ชุมชนปลอดเหล้า....บทเรียนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเจดีย์ชัย


โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเจดีย์ชัย

ตั้งอยู่ บ้านดอนแก้ว หมู่ 6 ตำบลเจดีย์ชัย อำเภอปัว จังหวัดน่าน ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2526 ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 มีเนื้อที่ 5ไร่ อยู่ห่างจากตัวอำเภอปัว 12 กม. ห่างจากตัวจังหวัดน่าน 50 กม.มีถนนทางหลวงแผ่นดินเลขที่ 1080 ผ่าน มีหมู่บ้าน 9 หมู่บ้าน 1,780 หลังคาเรือน  2,069 ครัวเรือน ประชากร 7,323 คน  ชาย 3,709  คน หญิง 3,614 คน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ทั้งสิ้น 8 คน เจ้าหน้าที่บริหารงาน 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข1 คน พยาบาลวิชาชีพ    เวชปฎิบัติครอบครัว  1  คน พยาบาลวิชาชีพ  1  คน  ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 1 คน พนักงานช่วยเหลือคนไข้ 1 คน พนักงานบริการทั่วไป 2 คน

งานรักษาพยาบาล เปิดให้บริการประชาชน วันจันทร์ ถึง วันอาทิตย์ เวลา 08.00 น.ถึง 17.00 น และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สถิติการมารับบริการของผู้ป่วยในสถานบริการและเชิงรุก เฉลี่ย 64 คน/วัน

ทีมสุขภาพ ประกอบด้วย พยาบาลเวชปฎิบัติครอบครัว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข เปิดให้บริการอาทิตย์ละ 7 วัน และให้บริการเชิงรุกในชุมชน คัดกรองสุขภาพกลุ่มเสี่ยง เบาหวาน และความดันโลหิตสูงโดยอาสาสมัครสาธารณสุข

 

 

โครงการเด่น/นวัตกรรม 

โครงการ ลด ละ เลิก การดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน 

จากปัญหาภาระค่าใช้จ่ายประเภทเหล้า เบียร์ในงานศพของเจ้าภาพที่ต้องนำมาเลี้ยงแขกในงาน เฉลี่ย 5,000 – 10,000 บาท ต่อ 1 งาน โดยเฉลี่ยต่อวัน ต้องมีเบียร์ 3 ลัง เหล้าขาว 5 – 10 ขวด เฉลี่ยค่าใช้จ่ายวันละ 2,000 บาท และมักมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทจากการเมาสุราในงานศพอยู่เสมอ จากปัญหาดังกล่าว ผู้นำชุมชนกลุ่มแม่บ้าน อสม. ผู้สูงอายุ สภาวัฒนธรรมตำบลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงได้ทำเวทีประชาคม เพื่อหามาตรการลดการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในงานศพขึ้น   ในปัจจุบันทุกงานศพเจ้าภาพจะไม่นำสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเลี้ยงแขก และแขกที่มาร่วมงานจะไม่ทักท้วงขอสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากเจ้าภาพทำให้เกิดความประหยัด ลดค่าใช้จ่าย และไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท เกิดความพึงพอใจของชุมชน จากความสำเร็จดังกล่าว มาจากความเข้มแข็งและความมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคีเครือข่าย และปราชญ์ชุมชน  และจะขยายการดำเนินต่อในงานกีฬาทุกชนิด งานฉลองพระธาตุประจำตำบลให้ปลอดเหล้า เบียร์  และในงานประเพณีส่วนบุคคล เช่น งานแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ให้มีการ ลด ละ เลิก โดยจัดให้มีช่วงเวลาการดื่มเพียงระยะเดียว โดยการกำหนดช่วงเวลา เช่น 08.00 – 13.00 น. หรือช่วงเวลา 13.00 – 17.00 น. หรือช่วงเวลา 17.00 – 22.00 น.

จุดเด่นของการพัฒนาปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของการพัฒนา รพ.สต.

           การมีส่วนร่วมของชุมชนและให้ความร่วมมือ เช่น การบริจาคเงินในการพัฒนารพสต.หลังคาเรือนละ 50 บาท  ในงานศพหลังจากทำพิธีฌาปนกิจแล้วจะมีการบริจาคเงินให้รพ.สต.ครั้งละ 100 - 200 บาท มีทีมภาคีเครือข่ายสุขภาพมีความเข้มแข็งและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั่วไปเช่น ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมอสม. ชมรม   ออกกำลังกาย และกลุ่มผู้นำชุมชนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ทำให้รับทราบถึงปัญหาของชุมชน

 

จุดที่ต้องพัฒนา รพ.สต.ให้ดียิ่งขึ้น

การพัฒนา อสม.และภาคีเครือข่ายให้มีศักยภาพมากขึ้นในการดูแลสุขภาพประชาชน เช่น การดูแลเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การดูแลหญิงหลังคลอด การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งสร้างทีมเครือข่ายในการพัฒนาชุมชน องค์กรที่เกี่ยวข้องให้หันมามองเรื่องสุขภาพและการป้องกันโรค เน้นการสร้างสุขภาพ มากกว่าการรอให้เจ็บป่วย และรอการรักษาพยาบาล มีการปรับปรุงอาคารสถานที่ ในการจัดบริการ คลินิกแพทย์แผนไทย เพื่อให้บริการประชาชน มีการนำสถาบันศาสนา เช่น พระสงฆ์เพื่อพัฒนาด้านจิตใจของประชาชน การนำสมุนไพรในชุมชนมาใช้ในการแพทย์ทางเลือก มีการนำพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมในชุมชน มาประยุกต์ใช้กับการรักษาพยาบาล ร่วมกับการรักษาพยาบาลกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

........................................................................

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จำเป็นต้องอาศัยการสร้างปัจจัยแวดล้อมทางด้านสุขภาพควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคล เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในการที่จะพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพ โดยมีบุคลากรสาธารณสุขของรพ.สต.เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

...............................................................................

ขอขอบคุณ บุคลากร รพ.สต.เจดีย์ชัย, ทีมบูรณาการเชิงรุก อ.ปัว ที่เอื้อเฟื้อบทความและรูปภาพ

อ้างอิง ทีมบูรณาการเชิงรุกอำเภอปัว. สรุปบทเรียนการพัฒนารพ.สต.ตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 รพ.สต.ต้นแบบ, 2554

 

 

หมายเลขบันทึก: 421537เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2011 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชื่นชมคนเมืองน่านที่พากันช่วยกันทำในเรื่องปลอดเหล้า  เมืองแป้กำลังกั้นทำกัน ถ้าผู้นำไปผ่องานที่เมืองน่านถ้าพากันทำจริงก้คงได้เหมือนเมืองน่านเปิ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท