การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมทักษะการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วม


การมีส่วนร่วมโดยร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมติดตามและประเมินผลจะทำให้การดำเนินการโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายทุกประการ
  • วันที่ 26-29 กรกฏาคม 2549 ดิฉันพร้อมด้วยครูรสาพร หม้อศรีใจ ครูเกวลิน อุตมะ และแกนนำบ้านทุ่งขาม 2 คนได้แก่ท่านผู้ใหญ่ประหยัด สิงห์ชัย และส.อบต. เพ็ญศรี ต่างถิ่น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กศน.ลำปาง 3 ท่านได้แก่อ.สมพร เอี่ยมสำอางค์ อ.นิภา ช่วยงาน และอ.บุษบา มาลินีกุลได้เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างเสริมทักษะการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วม จัดโดยศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือ ณ ดิอิมพีเรียล เชียงใหม่รีสอร์ท สปาแอนสปอร์ทคลับ จังหวัดเชียงใหม่
  • จังหวัดที่เข้ารับการอบรมเป็นตัวแทนมาจาก 4 จังหวัดได้แก่ลำปาง อุตรดิตถ์ น่าน และกำแพงเพชร
  • เป็นการอบรมที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิด การวางแผน การปฏิบัติงาน การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การติดตาม การสังเกตการทำงานร่วมกัน กระบวนการอบรมทุกขั้นตอน โดยเชื่อว่าคนทุกคนมีศักยภาพเท่าเทียมกัน
  • วิทยากรการอบรมได้แก่ คุณอรุณี เวียงแสง และคุณนัยนา หวายคำ และมีผู้ช่วยวิทยากรอีก 2 ท่าน
  • วิทยากรให้ทุกคนมีส่วนร่วม ฝึกกระบวนการคิด การทำงานแบบมีส่วนร่วม ในการอบรมด้วยการให้เล่มเกมส์เช่นฉีกกระดาษหนังสือพิมพ์
  • เกมส์ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ไม่ให้ขาด แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม โดยให้ผู้เข้ารับการอบรมเลือกอยู่ตามภาพดาว พระอาทิตย์ เมฆ และพระจันทร์ รวมเป็น 4 กลุ่ม
    เริ่มจากคุณนัยนา หวายคำ ได้มอบกระดาษหนังสือพิมพ์ 1 หน้า ให้แต่ะละกลุ่มกำหนดจุดที่คิดว่าจะฉีกกระดาษโดยไม่ให้ขาดให้ยาวต่อเนื่อง กันโดยไม่ขาด เป็นเส้นตรง หลังจากนั้นก็ช่วยกันฉีกกระดาษ เพื่อไม่ให้ขาด เมื่อเสร็จแล้วก็วางกระดาษให้เป็นเส้นตรงไปยังจุดที่ได้กำหนดไว้แต่ละกลุ่ม  กลุ่มที่1 ได้ความเร็วสุด เสร็จก่อน แต่ปรากฏว่ากระดาษที่ฉีกนั้นยาว เกินจุดกำหนดไว้ กลุ่มที่ 2กลุ่มดาว ความเร็วรองลงมา กระดาษหนังสือพิมพ์ที่ฉีกก็ยาวเกินจุดที่กำหนดไว้เช่นเดียวกัน กลุ่มที่ 3 ความเร็วถ้ดมา แต่สามารถตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ให้เท่ากับจุดที่กำหนดไว้ กลุ่มสุดท้าย กระดาษหนังสือพิมพ์ยาวเกินเช่นเดียวกัน
  • สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเล่มเกมส์ฉีกกระดาษหนังสือพิมพ์ คือการทำงานต้องมีการ ตั้งเป้าหมายไว้ร่วมกัน หลังจากนั้นหาหนทางที่จะไปสู่จุดนั้น ๆ ร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่ มอบหมายงานให้แต่ละคนทำทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพราะการทำงานต้องมีระยะเวลาเป็นตัวควบคุมทำให้เร็วที่สุด และดีที่สุด ระหว่างที่ช่วยกันทำนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ค้นหาแนวทางใหม่ ยุทธวิธีที่เหมาะสมใหม่ได้ มีการยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ช่วยกันดูและแก้ไขร่วมกัน สิ่งที่กำหนดเป้าหมายไว้ถ้าทำได้เกินหมายความว่าเราทำได้เกินเป้าหมาย ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด เหมือนกับการตัดหนังสือพิมพ์ที่ยาวเกินจุดที่กำหนดไว้ ไม่ได้หมายความว่าทำผิด แต่เป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยกันคิด วางแผนการทำงาน ติดตามงาน แก้ไข และร่วมกันหาหนวิธีการกันทำงาน จนสามารถปฏิบัติงานได้เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้
  •  แต่ละเกมส์ที่วิทยากรได้นำมาเข้าสู่บทเรียนนั้นใช้แทนการบรรยายเนื้อหา การติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วมให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จากการเล่มเกมส์ สะท้อนการทำงานกลุ่ม ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำงานเริ่มตั้งแต่วางแผน กำหนดเป้าหมาย คิดหาหนทาง รู้จักการสังเกต หาแนวทางปรับเปลี่ยนยุทธวิธี ให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ผู้ที่จัดโครงการและผู้เข้าร่วมโครงการต้องพยายามค้นหา โดยการสังเกต คิดวิเคราะห์หาจุดอ่อน จุดแข็งในการดำเนินงานร่วมกัน


การติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วมโครงการแต่ละโครงการ

  • จุดเริ่มต้นของการดำเนินงานคุณอรุณี เวียงแสง ได้ให้แต่ละจังหวัดเขียนโครงการเด่นของแต่ละจังหวัดลงบนตัวผีเสื้อ ส่วนหัวของผีเสื้อให้เขียนคิดอย่างไร ส่วนกลางเขียนวัตถุประสงค์ ส่วนปีกผีเสื้อด้านซ้ายเขียนแนวคิด/วิธีการ/ยุทธศาสตร์ในการทำงาน และส่วนปีกผีเสื้อด้านขวาให้เขียนกิจกรรมที่ดำเนินการ โดยให้ทั้ง 4 จังหวัดออกมานำเสนอ จ.ลำปาง เสนอโครงการการจัดการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ พอเพียงพ้นความยากจน บ้านทุ่งขาม ต.ใหม่พัฒนา อ.เกาะคา จังหวัดอุตรดิษถ์เสนอโครงการจัดการศึกษานอกโรงเรียนเชิงบูรณาการบนฐานความรู้ จังหวัดน่านเสนอโครงการรูปแบบการดำเนินงานร่วมกับเครือข่าย   จังหวัดกำแพงเพชร เสนอโครงการสนับสนุนเครือข่ายร่วมจัดการศึกษานอกโรงเรียน(คูปองเครือข่าย)

สิ่งที่เรียนรู้จากการเขียนผีเสื้อครั้งนี้

ได้ทบทวนการทำงานโครงการที่ได้ดำเนินการอยู่ทั้งหมด เนื่องจากจ.ลำปางผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาอยู่ที่ด้วยกันทั้งผู้ดำเนินโครงการและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในส่วนที่เป็นรายละเอียดทั้งหมดของโครงการให้ชัดเจนมากยิ่งขั้น โดยมาทบทวนกันใหม่ในเรื่องได้คิดอย่างไร วัตถุประสงค์ แนวคิดวิธีการ ยุทธศาสตร์ รวมทั้งกิจกรรม ทำให้เข้าใจชัดเจนตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย  ถ้าวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถที่จะ ติดตามประเมินผลได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชื่อโครงการ และวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน เพื่อนำไปสู่การกำหนดตัวบ่งชี้ ในการประเมินผลโครงการให้ชัดเจน

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบ่งชี้

วิทยากรได้มอบหมายให้แต่ละจังหวัด วาด  Body Paint เลือก สมาชิกกลุ่ม1 คน และให้นอนบนพื้น คว่ำหน้าบนแผ่นกระดาษ แนบแขนไว้กับลำตัว หลังจากนั้นให้เพื่อนร่างโครงร่างนางแบบได้ หลังจากนั้น สมาชิกกลุ่มก็ช่วยกันระบายสีส่วนหัว ลำตัว แขน และขา ตบแต่งให้สวยงาม Body Paint ทำให้เราสนุกสนาน ช่วยกันคิด ช่วยกันวาด ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงการทำงานโครงการต่าง ๆ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายจะสามารถทำให้งานออกมาสำเร็จตามเป้าหมาย หลังจากนั้นวิทยากรได้ให้แต่ละกลุ่มให้เขียนความหมายของตัวชั้วัดไว้ที่ส่วนหัว ลักษณะของตัวชี้วัดที่ดีไว้ด้านขวามือ สักษณะของตัวบ่งชี้ที่ไม่ดีไว้ที่ส่วนซ้าย ทุกคนก็พยายามกลั่นความคิดออกมาและช่วยกันเขียนลงไป หลังจากนั้นให้เดินดู ฺBody Paint ของแต่ละกลุ่ม ทำให้เราได้เข้าใจลักษณะของตัวบ่งชี้ ลักษณะตัวบ่งชี้ที่ดี และไม่ดี มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกคนทีส่วนร่วมช่วยกันคิดในกลุ่มแล้ว แล้วยังได้เรียนรู้จากกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

เพื่อให้เข้าใจลักษณะของต้วบ่งชี้มากยิ่งขี้น คุณนัยนา หวายคำได้ มอบหมายให้ผู้เข้ารับการอบรม ให้แต่ละจังหวัด เขียนวัตถุประสงค์โครงการของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งกำหนดประเด็นการประเมิน และกำหนดตัวชี้วัดของแต่ละประเด็นประเมิน

การเรียนรู้หลังจากที่แต่ละจังหวัดได้มานำเสนอวัตถุประสงค์ ประเด็นประเมิน และตัวชี้วัดคือ

  • ชื่อโครงการต้องชัดเจน
  • วัตถุประสงค์คือสิ่งที่ต้องการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาที่โครงการได้วิเคราะห์ไว้ ให้โครงการดำเนินการคลอบคลุม และมีทิศทางเดินชัดเจน ดังนั้นการเขียนวัตถุประสงค์ต้องชัดเจน
  • การกำหนดตัวชี้วัด ต้องชัดเจน และวัดได้ เป็นรูปธรรมสอดคล้องกับสิ่งที่ทำ
  • การกำหนดตัวชี้วัด จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราได้ทำเช่นนั้นจริง ๆ  มีคนเล่าได้ ชาวบ้านคุยได้
  • การกำหนดตัวชี้วัด ไม่ใช่เรื่องของกระบวนการทำงาน ไม่ต้องนำเอารายละเอียดทั้งหมดมาเขียนเป็นตัวชี้วัด รายละเอียดนั้นให้เขียนไว้ในกระบวนการทำงาน วิธีการทำงาน
  • การกำหนดตัวชั้วัด เป็นสิ่งที่กำหนดก่อนที่จะเริ่มดำเนินโครงการ ดังนั้นสิ่งไหนที่คิดว่าจะบีบมัด หรือยากเกินไปที่จะวัด หรือประเมินได้ ก็ไม่ต้องกำหนดเป็นตัวชี้วัด ให้เกิดความกดดันให้กับผู้ประเมิน
  • การกำหนดตัวชี้วัด เป็นการกำหนดเชิงปริมาณว่าจะทำให้สำเร็จจำนวนเท่าใดก่อนโครงการจะเริ่มดำเนินการดังนั้น ควรเขียนคำว่าอย่างน้อยก่อนกำหนดตัวเลข
  • ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่ความชัดเจนในเป้าหมายงานพัฒนาที่ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
  • ตัวชี้วัดที่ดี ต้องสามารถบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการดำเนินโครงการได้ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีความเฉพาะเจาะจง ชัดเจน และเป็นจริงได้ทั้งโดย เงื่อนไขเวลาและความสามารถของโครงการนั้น
  • การกำหนดตัวชี้วัด ควรมาจากการระดมความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย และทีมประเมินผล เพื่อให้โครงการมีตัวชี้วัดที่จะใช้ในการประเมินผลโครงการได้

เกมส์ที่สรุปสำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมทักษะการติดตามและประเมินผลแบบมีส่วนร่วมคือ

  • เกมส์ killer วิทยากรให้ผู้เข้ารับการอบรมยืนเป็นวงกลมและหลับตา หลังจากนั้นวิทยากรเลือก killer ไว้ 3 คน โดยห้ามไม่ให้ killer บอกสมาชิกผู้เข้ารับการอบรมว่าตนเองเป็น killer ต่อจากนั้นให้ทุกคนเดินอยู่ในบริเวณที่กำหนดไว้ ทุกคนสามารถเดินตามความต้องการของตนเองแต่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้
  • ถ้า killer ขยิบตา 3 ครั้งให้สมาชิกผู้เข้ารับการอบรมท่านใด ให้ผู้นั้นตายและให้ร้องออกมา "โอย" และออกจากกลุ่มไป
  • ส่วนสมาชิกกลุ่มต้องพยายามคอยดูว่าใครเป็น killer ถ้ารู้แล้วให้ยกมือขึ้น วิทยากรจะ นับ 1 2 3 4 จากนั้นให้ผู้เข้ารับการอบรมชี้มือไปที่ killer คนที่สงสัย ถ้าชี้ถูก killer ต้องตาย                    
  • ทำเช่นนี้จน killer ตาย ครบ 3 คน 
  • การเล่มเกมส์นี้เป็นการสรุปได้ว่าการจัดโครงการใดก็แล้วแต่ ผู้จัดโครงการ และผู้เข้าร่วมโครงการนั้นต้องมีการติดตาม ประเมินผลแบบมีส่วนร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทุกคนต้องช่วยกันหาจุดบกพร่อง ทำงานเป็นทีมคอยดูแลช่วยเหลือกันทุกขั้นตอน งานจึงสำเร็จได้ด้วยดี

แผนงานที่จะทุกจังหวัดต้องดำเนินการหลังอบรมครั้งนี้คือ จัดทำรายงานสรุปบทเรียน และแผนการติดตามและการประเมินผลโครงการ ปี 49-50 โดยรวบรวมส่งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคเหนือภายในวันที่ 20 กันยายน 2549

สิ่งที่ประทับใจในการอบรมครั้งนี้


1. วิทยากรเป็นกันเอง การถ่ายทอดความรู้เน้นการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน วิทยากรอยากให้ผู้เข้ารับการอบรมรมเรียนรู้เรื่องใดก็จะให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทำกิจกรรม และลงมือปฏิบัติเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เหมือนกับการติดตามและประเมินผลโครงการแบบมีส่วนร่วม ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันประเมินผล

2.การสรุปประเด็นวิทยากรได้ใช้วิธีการสรุปประเด็นลงบนบัตรคำ ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขั้น และที่สำคัญสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งที่เหมือนกันอยู่ด้วยกัน

3.วิทยากรได้สอดแทรกการฝึกสติ การทำสมาธิ และฝึกโยคะ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมยุคปัจจุบัน ถ้าการอบรมทุกโครงการสอดแทรกการปฏิบัติธรรมเช่นนี้ก็จะทำให้ สังคมมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้น

ณราวัลย์ นันต๊ะภูมิ
28 กรกฎาคม 2549

หมายเลขบันทึก: 42038เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท