เพียงผู้ชายคนหนึ่ง..


ผิดหรือที่ฉันไร้ราก และผิดด้วยหรือที่ฉันจะใช้ชีวิตอยู่แบบนี้

          เย็นย่ำของกลางสัปดาห์ในเดือนมกราคมปีกระต่ายทอง...

 ฟ้ายังครึ้มหมองด้วยบรรยากาศเย็นย่ำรอบกุฏิ  ที่เงียบเหงา เพราะกุฏิหลังน้อย เพลิงพักกายรูปร่างหรูหราสำหรับสมณะ สันโดษ เรียบง่าย ทำจากโครงเหล็ก หลังคาสังกะสี เขียว ตัดกับโครงเหล็กสี่มุม  มุงด้วยจีวรเก่าคร่ำ แต่กันลมได้เป็นอย่างดี  เสียงใบไม้หล่นเป็นระลอก ใบหูกวาง แดงคล้ำ หนา ใหญ่ เป็นพี่คนโต.. เสียงดังกว่าเพื่อน แต่ด้วยความสูงใหญ่ของไม้เก่าแก่ ในเนื้อที่ไม่ถึงสามไร่ ใจกลางเมือง เนื้อที่สำหรับกุฏิชาววิปัสสนา ถือว่าสวยงาม พอสมควร และไม่แออัดเท่าไหร่ เพราะการจัดวางผังของท่านเจ้าอาวาสรุ่นก่อน ท่านวางแผนได้เฉียบคม...

จำนวนพระภิกษุไม่ถึงสิบรูป กับกุฏิทรงไทยมาตรฐานเป็นที่ทำงานของพระอาจารย์หลายรูป ในการเผยแผ่ธรรมและทำกิจกรรมเพื่อสังคม เทศนาในสิกขาบทที่จะบอกสอนเรื่องราวของธรรมะ และการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุด เพื่อความสอดคล้องในพุทธวจนะที่พระศาสดาเจ้าได้ทรงชี้แนวทางให้พุทธมามกะได้ปฏิบัติตาม ด้วยความสมัครใจ ไม่ได้บังคับแต่อย่างใด..

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาเดียวในโลก..ที่ให้สิทธิ์ผู้ที่นับถือศรัทธาในการเลือกปฏิบัติ  เป็นศาสนาเดียวในโลกที่ไม่มีคำสอนเกี่ยวกับการสาปแช่ง ให้ร้าย หรือการกระทำย่ำยีเพื่อนมุษย์ด้วยกัน...แต่ตรงกันข้าม ท่านทรงสอนให้เราได้เรียนรู้ และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เน้นของการปฏิบัติธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เน้นเรื่องการให้ทาน ศีล ภาวนา เพื่อความอยู่รอดอย่างเรียบง่ายและสมบูรณ์ในสังคมตามยุคสมัย

ความเผ็ดร้อนในการดำเนินชีวิตของคนทุกยุค ทุกสมัย ทำให้หลายๆ คนปรับวิถีไม่ทัน จึงต้องมีอันต้องเป็น และต้องเป็น...ตามกันไป.. เพราะยุคสมัยที่มันดำเนินอยู่ มันบีบคั้นคนรุ่นเก่าให้ทำมาหากินกันอย่าลำบาก  ค่านิยมและนโยบายที่ปรับเปลี่ยนทุกวินาที ทำให้คนจนไม่สามารถปรับสภาพความเป็นอยู่ได้ ด้วยจนในฐานะความเป็นอยู่ อับจนในการศึกษา และโชคชะตาที่ทำร้ายเสียดแทง  จนแม้กระทั่งโอกาสที่ได้รับ ซึ่งน้อยเต็มที่..มันจึงมีความแตกต่างกันอย่างสุดโต่ง สุด...(ใส่เอา)

พระเถราจารย์ท่านนิพนธ์หนังสือเรื่อง "ชีวิตนี้..น้อยนัก" คงมีคนได้อ่านกันน้อยนัก เช่นกันกระมัง  น่าขอบใจกับเพื่อนร่วมโลกหลายท่าน ที่หยิบยื่นโอกาสให้กับอีกหลายคนที่มีความมืดบอดทางกาย สรีระ หรือตาบอดนั่นเอง  ขอบใจเพราะว่า คนเหล่านี้ได้หยิบยื่นโอกาสในการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่กวีดีดี ได้เขียนขึ้น แต่น้อยนักที่จะมีโอกาสอ่านได้ จึงหยิบหนังสือเหล่านั้นมาอ่านให้ฟัง โดยการอัดใส่เครื่องบันทึกเสียงรูปแบบต่าง ๆ แล้วให้องค์กรต่าง ๆ ได้ดาวน์โหลดแล้วนำไปเผยแผ่ให้ได้ร่วมรับฟังเสียงเรื่องเหล่านั้นกัน ขออนุโมทนา ณ โอกาสนี้...

         ยาที่ดีที่สุดในการรักษาใจ นั่นก็คือ "ธรรมะโอสถ" หรือเรียกเร็ว ๆ ว่า "ธัมโมสถ" ซึ่งเป็นยาจากพระพุทธเจ้า  ถือได้ว่าสามารถรักษาโรคทุกโรคได้หายอย่างเฉียบขาด เพียงแต่ว่า อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษาก็เท่านั้นเอง..

ธัมโมสถ เป็นยาที่รักษาจิตใจของทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่มีผู้ป่วยหลากประเภท หลายประการอยู่ในวงสังคมที่ไม่ได้เข้ารับการเยียวยา หลายร้อยโรคที่เป็นกันอยู่ แต่ที่เด่น และเด็ดที่สุดคือโรคอุปทาน และโรคทะยานอยาก (คือโรคตัณหา).. สองโรคนี้อยู่กับคนไทยมานาน.. ดั้งเดิม ก่อนที่จะต้องให้ฝ่ายจิตเวชเชี่ยวเยียวยารักษากันอีกที...

ชายคนหนึ่ง เป็นคนร่อนเร่พเนจร  ไม่มีที่พักเป็นหลักแหล่ง  ไม่มีอาชีพ ไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรทั้งนั้น และไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่ทุกๆ เช้า "เขา" คนนี้จะเดินออกมาเที่ยวชมหน้าตลาดเช้า ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าโรงพยาบาลประจำจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสายหลักใจกลางเมือง..

วันหนึ่งได้มีพลเมืองดี (เราไม่ค่อยได้เห็นคำนี้ตามหน้าหนังสือนานเท่าไหร่แล้วนะ) ได้โทรศัพท์แจ้งทางโรงพยาบาลโรคจิตแห่งหนึ่ง ให้มารับและจับตัวชายหนุ่มพเนจรคนนี้ไป..  ในสายของวันนั้น ก็มีหน่วยพยาบาลชาย ประมาณ 5-6 คน ออกมาจับตัวชายหนุ่มคนนี้ ด้วยการตะลุมบอน อย่างน่าสงสาร  แล้วก็จับตัวขึ้นรถไป  หลายคนที่เดินตลาดอยู่ มีหลากหลายอาชีพ ที่ต้องดินรนหาอาหารใส่ปากท้องเพื่อที่จะทำหน้าที่ต่อไป

สักครู่ ยายแก่ๆ ข้างบ้านในระแวกตลาดเดินออกมาคุยให้ฟังว่า "ยายสงสารมัน เลยให้จิตเวชมาจับตัวไป มันจะได้มีที่อยู่ ที่กิน ไม่ต้องมาเร่ร่อนอย่างนี้...ให้เขาเอามันไปรักษาดีกว่ามาเดินกอดกระสอบปุ๋ยไปมา... กลางคืนก็มานอนกอดหมาในที่มืดๆ เห็นแล้วสงสาร..คงจะไม่ว่ายายหรอกนะ"...

บทสรุปเรื่องนี้อาตมาไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร? แต่เท่าที่เคยเห็นชายท้วมคนนี้ หน้าตาสะอาด ทำผมมีสไตล์ แม้เสื้อผ้าจะขะมอมไปนิด ท่าทางก็ดี ลางทีก็หยิบเอาเศษบุหรี่ตามข้างถนนมาจุดสูบ ไม่เคยเห็นขอเงิน หรือแม้แต่อาหารจากใคร.. เคยเห็นเพียงแต่ไปเวียนวนขออาหารจากพระอาจารย์อยู่ในวัดแห่งหนึ่งใกล้กับศูนย์จิตเวชที่จับตัวไป  

มีคำถามในใจอาตมาอยู่เพียงคำเดียวว่า

     "ผิดหรือที่ฉันไร้ราก และผิดด้วยหรือที่ฉันจะใช้ชีวิตอยู่แบบนี้"


หมายเลขบันทึก: 421317เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2011 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท