บริหารการศึกษา


การศึกษา

 

หลักและทฤษฎีการบริหารการศึกษา 

 

ความนำ

                ในการปฏิบัติการใด ๆ  ก็ตาม เมื่อยังมิได้มีการค้นคว้า ทดลอง วิจัย ที่มีการกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดความมั่นใจได้ว่า เมื่อกระทำอย่างนี้ แล้วจะบังเกิดผลเป็นอย่างนั้น ในเบื้องแรก มนุษย์ก็มักจะตั้งข้อสันนิษฐาน (Assumption) เอาไว้ก่อน แล้วจึงไปหาข้อพิสูจน์ (Proof) มายืนยันว่า สิ่งที่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้นั้น ถูกต้องหรือผิด หากถูกต้อง และเมื่อมีการกระทำซ้ำ ๆ ในลักษณะเดียวกันนั้น ไม่ว่าจะกี่ครั้งกี่หนก็ตาม ผลที่ได้รับก็จะออกมาในรูปเดียวกันหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ทำการค้นคว้าทดลองก็สามารถตั้งสิ่งที่ตนศึกษาค้นพบใหม่นั้นขึ้นมาเป็นทฤษฎี (Theory) ใหม่ได้

การเจริญปัญญา ตามแนวพุทธธรรม

                มนุษย์เป็นผู้มีปัญญา ก่อนที่จะเชื่ออะไร จะต้องมีเหตุมีผล จะต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนเสมอ พระเทพเวที (ประยุทธ์  ปยุตโต) ปัจจบันคือพระธรรมปิฎก ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์จะต้องสร้างทัศนคติที่มีเหตุผล ไม่ยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงเพราะฟังตาม ๆ กันมา ยินดีรับฟังคำสอนทุกฝ่าย ทุกด้าน ด้วยใจเป็นกลาง ไม่ด่วนตัดสินสิ่งที่ยังไม่รู้เห็นว่าเป็นเท็จ ไม่ยืนกรานยึดติดแต่สิ่งที่จนรู้หรือคิดเห็นเท่านั้นว่าถูกต้องเป็นจริง เมื่อรับฟังทฤษฎี คำสอน ความคิดเห็นของผู้อื่นแล้ว พิจารณาเท่านที่เห็นด้วยปัญญาตนว่า เป็นสิ่งที่มีเหตุผล และเห็นว่าผู้แสดงทฤษฎี คำสอนหรือความเห็นนั้น ๆ เป็นผู้มีความจริงใจ ไม่ลำเอียง มีปัญญา จึงเลื่อมใสรับเอามาเพื่อคิดหาเหตุผลทดสอบความจริงต่อไป แล้วนำสิ่งที่ใจรับมานั้น มาขบคิดทดสอบด้วยเหตุผล จนแน่ใจแก่ตนว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วนำสิ่งที่ใจรับนั้น มาบคิดทดสอบด้วยเหตุผล จนแน่ใจแก่ตนว่า เป็นสิ่งถูกต้องแท้จริงอย่างแน่นอน จนซาบซึ้งด้วยความมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนเองมองเห็นแล้ว พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติพิสูจน์ทดลองให้รู้เห็นความจริงประจักษ์ต่อไป และถ้ามีความเคลือบแคลงสงสัย ก็รีบสอบถามด้วยใจบริสุทธิ์ มิใช่ด้วยอหังการมมังการ พิสูจน์เหตุผลให้ชัดเจน เพื่อให้ศรัทธานั้นมั่งคงแน่นแฟ้น เกิดประโยชน์สมบูรณ์  (พระเทพเวที ประยุทธ์ ปยุตโร.2532:650)

                หมายเหตุ กาลามสูตรนั้น เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พวกกาลามะในแคว้นโกศล ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล มีความดังนี้

                กาลามชนทั้งหลาย จงอย่ายึดถือโดยการฟังตาม ๆ กันมา อย่ายึดถือโดยการถือสืบ ๆ กันมา อย่ายึดถือโดยการเล่าลือ อย่ายึดถือโดยการอ้างตำรา อย่ายึดถือโดยตรรก อย่ายึดถือโดยการอนุมาน อย่ายึดถือ โดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล อย่ายึดถือเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน อย่ายึดถือเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ และอย่ายึดถือเพราะนับถือว่า สมณะนี้คือครูของเรา (พระเทพเวที ประยุทธ์ ปยุตโร.2532:651)

ทฤษฎี : ความหมาย

                ปทานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้ความหมายของคำทฤษฎีไว้ว่า ความเห็น การเห็น การเห็นด้วยใจ ลักษณะที่คิดคาดเอาตามหลักวิชา เพื่อเสริมเหตุผลและรากฐานให้แก่ปรากฏการณ์หรือข้อมูลในภาคปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างมีระเบียบ

                และในปทานุกรมเว็บมาสเตอร์ ก็กล่าวถึง Theory ไว้ว่า

                A formulation of apparent relationships or underlying principles of certain observed phenomena which has been verified to some degree.

                หมายถึง ความสัมพันธ์ที่ชัดเจน ปรากฏเป็นรูปร่างขึ้น หรือหลักการที่กำหนดขึ้นมาจากการที่ได้สังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระดับหนึ่ง และ

 

Branch of an art or science consisting in a knowledge of its principles and methods rather than in is practice

                หมายถึง ศิลป์หรือศาสตร์สาขาหนึ่งที่ประกอบไปด้วยความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักการและวิธีการมากกว่าที่จะกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติการ

ทฤษฎี : การบริหารการศึกษา

                มีผู้ให้คำนิยามไว้ว่า ทฤษฎี หมายถึง ชุดของแนวคิด (Concepts) คติฐานหรือข้อสันนิษฐษน (Assumption) และข้อยุติโดยทั่วไป (Generalization) ที่อธิบายพฤติกรรมขององค์การ อย่างเป็นระบบ และมีความสัมพันธ์ต่อกัน

                แต่สำหรับข้อสมมติฐาน (Hypothesis) หมายถึง การตั้งข้อกำหนด หรือข้อสมมติที่คิดหรือคาดว่าน่าจะเป็นขึ้นมา แล้วพยายามศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อหาข้อสรุปมาพิสูจน์ให้จงได้ว่า ข้อสมมติฐานที่ตั้งไว้นั้น จริงหรือไม่จริง

พัฒนการของทฤษฎีในการบริหารการศึกษา

                ความเกี่ยวข้องของทฤษฎีที่เข้ามาสัมพันธ์กับการบริหารการศึกษานั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านสังคมศาสตร์ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เชสเตอร์ ไอ บาร์นาร์ด,เอลตัน มาโย และเอฟ เจ รอธลิสเบอร์เกอร์ได้เปิดทัศนะใหม่แห่งการศึกษาการบริหาร แต่สงครามได้ผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์สังคมหันเหไปจากการทดลองในห้องปฏิบัติการไประยะหนึ่ง ในระยะนั้น นักจิตวิทยา นักสังคมวิทยา และนักมานุษยวิทยาก็ต้องเข้าจัดการกับปัญหาด้านต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามา เมื่อสงครามสิ้นสุด นักค้นคว้าเหล่านี้ก็หันมาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการบริหารอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

                ในปี 1947 มีการประชุมแห่งชาติของศาสตราจารย์แห่งการบริหารการศึกษา (National Conference of  Professors of Educational Administration NCPEA)  ซึ่งการประชุมในครั้งนั้น ที่ประชุมได้ตระหนึกถึงการพัฒนาทางด้านสังคมศาสตร์ และในปี 1950 มีโครงการร่วมมือระหว่างกันในการบริหารการศึกษา (Cooperative Program in Eductational Administration CPEA) เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการบริหารการศึกษา แต่การปฏิบัติงานในครั้งกระนั้นก็มิได้ค้นพบอะไรที่เกี่ยวกับทฤษฏีการบริหารมากนัก

                ต่อมา บรรดาสมาชิก NCPEA เสนอแนะให้ที่ประชุมสนัสนุนการเขียนหนังสือที่รายงานผลการวิจัยสิ่งที่ค้นพบเกี่ยวกับการบริหารการศึกษา และในปี 1954 โรอัลด์ แคมป์เบล และเกร๊ก รัสเซลได้ร่วมกันเป็นบรรณาธิการหนังสือชื่อ Administrative Behavior in Education  แต่ปรากฎว่า ในบรรดาผู้เขียนจำนวน 14 คน ที่เขียนเรื่องลงหนังสือเล่มนี้ ได้พบว่า หนังสือเล่มนี้ยังขาดทฤษฎีการบริหาร ทำให้เกิดช่องว่างใหญ่โตในระหว่างความรู้เกี่ยวกับการวิจัยด้านพฤติกรรมการบริหาร (ฮัลปิน,1968 : xii)

                อิทธิพลลำดับที่สามที่มีต่อการบริหารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ได้แก่การที่มีการก่อตั้งคณะกรรมการมหาวิทยาลัยที่ดูลแลด้านการบริหารการศึกษา (The University Council for Educational Administration UCEA) ขึ้นในปี 1956 คณะกรรมการชุดนี้ได้ร่วมมือกับ Educational Testing Service and Teachers College  ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยในโครงการขนาดใหญ่ ที่มุ่งออกแบบเพื่อพัฒนามาตรการสำหรับการปฏิบัติงานของผู้บริหารโรงเรียน ในช่วงนี้เอง ที่มีการเขียนหนังสือดัง ๆ ออกมาหลายเล่ม ได้แก่

                1. The Use of Theory in Educational Administration แต่งโดยโคลาดาร์ซี และ เกตเซล ในปี 1955 เน้นบูรณาการของทฤษฎีและการปฏิบัติ

                2. Uneasy  Profession แต่งโดยกรอส กล่าวถึงอาชีพนักบริหารการศึกษาว่าเป็นอาชีพที่มิใช่ของง่าย ๆ เขาได้ชี้ให้เห็นว่า จะต้องมีทฤษฎีเข้ามาเกี่ยวข้องว่าผู้นิเทศการศึกษาจะต้องปฏิบัติอย่างไร มิใช่ว่า “ควรจะปฏิบัติอย่างไร”

                3. Studies in School Administration แต่งโดยมัวร์ ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้บริหารโรงเรียนอเมริกัน (American  Association of  School  Administrators) มัวร์ได้ทบทวนเรื่องราวที่มีผู้เขียนบทความให้แก่ศูนย์ CPEA 9 ศูนย์ แล้วพบว่า บทความเหล่านี้มีน้อนมากที่กล่าวถึงทฤษฎีการบริหารการศึกษา

                4. Administration Behavior in Education แต่งโดยแคมป์เบลและเกร็ก ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก NCPEA และก็เช่นเดียวกันก็พบว่า งานเขียนส่วนใหญ่ขาดการวิจัยที่มุ่งค้นคว้าด้านทฤษฎี (ฮัลปิน, 1968 :3)

ลักษณะสำคัญของทฤษฎีการบริหารการศึกษา

1. ทฤษฎีประกอบด้วยแนวคิด คติฐาน และข้อยุติทั่วไปอย่างมีเหตุผล

2. ทฤษฎีมุ่งอธิบายและคาดการณ์กฎต่าง ๆ ของพฤติกรรม อย่างมีระบบ

3. เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของวิธีการทดลองที่กระตุ้น และนี้นำให้มีการพัฒนาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่อง    

    นั้น ๆ ให้ล้ำลึกยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป

ความสำคัญของทฤษฎี

                ทฤษฎีบริหารการศึกษา มีบทบาทสำคัญคือ

  1. ทำหน้าที่ให้ข้อยุติทั่วไป (Generalization)
  2. ก่อให้เกิดการวิจัยทางด้านบริหารการศึกษา มีการทดสอบความเป็นไปได้ของทฤษฏี และเมื่อตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมาได้แล้ว ก็เป็นเครื่องช่วยชี้นำในการปฏิบัติงาน หรือก่อให้เกิดการพัฒนางานใหม่ ๆ ขึ้นมา
  3. การมีทฤษฎีบริหารการศึกษาขึ้นมาใช้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ศึกษา ทำให้ไม่จำเป็นจะต้องไปจดจำข้อมูล หรือข้อความต่าง ๆ มากมาย เพียงแต่จำหลักการหรือทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้ว

                ดังนั้น ผู้บริหารการศึกษาทั้งหลาย จะต้องเป็นนักปฏิบัติที่สนใจปัญหาและเหตุการณ์อย่างเฉพาเจาะจงที่เกิดขึ้นในองค์การ ต้องตีความ วิเคราะห์ ประยุกต์เอาหลักการและทฤษฏีต่าง ๆ ทางการบริหารการศึกษา มาใช้ในการปฏิบัติ มุ่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอาศัยหลักการ และทฤษฎีบริหารการศึกษาที่ได้มีผู้ศึกษาค้นคว้าเอาไว้อย่างละเอียดรอบคอบแล้วนั้น เป็นแนวทางในการดำเนินการ เพื่อความถูกต้อง และเหมาะสม

ความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีกับแนวปฏิบัติทางการบริหารการศึกษา

                การบริหารงานใด ๆ ก็ตาม จำเป็นจะต้องมีทฤษฎีเป็นพื้นฐาน การบริหารการศึกษาก็เช่นเดียวกัน หากนักบริหารการศึกษาบริหารงานไป โดยมิได้ใช้ทฤษฎีเข้ามาช่วยในการคิดและตัดสินใจ ก็หมายความว่า เขาดำเนินการไปโดยอาศัยประสบการณ์ดั้งเดิม อาศัยสามัญสำนึก ที่เรียกว่า Common sense  หรือที่เรียกว่า ใช้กฎแห่งนิ้วหัวแม่มือ (Rule of Thumb) ลองเดา ๆ ดู ว่าหากทำอย่างนี้แล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไร หากถูกต้องก็ดีไป หากผิด ก็ถือว่า ผิดเป็นครู แล้วลองทำใหม่ โดยไม่ยอมทำผิดซ้ำในลักษณะเดิมอีก เป็นต้น นี่เป็นการลองผิดลองถูก (Trial and Error) นั่นเอง การคิดและแก้ไขปัญหาด้วยสามัญสำนึกเช่นนี้ เป็นการกระทำอย่างไม่มีหลักการ เป็นการมองในแง่มุมแคบ ๆ หรือผูกติดอยู่กับแนวทางใดแนวทางหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้โดยง่าย

                ในทางตรงกันข้าม หากผู้บริหารการศึกษาบริหารงานโดยอาศัยหลักการและทฤษฎีการบริหาร (การบริหารการศึกษา) เป็นหลักหรือเป็นพื้นฐานในการคิด พิจารณาและตัดสินใจแล้ว ก็จะทำให้สามารถบริหารงานได้อย่างมีทิศทางที่ตรงแน่วไปในทางใดทางหนึ่งที่พึงประสงค์ ไม่สะเปะสะปะ เมื่อจะตัดสินใจ ก็มีหลักการ และทฤษฎีเข้ามาสนับสนุน ว่าสิ่งที่จะตัดสินใจกระทำลงไปนั้น ได้เคยมีผู้ปฏิบัติและกระทำซ้ำ ๆ ในลักษณะเดียวกันนั้นมาแล้วมากมาย และเขาก็ทำได้ถูกต้องและเป็นผลดีด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อเราปฏิบัติ หรือตัดสินใจในลักษณะอย่างเดียวกันนั้นบ้าง ก็น่าจะได้รับผลดีหรือทำได้ถูกต้องเช่นเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 421142เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2011 21:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท