พุทธเศรษฐศาสตร์


ปัญญาที่บริสุทธิ์สามารถเข้าใจทุกอย่างตามความเป็นจริง เพราะปัญญาจะก่อให้เกิดการเรียนรู้และเมื่อมีความรู้ความเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงความทุกข์ก็จะไม่เกิด

พุทธเศรษฐศาสตร์          

ก่อนที่จะทำความเข้าใจพุทธเศรษฐศาสตร์จะต้องทำความเข้าใจเศรษฐศาสตร์เป็นเบื้องต้นก่อน               

เศรษฐศาสตร์ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะทำให้มนุษย์ได้รับความพึงพอใจสูงสุดจากการบริโภคสินค้าและบริการภายใต้จำนวนทรัพยากรที่มีจำกัดที่จะนำมาใช้ในการผลิต               

แต่เนื่องจากความเข้าใจต่อเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมาในอดีตนั้นถูกครอบงำจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของตะวันตก ที่เน้นด้านวัตถุนิยม หรือการบริโภคเป็นหลัก มุ่งตอบสนองความโลภและแสวงหาความสุขให้มนุษย์  และเข้าใจว่ามนุษย์สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์โดยการแสวงหาความพึงพอใจให้ได้มากที่สุดจากการบริโภค                

หลายๆ ประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้เป็นทฤษฎีในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการพัฒนาตามแนวคิดนี้ได้ส่งผลดีเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีทุนและมีอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรเท่านั้น แต่สำหรับประชาชนโดยทั่วไปที่ยังด้อยโอกาสกลับได้รับผลกระทบรอบด้าน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ความเป็นครอบครัวล่มสลาย ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลเสียต่อวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสรุปว่าเป็นการพัฒนาที่ทำให้ เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน               

จากปัญหาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแนวคิดที่มาโต้แย้งว่าเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่สามารถทำให้มนุษย์มีความสุขได้อย่างแท้จริง                 

 แนวคิดที่ว่าคือ แนวคิดพุทธเศรษฐศาสตร์               

พุทธเศรษฐศาสตร์ คือ วิชาที่ว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ปัจเจกบุคคล และสังคมบรรลุซึ่งศานติสุขจากการมีชีวิตอยู่ในโลกของวัตถุภายใต้เงื่อนไขของการมีทรัพยากรที่จำกัด (อภิชัย  พันธเสนและคณะ : 2549)                 จากความหมายดังกล่าวพบว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์กับพุทธเศรษฐศาสตร์คือ ความพึงพอใจ(Pleasure)  ความสุข(Happiness)และความทุกข์ (Pain)               

เศรษฐศาสตร์เน้นการพ้นทุกข์โดยการแสวงหาความพึงพอใจ                

พุทธเศรษฐศาสตร์เน้นที่การมองทุกข์และสุขคืออันเดียวกันเป็นความสุขในทางพุทธธรรม หมายความว่า ความสุข คือ สภาวะที่ความทุกข์ลดน้อยลง 

               นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้ที่คนเรามีทุกข์เพราะมองความสุขและความทุกข์เป็นสองขั้วที่แตกต่างกันชัดเจน โดยสรุปว่าคนที่มีความสุขนั้นจะไม่มีความทุกข์และการจะมีความสุขได้จะต้องไขว้คว้าหาสิ่งที่ตนเองต้องการมาให้ได้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นจนกลายเป็นปัญหาที่ตีกลับเข้ามาทำร้ายตนเองและคนรอบข้างจนยากจะแก้ไข                 ในความเป็นจริงของชีวิตของคนเรานั้นมีทั้งทุกข์และสุขไปพร้อมกัน การที่จะมีความสุขได้นั้นจะต้องใช้  ปัญญา ลดปัญหาหรือลดความทุกข์ในชีวิตลงให้เหลือน้อยที่สุดและทำความเข้าใจให้ได้ว่าความสุขไม่จำเป็นต้องได้มาจากการบริโภคเสมอไป


อภิชัย  พันธเสนและคณะ .พุทธเศรษฐศาสตร์.กรุงเทพฯ:ดอกหญ้า  วิชาการ.2549
หมายเลขบันทึก: 42019เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2006 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

     ดีค่ะเมืองไทยเราจะได้รอดพ้นจากการบริโภคตามกระแสหลัก

   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท