ชีวิตที่เมืองลาว : 20 มกราคม 2554 (2)


การทำงานในวันนี้... สิ่งที่พบและน่าสนใจมากอย่างหนึ่งก็คือ จากเดิมคนที่มาช่วยงานจะมาทำงานเก้าโมงกว่าๆ  ในช่วงเช้า วันนี้คนงานมาเร็วขึ้น คือ แปดโมงครึ่งก็มาแล้ว

 

ปัญหาการมาทำงานสายของคนงานนี้ เป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะคนที่มาทำงานให้นั้นอยู่ในลักษณะของการ “ช่วยงาน” คือ ไม่ได้ตกลงว่าจ้างกันเป็นกิจจะลักษณะ
หมายถึง เราไม่สามารถกำหนดกฏเกณฑ์ให้เขาว่า เราจะจ้างเขาวันละเท่าใด เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา คนที่มาช่วยงานนี้มาด้วย “ศรัทธา” คือ เราให้เท่าไหร่เขาก็เอาเท่านั้น คราวนี้ก็กลายเป็นปัญหาที่ว่าจะบังคับให้เขาตรงตามเวลาเป๊ะ ๆ มาสองโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็นก็ไม่ได้

Large_1701201102

เป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ที่เราพยายามใช้เทคนิค “การมีส่วนร่วม” คือ เปิดโอกาสให้เขาแสดงความคิดเห็นในการออกแบบหรือดีไซน์รากฐานเมรุฯ หลังนี้ คือ ยืดหยุ่นแบบที่วิศวกรทางเมืองไทยเขียนมา เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของมากขึ้น อาทิ ขนาดของเสา ที่เดิมดีไซน์ไว้ที่ขนาด 25x25 เซนติเมตร แต่ช่างที่มาช่วยงานเราอยากจะให้ใหญ่ขึ้น เราก็ถามว่าจะเอาเท่าไหร่ดี เขาก็บอกว่าอย่างน้อยก็น่าจะซัก 30x30 เซนติเมตร เราก็โอเค ตกลงตามความคิดของเขา เพราะตามหลักการแล้ว เสาใหญ่ก็ย่อมดีกว่าเสาเล็ก แต่ที่อาจจะไม่ดีสำหรับงานนี้บ้างก็คือ วัสดุอุปกรณ์ก็คือเหล็กและปูนอาจจะเสียเพิ่มมากขึ้น เราก็คิดว่าคุ้มค่าที่ต้องเสียเหล็ก แต่ได้ “ใจคน”

ในวันนี้ช่างคนเดิมก็มาทำงานเร็วขึ้นกว่าก่อนประมาณหนึ่งชั่วโมง และตอนกลางวัน จากเดิมที่จะพักทานข้าวหนึ่งชั่วโมง วันนี้เพียงครึ่งชั่วโมงเขาก็มาทำงานกันแล้ว

จากการสังเกต เราก็พบว่า เรารู้สึกว่างานนี้เป็นงานของเขา เขาต้องรีบมาทำ แต่ถ้าหากเขาคิดว่าเป็นงานของเรา เขาเป็นแค่ลูกมือ เขาก็ปล่อยให้เราทำ เขาเป็นเพียงผู้ช่วยเท่านั้น

ดังนั้น การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของงานหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ควบคุมงานพึงมอบหมายให้ตามความรู้ความสามารถของบุคคลคนนั้น

ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ มีช่างคนหนึ่งชื่อว่า “สำเนา” ซึ่งเป็นคนขี้เมา คนแถวนี้จะเรียกกันว่า “บักเบา” หรือในภาษาไทยก็คือ “ไอ้เนา” นั่นเอง

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราเรียกเขาว่า “ช่างเนา” ตลอด
เราคิดว่าการให้เกียรติเขาตามความรู้ความสามารถที่เขามีจะทำให้เขารู้สึกภูมิใจในคุณค่าของตนเอง มากกว่าที่คนอื่นจะจิกหัวเรียกเขาว่า “บักเนา” ด้วยบุคลิกที่ดูจะเป็นคน “ขี้เมา” ตลอดทั้งวัน

Large_1901201103

หน้าที่ของช่างเนาที่เรามอบหมายในตอนแรกก็คือ “การต่อไฟฟ้า”
พอไฟเสีย ไฟดับ หรือเกิดอะไรขึ้นกับไฟ เราก็ต้องเรียก “ช่างเนา ช่างเนา ไฟเสียนะ”
ช่างเนาก็จะรีบวิ่งกุลีกุจอไปต่อไฟให้ในทันที
พอคราวหลังไฟเสียอีก เราก็ไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว พอหันไปสบตาก็รู้ว่า เขาต้องไปทำ และเขาก็ทำหน้าที่นั้นอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง คือ อะไรที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน เรารับผิดชอบอย่างดีมาก

นอกจากติดตั้งไฟแล้ว เรายังมอบหมายให้ช่างเนามีหน้าที่ “ดัดเหล็ก” คือช่างเนาเป็นคนที่ร่างกายกำยำ ล่ำสัน แรงเยอะ ถึงแม้จะเดินโอนเอียงไปหน่อย  แต่ก็มีแรงที่จะดัดเหล็กมากกว่าใคร
เราได้พยายามให้เขารับผิดชอบในการดัดเหล็ก “คานคอดิน” บอกรายละเอียดให้เขาคร่าว ๆ ว่า คานเส้นนี้ใช้เหล็กกี่เส้น เส้นหนึ่งใช้ความยาวเท่าไหร่ และวาดรูปให้เขาดูว่าจะต้องไปใส่ที่ไหนบ้าง สุดท้ายก็พูดว่า “เดี๋ยวช่างเนารับผิดชอบใส่ให้เรียบร้อยนะ”
จากนั้นเราก็เพียงยืนดูอยู่ห่าง ๆ ปล่อยให้ช่างเนาทำงานของเขาไปอย่างเต็มที่

Large_1701201104

ช่างเนาอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่มาทำงานเช้าที่สุด เนื่องจาก ตอนเช้าช่างเนาจะตามคณะของเราออกไปบิณฑบาตด้วย ก็คือ เจอหน้ากันทั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ช่วยไปหิ้วอาหารจากการบิณฑบาต จากนั้นก็หิ้วกลับมาส่งที่ป่าช้า

ช่างเนามากับลูกชายที่ชื่อ “มืด”
มืดมาช่วยงานเราได้สองวันแล้ว เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ (๑๘ มกราคม ๒๕๕๔) ตอนเช้าเราได้เห็นช่างเนามากับเด็กตัวเล็ก ๆ หนึ่งคน มาถึงช่างเนาก็ให้เด็กคนนั้นช่วยหิ้วอิฐมอญมาวางไว้ตามเสาตอหม้อที่จะต้องมีงานก่อ ตอนนั้นเราก็เริ่มเอะใจว่าเด็กคนนั้นคือใคร ซักพักเราก็ถามช่างเนาว่า เด็กคนนี้คือใครเหรอ? ช่างเนาก็ตอบว่า “ลูกชาย”

หลังจากที่มืดขนอิฐเสร็จ เขาก็นั่งอยู่ว่าง ๆ ไม่มีงานอะไรทำ เพราะงานก่ออิฐนั้นต้องปล่อยให้ผู้ใหญ่ทำ
เราเห็นมืดนั่งว่าง ๆ อยู่ ซึ่งนั่นขัดกับหลักการคุมงานของเราที่ได้รับกุศลบายจากครูบาอาจารย์มาสั้น ๆ ว่า “อย่าให้ใครว่างงาน” เราก็จึงมอบหมายงานชิ้นหนึ่งที่ท้าทายความสามารถเด็กอายุประมาณ 10 ขวบพอสมควรก็คือ “มืด ๆ ช่วยไปนับอิฐดูซิว่า เสาต้นหนึ่งใช้อิฐกี่ก้อน”

โดยตอนนั้นเราให้เวลามืดประมาณ 10 นาที

เมื่อผู้ใหญ่รอบ ๆ ข้างได้ยินโจทย์ของเราที่บอกให้มืดทำแล้ว มีคนหนึ่งก็ตะโกนบอกมืดไปว่า ให้นับด้านหนึ่งแล้วก็คูณสี่ แต่มืดก็ยังก้มหน้าก้มตานับอย่างตั้งใจ เพียงอึดใจเดียว (ไม่น่าจะถึงห้านาที) มืดก็เดินมาบอกกับเราว่า “ใช้อิฐ 119 ก้อนครับ”

จากนั้นเองเราก็เพิ่มโจทย์ให้ยากขึ้นโดยบอกว่า วันนี้จะต้องก่อเสา 14 ต้นนะ เสา 14 ต้นนี้จะต้องใช้อิฐกี่ก้อน...?
มืดก็ทำหน้างง ๆ เล็กน้อย เราก็เลยถามต่อไปว่า เรียนคูณเลขมาหรือยัง…?
มืดก็ตอบว่า “เรียนแล้ว”
เราก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอาไม้ขีดลงบนแผ่นดินตรงนั้น แล้วก็คิดออกมาดู

พอผ่านไปซักพัก (ประมาณ 5 นาที) เราก็เดินไปดู ปรากฎว่า “มืดคิดไม่ได้”
ตอนแรกเราก็คิดว่า โจทย์มันยากไปมั๊ง ก็เลยพามืดไปสอนคิดเลขในกระดาษ
ก็ลองให้มืดตั้งโจทย์คิด โดยเอา 119 ตั้ง แล้วคูณด้วย 14 เราก็จะพยายามสอนมืดคิดทีละตัว แต่ทว่า “มืดคิดได้เอง”
เราก็เลยพูดว่า “อ้าว ทำไมเมื่อกี๊คิดไม่ได้”
อ๋อ เมื่อกี๊ผมคิดว่าหารครับ ก็เลยงง ๆ...

ในช่วงเย็น มี “นายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน)” นายหนึ่งมาพูดคุยกับลูกบ้านของเขาที่นัดกันมาช่วยงาน
นายบ้านคนนี้ดูท่าทางเสียงดัง เอะอะมะเทิ่ง เราฟังเขาก็ดูเหมือนคนดุ ๆ แต่พอเขาพูดคนลูกบ้านที่นั่งฟังเขาพูดก็หัวเราะ ครึกครื้นกันไป เราพอจับใจความได้ว่า
เขาเป็นคนเกณฑ์ให้ลูกบ้านของเขามาช่วยงานเราประมาณวันละสามถึงห้าคน และในวันนี้มีคนมาช่วยเราสี่คน และเมื่อเราฟังไปเรื่อย ๆ เราก็พบสาเหตุว่าเมื่อก่อนที่คนมาช่วยงานเราน้อยเพราะเขา “กลัวผี” เนื่องจากติดคติความเชื่อว่าเป็น “ป่าช้า”

แต่นายบ้านพูดแล้วน่าสนใจมากกว่า “ถ้าใครไม่มาช่วย ตอนตายก็ไม่ต้องมา” ก็คือ ตายก็ไม่ต้องมาเผาที่นี่ ลูกบ้านที่นั่งฟังต้องก็ “เฮ” กันใหญ่ แล้วก็พูดต่อด้วยว่า “จริง ๆ”
 
นายบ้านพูดต่อว่า การมาช่วยงานที่นี้มีอานิสงส์ก็คือตอนตายเราก็จะได้มาใช้
สุดท้ายก็ยังมีขู่ด้วยว่า ถ้าถึงเวรใครแล้วไม่มาจะปรับสตางค์ น่าจะเป็นวันละหนึ่งร้อยบาท

วันนี้นายบ้านท่านที่มา ให้ช่วยออกหัวคิดหลายอย่างเช่น ท่านได้ไปคุยกับเจ้าของท่าดูดทรายว่า จะให้ช่วยเรื่องหินเรื่องทรายหน่อย ลุงเจ้าของท่าก็บอกว่า “ช่วยก็ช่วยได้ แต่จะช่วยอะไร” คือหมายความว่า หินหรือทรายนั้นจะเอาไปทำอะไรกัน

นายบ้านจึงแนะนำว่า ให้แม่บ้านท่านหนึ่งร่างหนังสืออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไปบอกเขาว่าเรากำลังทำอะไรให้ชัดเจน เขาจะได้รู้ว่าหินกับทรายของเขาที่จะให้มานั้นจะไปทำอะไร ตรงไหน...

ในช่วงเย็นช่างที่เราพูดถึงว่ามาทำงานเร็วขึ้นนั้นเขาชื่อ “ช่างสุภา” คนอื่นจะเรียกว่า “จก” คือชื่อเล่นของเขา วันนี้เราก็คิดว่าจะเรียกชื่อเขาว่าอะไรดีน๊อ จะเรียกช่างจกหรือช่างสุภาดี เพราะเราคิดว่าชื่อ “จก” นี้ฟังแปลก ๆ ถ้าจะให้เกียรติเขาก็เรียกชื่อจริงเขาดีกว่า แต่จะเรียกชื่อจริงเขา ก็ดูเหมือนห่างเหิน แต่ก็ต้องค่อย ๆ ดูไป วันนี้ขอเรียก “ช่างสุภา” ก่อนก็แล้วกัน

Large_2101201104

งานครั้งนี้ เราต้องพึ่งพาช่างสุภาเป็นอย่างมาก เพราะพื้นฐานงานช่างของพี่น้องชาวลาวจากการที่เราสังเกตุมาประมาณหนึ่งสัปดาห์พบว่า พี่น้องชาวลาวมีฝีมือทางด้าน “งานไม้” เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องมือช่างเกี่ยวกับงานไม้นั้นมีอย่างครบครัน แต่ทว่างานปูนนั้นมีคนเป็นงานอยู่น้อย

คนที่จะพอดัดเหล็กผูกเหล็กเป็นบ้าง ก็จะเป็นคนที่เคยเข้าไปทำงานรับจ้างเป็นกรรมกรอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเราได้ยินว่าไปทำคอนโดฯ อยู่แถว ๆ พระราม ๙
ดังนั้น คนที่เป็นงานช่างปูนจริง ๆ ก็จะมี “ช่างสุภา” เพียงคนเดียวเท่านั้น

งานของช่างหลัก ๆ ที่ต้องใช้ “ฝีมือ” เป็นอย่างมากก็คือการ “ดึงเอ็น” “การดิ่ง” และ “ดีดเต๊า” จะว่าไปงานพวกนี้ดูเหมือนงานง่าย ๆ แต่เป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก ต้องอาศัย Tacit Knowledge ของช่างค่อนข้างสูง
ซึ่งแตกต่างจากงานผูกเหล็ก ดัดเหล็ก ที่สามารถเรียนรู้กันได้ภายในหนึ่งวัน

ดังนั้น ในครั้งนี้เราจึงมอบอำนาจการตัดสินใจ (Empowerment) ให้กับช่างสุภาไปพร้อมกับการทำด้วย จึงทำให้งานเร็วขึ้น อะไรที่ผ่อนปรนหลักการวิชาการได้ เราก็ให้อำนาจเขาตัดสินใจไปเลย คือพูดง่าย ๆ ว่า อันนั้นที่ช่างสุภาแสดงความคิดเห็นแล้วเกินมาตรฐานแล้ว ก็ต้องยอมเปลืองหิน เปลืองปูนหน่อย แต่ถ้าน้อยเกินไป ก็ต้องพยายามตะล่อมให้ได้ “มาตรฐาน”

ที่จริงแล้ว ช่างเนา ก็ดูเป็นงานปูนกับงานเหล็กเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานดัดเหล็ก ช่างเนามีฝีมือการดัดเหล็กที่เรียบร้อย สวยงาม

งานดัดเหล็ก บางครั้งดูเหมือนจะเป็นงานง่าย ๆ แต่ก็ต้องใช้ Tacit knowledge มิใช่น้อยเหมือนกัน

ดังเช่นเมื่อก่อนครั้งที่เราทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ เราต้องยอมรับนับถือ “แฟนช่าง” ก็คือ คนที่เป็นภรรยาของช่างชาวไทยใหญ่ว่า มีฝืมือในการดัดเหล็ก ผูกเหล็กที่รวดเร็ว ว่องไว และสวยงามมาก
ซึ่งในครั้งนี้ เราก็ได้ช่างเนานี่แหละ คอยคุมงานดัดเหล็กให้เรา ถึงแม้ว่าช่างเนาจะดู “ปากเสีย” ไปหน่อย ก็คือชอบดุคนที่ดัดเหล็กไม่สวย แต่ก็พอที่ไว้ใจในฝีมือได้มากกว่า “ฝีปาก”

ช่างเนาเป็นคนที่ทำงานปูนได้ แต่ไม่ละเอียดนัก สังเกตุจากการวัดดิ่งเสา ก็คือ เขารู้หลักการทำงานว่าจะต้องทำอะไรตรงไหน แต่ก็อาจจะใจร้อนไปสักนิดหนึ่ง ก็คือ ลูกดิ่งยังไม่ทันนิ่งเขาก็ปล่อยลงไปเสียแล้ว จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนบ้างประมาณครึ่งเซนติเมตร แต่งานบ้างอย่างที่ไม่ซีเรียส จากการก่ออิฐเพื่อเทเสาตอหม้อ เราก็ปล่อยให้เขาเป็นคนดิ่ง เป็นคนดีดเต๊าเอง ด้วยสาเหตุหลักสองประการคือ เมื่อก่อนช่างสุภามาสาย ก็คือเก้าโมงสิบโมงถึงจะมาทำงาน แต่ช่างเนาหลังจากตามเราบิณฑบาตเสร็จ แปดโมงกว่า ๆ ก็มาแล้ว มาถึงก็ทำงานคนเดียว เราก็ปล่อยให้เขาทำไป และสาเหตุที่สองคือ ขนาดเสาของเราที่ขนาด 30x30 นั้น ถ้าจะปล่อยให้ช่างเนาดีด คงเอียงไปเอียงมา แต่การได้งาน ยังไม่เท่ากับการได้คน เราก็เลยผ่อนขนาดเสาออกไปให้อีก ก็คือ บอกหลักการง่าย ๆ ว่า จากขนาดเหล็กปลอก 25x25 เซนติเมตร บอกให้วัดออกไปข้างละ 5 เซน แล้วก็ดีดเต๊าเลย เปลืองปูนช่างมัน ขอให้คนมีความสุขใจในการทำงาน...

Large_2001201103

ในวันนี้ช่วงเย็น เราก็ปรึกษางานกับช่างสุภาว่า บันไดจะทำอย่างไรกันดี เนื่องจากตามแบบที่เขียนมาบันไดจะเป็นการผูกเหล็กแล้วเทปูน แต่ทว่าแบบโครงสร้างบันไดนั้นมีคานยื่นออกมาจึงสามารถทำบันไดแบบก่อได้ ซึ่งเราคำนวณแล้วว่าจะต้องใช้อิฐบล็อคขนาด 20x30 เซนติเมตรด้านละประมาณ 250 ก้อน ซึ่ง 3 ด้านจะใช้อิฐประมาณ 750 ก้อน ราคาค่าอิฐบล็อคของประเทศลาวจากการตรวจสอบเมื่อกลางวันนี้ (๒๐ มกราคม ๒๕๕๔) อยู่ที่ราคาก้อนละห้าบาท (เมืองไทยอยู่ประมาณ ๓ บาท) ก็จะมีราคาต้นทุนอิฐประมาณ 3,750 บาท ซึ่งถ้าหากเทียบกับการใช้เหล็กผูกแล้วจะมีราคาสูงกว่าเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้เราคิดว่า จะให้ร้านค้าอิฐซึ่งเราเดินผ่านมาหลายวันได้มีโอกาสนำสินค้าของเขาเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้บ้าง ก็คือ ปกติเราจะสั่งอิฐที่อื่น ซึ่งเป็นร้านที่มีคนรู้จักกันในราคาห้าบาท พรุ่งนี้เราวางแผนว่าจะให้คนไปถามร้านข้างหน้านี้ดูว่า อิฐเขาราคาเท่าไหร่ ถ้าไม่ต่างกันมากมายก็จะใช้อิฐของเขา ถึงแม้จะแพงหน่อย ก็ไม่ให้ดูว่าเราข้ามหัวเขาไปข้ามหัวเขามา ให้เขามีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานบ้าง ถึงแม้เขาจะทำบุญหรือไม่ทำบุญก็ไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งสำคัญก็คือ เราเปิดโอกาสให้เขาหรือไม่...

ในระหว่างที่เรากำลังพิมพ์งานอยู่นี้ เราก็ได้ยินเสียงรถหกล้อวิ่งกลับมาจากการขนไม้แบบ ที่จะนำมาตีแบบเพื่อเทคานคอดินในวันพรุ่งนี้ เพราะจากการคิดคำนวณแล้ว ถ้าหากไปเอาไม้แบบตอนเช้า กว่าจะขน กว่าจะเดินทาง เก้าโมงสิบโมงถึงจะได้เริ่มทำงาน แต่ถ้าไปเอาวันนี้ ซึ่งจะต้องมีรถไปส่งคนงานที่นั่นอยู่แล้ว เสียเวลาขนหน่อยก็จะสามารถทำให้งานในวันพรุ่งนี้เริ่มต้นได้เร็วขึ้น...

Large_2001201104

สำหรับอากาศในช่วงสองวันมานี้อุ่นขึ้นเยอะ ถ้าหากเปรียบเทียบจากสามสี่วันแรกที่มา ในตอนนั้นมีคนมาบอกเราว่าอากาศในช่วงใกล้เช้าอยู่ที่ประมาณ 7-8 องศา เมื่อวันที่ผ่านมาน่าจะอยู่ที่ 11 และวันนี้อุ่นขึ้นมากน่าจะอยู่ที่ 15 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ร่างกายพอทนไหว ไม่ทุกข์หลายเหมือนคราวที่อากาศลดลงต่ำไปกว่าสิบองศา

ตอนเช้าที่นี่มีหมอกลงจัด อากาศกลางคืนค่อนข้างชื้น คือถ้าซักผ้าตอนเย็น ตอนเช้าก็ยังไม่แห้ง ซึ่งแตกต่างจากวังน้ำเขียว ซึ่งมีลมโชยมาตลอด ถึงแม้ว่าอากาศจะชื้น ซึ่งสังเกตุจากน้ำค้างที่เกาะอยู่ตามใบไม้ค่อนข้างมาก แต่ซักผ้าตอนเย็น ตอนเช้าก็แห้งแล้ว...

การพักค้างคืนในป่าช้า คืนนี้ก็เป็นคืนที่เจ็ด ถือว่า “ปกติมาก” ก็คือ ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรมากว่าเป็น “ป่าช้า”
เราเองก็งง ๆ อยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อก่อนเป็นคนกลัวผีมาก
เคยคิดเล่น ๆ ว่าจะไปนอนป่าช้าคงกลัวหลาย
แต่พอเอาเข้าจริงมานอนพักที่นี่ ข้างหน้าที่พักก็มีหลุมศพหลายหลุม แต่ก็ไม่ยักกะกลัว

Large_2001201105


สิ่งนี้เป็นอานิสงส์หลักจากการทำเมรุฯ ซึ่งเป็นการที่จิตได้สัมผัสกับ “ผี” มาเป็นเวลานาน
ความจริงเป็นเรื่องที่แตกต่างจากความคิด
ความคิดที่บอกไม่ให้กลัวนั้นเป็นอย่างหนึ่ง แต่การสัมผัสความจริงจนจิตเลิกกลัวไปเองนั้นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง...

การใช้โทรศัพท์ ณ จุดนี้ สามารถใช้งานสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ จุดนี้อยู่ห่างจากแม่น้ำโขงตรงข้ามอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลยประมาณ 2 กิโลเมตร โทรศัพท์ที่ใช้ซิมการ์ดเมืองไทยสามารถใช้ติดต่อได้ตามปกติ แต่ก็จะมีช่วงสัญญาณขาดบ้าง คือโทร ๆ ไปเสียงก็ขาด ๆ หาย ๆ บ้าง หรือบางครั้งคลื่นก็หายเป็นช่วง ๆ ประมาณสองถึงสามนาที แต่ก็ดีกว่าเปลี่ยนไปใช้เบอร์ของประเทศลาว ซึ่งมีอัตราในการโทรฯกลับเมืองไทยและรับสายจากเมืองไทยนาทีละหลายสิบบาท

ดังนั้น การติดต่อกันของพี่น้องชาวลาว ณ จุดนี้ จึงสามารถใช้ได้ทั้งเบอร์ไทยและเบอร์ลาว ส่วนเราใช้เบอร์ไทยก็ไม่มีปัญหาอะไรในการโทรกลับและรับสายจากเมืองไทย ก็คือ อัตราค่าบริการเป็นปกติ จากการทดลองของเราพบว่า ณ จุดนี้ มีคลื่นโทรศัพท์ของระบบ GSM และ DTAC ส่วนระบบอื่นนั้น จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีหรือไม่


 

หมายเลขบันทึก: 421622เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2011 23:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สำหรับในเรื่องของสัญญาณ Internet ในระบบ GPRS นั้น การมาอยู่ในฝั่งประเทศลาว ณ ตรงจุดนี้ก็พอที่จะ connect ติด แต่การทำงานค่อนข้างลำบาก

 

กล่าวคือ ในช่วงเวลากลางวัน โดยเฉพาะหัวค่ำการเข้าไปค้นหาข้อมูลตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้นยากมาก ซึ่งนั่นไม่ต้องพูดถึงการดาวน์โหลดหรืออัพโหลดไฟล์หรือข้อมูลใด ๆ

จากการที่ข้าพเจ้าทดลองดาวน์โหลดไฟล์ขนาดตั้งแต่ 1-10 เมกะไบต์นั้น จะสามารถในช่วงหลังจากเวลา 5 ทุ่มเป็นต้นไปเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าหากจะทำงานที่จะต้องมีการดาวน์โหลดหรือ upload ไฟล์ ก็ควรจะใช้เวลาทำงานในระหว่าง 5 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้าเท่านั้น

และจากการที่เคยเข้ามาทดลองใช้ Internet ตอน 8 โมงเช้า ก็พบว่า เข้า Internet ได้ไวพอสมควร แต่การใช้งานก็ติด ๆ ขัด ๆ เว็บไซด์หนึ่ง ๆ ใช้เวลาเปิดนานหลายนาที บางทีก็ค้างเติ่งไปเลย

วิธีแก้ไข...

ไม่จำเป็นก็ไม่ควรใช้งาน Internet ในช่วงระหว่างเวลา 8.00-22.00 น.

หรือถ้าหากจะพิมพ์บล็อคอย่างเช่นข้าพเจ้า ก็ให้พิมพ์ใส่ไว้ในโปรแกรมสำหรับการพิมพ์งานต่าง ๆ แล้วก็เข้ามาลงในช่วงเวลากลางคืน

ซึ่งถ้าหากมีความจำเป็นจะต้องใช้งานในช่วงเวลากลางวันจริง ๆ ก็ต้องอิงอาศัยความเพียรพยายามเป็นอย่างสูงในการทำงานแต่ละครั้ง...

วันนี้ทดลองเปลี่ยนมาใช้งาน GRPS ของ DTAC ที่ใช้เสาสัญญาณจากอำเภอเชียงคานปรากฏว่า "เร็วมาก" ทำงานได้ดีกว่าเดิมเยอะ

คืนนี้ทดลองใช้โปรโมชั่น 2 ชั่วโมง 9 บาทก่อน เพราะไม่แน่ใจว่า ดีแทคใช้ได้ดีหรือไม่

แต่ก็ปรากฏว่า "ประทับใจ" ดีแทคเดี๋ยวนี้เขา "ดีจริง ๆ..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท