กองทุนสุขภาพตำบล....บทเรียนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีษะเกษ


โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีษะเกษ 

อยู่ห่างจากโรงพยาบาลนาน้อย 8 กิโลเมตร ประชาชนในพื้นที่ใช้เวลาเดินทางถึงสถานบริการประมาณ 10 นาที การคมนาคมสะดวกด้วยถนนลาดยาง รับผิดชอบ 7 หมู่บ้าน 1,066 หลังคาเรือน  มีประชากร 4,670 คน แยกเป็น ชาย 2,375 คน หญิง 2,295 คน มีโรงเรียนประถมศึกษาในเขตรับผิดชอบ จำนวน 4 โรง และเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา (เปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) จำนวน 2 โรง และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนของเทศบาลตำบลศรีษะเกษ 1 แห่ง มีวัดที่ให้การอบรมขัดเกลาจิตใจของประชาชน จำนวน 5 วัด

 

บุคลากร

          รพ.สต.ศรีษะเกษ มีบุคลากรที่ให้บริการทางด้านสุขภาพ ครบตามเกณฑ์ขั้นต่ำของ รพ.สต. จำนวน 4 คน (พยาบาลเวชปฏิบัติ จำนวน 2 คน) ดังนี้

1. นายณรงค์       ถาต๊ะวงค์       ตำแหน่ง          ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ)

2. นางไพจิตรี      มาอ้าย          ตำแหน่ง          พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (พยาบาลเวชปฏิบัติ)

3. นางนภารัตน์    มาฉิม           ตำแหน่ง          พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (พยาบาลเวชปฏิบัติ)

4. นางสาวศศิธร   กันทะ           ตำแหน่ง          เจ้าพนักงานสาธารณสุข

 

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีษะเกษ ได้มีการจัดให้บริการทั้งการบริการเชิงรับและเชิงรุก  พัฒนาคุณภาพด้านการรักษาพยาบาล มีการใช้ช่องทางในการปรึกษาแพทย์ ส่งเสริมให้การนำข้อมูลจากแฟ้มครอบครัว (Family Folder) มาวิเคราะห์และใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดบริการเพื่อดูแลด้านสุขภาพของประชาชนตำบลศรีษะเกษ ส่งเสริมให้ผู้ป่วยและญาติได้มีองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน โดยใช้เตียงที่บ้านผู้ป่วย แทนเตียงผู้ป่วยในของโรงพยาบาลชุมชน (Home Ward) ซึ่งการจัดให้ผู้ป่วยและญาติได้ดูแลซึ่งกันและกันตามบ้านแต่ละหลัง จะมีความสะดวกสบาย ไม่แออัด ได้อยู่ใกล้ชิดกัน  เป็นการป้องกันการติดเชื้อซ้ำจากผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้ในเบื้องต้น ญาติหรือเพื่อนบ้าน สะดวกในการแวะเยี่ยมหรือให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย อาสาสมัครด้านสาธารณสุขระดับหมู่บ้าน ตลอดถึงบุคลากรสาธารณสุขของสถานบริการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนสามารถเข้าถึงในการดูแลได้อย่างสะดวก ซึ่งถือว่า เป็นการดูแลแบบองค์รวม ที่เชื่อมโยงมิติทางกาย  จิต และสังคม เข้าด้วยกันนอกจากนี้ยังสามารถลดจำนวนผู้ป่วย หรือลดอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาลชุมชน  จะช่วยให้ประหยัดงบประมาณในส่วนของสถานบริการระดับทุติยภูมิลงได้

 

 

โครงการเด่น/นวัตกรรม 

นวัตกรรม สุขภาพพึ่งตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลศรีษะเกษ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
 

ในสภาวะปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง โลกร้อนขึ้น ฝนไม่ตกตามฤดูกาล สาเหตุเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งนั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อมนุษย์ โดยเฉพาะสุขภาพ   และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพเป็นอย่างมากซึ่งโดยพึ่งแพทย์แผนปัจจุบัน หากลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกในการดูแลสุขภาพอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อสุขภาพ – อนามัยที่สมบูรณ์ของตัวเราเอง ให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การป่วยของประชาชนในอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นผลมาจากการดำเนินชีวิตโดยไม่ค่อยสนใจต่อสุขภาพของตนเอง มีการใช้ร่างกายอย่างฟุ่มเฟือย เมื่อเจ็บป่วยก็จะปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของแพทย์ในการค้นหาและดำเนินการรักษาโรคเป็นกรณีไป

          จากการที่กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลศรีษะเกษได้ดำเนินงานในการส่งเสริมและป้องกันโรคของประชาชนในตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินงานยังไม่ตรงเป้าหมายของกองทุน เนื่องจากการดำเนินกิจกรรม/โครงการ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ไข แต่ไม่ได้มองถึงสาเหตุของปัญหาทางด้านสุขภาพที่แท้จริง ประชาชนจึงพึ่งการบริการสาธารณะสุขที่รัฐมีให้มาโดยตลอด  กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลศรีษะเกษ จึงได้มองหาแนวทางที่จะป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพด้วยประชาชนเอง ให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น เน้นความประหยัดเรียบง่าย ส่งผลเร็ว และประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้
          กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลศรีษะเกษ ได้เล็งเห็นความสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ลดการใช้บริการสถานบริการสาธารณสุข โดยใช้สมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลสุขภาพแบบพึ่งตนเอง มีแนวนวัตกรรม สุขภาพพึ่งตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

 

วัตถุประสงค์  

          1. เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่ดีของประชาชน และให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมไม่เสี่ยงต่อการเกิดการเจ็บป่วย

          2. เพื่อประชาชนมีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยวิธีการพึ่งตนเอง และใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ประหยัดงบประมาณในการพึ่งแพทย์แผนปัจจุบัน

          3. เพื่อเป็นการส่งเสริมและป้องกันโรค ด้วยวิธีการพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

 

วิธีดำเนินงาน 

          1. ประชุมปรึกษาหารือคณะกรรมการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลศรีษะเกษ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการดำเนินงานของกองทุนในเรื่องการนำนวัตกรรมทางด้านสุขภาพมาปรับใช้ในตำบลศรีษะเกษ

          2. เสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลศรีษะเกษ

          3. ดำเนินการเพื่อนำนวัตกรรมทางด้านสุขภาพมาสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง
                   3.1  วันที่ 30 พฤษภาคม 2553 การอบรมให้ความรู้เรื่องการสุขภาพพึ่งตนเอง เพื่อหาให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องการนำนวัตกรรมสุขภาพพึ่งตนเองมาปรับใช้ในตำบลศรีษะเกษ
                   3.2 วันที่ 11 – 19 กรกฎาคม 2553 ส่งประชาชนที่สนใจ จำนวน 7 คน เข้ารับการอบรมหลักสูตร 7 วัน ที่ สวนป่านาบุญ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เพื่อนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ และเป็นวิทยากรร่วมในการเข้าค่ายจะมีขึ้น

                   3.3 วันที่ 15 – 19 กันยายน 2553 เปิดหลักสูตร 5 วัน ในการเข้าค่ายคนรักษ์สุขภาพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เทศบาลตำบลศรีษะเกษ โดยมีประชาชนเข้าร่วม จำนวน 250 คน ณ เทศบาลตำบลศรีษะเกษ ซึ่งมีกิจกรรมที่ประชาชนต้องปฏิบัติในการเข้าค่ายครั้งนี้ คือ
          1. การรับประทานสมุนไพรปรับสมดุล (น้ำคอร์โรฟิล) 
          2. การกัวซาหรือการขูดพิษหรือขูดลม

          3. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ (ดีทอกซ์)
          4. การแช่มือแช่เท้า ในน้ำสมุนไพร
          5. การพอก ทา หยอด อบ อาบ สมุนไพร เพื่อให้ร่างกายรู้สึกสบาย

          6. การออกกำลังกาย กดจุดลมปราณ โยคะ กายบริหาร ที่ถูกต้อง
          7. การรับประทานอาหาร ปรับสมดุลร่างกาย
          8. การฝึกธรรมะ ทำใจให้สบาย เพื่อผ่อนคลายความเครียด
          9. การทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ รู้จักความเพียร ความพอดี



 

ผลการดำเนินงาน

          กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลศรีษะเกษ ได้ทำการประเมินผลผู้เข้าร่วม จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลศรีษะเกษและนอกพื้นที่ จำนวน 250 คน จากสัมภาษณ์ผู้เข้าค่าย และจากการตรวจร่างกายด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ก่อนเข้าค่าย และหลังเข้าค่าย พบว่า

          น้ำหนักลดลง             ร้อยละ   100

          รอบเอวลดลง             ร้อยละ   100   

          ความดันโลหิต ลดลง   ร้อยละ    90

          ซึ่งแสดงว่าผลสัมฤทธิ์ของการนำ นวัตกรรมสุขภาพพึ่งตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ ได้ผลเกือบทั้งหมด ที่ไม่ได้ผลเนื่องจากภาวะการเจ็บป่วยเกิดเรื้อรัง และติดต่อกันเป็นเวลานาน จึงไม่สามารถวัดผลในระยะเวลา 4 – 5 วัน ได้ ซึ่งอนาคตกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลศรีษะเกษ ได้วางแผนขยายเครือข่าย และจะดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนหันมาพึ่งตนเองในเรื่องสุขภาพ มากที่สุด ลดการพึ่งการบริการทางสาธารณสุขจากรัฐ นั้นคือเป้าหมายสูงของ กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลศรีษะเกษ

 ........................................................

................................................................

นี่เป็นภาระของรพ.สต.ในการที่จะประสานเชื่อมโยงกับอปท.และชุมชนในการดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลในการที่จะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและป้องกันโรคของคนในชุมชน การพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพโดยนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ขอบคุณความงดงามของบุคลากรและทีมงาน ที่สร้างสรรค์งานดีดีสู่ชุมชน

.........................................................

ขอขอบคุณ บุคลากร รพ.สต.ศรีษะเกษ, ทีมบูรณาการเชิงรุก อ.นาน้อย ที่เอื้อเฟื้อบทความและรูปภาพ

อ้างอิง ทีมบูรณาการเชิงรุกอำเภอนาน้อย. สรุปบทเรียนการพัฒนารพ.สต.ตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 รพ.สต.ต้นแบบ, 2554

 

 

หมายเลขบันทึก: 421437เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2011 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สมกับเป็นสาธารณ-สุข-จริงๆ ขอยกเป็น รพสต.ต้นแบบให้ตัวเองค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท