ทำไมต้องเขียนแผน ช่างเป็นไม้เบื่อ.....


ทำไมต้องเขียนแผน ช่างเป็นไม้เบื่อ.....

            การเขียนแผนการสอน หรือแผนการจัดการเรียนรู้ ช่างเป็นไม้เบื่อไม้เมา กับครูผู้สอนกันเสียจริงๆ ถ้าไม่เขียนก็ไม่ได้ ครูบางคนก็เขียนบ้างไม่เขียนบ้าง สอนไปตามใจฉันไม่มีกรอบ ไม่มีจุดมุ่งหมายสอนตามเนื้อ แต่จับแก่นสาระที่จะสอนไม่ได้ว่า Concept หลักๆทีจะให้เด็กได้เรียนรู้ใน 1 ชั่วโมงนั้นคืออะไร และการจัดการเรียนการสอนนั้น ได้กำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนไว้อย่างไร ถ้าไม่ได้เขียนแผน ครูก็สอนได้ตามประสบการณ์แต่สิ่งที่ไม่สมบูรณ์คือ ขั้นตอนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ครูทำนั้นเป็นไปตามกระบวนการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่ ผิด step หรือเปล่า การสอนของครูบางคนเขียนแผน แต่ไม่ได้สอนตามแผนที่ตนเขียนขึ้น หรือที่เรามักเรียกว่าเขียนพอส่งๆไป นั่นก็คือ แผนที่ใช้สอนไม่ได้ส่ง แผนที่ส่งไม่ได้ใช้สอน

           แผนการสอน มีความสำคัญทั้งครูและเด็ก เนื่องจากการเรียนการสอนที่สมบูรณ์ที่สุดคือ การเตรียมการสอนของครู และความพร้อมของผู้เรียนเพื่อให้กิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันแต่จะทำอย่างไร ให้ครูเห็นความสำคัญของการเขียนแผน

           สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าครูไม่เขียนแผนการสอน คือ ครูจะต้องขาดความมั่นใจในการสอน เท่ากับครูไม่ได้เตรียมตัวสอน ไม่ได้วางแผนการสอนไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาก็สอนตามตำรา ทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการสอนในครั้งนั้น บางคนบอกว่าไม่ต้องเตรียมสอน หรือเขียนแผนก็สอนได้ อยากให้ย้อนกลับไปคิดว่า เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง? ลองใคร่ครวญดูว่า ความรู้ ทักษะ กระบวนการที่เกิดกับเด็กครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือไม่?

              หากความจริงอยู่ที่เราเริ่มต้น ลงมือทำ แล้วเราจะได้เรียนรู้วิธีการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพให้เกิดกับเด็ก และเราก็ได้พัฒนาการเรียนการสอนของตัวเราเอง ดังนั้น ลองฝืนใจสักนิด ทำดูสักครั้งอย่างตั้งใจ แล้วจะรู้ว่าไม่ยาก ไม่น่าเบื่ออย่างที่ใครๆพูดกัน ลองดูองค์ประกอบของการเขียนแผนการสอน หรือ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้นำเสนอให้ดูเป็นแนวทางก่อนนะคะ

องค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ควรมี ดังนี้ 

1. มาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

2. จุดประสงค์การเรียนรู้

3. สาระสำคัญหรือแนวคิดหลัก

4. สาระการเรียนรู้ / เนื้อหาสาระ

5. กิจกรรมการจัดการเรียนรู้

6. สื่อและแหล่งการเรียนรู้

7. วิธีการวัดและประเมินผล

8. การบันทึกผลหลังสอน

 

1. มาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
           
   ในการระบุมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนที่คาดหวังรายปีหรือรายภาค ในหัวข้อนี้มีเจตนาเพื่อให้เห็นว่าการจัดการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้นี้ได้ ดำเนินการตรงกับมาตรฐานที่เท่าไร และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังในข้อใด ตรงตามหลักสูตรของสถานศึกษาที่ได้กำหนดไว้หรือไม่

           ครูผู้สอนจำนวนหนึ่งดำเนินการสอนไม่ตรงกับมาตรฐานและผลการเรียนรู้ที่คาดหวังตามหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากไม่ได้วิเคราะห์หลักสูตรก่อนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้หรือครูผู้สอนบางคนได้นำแผนการจัดการเรียนรู้ของผู้อื่นมาใช้สอนโดยไม่วิเคราะห์หรือตรวจสอบหลักสูตรสถานศึกษาของตนเองว่าตรงกันหรือไม่

2. การเขียนสาระสำคัญหรือแนวคิดหลัก
             สาระสำคัญหรือแนวคิดหลัก หมายถึง ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเนื้อหา หลักการ วิธีการที่ต้องการจะให้ผู้เรียนได้รับหลังจากเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ แล้วทั้งในด้านความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และเจตคติ (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2543 : 88) ได้ระบุวิธีเขียนสาระสำคัญ ไว้ดังนี้
            1) พิจารณาจุดประสงค์การเรียนรู้ ว่าต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมหรือความรู้ความสามารถด้านใด
            2) พิจารณาเนื้อหาว่า เป็นการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องอะไรเรียนรู้แล้วจะได้รับความรู้ความเข้าใจ ความคิดรอบยอดอะไรหรือได้รับประโยชน์คุณค่าใดจากกเรียนเนื้อหานั้น
            3) นำผลการเรียนพิจารณาจุดประสงค์การเรียนรู้มาประกอบกับการพิจารณาเนื้อหา แล้วเขียนเป็นข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้เรียนจะเรียนหรือสิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียน

3. การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้
              ในการเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ ครูผู้สอนจะย้อนไปศึกษาหน่วยการเรียนรู้ที่ได้กำหนดเป็นหน่วยย่อย ๆ โดยการวิเคราะห์มาจากมาตรฐานช่วงชั้นผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง แล้วนำมากำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้ เนื่องจากผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง เป็นความคาดหวังที่จะให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในระยะเวลา 1 ปี หรือ 1 ภาคเรียน ดังนั้นในการจัดการเรียนรู้ในแต่ละครั้งไม่อาจจะสรุปได้ว่า จะบรรลุผลการเรียนที่คาดหวังในข้อนั้น ๆ ทันที

              ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังหนึ่งผลการเรียนรู้อาจจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้หลาย ๆ ครั้ง จึงจะบรรลุดังนั้นเพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละครั้งหรือในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ สามารถกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและกำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้โดยการพิจารณาคำสำคัญของมาตรฐานการเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้ 
                1) ด้านความรู้ ได้แก่ รู้จัก รู้จำ เข้าใจ วิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุป เชื่อมโยง ประเมิน เปรียบเทียบ ตีความ วิจารณ์ เป็นต้น 
                2) ด้านทักษะ ได้แก่ ปฏิบัติ แสดง นำเสนอ ตรวจสอบ ทดลอง สาธิต นำไปใช้ มีส่วนร่วม อภิปราย ประยุกต์ เป็นต้น 
                3) ด้านเจตคติ ได้แก่ ชื่นชม เห็นคุณค่า ภูมิใจ รัก ศรัทธา ซาบซึ้ง หวงแหน นิยม พึงพอใจ เห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์ ยอมรับ เป็นต้นในการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ควรพิจารณาให้ครอบคลุมมาตรฐานและ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ด้านทักษะ และด้านเจตคติ ของการเรียนการสอนแต่ละครั้งจะดีมาก

4. สาระการเรียนรู้/เนื้อหาสาระ

             เนื้อหาสาระที่จะนำมาสอน ต้องมีรายละเอียดที่เชื่อมโยงกับสาระสำคัญ   และสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ประกอบด้วยทฤษฎี หลักการ วิธีการ แนวปฏิบัติ ครูผู้สอนต้องศึกษาหาความรู้จากเอกสาร ตำราเรียน      หนังสือคู่มือครูและแหล่งความรู้ต่าง ๆ นำมาพิจารณาใช้ประกอบให้เหมาะสมกับวัยและระดับของผู้เรียน การเขียนเนื้อหาสาระในแผนการจัดการเรียนรู้ ครูจะเขียนเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดในแผนการจัดการเรียนรู้ ตามหัวข้อที่กำหนดก็ได้แต่หากมีเนื้อหามากเกินไปควรเขียนเฉพาะหัวข้อเรื่องนั้นไว้

             ส่วนรายละเอียดให้นำไปใส่ในภาคผนวกท้ายแผนการจัดการเรียนรู้ หรือจะแยกไว้อีกเล่มหนึ่งต่างหากเป็นเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้ก็ได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า สาระการเรียนรู้หรือเนื้อหาสาระนั้นครอบคลุมทั้งองค์ความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนั้น ครูผู้สอนควรตระหนักให้มากมิฉะนั้นแล้วจะมุ่งเน้นไปที่องค์ความรู้เพียงอย่างเดียว จะทำให้ไม่ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร

 5. กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ / กระบวนการจัดการเรียนรู้
              กิจกรรมการจัดการเรียนรู้หรือกระบวนการจัดการเรียนรู้ คือ ระบบการเรียนรู้หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้สอนจัดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหรดไว้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกจากจะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญแล้วจะต้องคำนึงถึงวิธีการจัดการเรียนรู้ตามธรรมชาติของแต่ละกลุ่มสาระ รวมทั้งทักษะกระบวนการและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้วย (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2542 : 91 - 93)

            ได้กล่าวถึงลักษณะของกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ สรุปได้ดังนี้
             1) สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาสาระ
             2) ฝึกกระบวนการสำคัญให้ผู้เรียน
             3) เหมาะสมกับธรรมชาติและวัยของผู้เรียน
             4) เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและชีวิตจริง
             5) เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

6. สื่อและแหล่งการเรียนรู้

             ในการจัดการเรียนการสอนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เน้นให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ และต้องเอื้อต้อการเรียนรู้ตลอดชีวิต          สื่อการเรียนการสอนจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งประการหนึ่งต่อการจัดการเรียนการสอน        โดยเน้นการใช้สื่อใกล้ตัวที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นสำคัญ และการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญด้วย

             สื่อจึงหมายถึง วัสดุ อุปกรณ์ วิธีการ และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ครูผู้สอนนำมาเป็นเครื่องมือช่วยให้ความรู้แก่นักเรียนข้อสังเกตบางประการโดยการใช้สื่อแหล่งเรียนรู้ในการกำหนดในแผนการจัดการเรียนรู้ ครูผู้สอนควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัย

            ความสนใจความสามารถของผู้เรียน และความสอดคล้องกับกิจกรรมที่กำหนดไว้ โดยในกิจกรรมนั้นควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมจัดหา เลือกและใช้สื่อที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงผลหรือสะท้อนผลการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ในการประเมินผลและพัฒนาสื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

7. การวัดผลและประเมินผล
             เป็นการตรวจสอบว่าผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในแผนการเรียนรู้หรือไม่ การประเมินใช้วิธีการเครื่องมือและเกณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุ่ม ด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ คุณลักษณะที่พึงประสงค์

            ทั้งนี้ให้วัดตรงตามสภาพจริงที่เกิดขึ้นด้วยความเที่ยงตรงน่าเชื่อถือและตรวจสอบได้ในการตรวจสอบแผนการจัดการเรียนรู้ เกี่ยวกับการวัดผลและประเมินผล

            ควรตรวจสอบประเด็นสำคัญ ได้แก่วิธีการวัดผลเครื่องมือวัดผล เกณฑ์การวัดผลว่ามีความสอดคล้องสัมพันธ์กันหรือไม่  เช่น วิธีการวัด สังเกตความสนใจ ตั้งใจ ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา ความมีระเบียบในการทำงาน

            เครื่องมือวัดได้แก่แบบประเมินพฤติกรรมด้านจิตพิสัย วิธีการวัดการปฏิบัติการทดลองเครื่องวัดได้แก่ แบบสังเกตการณ์ปฏิบัติการทดลอง การวัดกระบวนการทำงานกลุ่ม เครื่องมือวัดได้แก่ แบบสำรวจการทำงานกลุ่ม การวัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา เครื่องมือวัดได้แก่ แบบทดสอบ และควรตั้งเกณฑ์การประเมินให้สอดคล้องกับวิธีการและเครื่องมือวัดผลด้วย นอกจากนี้ควรมีเครื่องมือ วิธีการ และเกณฑ์การประเมินจากสภาพจริงด้วย

8. การบันทึกผลหลังสอน

              เป็นการบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ ตามแผนการจัดการเรียนรู้ ควรบันทึกดังนี้
               1. ผลการเรียนรู้ตามที่กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 3 ด้าน คือ ด้านองค์ความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์  สิ่งที่สำคัญก็คือผู้เรียนผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้อย่างไร ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่าไร ร้อยละเท่าไร และที่ไม่ผ่านเกณฑ์คือใคร เลขที่เท่าไหร่ คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่

              2. ปัญหาอุปสรรค์ ควรบันทึกสาเหตุที่การจัดการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามจุดประสงค์การเรียนรู้ที่วางไว้ น่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง เช่น เรื่องการกำหนดจุดประสงค์มากเกินไป สอนไม่ทัน เนื้อหามากเกินไป เนื้อหาไม่เหมาะสม กิจกรรมสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน การมีส่วนร่วมในการใช้สื่อไม่ทั่วถึง เวลามีน้อยเกินไป สื่อการจัดการเรียนรู้มีน้อยทำให้เสียเวลา แบบประเมินผลยากเกินไปเกณฑ์และวิธีการวัดไม่เหมาะสม เอกสารประกอบการสอนไม่เพียงพอ นักเรียนไม่มีความพร้อม บรรยากาศไม่ดี เป็นต้น

              3. ข้อเสนอแนะ บันทึกข้อเสนอแนะในการปรับปรุงตัวผู้เรียนที่ไม่ผ่านและที่ผ่านกิจกรรมตามจุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การวิจัยในชั้นเรียนและการซ่อมเสริมผู้เรียน บันทึกข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ว่าควรปรับปรุงส่วนใด บันทึกข้อเสนอแนะในการปรับปรุงสื่อนวัตกรรมและแหล่งเรียนรู้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตลอดจนเครื่องมือการวัดและประเมินผล สิ่งสำคัญคือเสนอแนะไปตามสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 421258เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2011 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 เขียนแผนการสอนไม่เป็น ไม่เคยเรียน แล้วจู่ๆไปสมัครเป็นครูอัตราจ้าง คุณคิดว่าน่าหนักใจไหมคะ วันแรกที่ไปสอนที่โรงเรียนก็เป็นวันกลางเทอม ไม่มีแผนการสอนให้ ไม่มีหนังสือ ไม่มีแบบฝึกหัดให้ ต้องไปหาหนังสือเอง พิมพ์แบบฝึกหัดเอง ทำสื่อเอง (เด็กอนุบาล)คนเก่าก็กำหนดหัวข้อไว้หนึ่งปี แต่แผนการสอนยังทำไม่เสร็จทั้งหมดทำถึงแค่สิ้นปีที่แล้ว แล้วเราไปเปลี่ยนหัวข้อเขากลางคัน จะได้ไหมคะ ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องทำงานหนักเลยใช่ไหมคะ กลางคืนต้องมานั่งคิดนั่งเขียน ทำแผนการสอนไปแล้วก็ไม่รู้ถูกหรือเปล่าไม่มีใครตรวจให้  แล้วต้องมาเข้าเวรเสาร์-อาทิตย์และเวรวันธรรมดา 6.00-18.00 น.สรุปอาทิตย์ละสองครั้ง สอนเด็กอนุบาล 1-3 ต้องทำแผนการสอนทั้งสามชั้น แล้วต้องทำรายการประเมินของเด็กทุกคนตามรายชื่อ คุณรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์นี้คะ

งานเก่าๆของอาจารย์เขียนไว้ได้ดีมากครับ อ่านกันเพลินๆเลยทีเดียว มีเวลาก็จะแว๊ปเข้ามาอ่านอยู่เรื่อยๆ การจะเป็นนักเขียนที่ดีก็ต้องอาศัยการอ่านมากๆ ขอเริ่มจากการอ่านบทความของอาจารย์ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท