การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง....บทเรียนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อสวก


โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อสวก

รพ.สต.บ่อสวก ตั้งอยู่เลขที่ 98 หมู่ 3 บ้านม่วงเจริญราษฎร์ สร้างขึ้นเป็นสำนักงานผดุงครรภ์ชั้น 2 เมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยมี น.ส.สัจจพร  กิตติวงค์ เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์ ปฏิบัติงานเป็นคนแรก พ.ศ. 2525 ได้รับการยกฐานะให้เป็น สถานีอนามัยตำบลสวก (สอ.ต.สวก) และ ปี พ.ศ. 2537 ได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข เป็นเงิน 1,929,000 บาท สร้างอาคาร ขนาดพื้นที่ 220 ตารางเมตร ยกฐานะเป็นสถานีอนามัยขนาดใหญ่ ให้บริการด้านสุขภาพแบบผสมผสาน แก่ประชาชนในตำบลสวก จำนวน 13 หมู่บ้าน

1 กรกฎาคม 2552 ได้ยกฐานะจาก สอ.ต.สวก เป็น รพ.สต.บ่อสวก โดยทำพิธีเปิดในวันจันทร์ ที่ 13 กรกฎาคม 2552

 

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ่อสวก อยู่ห่างจากโรงพยาบาลน่าน 17 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 20 นาที การคมนาคมสะดวกด้วยถนนลาดยาง รับผิดชอบ 13 หมู่บ้าน  1,871  หลังคาเรือน  มีประชากร 6,629 คน แยกเป็น ชาย 3,365 คน หญิง 3,264 คน หมู่บ้านที่ไกลที่สุดประมาณ 7.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 10 นาที 

 

บุคลากรที่ปฏิบัติงานประจำ 

มีทั้งหมด 6 คน  แยกเป็น ผอ.รพ.สต. 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 2 คน  (พยาบาลเวชปฏิบัติ 1 คน) เจ้าพนักงานสาธารณสุข 1 คน และเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 1 คน ผู้ช่วยเหลือคนไข้ 3 คน เปิดให้บริการ ทุกวันทำการและหยุดราชการ ช่วงเวลา 08.30 น.-16.30 น. ผู้ป่วยรักษาพยาบาล  เฉลี่ย 34 รายต่อวัน ผู้ป่วยทันตกรรม เฉลี่ย 6 รายต่อวัน

 

 

รูปแบบ/ระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง 

แรงบันดาลใจในการจัดทำโครงการ 

          ประชาชนในพื้นที่มีแนวโน้มการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่มีเหมาะสม  ปัจจัยเสียงจากสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิต  ได้แก่โรคมะเร็ง  โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ และหลอดเลือด  เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  บางคนเป็นหลายโรคพร้อมกัน

          การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ ให้ได้ผลและเกิดความยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยพลังของประชาชนเป็นรากฐาน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การพัฒนารูปแบบการทำงาน จึงเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการดูแลสุขภาพของกลุ่มผู้ป่วย ให้ได้รับการดูแลจากสถานบริการและชุมชน ส่วนกลุ่มเสี่ยงในชุมชน มีการจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ มุ่งหวังให้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความตระหนัก สามารถดูแลสุขภาพ และจัดการกับ ตัวเอง โดยใช้กระบวนการกลุ่มและแรงสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงจะสร้างความยั่งยืนและลดการเกิดโรค ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระยะยาวได้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มเสี่ยง

1. นำเสนอข้อมูลสถานะสุขภาพ และสถานการณ์การเจ็บป่วยและตายด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน 

2. จัดเวทีเสวนา “คุยกับคุณหมอ” ในเรื่องการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อพิชิตโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

3. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จัดกิจกรรมบริการตรวจสุขภาพกลุ่มเสี่ยง โดยการเจาะเลือดและวัดความดันโลหิตอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการเข้าโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

4. จัดกิจกรรมกลุ่ม เพื่อให้ความรู้และเสริมทักษะชีวิต มีการติดตามดูแลและให้กำลังใจแก่ผู้ที่เข้าร่วมโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยให้มีการบันทึกลงในสมุดบันทึกความดีด้านสุขภาพประจำวัน เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพ ที่ปฏิบัติเพื่อลดปัจจัยเลี่ยง ได้ในแต่ละวัน โดยให้บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ติดตามประเมิน

5. สนับสนุนชุมชนให้เกิดการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาพและป้องกันความเสี่ยงในชุมชน  โดยมีการกำหนดนโยบายสาธารณะ  ให้งานบุญ  งานประเพณีต่างๆ  ของชุมชน  ให้มีการรณรงค์ลดบริโภคหวาน  มัน  เค็ม

6. สร้างแรงจูงใจ  และยกย่องให้เป็นตัวต้นแบบในชุมชน

 

การสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (ความดันโลหิตสูง , เบาหวาน) 

  โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยในชุมชนร่วมกันกำหนด นโยบายด้านสุขภาพเพื่อลดอุบัติการณ์ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง  และเบาหวานโดยให้หมู่บ้านมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง

 

จุดเด่นและความภาคภูมิ

1. เกิดมาตรการนโยบายสาธารณะของชุมชน ให้มีการลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม และผงชูรส ในงานเลี้ยงของหมู่บ้าน  เช่น ให้มีการจัดเมนูอาหารประเภทน้ำพริก  เพื่อให้มีโอกาสได้ทานผักมากขึ้น  อาหารว่างในงานเลี้ยง ไม่ให้มีขนมปังปี๊บ ให้มีการเลี้ยง ฟักทองนึ่ง เผือกหรือมันตามฤดูกาล หรือผลไม้ในท้องถิ่น

2.  เกิดการกระตุ้นให้มีการนำทรัพยากรหลักในชุมชนมาใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพทั้งทุนทางสังคมและ ทุนด้านงบประมาณอย่างมี ประสิทธิภาพและยั่งยืน ปรากฏจากแผนแม่บทชุมชนและแผนพัฒนาสุขภาพ

3. กระบวนการทำงานร่วมกันตามโครงการ โดยใช้การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ผ่านกิจกรรม การบันทึกพฤติกรรมสุขภาพ จากสมุดบันทึกความดีด้านสุขภาพประจำวัน สามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างสุขภาพ เกิดพฤติกรรมการดูแลตนเอง ครอบครัว และเพื่อนร่วมชุมชน

4. มีการค้นพบผู้ป่วยเรื้อรังรายใหม่เพิ่มขึ้น

5. ภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังลดลง

6. ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมารับบริการจำนวนเพิ่มขึ้น(คน/ครั้ง)

7. อัตราตายลดลง

 

ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จ

          1. ความร่วมมือจากภาคี/เครือข่ายสุขภาพ

          2. เกิดกระชวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และชุมชนเห็นประโยชน์

          3. มีการวิเคราะห์ / ประเมินผล / ปรับเปลี่ยนกิจกรรมสอดคล้องเหมาะสมกันกลุ่มเป้าหมายตามบริบท

          4. การใช้เมนูผักพื้นบ้าน พืชสมุนไพร ผลไม้ในท้องถิ่น ตามวิถีชีวิตชุมชน

          5. กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของชุมชน

 

จุดเด่นของรพ.สต. ในภาพรวม และปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของการพัฒนารพ.สต.

1. ความพร้อมด้านบุคลากร/เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานประจำมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 6 คนและลูกจ้างชั่วคราว 3 คน คือ ผอ.รพ.สต. / พยาบาลเวชปฎิบัติ/พยาบาลวิชาชีพ//นักวิชาการ/เจ้าพนักงานสาธารณสุข/เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข

2. ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์สนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้าน

3. ปรับปรุงห้องบริการต่างๆให้มีความทันสมัย สวยงาม สะอาดเรียบร้อย

4. พัฒนาระบบบริการทุกจุดให้มาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการประเมินได้จากประเมินความพึงพอใจของผู้มารับบริการได้ ร้อยละ 92

5. ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชนให้ความสำคัญให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการพัฒนา รพ.สต.

6. อสม.มีความเข้มแข้งและเสียสละในการทำงานด้านสุขภาพ

7. สถานการณ์การเงินการคลัง สามารถพึ่งตัวเองได้ในระดับหนึ่ง จากการระดมทุนจากภาคประชาชน เช่นเงินบริจาค เงินจัดผ้าป่า เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ จากการพัฒนาข้อมูล 18 แฟ้ม และพัฒนาคุณภาพการให้บริการ จึงได้รับงบประมาณจากส่วนนี้เพิ่มเติม

........................................................................

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จำเป็นต้องอาศัยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในการที่จะพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพ โดยมีบุคลากรสาธารณสุขของรพ.สต.เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

...............................................................................

ขอขอบคุณ บุคลากร รพ.สต.บ่อสวก, ทีมบูรณาการเชิงรุก อ.เมือง ที่เอื้อเฟื้อบทความและรูปภาพ

อ้างอิง ทีมบูรณาการเชิงรุกอำเภอเมือง. สรุปบทเรียนการพัฒนารพ.สต.ตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 รพ.สต.ต้นแบบ, 2554

 

 

หมายเลขบันทึก: 421527เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2011 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท