การรักษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วย...บทเรียนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านปางแก


แม้พื้นที่ห่างไกล บุคลากรน้อย มีประสบการณ์การทำงานน้อย แต่ด้วยหัวใจมุ่งมั่นในการพัฒนาของทีมงาน ทำให้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยการดูแลสนับสนุนของสสอ. รพ.ทุ่งช้าง และภาคีเครือข่าย เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ไม่ว่าจะอยู่ไหน เชื้อชาติใด ก็สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านปางแก

เริ่มก่อตั้งเป็นสถานบริการสาธารณสุขชุมชนบ้านปางแก พ.ศ.2533  ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นสถานีอนามัยบ้านปางแก พ.ศ.2545 และได้รับการยกฐานะเป็น รพ.สต.บ้านปางแก ตามนโยบายของรัฐบาล ในปี พ.ศ.2552 รวมระยะเวลาก่อตั้งมากว่า 20 ปี

 

รพ.สต.บ้านปางแก รับผิดชอบประชากร จำนวน  1  หมู่บ้าน ซึ่งแยกเป็น  9  กลุ่มบ้าน เป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มี 5 กลุ่มตระกูลแซ่ มี ประชากร  2,019  คน เป็นชาย 1,016 คน และหญิง 1,003 คน มี 229 หลังคาเรือน 346 ครอบครัว มีเด็กกลุ่ม 0 – 5 ปี จำนวน 210 คน ผู้สูงอายุ 67 คน  อสม. 27 คน 

 

หมู่บ้านปางแก ตั้งอยู่ หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ้งช้าง จ. น่าน เป็นหมู่บ้านม้ง ยังมีการเลี้ยงสัตว์ ยังมีการสร้างบ้านแบบม้งๆ ให้เห็น ยังมีการใช้ม้าเป็นยานพาหนะบ้าง และยังคงมีเสียงตัดฝืนดังมาจากหุบเขา ภาพเด็กสาวม้งตัวน้อยๆ แบกฟืนยังหาดูได้ที่นี่ นับ ว่าเป็นหมู่บ้านม้งที่ค่อนข้างคงเสน่ห์ความเป็นม้งไว้จริงๆ

บ้านปางแก ปัจจุบันนี้มีถนนลาดยางเข้าผ่านหมู่บ้านแล้ว แต่ยังไม่มีรถโดยสารเข้าไปถึง จึงทำให้ลำบากในการเดินทาง

ชาวม้งบ้านปางแกส่วนใหญ่ทำสวนลิ้นจี่ ปลูกผัก ปลูกข้าว และปลูกขิง ซึ่งแม้ว่าบางทีบ้านเป็นบ้านม้ง แบบดั้งเดิม คือ เป็นบ้านล้อมด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยหญ้าคา แต่ข้างบ้านจอดด้วยรถกระบะอย่างน้อยหนึ่งคัน เพราะว่าม้งปางแกส่วนใหญ่ ทำสวน ทำไร่ ปลูกพัก รถกระบะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

 

ทุนทางสังคมด้านการรักษาและส่งต่อผู้ป่วย

ชาวบ้านที่นี่มีภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพของตนเองที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมานยาวนาน มีความหลากหลายของสมุนไพรในพื้นที่ มีหมอผี  หมอสู่ขวัญ  ผู้สูงอายุกับความรู้ด้านสมุนไพร

มีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง มีการนับถือบรรพบุรุษ และความสัมพันธ์ในตระกูลแซ่ที่เหนียวแน่น

เมื่อมีการเจ็บป่วยก็จะมีความช่วยเหลือดูแลกันในระบบเครือญาติ หากต้องมีการส่งต่อก็จะดูแลช่วยกันในเครือญาติและในชุมชน รวมทั้งมีความช่วยเหลือของหน่วยราชการในพื้นที่ เช่น ป่าไม้, รร., รพ.สต., อบต. เป็นต้น

 

ระบบการรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วย

          ด้วยบ้านปางแก เป็นพื้นที่ห่างไกลจากรพ.ทุ่งช้าง ซึ่งเป็น รพ.แม่ข่าย เป็นระยะทางกว่า 46 กม. ใช้เวลาเดินทางราว 1 ชม. ซึ่งเป็นทางเขา การเดินทางลำบาก ดังนั้นการดูแลรักษาในพื้นที่จึงต้องมีระบบที่ได้มาตรฐาน หากมีปัญหาก็สามารถปรึกษาทางไกลกับโรงพยาบาลแม่ข่ายได้ และหากเกินศักยภาพของบุคลากรก็มีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ ในการที่จะส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในสถานบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าได้ ดังนั้น รพ.สต.ปางแก จึงมีการพัฒนาระบบการรักษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยมาอย่างต่อเนื่อง

 

ปัญหาอุปสรรค

ในการดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วย ก็ยังมีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านไม่เข้าใจแนวทางการรักษา และตระหนักถึงความสำคัญของโรคหรือการเจ็บป่วย, ปัญหาด้านการสื่อสาร, การขาดอุปกรณ์พิเศษที่เหมาะสมกับการช่วยเหลือผู้ป่วยในป่าลึก, ชาวบ้านยังให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่าการเจ็บป่วยของตน, และระยะทาง ความยากลำบากในการเข้าถึงสถานบริการ

 

เงื่อนไขความสำเร็จ

แม้เป็นพื้นที่ห่างไกล บุคลากรมีน้อย แต่ด้วยการทำงานเป็นทีมร่วมกับแกนนำชุมชน อสม. และหน่วยงานในพื้นที่ จึงได้มีการพัฒนาความรู้ทักษะของเจ้าหน้าที่การประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีการช่วยเหลือกันเองในการนำผู้ป่วยส่งรพ.สต. มีรถส่วนตัว รถของส่วนราชการ และอบต.ในการช่วยในการส่งต่อ ชุมชนเองก็มีความเชื่อถือในตัวเจ้าหน้าที่ และมีความเสียสละของคนในหมู่บ้านที่สามารถพูดภาษากลางไทยในการช่วยแปลให้จนท. ทำให้การพัฒนาระบบการรักษาและการส่งต่อในพื้นที่ทำได้ดี

 

ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมสู่สังคมเมืองมากขึ้น ทำให้มีความท้าทายที่ต้องช่วยกันพัฒนาและป้องกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น การดูแลสุขภาพในสภาพพื้นที่ที่ยากลำบาก การสร้างสุขภาพที่สอดคล้องวิถีชีวิตในการทำงานของชาวบ้าน รวมไปถึงแบบแผนการเจ็บป่วยและพฤติกรรมสุขภาพของชาวบ้าน

........................................................................

แม้พื้นที่ห่างไกล บุคลากรน้อย มีประสบการณ์การทำงานน้อย แต่ด้วยหัวใจมุ่งมั่นในการพัฒนาของทีมงาน ทำให้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ โดยการดูแลสนับสนุนของสสอ. รพ.ทุ่งช้าง และภาคีเครือข่าย เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ ไม่ว่าจะอยู่ไหน เชื้อชาติใด ก็สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกัน

นี่คือหัวใจของการพัฒนารพ.สต.บ้านปางแก

.........................................................................

ขอขอบคุณ บุคลากร รพ.สต.บ้านปางแก, ทีมบูรณาการเชิงรุก อ.ทุ่งช้าง ที่เอื้อเฟื้อบทความและรูปภาพ

อ้างอิง ทีมบูรณาการเชิงรุกอำเภอทุ่งช้าง. สรุปบทเรียนการพัฒนารพ.สต.ตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 รพ.สต.ต้นแบบ, 2554

 

 

หมายเลขบันทึก: 421315เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2011 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท