เรียนรู้เรื่อง KUSA กับการผจญภัยของนกฮูกน้อยในหนังเรื่อง “LEGEND OF THE GARDIANS”


การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากสอน แต่เกิดจากการที่ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเองตามสไตล์และจริตการเรียนรู้ของแต่ละคน

 

 

หนังเรื่องนี้เพิ่งลาโรงไปเมื่อไม่นานมานี้เอง ชื่อเต็มๆ ของมันคือ “Legend of the Guardians:The Owls of Ga Hoole มหาตำนานวีรบุรุษองครักษ์ นกฮูกผู้พิทักษ์แห่งกาฮูล” เป็นหนังเกี่ยวกับการผจญภัยของนกฮูก 2 พี่น้องที่มีทัศนคติความคิดต่างกัน เนื้อเรื่องสนุกสนาน เหมาะสำหรับทุกคนในครอบครัว (อ่านเรื่องย่อได้ที่นี่ http://movie.mthai.com/movie-profile/new-movie/57197.html) การดูหนังเรื่องนี้จะเป็นการดีมากถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองได้นั่งดูพร้อมกับลูกหลาน จะได้ตอบคำถามเสริมคำแนะนำได้อย่างเหมาะสม ในมุมมองของผมสำหรับหนังเรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะเชื่อมโยงไปยังเรื่องความสัมพันธ์การเลี้ยงดูความอบอุ่นในครอบครัวการศึกษาและฝึกอบรมได้ตามแนวคิด KUSA ซึ่งคนในวงการศึกษาหรือวงการอบรมรู้จักดีคือ การสร้างความรู้ (K: Knowledge) ความเข้าใจ (U : Understand) ทักษะ (S Skill) และเจตคติทัศนคติ (A : Attitude) ที่พึงประสงค์

 

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-review/79314.html

  

ในช่วงแรกของหนังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์การเลี้ยงดูความอบอุ่นในครอบครัวไว้อย่างชัดเจน ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม จะเห็นว่าพ่อแม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นอย่างมาก มีเวลาให้กับครอบครัว โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อที่คอยเล่านิทานให้ลูกฟัง ปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านจากเรื่องราวบันทึกตำนานสงครามที่ลูกๆ ได้อ่านและซึมซับ นอกจากนี้ พ่อยังฝึกลูกให้มีทักษะการดำเนินชีวิตตามวิถีทางของชนเผ่าของตนอย่างเหมาะสม ว่าจะดำเนินชีวิตเพื่อเอาตัวรอดในสังคมได้อย่างไร เช่น การเริ่มต้นฝึกบิน เป็นต้น พ่อไม่ได้สอนให้ทำตามแต่ให้หลักการกว้างๆ เพื่อให้แต่ละคนหาแนวทางสไตล์ของตัวเองให้เจอ แล้วค่อยๆ ฝึกให้ชำนาญต่อไป

  

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-review/79314.html

 

ช่วงที่หนังกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับ KUSA ชัดๆ คือช่วงที่ลูกนกทั้งหลายถูกจับไป จะเห็นว่าลูกนกทั้ง 2 พี่น้อง ได้รับการฝึกเหมือนกันแต่วิธีการแตกต่างกัน คือแต่ละตัวก็ได้รับความรู้ความเข้าใจทักษะและทัศนคติ (KUSA) อย่างครบถ้วนแต่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ตามกรอบที่ผู้ฝึกได้วางไว้ เป็นที่น่าสังเกตว่าแต่ละตัวตั้งใจฝึกเป็นอย่างดี การที่แต่ละตัวตั้งใจฝึกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นทุกตัวต่างก็มีแรงจูงใจเหมือนกันแต่เป้าหมายต่างกัน ตามหลักจิตวิทยาการฝึกอบรมที่กล่าวไว้ว่า “ผู้เรียนอยากฝึกเพราะเห็นประโยชน์จากการฝึก” ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นครูฝึกต้องสร้างตรงนี้ให้ผู้เข้าอบรมให้เห็นว่าทำไมเขาจึงต้องมีความจำเป็นต้องฝึกเรื่องนี้ เพื่ออะไร และจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาอย่างไร ในการฝึกครูฝึกก็จะทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่ผู้เรียน แต่ไม่ได้ครอบความคิดล้อมกรอบให้ผู้เรียนว่าต้องทำทุกอย่างให้เหมือนกับที่เขาทำ ครูฝึกจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียนให้ผู้เรียนอยากทำได้เหมือนครู แต่ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้เหมือนครูทุกกระเบียดนิ้ว เพราะสไตล์และจริตการเรียนรู้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากสอน แต่เกิดจากการที่ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาเองตามสไตล์และจริตการเรียนรู้ของแต่ละคน

 

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-review/79314.html

 

การเรียนรู้และการจัดการศึกษาที่แท้จริงผมคิดว่าไม่ควรจะจัดแบบเหมาโหล ที่ทุกๆ คนต้องเรียนเหมือนๆ กัน ผมคิดว่าจะต้องจัดให้เหมาะกับวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละสังคมตามวัตถุประสงค์การใช้งาน และศักยภาพของแต่ละคน จะเห็นว่าหลังจากที่ลูกนกได้รับการฝึกในเรื่องพื้นฐานการบินแล้ว ลูกนกแต่ละตัวก็ได้รับเชิญให้พาไปดูงานในการฝึกของแต่ละด้านตามความรับผิดชอบในแต่ละภาระหน้าที่ ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เขาก็จะได้รู้ตัวเองว่าตัวเองมีความชอบและศักยภาพในด้านใดจะได้เลือกฝึกเลือกฝึกเรียนให้เหมาะสม ตรงนี้ผมอยากให้ครูแนะแนวได้นำแนวคิดนี้มาแนะนำเด็กต่อไป เพราะสมัยที่ผมเรียนจบ ม. 3 ใหม่ๆ ครูแนะแนวส่วนใหญ่ก็เพียงแต่แนะนำว่าให้ไปสอบเรียนต่อที่นั่นที่นี่ เพื่อทำอาชีพตามกรอบราชการ รัฐวิสาหกิจทั่วไป เช่น พยาบาล ตำรวจ ทหาร ครู เป็นต้น แต่ไม่ได้แนะนำเส้นทางการไปสู่อาชีพอื่นๆ หรือสร้างให้เป็นเจ้าของธุรกิจเลย ผมคิดว่าการแนะแนวที่ควรจะเป็นก็คือการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเกิดความชอบที่อยากจะประกอบอาชีพนั้นๆ ต้องสร้างให้เด็กเห็นว่าถ้าเราได้ทำงานในสิ่งที่เราเรารักถึงแม้จะไม่ร่ำรวยมีเงินทอง มีหน้ามีตาในสังคม แต่ก็มีความสุขจากงานที่ทำ นั่นคือต้องพานักเรียนไปเรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จจากอาชีพต่างๆ อย่างหลากหลาย ไปสัมผัสกับงานจริง ๆ เรียนรู้กับงานจริงๆ จากคนนั้นๆ ว่ามีปรัชญาแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างไร องค์ความรู้ที่จะนำมาสอน ครูไม่จำเป็นต้องสอน แต่ครูต้องทำหน้าที่จัดหาบริหารจัดการเพื่อให้ความรู้จากแหล่งที่มีอยู่ให้มาพบกับผู้เรียนให้ได้อย่างเหมาะสม 

 

ภาพจาก http://movie.mthai.com/movie-review/79314.html

 

หลังจากที่แต่ละคนได้อบรมเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติแล้ว จะต้องนำความรู้ทักษะเหล่านั้นไปใช้งานให้เห็นผลอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม อาจจะเรียกว่าไป OJT (On the Job Training) ก็ได้ เพราะความรู้ที่อบรมมาอาจจะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ผู้เรียนต้องไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากหน้างานจริง จากผู้รู้ที่ทำงานจริง พยายามดึง Tacit Knowledge จากคนที่ทำงานหน้างานให้ได้มากที่สุดแล้วปรับประยุกต์ให้เข้ากับสไตล์การทำงานของตน สร้างเป็นสไตล์ของตัวเอง จากเนื้อเรื่องช่วงกลางๆ ถึงท้ายเรื่องของหนังเรื่องนี้ จะเห็นว่า ลูกนกแต่ละตัวได้ไปช่วยกันออกรบ โดยใช้องค์ความรู้ที่ฝึกฝนมา ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรรค์ ความมุ่งมั่น และความสามารถตามแนวทางความชอบของแต่ละตัว บางตัวอาจจะชอบร้องเพลง บางตัวอาจชอบทำอะไรแผลงๆ บางตัวชอบทำอะไรแปลก ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้เฉพาะตนขึ้นมา ความรู้บางอย่างผุดเกิดขึ้นเองแบบ Intution ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของจังหวะเวลาและโอกาสอย่างที่เรียกว่าเหตุปัจจัยนั่นเอง ทั้งนี้ผู้เรียนต้องรู้จักสร้างโอกาสให้แก่ตัวเองอยู่เสมอ

 

หมายเลขบันทึก: 419804เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2011 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท