อาหารพื้นบ้านต้านโรค....บทเรียนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำแก่น


รพ.สต.น้ำแก่น ได้รับการคัดเลือกให้เป็น รพ.สต.ดีเด่น ในระดับเขต ๑๖ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทำงานเป็นยิ่งนัก แต่เหนือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจคือ การที่ประชาชนหันมาสนใจดูแลสุขภาพตนเอง และสามารถพึ่งตนเองได้ นี่คือความมุ่งหวังอันสูงสุดของบุคลากรสาธารณสุขที่นี่

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน้ำแก่น อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เครือข่ายโรงพยาบาลน่าน ตั้งอยู่ทางทิศใต้   ของอำเภอภูเพียง   ระยะทาง  8 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดน่านระยะทาง 13 กิโลเมตรประชาชนสาสารถเดินทางมารับบริการได้สะดวกตลอดปี โดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 20 นาที มีพื้นที่ ประมาณ 27,914 ไร่หรือประมาณ 44.6 ตารางกิโลเมตร ได้รับงบประมาณก่อสร้างเมื่อปี 2533 บนที่ดินจำนวน 6 ไร่ 3 งาน ณ บ้านใหม่น้ำแก่น ตำบลน้ำแก่น  อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เริ่มเปิดดำเนินงานเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นมา ต่อมาในปี 2543 ได้รับการก่อสร้างอาคารหลังใหม่จากกระทรวงสาธารณสุข ทดแทนอาคารหลังเดิม และเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน และได้รับการยกระดับการพัฒนาคุณภาพบริการมาจากสถานีอนามัยตำบลน้ำแก่นเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเมื่อปีงบประมาณ 2552 และเปิดป้ายแบบเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 มีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 10 หมู่บ้าน 1,139 หลังคา  ประชากรจำนวน 4,620 คน มี คุณบุญตุ้ม  ปานทอง เป็น ผู้อำนวยการ รพ.สต.

บุคลากรปฏิบัติงานประจำ ประกอบด้วย ผอ.รพ.สต.(นักวิชาการสาธารณสุข)  1 คน  นักวิชาการสาธารณสุข  1 คน  พยาบาลเวชปฏิบัติ  2 คน  และเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข  1 คน  นักแพทย์แผนไทยประยุกต์ 1 คน  ลูกจ้างเก็บข้อมูล 1 คน  ผู้ช่วยเหลือคนไข้  1 คน ผู้ช่วยทันตฯ 1 คน ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย 2 คน รวมจำนวน 11 คน  เปิดให้บริการประชาชนทุกวัน ตั้งแต่  ช่วงเวลา  08.30 น.-16.30 น.          

                                                       

กระบวนการพัฒนาสุขภาพเชิงรุก

การพัฒนาชุมชน มีจุดเริ่มมาจากประสบการณ์   ความแตกแยก  ซึ่งเป็นจุดอ่อน มาสร้างกระแสในการเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่ปี 2542  โดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่าย ใช้ จุดอ่อน มาเป็นประเด็นในการปรับเปลี่ยนความคิด  โดยใช้แรงกระตุ้นจากภายนอก โครงการ SIF menu 5  ที่มีเงื่อนไขในการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มใหญ่ ระดับตำบล  อำเภอ เท่านั้นถ้าไม่ทำตามเงื่อนไงไม่ไดสนับสนุนงบประมาณ      ประชาชนได้มองเห็นผลเสียของการแตกแยก  จึงมีการรวมตัวกันระดับตำบล   คือ กลุ่มน้ำแก่นสัมพันธ์  ในการงบประมาณช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดย  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแกนนำชุมชน  ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย  ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง   ปัจจุบันตำบลน้ำแก่นเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง    มีวิสัยทัศน์ ในการพัฒนา คือ  ครอบครัวอบอุ่น  ชุมชนเข้มแข็ง  พัฒนาคุณภาพชีวิต  เศรษฐกิจพอเพียง

ผลของความมุ่งมั่นพัฒนาร่วมกัน เกิดผลดีต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพผ่านกระบวนการพัฒนาระบบบริการในสถานีอนามัยและในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดนวัตกรรมสุขภาพต่างๆ หลายอย่างด้วยกัน  

 

โครงการเด่น/นวัตกรรม

โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โดยการใช้อาหารพื้นบ้านต้านโรค

 

จากการดำเนินงานด้านสุขภาพที่ผ่านมาได้มีกระแสทางสังคมในการใช้ตัวอย่างบุคคลเป็นสื่อในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ชุมชนมีความตระหนักและให้ความสำคัญในการสร้างสุขภาพของประชาชนในชุมชนเอง

แรงบันดาลใจ จากวิถีชีวิตและรูปแบบการรับประทานอาหารของประชาชนเองที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสนิยมด้านการบริโภคอาหารแล้วเป็นสาเหตุของการเกิดโรค NCD และผู้ป่วยโรค NCD หลายคน เข่นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดของตนได้ ทำให้ต้องเพิ่มขนาดยาที่สูงขึ้นเรื่อย ในการรักษา ส่งผลให้รัฐต้องสูญงบประมาณในการซื้อยาที่มากขึ้นตามไปด้วย  

สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในชุมชน กลุ่มผู้ป่วยด้วยโรค NCD สามารถควบคุมโรคที่ตนเองเป็นอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวและในชุมชนได้อย่างปกติสุข/ลดภาระงานของบุคลากรด้านสุขภาพ

การดำเนินการ เริ่มจากการคัดกรองสภาวะสุขภาพทุกกลุ่ม  แล้วนำมาข้อมูลที่ได้มาแยกประเภทตามกลุ่ม (โดยเฉพาะ NCD) วิเคราะห์ข้อมูล  และมีการคืนข้อมูลให้กับผู้ที่ผ่านการคัดกรองและชุมชน และมีการจัดโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงแล้วขยายไปสู่กลุ่มป่วยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยมีการเจาะเลือดก่อนเข้าร่วมโครงการ ระหว่างโครงการ และหลังโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากทีมโรงพยาบาลน่าน และระหว่างการเข้าร่วมโครงการจะต้องมีการควบคุมการบริโภคอาหาร ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้รับความร่วมมือจาก อสม. ในการบันทึกข้อมูลและติดตามผู้ที่เข้าร่วมโครงการ และเมื่อสิ้นสุดโครงการก็มีการเจาะเลือดตรวจอีกครั้ง  หากผลเลือดดีขึ้นก็ถือว่าประสบผลสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากผลเลือดออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจก็จะมีการส่งต่อให้กับทางโรงพยาบาลน่านเป็นผู้รับช่วงต่อในการรักษาต่อไป

ผลที่เกิด จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเสี่ยงที่เข้าร่วมโครงการ 5๓ คน สามารถประสบผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ถึง 51 ราย (9๗.๕ %) และจากการคัดกรองในภายหลังพบว่าประชาชนตำบลน้ำแก่นมีกลุ่มปกติมากถึง 66 % ซึ่งมากกว่ากลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วย

ความสำเร็จ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้ในการควบคุมและการเลือกบริโภคที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อควบคุมโรคที่เป็นอยู่ กลุ่มผู้ที่อยู่ในภาวะปกติได้เรียนรู้และเกิดความตระหนักว่าเมื่อเป็นโรคแล้วต้องใช้ชีวิตในการบริโภคที่ยากลำบากมากขึ้น จึงเกิดการรักและห่วงใยสุขภาพของตนเองตั้งแต่วันนี้ที่ยังไม่ป่วยเพิ่มมากขึ้น และมีองค์กรอื่น (อบต.) กลุ่มผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ได้เห็นความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อประชาชนของทาง รพ.สต. จึงได้เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการทำงานอย่างเหนียวแน่นกับทาง รพ.สต.  

ความภาคภูมิใจ สามารถช่วยชี้แนวทางในการดูแลสุขภาพและควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคให้กับกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการที่มีปัญหาได้ และยังสามารถกระตุ้นให้กลุ่มอื่น ๆ ได้เกิดความตระหนักและรักสุขภาพตนเองมากขึ้น

ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จ แรงขับเคลื่อนที่เกิดจากภายในของตัวผู้เข้าร่วมโครงการเองในการที่ต้องการจะหาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของโรคที่เป็นอยู่ ครอบครัว บุคคลรอบข้างและ อสม. จิตอาสา ผู้นำชุมชน อบต. ให้การสนับสนุนและทีมบูรณาการจาก สสอ. และ สสจ. ให้การช่วยเหลือและสนับสนุน

บทเรียนที่ได้รับ การแสวงหาแนวร่วมและภาคีเครือข่ายในการทำงาน การประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างวามตระหนักในการดูแลตนเองโดยใช้ทุนทางสังคม เช่น ผักพื้นบ้านซึ่งมีอยู่ในชุมชน ในการควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงของโรคที่เป็นอยู่ได้

สิ่งที่จะดำเนินการต่อ ขยายโครงการให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในตำบลน้ำแก่น (10 หมู่บ้าน) และเป็นต้นแบบในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อขยายไปยังตำบลอื่นที่สนใจต่อไป

........................................................................

ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของชุมชน ของบุคลากรรพ.สต.น้ำแก่น และภาคีเครือข่าย ทำให้ รพ.สต.น้ำแก่น ได้รับการยอมรับจากชุมชนภายในและภายนอก เป็นที่ศึกษาดูงาน แหล่งฝึกงานของนักศึกษา และพื้นที่เรียนรู้ขององค์กรต่างๆ ที่สำคัญในปี ๒๕๕๓ รพ.สต.น้ำแก่น ได้รับการคัดเลือกให้เป็น รพ.สต.ดีเด่น ในระดับเขต ๑๖ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทำงานเป็นยิ่งนัก แต่เหนือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจคือ การที่ประชาชนหันมาสนใจดูแลสุขภาพตนเอง และสามารถพึ่งตนเองได้ นี่คือความมุ่งหวังอันสูงสุดของบุคลากรสาธารณสุขที่นี่

.........................................................................

ขอขอบคุณ บุคลากร รพ.สต.น้ำแก่น, ทีมบูรณาการเชิงรุก อ.ภูเพียง ที่เอื้อเฟื้อบทความและรูปภาพ

อ้างอิง ทีมบูรณาการเชิงรุกอำเภอภูเพียง. สรุปบทเรียนการพัฒนารพ.สต.ตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 รพ.สต.ต้นแบบ, 2554

 

 

หมายเลขบันทึก: 421442เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2011 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

คงจะเป็นชุมชนตัวอย่างตัวแม่นะคะ

ผักพื้นบ้านมีประโยชน์มากมายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท