การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม


การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม

ชื่อเรื่อง  รายงานผลการวิจัย เรื่อง การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาการจัด

                                ค่ายวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดเขตภาคกลาง

ชื่อผู้วิจัย                นายสินชัย  สุจริตพานิช

ปีที่ศึกษา               2553

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดค่ายวิทยาศาสตร์อย่างมีส่วนร่วมของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดเขตภาคกลาง โดยมียุทธศาสตร์การวิจัย (Research Strategy) คือ ต้องการได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนร่วมในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์  แนวทางในการวิจัยจึงจะใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research methodology) โดยใช้ทฤษฎีฐานราก (grounded theory) สำหรับวิธีการวิจัย (Research Method) นั้น จะใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม

ประชากรที่ใช้ในการศึกษาคือ  เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลางจำนวน 33 คน และ ครูเครือข่ายของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลาง จำนวน 341 คน  สำหรับกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลางจำนวน 33 คน และ ครูเครือข่ายของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในเขตภาคกลาง จำนวน 40 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล มี 3 ประเภท คือ การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการสนทนากลุ่ม ซึ่งเป็นเป็นการใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้ทฤษฎีฐานราก (grounded theory)

การเก็บรวบรวมข้อมูล  ผู้วิจัยจะใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมทุกครั้งเมื่อมีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ขึ้น เมื่อพบประเด็นที่สามารถตอบคำถามของการวิจัยได้ ผู้วิจัยก็จะสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเพื่อหาข้อมูล  ในการสังเกตและสัมภาษณ์ผู้วิจัยจะคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีวิสัยทัศน์ทันสมัย กล้าแสดงออก กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และกล้าเสนอแนะเข้ามาร่วมในการสนทนา กลุ่ม

สรุปผลการวิจัย พบว่า

ขั้นเตรียมการควรมีลักษณะดังนี้

1) ประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และคณะครู-อาจารย์จากสถานศึกษาที่มาจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ เพื่อวางแผน กำหนดรูปแบบ วัตถุประสงค์ หลักสูตร งบประมาณ สถานที่จัดกิจกรรม และเรื่องอื่นๆ ที่

เกี่ยวข้องกับกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จนสามารถจัดทำเป็นโครงการที่ถูกต้องและสมบูรณ์

2) แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ฝ่ายต่างๆ เพื่อกำหนดหน้าที่ ผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม

3) รวบรวมข้อมูลวิชาการ เพื่อจัดทำเอกสารวิชาการ สำหรับใช้เป็นใบกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบการจัดกิจกรรมฐานวิชาการต่างๆ รวมทั้งจัดเตรียมสื่อและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ต้องใช้กับฐานวิชาการ ดังนั้น วิทยากรที่รับผิดชอบในแต่ละฐาน จะต้องจัดเตรียมสิ่งเหล่านี้ให้พร้อม เพื่อให้ผู้เข้าค่ายได้รับประสบการณ์และความรู้จากฐานการเรียนรู้ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

4) จัดเตรียมสถานที่สำหรับปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เช่น สถานที่สำหรับใช้ทำกิจกรรมฐานวิชาต่างๆ สถานที่รวมกลุ่มเพื่อเตรียมความพร้อมที่รับประทานอาหาร บริเวณที่กางเต็นท์นอน สถานที่เหล่านี้ต้องจัดเตรียม ให้พร้อมก่อนที่จะทำกิจกรรม

5) จัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์สำหรับการจัดกิจกรรม ฐานวิชาการ หรือวัสดุอื่นใดที่จัดเตรียมเกี่ยวกับอาคารสถานที่โดยทั่วไป

6) ประสานงานกับเครือข่าย เพื่อช่วยให้การดำเนินงานกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เช่น ประสานขอความร่วมมือด้านยานพาหนะ ขอความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความปลอดภัย ขอความร่วมมือหน่วยงานเครือข่ายเป็นวิทยากร เป็นต้น

7) ก่อนถึงกำหนดวันจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานอีกครั้งหนึ่ง เพื่อซักซ้อมความเข้าใจและตรวจสอบความพร้อมในแต่ละด้านตลอดจนรับทราบปัญหาอุปสรรคและร่วมกันเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา

ขั้นดำเนินการ ควรมีลักษณะดังนี้

หลักสูตรของค่ายวิทยาศาสตร์ จะต้องมีการจัดกิจกรรมที่มีรูปแบบการให้ความรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน และการสร้างความสามัคคีในการทำงานร่วมกันเป็นทีม  ผ่านฐานความรู้ที่นำเสนอความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของนิทรรศการประกอบ การสาธิต และเกมต่างๆ ที่จะทำให้นักเรียนจะมีความตื่นตัว กระตือรือร้นในการเรียนรู้ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีการบริโภคและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า  เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนต่อการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้าน โรงเรียนและชุมชนใกล้เคียงได้

เนื้อหาหลักสูตรในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ควรเป็นเนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์ในทุกสาขาวิชา โดยควรมีเนื้อดังกล่าว

                1) วิทยาศาสตร์พื้นฐาน  หัวข้อที่ควรจัดในค่ายวิทยาศาสตร์มี ดังนี้คือ พลังงาน ไฟฟ้าและแม่เหล็ก แสง เสียง ประสาทสัมผัส และการรับรู้ กลศาสตร์ น้ำ และสสาร เป็นต้น

2) ดาราศาสตร์และอวกาศ  หัวข้อที่ควรจัดในค่ายวิทยาศาสตร์มี ดังนี้คือ ปรากฏการณ์ บนท้องฟ้า ระบบสุริยะ จักรวาล และอวกาศ เป็นต้น

3) สุขภาพและอนามัยการแพทย์  หัวข้อที่ควรจัดในค่ายวิทยาศาสตร์มี ดังนี้คือ ร่างกายของเรา และชีวิต เป็นต้น

4) คณิตศาสตร์  หัวข้อที่ควรจัดในค่ายวิทยาศาสตร์ คือ เกมคณิตศาสตร์

5) วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี  หัวข้อที่ควรจัดในค่ายวิทยาศาสตร์ คือ สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร เป็นต้น

6) ธรรมชาติวิทยา  หัวข้อที่ควรจัดในค่ายวิทยาศาสตร์ คือ นิเวศวิทยากับสิ่งแวดล้อม และชีวิวิทยา (พืช/สัตว์) เป็นต้น

7) ชาติพันธุ์วิทยา  หัวข้อที่ควรจัดในค่ายวิทยาศาสตร์ คือ วิวัฒนาการของมนุษย์

ขั้นประเมินผล ควรมีลักษณะดังนี้

1) ประเมินผลประจำวันในทุกกิจกรรม รวมถึงการประเมินสถานการณ์โดยทั่วไป เพื่อทราบข้อดี ข้อที่ควรแก้ไขปรับปรุง และนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาในการจัดกิจกรรมสำหรับวันต่อไป การประเมินผลประจำวัน อาจได้จากการประเมินความคิดเห็นของสมาชิกชาวค่าย หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมในแต่ละวัน หรือได้จากการประชุมคณะวิทยากร คณะกรรมการดำเนินงาน ซึ่งต้องมีการประชุมพูดคุยกันในแต่ละวัน ภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมประจำวัน

2) ประเมินผลเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ในวันสุดท้าย เป็นการประเมินโดยภาพรวม โดยใช้แบบประเมินผลกิจกรรมค่าย เก็บข้อมูลจากสมาชิกชาวค่ายเพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ในครั้งต่อไป

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 420271เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2011 13:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:58 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท