ชีวิตที่ต้องวนเวียนอยู่กับ “ป่าช้า”


นับตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ได้รับมอบหมายให้ไปปีนเมรุฯโน้น มุดเมรุฯ นี้ จนมาถึงกระทั่งทุกวันนี้ (ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๔) ชีวิตก็วนเวียนอยู่กับผีและ “ป่าช้า”

นับตั้งแต่เริ่มโปรเจคหนึ่งกับเมรุฯ ที่เชียงใหม่ ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๕๑ ชีวิตก็ไม่เคยห่างไกลจาก “ผี”
เพราะเมื่อสร้างเมรุฯ เสร็จ จาก “กรรมกร” ก็ได้เลื่อนขั้นไปเป็น “สัปเหร่อ”
เป็นสัปเหร่ออยู่ได้ห้าหกเดือน กลางปี พ.ศ.๒๕๕๒ ก็ได้ผันตัวเองกลับไปเป็น “กรรมกร” ชานเมืองหลวงด้วยการก่อสร้างเมรุฯ โปรเจคสองที่คลองสอง คลองหลวง ปทุมธานี จนกระทั่งเสร็จลุล่วงในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๕๒ นั่นเอง

ช่วงต้นปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นช่วงที่หลบลี้หนีหน้าไป “เปลี่ยนอารมณ์” อยู่ที่เชียงใหม่ แต่พอใกล้ ๆ เข้าพรรษาก็ต้องกลับมาภาวนาที่ “วังน้ำเขียว...”

วันคืนผ่านไปจนกระทั่งล่วงเข้าถึงปลายปี พ.ศ.๒๕๕๓ กลิ่นป่าช้าก็เริ่มแว่ว ๆ ตามลมมาด้วยโครงการเมรุฯ โปรเจคที่สาม

นับตั้งแต่ช่วงส่งท้ายปีเก่า (พ.ศ.๒๕๕๓) จนกระทั่งถึงวันต้อนรับปีใหม่ (พ.ศ.๒๕๕๔) หัวจิตหัวใจก็ไม่ได้ห่างไกลจาก “เมรุฯ”
ช่วงเวลาสองถึงสามสัปดาห์ของช่วงเคาน์ดาวน์นั้น เป็นช่วงเวลาเตรียมข้าว เตรียมของ วิ่งไปดูประตูเมรุฯ ที่เมืองโคราช วิ่งไปดูอิฐทนไฟที่ป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง และวันนี้ (๑๗ มกราคม ๒๕๕๔) ก็เป็นคืนที่สี่ที่ได้มามีชีวิตอยู่ที่ “ป่าช้า” ณ เมืองลาว...

โปรเจคเมรุฯ หลังที่สาม ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจระหว่างพี่น้องไทย-ลาว ต่างฝ่ายต่างร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อให้เกิดให้มีเมรุฯ ไว้ใช้สักหลังหนึ่ง

การเดินทางของข้าพเจ้าในครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นอย่างเต็มที่ในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔ หลังจากที่ทำภารกิจส่วนในช่วงเช้าเสร็จ ก็ต้องรีบเตรียมข้าว เตรียมของ เตรียมอุปกรณ์เครื่องมือก่อสร้างโยนขึ้นรถของชาวไทยน้ำใจงาม (เฮียหมู) ที่พร้อมให้บริการด้วย “หัวใจ”

จุดมุ่งหมายแรกอยู่ที่อำเภอหินกอง จังหวัดสระบุรี ด้วยการนำอุปกรณ์ก่อสร้างส่วนหนึ่งซึ่งได้แก่ “เหล็กปลอก” ของเสาและคานที่มีขายแบบสำเร็จรูป (ขนาด 15x15 cm สำหรับเสาขนาด 20x20 cm และ 15x 35 cm สำหรับคานขนาด 20x40 cm) น้ำหนักประมาณหนึ่งร้อยห้าสิบกิโลกรัมขึ้นบนหลังรถกระบะพร้อมกับสัมภาระเครื่องมือ เครื่องใช้อีกจิปาถะ

เราเริ่มเดินทางออกจากวังน้ำเขียวประมาณเวลาบ่ายสองโมงตรง โดยถึงที่ทำการของ หจก.บุญประกอบขนส่ง ณ อำเภอหินกอง ซึ่งเป็นห้างร้านไทยน้ำใจงามให้บริการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ทำเมรุฯ ในครั้งนี้ฟรีถึงอำเภอเชียงคานจังหวัดเลย

พอไปถึงปุ๊บ ก็มีคนออกมาต้อนรับปั๊บ และพาคณะฯของเราเดินทางไปที่โรงเก็บรถบรรทุก ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร
เมื่อไปถึงก็ได้เห็นคนไทยน้ำใจงามอีกกลุ่มหนึ่ง กำลังขนย้ายเหล็กโครงสร้าง (เหล็กเส้น) พร้อมทั้งเหล็กรูปพรรณที่จะนำมาทำโครงหลังคาขึ้นรถ 12 ล้อคันใหญ่ พร้อมกันนี้เราก็ได้เจอกับ “คุณอำนาจ” โชว์เฟอร์ใจบุญ ที่มอบแรงกายแรงใจขับรถไปให้เราถึงอำเภอเชียงคาน

แต่นั่นยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ เพราะเมื่อขนเหล็กปลอกลงจากรถของเฮียหมูแล้ว ก็ต้องรีบวิ่งฮ้อเดินทางเข้าไปยังคลองสอง คลองหลวง ปทุมธานี เพื่อที่จะไปรับอุปกรณ์เครื่องมือจากท่านอาจารย์ผู้ใจดีที่ให้การสนับสนุนการสร้างเมรุฯ ครั้งนี้อย่างเต็มที่

อุปกรณ์ที่เราวิ่งเข้าไปเอาครั้งนี้หลัก ๆ ก็ได้แก่เครื่องอ๊อก เครื่องเชื่อม ลวดเชื่อม เครื่องตัดเหล็ก (ไฟเบอร์ขนาด 14 นิ้ว) สว่านทั้งเล็กทั้งใหญ่ สีกันสนิมพร้อมทินเนอร์ ลวดผูกเหล็กอีก 20 มัด กุญแจดัดเหล็กเอย ตะปูเอย อะไรต่ออะไรที่ใส่หลังรถเฮียหมูได้ก็ใส่มาทั้งหมด

การที่ต้องขนของมากมายจากเมืองไทยไปมากขนาดนี้ก็เพราะจากการสืบราคาอุปกรณ์เครื่องมือในฝั่งประเทศลาวนั้นราคาจะสูงกว่าเมืองไทยอย่างน้อย 30% อะไรที่ขนได้ก็ต้องขนไปเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

เมื่อขนของเสร็จก็ต้องรีบวิ่งย้อนกลับมาที่หินกอง มายังจุดนัดพบที่คุณอำนาจจอดรถ 12 ล้อรอเราอยู่

เมื่อเรามาถึงจุดนัดพบตอนนั้นฟ้าก็เริ่มมืด แต่เราก็ได้รับการบริการอย่างดียิ่งจากเจ้าของ หจก.บุญประกอบขนส่ง ที่มาช่วยขนอุปกรณ์ขึ้นรถบรรทุกครั้งนี้ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของรถบรรทุกในการเดินทางนี้แล้วยังได้มอบแรงกายแรงใจมาพร้อมกับการเดินทางครั้งนี้ด้วย

ข้าพเจ้าเริ่มออกเดินทางจากจังหินกอง สระบุรี โดยขอนั่งรถ 12 ล้อมากับคุณอำนาจ ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องเดินทางด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่และเดินทางไกลถึงขนาดนี้

ในระหว่างทางก็ได้มีโอกาสโอภาปราศรัยพูดคุยวิถีชีวิตหลังพวงมาลัยในการขับรถขนส่งสินค้าในประเทศไทย
การเดินทางของเข้านั้นแทบจะไม่ได้จอดพักที่ไหนเลย นอกจากการที่พี่อำนาจจอดแวะเคาะลมยางเพื่อตรวจดูว่ายางรั่วหรือไม่
ซึ่งตอนแรกเราก็นั่งจ้ออยู่กับพี่อำนาจตั้งแต่หัวค่ำยันห้าทุ่ม ก็กะว่าจะอยู่เป็นเป็นเพื่อนคุยให้ตลอดทาง แต่ก็ไม่ไหวผลอยหลับไปพอตื่นมาก็รู้สึกว่าใกล้ถึงจุดหมายปลายทางแล้วเพราะเห็นป้ายข้าง ๆ ทางเขียนว่า  “โรงพยาบาลจังหวัดเลย”

เวลานั้นก็ปาเข้าไป “ตีสาม” อากาศสองข้างทางมืดสนิท มีรถสวนมาบ้าง พี่อำนาจก็ขับรถมุ่งหน้าตามเสาบอกระยะทางที่บอกว่าเราเดินทางใกล้ “เชียงคาน” เข้าไปเรื่อย ๆ

เราเดินทางถึงตัวอำเภอเชียงคานก็ประมาณเวลาตีสี่ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปหยุดพักที่ไหนกันดี ตอนที่กำลังจะหาที่จอดพัก ก็ไปถึงสามแยกที่มีป้ายเลี้ยวขวาบอกว่าไป “สะพานมิตรภาพไทย-ลาว” พี่อำนาจจึงเลี้ยวขวาโดยฉับพลัน แต่บ่ายหน้าไปตามป้ายนั้น

แต่ทว่า หนึ่งกิโลก็แล้ว สองกิโลก็แล้ว จนกระทั่งสิบกิโลก็แล้ว เราก็เจอแต่ความมืด ไม่เห็นว่าจะถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวซักที สุดท้ายเราก็ตัดสินใจร่วมกับพี่อำนาจว่า ต้องหาไหล่ทางจอดพักงีบกันซักหน่อยก่อน พอถึงตอนเช้าก็ว่ากัน

ตอนนั้นพี่อำนาจก็คว้าเปลคู่ชีพไปแขวนนอนอยู่ข้างหลังรถ 12 ล้อ ส่วนเราเองก็เอนหลังอยู่กับเบาะผู้โดยสารนั้น
แต่แล้ว เราก็เห็นว่ามีผู้ชายคนหนึ่งเดินอยู่ในบ้านซึ่งเปิดเป็นกิจการปั๊มน้ำมันเล็ก ๆ ซึ่งเป็นหน้าบ้านที่เราจอดรถอยู่นั่น เราก็กระโดดลงรถเข้าไปถามเขาว่า ด่านเชียงคานที่จะข้ามไปประเทศลาวนั่นอยู่หนใด

แล้วก็ถึงบางอ้อว่า เราเลยมาสิบกิโลแล้วแหละ เพราะด่านนั้นอยู่ด้าน “หลังอำเภอ” เชียงคาน ไอ้ทางที่เรามานั้นชี้ไปที่สะพานมิตรภาพจังหวัดหนองคายโน่น

จากนั้นเราจึงเดินกลับไปบอกพี่อำนาจว่า เลยมาซะแล้ว พี่อำนาจจึงบอกว่า ถ้าอย่างงั้น กลับเข้าไปพักในเมืองดีกว่า อย่างไงก็เริ่มต้นใกล้กว่าตรงนี้

พี่อำนาจจึงรีบหันเก็บเปลคู่ใจ แล้วจึงมาหันหัวรถกลับอย่างฉับไว สุดท้ายก็มาจอดพักกายพักใจอยู่ที่หน้า “สถานีเรือเชียงคาน”

เมื่ออรุณเบิกฟ้ารับวันใหม่ เช้านี้ที่เชียงคานดูสดใสพร้อมมีกลิ่นไอความหนาวพร้อมสายหมอก

เรานั่งรอ “คุณสุ” (เนวิเกเตอร์) ผู้ที่จะพารับช่วงต่อของการเดินทางครั้งนี้
เพราะบอกตามตรงว่า ที่มานี้ก็ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร รู้แต่ว่า ให้มาเจอกันที่เชียงคานก่อนเมื่อทำบัตรผ่านแดน ส่วนของนั้นจะต้องไปขนข้ามฝั่งอีกที่หนึ่งซึ่งคล้าย ๆ มีชื่อว่า “ปากชม”

เวลาเก้าโมงกว่า ๆ เราก็เจอกับ “คุณสุ” ซึ่งมาพร้อมกับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งจะรับเราไปทำบัตรผ่านแดน ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงคาน
แต่ด้วยการประสานงานที่ผิดพลาด เราไม่ได้เตรียมรูปถ่ายมา จึงต้องวนไปหาร้านถ่ายรูปด่วน ถ่ายรูปหนึ่งนิ้วเพื่อมาทำบัตรผ่านแดน

การทำบัตรผ่านแดนก็ไม่ยุ่งยากอะไร ไม่ต้องรอคิวอะไรมากมาย มีรูป มีบัตรประจำตัว พร้อมสตางค์อีกนิดหน่อยก็ทำได้อย่าง “สบาย”

แต่เมื่อทำแล้วเราก็ทำแค่นั้น ยังไม่ได้ข้ามฟากไปไหน เพราะสิ่งสำคัญของการเดินทางในวันนี้ก็คือ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ในการสร้างเมรุฯ ซึ่งอยู่หลังรถ 12 ล้อของพี่อำนาจคันนั้น

วัสดุอุปกรณ์ที่อยู่หลังรถหลัก ๆ ก็มี เหล็กเส้นประมาณ และเหล็กรูปพรรณ น้ำหนักประมาณ 3 ตัน อิฐทนไฟ ทั้งอิฐตราช้าง อิฐ มอท. รวมถึงประตูเมรุฯ พร้อมกับรางหมู (ที่วางโลงศพ) น้ำหนักประมาณ 10 ตัน ซึ่งพี่อำนาจได้ขับรถคันนี้ไปขนมาให้จากอำเภอป่าโมกข์ตั้งแต่เมื่อวาน (12 มกราคม 2554) นอกจากนั้นก็จะเป็นอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้จิปาถะ น้ำหนักประมาณ 14 ตัน

ในระหว่างการเดินทาง เราก็เหลือบเห็นน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกที่ต้องผ่านด่านตาชั่วอยู่ที่ 24 ตันเศษ เราจึงถามพี่อำนาจว่า รถคันนี้บรรทุกได้เท่าไหร่ พี่อำนาจก็ตอบว่า รถคันนี้เป็นรถ 12 ล้อ รวมน้ำหนักบรรทุกแล้วก็ได้ถึง 30 ตัน การเดินทางของเราจึงผ่านฉลุย ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนัก

แต่ที่จริงก็เสียดายอยู่เล็กน้อย เพราะตอนแรกไม่ทราบว่าจะได้รถ 12 ล้อ คือคิดว่าได้เพียงรถ 10 ล้อ ซึ่งน้ำหนักบรรทุกข์จะได้อยู่ที่ 15 ตัน เราก็กะว่า 14 ตันกว่า ๆ นี่ก็ฉิวเฉียดแล้ว (ถ้ารู้ว่าได้ 12 ล้อ จะขนมาให้มากกว่านี้อีก น้ำหนักเหลืออีกตั้ง 5 ตันกว่า 555)

กลับมาที่เชียงคานต่อ...
พอเราทำบัตรผ่านแดนเสร็จแล้ว เราก็ย้อนกลับมาที่รถ 12 ล้อคันเดิม โดยมีจุดมุ่งหมายที่ “ปากชม” ซึ่งที่นั้นมี “โป๊ะ” ข้ามฟากที่สามารถจะขนถ่ายสินค้าจากฝั่งไทยไปเมืองลาวได้

แต่การเดินทางครั้งนี้มิได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ เพราะการขนถ่ายสินค้าที่ไม่สามารถนำรถของเราข้ามฟากไปได้ แต่ก็เหมือนโชคช่วย ในระหว่างที่กำลังถกเถียงกันว่าจะขนถ่ายสินค้าอย่างไรดี ทีมงานของเราก็เหลือบไปเห็นรถบรรทุกของประเทศลาวคันหนึ่งซึ่งขนถ่ายสินค้าลงฝั่งไทยเรียบร้อยแล้ว กำลังจะข้ามฟากกลับไปฝั่งนั้น

ทีมงานของเราจึงยกมือโบก กวักมือเรียก บอกว่าจะจ้างขนสินค้าจากรถพี่อำนาจไปฝั่งลาวหน่อย จะคิดสตางค์เท่าไหร่

ตอนนั้นเองเราก็ได้เจอเด็กหนุ่มคนหนึ่ง (อายุประมาณยี่สิบปีเศษ) ซึ่งเป็นโชเฟอร์โดยเป็นเด็กหนุ่มอัธยาศัยดี มารู้ชื่อตอนหลังว่า “กาบิน” เดินลงมาเจรจาเรื่องการขนถ่ายสินค้า

ซึ่งเราก็ได้ตกลงว่าจ้างรถ 12 ล้อช่วงยาววววว (ยาวมาก) จากฝั่งไทยไปลงที่วัด (ห่างจากจุดผ่านแดนบ้านคกไผ่ประมาณ 40 กิโลเมตร) ในราคา 5,000 บาท ซึ่งนายกาบินบอกว่า ปกติเขาวิ่งกันเจ็ดแปดพัน

ตอนแรกเราก็งง ๆ ว่าแค่สี่สิบกิโลเองทำไมแพงจัง เพราะเราคุยกับพี่อำนาจว่า ค่าน้ำมันจากสระบุรีมาเชียงคานระยะทางประมาณ 550 กิโลเมตร ไปกลับนั้นจะเสียค่าน้ำมันประมาณ 8,000 บาท อันนี้แค่วิ่งไป 40 กิโลเมตร คิด 5,000 บาท มากไปหรือเปล่าหนอ...?

แต่ทีมงานของเราก็กระซิบให้ฟังว่า “ถูกแล้ว” เพราะ 40 กิโลนั้น ต้องวิ่งรถประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เนื่องด้วยถนนหนทางไม่ได้ราบรื่นเหมือนบ้านเรา

เพราะนอกเหนือจากของที่เราบรรทุกมาจากสระบุรีซึ่งมีน้ำหนัก 14 ตันกว่า ๆ แล้ว
ในวันนั้นเราก็ยังได้นัด “รถปูน” ซึ่งสั่งปูนมาอีก 200 ลูก (น้ำหนักประมาณ 10 ตัน) รวมทั้งโม่ปูนอีกหนึ่งลูก ซึ่งทุกอย่างจะต้องขนถ่ายใส่รถของนายกาบินไป

แต่ทว่ามีเงิน มีรถแล้ว งานก็ไม่จบลงแค่นั้น สิ่งสำคัญก็คือ “ใครล่ะ...” ที่จะขนของ 22 ตันจากรถฝั่งไทยสามคัน คือ คันแรก 12 ล้อของพี่อำนาจ คันที่สองรถส่งปูน และคันที่สามรถส่งโม่ปูน ลงรถสิบล้อของนายกาบิน...

แถว ๆ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคกไผ่ อำเภอปากชมนั้น จะมีพี่น้องชาวลาวข้ามมาทำงานเป็นผู้ช่วยขนถ่ายสินค้าอยู่หลายกลุ่ม
ซึ่งทีมงานของเราก็ได้เข้าไปเจรจาเพื่อให้เขามาตีราคาค่าขนถ่ายสินค้าจาก “รถสู่รถ”
แต่ดูท่าทางจากนักขนถ่ายสินค้ามืออาชีพแล้วก็ดูหนักใจอยู่มิใช่น้อย เพราะอุปกรณ์ของเรานั้นดูเหมือนไม่เยอะ คือไม่เต็มรถ แต่มัน “ยิบย่อย” ทั้งอิฐหลายพันก้อน ทั้งเหล็กเส้น ทั้งปูน อะไรต่ออะไรรวมกันไปหมด
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับรถบรรทุกลูกเดือยที่สูงเลยกระบะรถสิบล้อที่อยู่ข้าง ๆ แล้ว รถลูกเดือยซึ่งดูเหมือนเยอะ ก็แต่ขนถ่ายง่ายกว่ารถของเรา

แต่ทว่า การเจรจาจ้างเหมาขนถ่ายสินค้าครั้งนี้ก็จบลงด้วยราคา 2,500 บาท กับทีมงานเกือบ 30 คน ซึ่งต้องใช้เวลาขนถ่ายสินค้าสองชั่วโมงเศษ ซึ่งก็ฉิวเฉียดกับเวลาปิดท่าคือ 4 โมงเย็นของวันนั้น

เพราะถ้าวันนั้นเราขนของไม่เสร็จ เวลาวัยรุ่นก็เรียกได้ว่า “งานเข้า”
ด้วยเหตุว่าเย็นวันนั้นเป็นวันศุกร์ ซึ่งวันเสาร์และอาทิตย์ จะเป็นวันหยุดของการขนถ่ายสินค้า คือเสาร์อาทิตย์จะข้ามได้เฉพาะคน
ถ้าหากวันนั้นข้ามไม่ทัน ของก็ต้องค้างเติ่งอยู่ที่ตรงนั้นอีกสามคืนสองวัน รอถึงวันจันทร์จึงจะข้ามได้

เมื่อขนถ่ายสินค้าเสร็จด้วยเวลาประมาณสามโมงครึ่ง เราก็ต้องรีบบึ่งรถกลับมาที่ด่านอำเภอเชียงคานเพื่อข้ามฟากไปฝั่งโน้น
ซึ่งอันที่จริงเราจะข้ามฟากที่บ้านคกไผ่นั้นเลยก็ได้ แต่ด้วยกฏที่ว่า ข้ามที่ไหนต้องกลับที่นั้น ซึ่งจากที่นั้น (บ้านวัง) ไปถึงที่เราพัก (เมืองสานะคราม) คือ 40 กิโลเป็นหนทางที่ลำบากเหลือหลายกว่าการเดินทางในฝั่งไทย

ด้วยเหตุนั้นเราจึงต้องรีบกลับไปข้ามฟากที่เชียงคานให้ทันในช่วงเวลาสี่ถึงห้าโมงเย็น...

การเดินทางของวันนั้นยังไม่จบอยู่เพียงแค่นี้ เพราะจากนี้ไปลมหายใจของเราอยู่ที่ฝั่งลาว...

 

Large_1601201101

๑๗ มกราคม ๒๕๕๔

ภายในป่าช้า ด้านหลังหลุมฝังศพ

เมืองสานะคราม แขวงเวียงจันทร์

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว...

หมายเลขบันทึก: 420949เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2011 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท