตะปูสองที่เราเข็ดขัดสั้น (คาดไม่ถึง) ว่าจะต้องใช้ ในระหว่างที่ไหว้วานอาจารย์ร่อนขับรถออกไปซื้อ ลุงสองคนที่รอต่อแบบอยู่ก็ทำงานกันไม่ได้ เพราะต้องรอตะปู 2 แต่ช่างเนาทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจมาก เพราะเมื่อช่างเนารู้ว่าทุกคนกำลังรอตะปู 2 อยู่ ช่างเนาก็คว้าถุงพลาสติกเก่า ๆ ใบน้อย ๆ ที่มีตะปู 2 อยู่เป็นจำนวนหนึ่งออกมา แหม ช่างเนานี่ไม่ธรรมดาจริง ๆ...

ในระหว่างนั้นเองที่เรากำลังครุ่นคิดว่าจะจัดการอย่างไรดีกับการเลื่อยไม้วันนี้
เราก็นึกย้อนกลับไปถึงการสร้างโรงย้อนที่เชียงใหม่ว่า เราเคยเห็น “ช่างบุญ (ช่างชาวไทยใหญ่)” ไปถอดใบเลื่อยวงเดือนจากแท่นเลื่อยไม้ แล้วนำมาใส่กับแท่นตัดเหล็ก (ไฟเบอร์) ขนาด 14 นิ้ว แล้วใช้ตัดไม้ทำคานที่นั่น

ตอนนั้นเองเราก็บอกถามช่างเนาว่า ใบเลื่อยวงเดือนแพงไหม ใบละกี่บาท
เราก็ได้คำตอบคร่าว ๆ ว่าใบละสองสามร้อย
จากนั้นก็ได้ติดต่อกับทีมงานอีกท่านที่มีหน้าที่ซื้อของบอกว่าให้ซื้อใบเลื่อยวงเดือนมาให้หน่อย เขาก็ถามกลับมาว่า “เอาทั้งชุดหรือว่าเอาแต่ใบเลื่อย...?”
เราก็ตอบว่าเอาแต่ใบ เพราะจะเอามาใส่กับเครื่องไฟเบอร์ตัดเหล็กนี้

เพราะถ้าหากซื้อเลื่อยวงเดือนทั้งชุด ที่มีทีมงานอีกท่านหนึ่งซื้อมาเพื่อไปใช้ที่อื่น ราคาเครื่องพร้อมใบ (ของจีน) ก็ตกอยู่ประมาณสองพันกว่าบาท แต่คราวนี้ถ้าซื้อใบอย่างเดียวก็เพียงสองสามร้อยบาทเท่านั้น

อีกไม่กี่อึดใจ อาจารย์ร่อนก็กลับมาพร้อมกับตะปู 2 น้ำหนัก 2 กิโลกรัม
พร้อมกับเดินมาถามเราว่า ใบเลื่อยวงเดือนขนาดเท่าไหร่...?
ตอนนั้นเราก็ไม่แน่ใจว่า ใบเลื่อยวงเดือนที่ใช้อยู่ปกติมีขนาดกี่นิ้ว เราก็เลยบอกคร่าว ๆ ว่า แปดเก้านิ้ว
อาจารย์ร่อนจึงเดือนไปหยิบไฟตัดไฟเบอร์ขึ้นมาแล้วใช้หัวนิ้วโป้งกับนิ้วก้อย ยืดออกให้ห่างจากกันมากที่สุดแล้วก็บอกว่า “ประมาณคืบหนึ่ง”

อีกไม่นาน อาจารย์ร่อนก็กลับมาพร้อมกับใบตัดเลื่อยวงเดือนขนาด 9 นิ้ว ซึ่งพอทราบตอนหลังว่ามีราคาเพียง 100 บาทเท่านั้น โดยอาจารย์ร่อนให้เหตุผลสั้น ๆ ถึงราคาที่ถูกมากว่า "ของจีนครับ..."

พอมาถึง ช่างเนา ฮีโร่ประจำวัน ก็ได้แสดงบทบาทอีกในการถอดไฟเบอร์ใบเดิมออก ซึ่งตอนแรกก็มีปัญหาว่า ไม่มีกุญแจแปดเหลี่ยมเพื่อถอดใบไฟเบอร์ออก
จากประสบการณ์เดิมของเรา กุญแจถอดใบพวกนี้ ส่วนใหญ่จะติดอยู่กับเครื่องนั้นแหละ ก็คือไม่ผูกติดกับสายไฟที่ใช้เสียบไว้ ก็จะต้องมีที่เสียบ ๆ ไว้แถวนั้น
ตอนแรกก็พยายามหาแต่หาไม่เจอ เพราะเราไปหาอยู่ด้านหน้าเครื่อง ก็เลยบอกให้ช่างเนาไปเอาคีมล็อคมาขัน แต่คีมล็อคก็ขันไม่ออก อีกไม่กี่อึดใจ คุณลุงที่ไปนั่งอยู่ด้านหลังเครื่องก็เห็นว่า นี่ไง กุญแจแปดเหลี่ยมเสียบอยู่ตรงนี้

เมื่อถอดใบเก่าออก แล้วใส่ใบใหม่เข้าไป ก็ยังมีสิ่งที่ให้ช่างเนาได้โชว์ฝีมืออีก เพราะใบเลื่อยวงเดือนบางกว่าใบตัดเหล็ก เมื่อใส่เข้าไปแล้วขันน็อตปรากฏว่า “ไม่แน่น”

จากประสบการณ์นักวิชาการแบบโหล ๆ อย่างเราก็บอกทันที่ว่า “ต้องขี่รถออกไปหาซื้อแหวนมารอง”
แต่ประสบการณ์ของฝีมือของอย่างช่างเนาก็ได้สินเสียงโพล่งขึ้นมาทันทีว่า “เอ๊ย เอาไฟเบอร์เก่ามารองสิ...”

Large_2101201108

จากนั้นช่างเนาก็ไปหยิบใบไฟเบอร์เก่ามารองใส่ดูปรากฏว่า “ใช้ได้” แต่ใหญ่ไปหน่อย
แต่นั่นก็ไม่มีปัญหา ช่างเนาไปหยิบคีมดัดเหล็กมาอย่างฉับไว แล้วค่อย ๆ หนีบใบไฟเบอร์เก่าให้แตกออกจนได้วงเล็ก ๆ ตามขนาดที่ต้องการ จนทำให้ข้าพเจ้าต้องบอกช่างเนาว่า “เรื่องทำลายนี่ขอให้บอก 555”

๑๓.๓๑ นาฬิกา ณ ป่าช้าวัดป่าธรรมสถิตย์
เมืองสานะคราม แขวงเวียงจันทน์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 


 

หมายเลขบันทึก: 421820เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2011 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฟังดูแล้วอาจารย์ร่อน น่ารักมากครับ พอดีไม่ค่อยมีเวลาอ่าน เลยอ่านไม่จบ แต่ขอให้ทุกคนมีความสุข และสุขภาพแข็งแรงมาก ๆ ครับ พอดีแวะเข้ามาดูวิธีผสมปูน (สูตรผสม) เลยอ่านไปเรื่อย ๆ แต่เวลามีน้อยเลยอ่านไม่จบ แต่ขอให้ได้รับบุญกันทั่วหน้าเลยครับ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง มีโชค มีลาภ ขอให้ประสบณ์แต่ความสุข ทุก ๆ คน ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท