หมอข้าวหอม
แพทย์หญิง ลำพู(Lampu) โกศัลวิทย์(Kosulwit)

palliative care เป็นหน้าที่ของใคร


palliative care เป็นหน้าที่ของใคร

Palliative care เป็นหน้าที่ของใคร

อ. พญ. ลำพู โกศัลวิทย์

 

        ได้ไปประชุม Palliative care: discovering your voice ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นสิ่งดีๆ มากมาย

        การประชุมทางการแพทย์ในหลายสาขา อาจเพิ่มความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ  เพื่อเหนี่ยวรั้ง “ร่างกาย” ของคนไข้ให้ได้รับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานน้อยที่สุด และอาจหมายรวมถึง “การยืดความตาย ” ให้ยาวนานออกไปด้วย

        การสื่อสารทางใจนั้น อาจต้องใช้เทคโนโลยีทางใจ ใช้ใจสื่อใจ ใจที่เข้าใจคำว่า “ชีวิตมนุษย์” สารที่จะสิ่อ จึงจะถึงใจได้ ประดุจเป็นเครื่อง Defibrillator กระตุกหัวใจยามสุดท้ายซึ่งร่างกายหมดสภาพเกินกว่าจะเหนี่ยวรั้งไว้ด้วย Defibrillator หรือ Inotropic drugs อย่างที่เราคุ้นเคย

        เมื่อได้ยินคำว่า การดูแลคนไข้อย่าง “องค์รวม” หรือ “holistic care” อาจมีคำถามว่า ทำอย่างไร ทำแค่ไหน ที่ทำอยู่นี้ถูกต้องหรือไม่ ?

       มีคนไข้เยอะ ไม่มีเวลา แค่ดูแล physical illness, lab, vital sign ก็หมดเวลา และมีผลต่อชีวิตมากกว่าใจที่ป่วย  

นอกจากนั้น ผู้เขียนเคยได้ยินหลายๆ คน ให้คำจำกัดความว่า

Palliative care  คือ.......

การรักษาที่ “ไม่ทำอะไรแล้ว” หรือ  “NR FULL MED.”

 

 

Palliative care คือ อะไร ??

 

      คำกล่าวสุดท้ายที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ ถึง Definition ของ palliative care

(1) คือ   คำกล่าวสุดท้ายก่อนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของ  .เกียรติคุณ พญ.สุมาลี

นิมมานนิตย์(2)   อาจารย์อาวุโสผู้ผลักดันให้เกิด Palliative care ที่ศิริราชพยาบาล

โรงพยาบาลซึ่งมีเป้าหมายจะเป็นปัญญาของแผ่นดินและที่พึ่งยามยากของคนไข้

อาจารย์สุมาลีได้ฝากฝัง Palliative care ของประเทศไทยเอาไว้ให้อาจารย์แพทย์

และศิษย์แพทย์อีกหลายท่านช่วยดูแลต่อ 

     อาจารย์สุมาลี ได้อธิบายความหมายง่ายๆ ของ palliative care  เอาไว้

ว่า                                                                                       

Concept ของ palliative care คือ relief suffering  และ improve quality of life ซึ่งไม่มีคนไข้คนไหนไม่ต้องการเลย แม้กระทั่งคนไข้ปวดหัว เพราะฉะนั้น palliative care เป็นสิ่งที่คนไข้ทุกคนต้องการ....ต้องการให้ทีมรักษาช่วยในทุกๆด้าน... physical, psychological, social และ spiritual ที่เป็น holistic care”

Palliative care เป็นหน้าที่ของทุกๆคนในทีมรักษา โดยเฉพาะแพทย์ทุกแขนงสาขาวิชาจะละเลยสิ่งนี้ไม่ได้ และ ถ้าเราทำ palliative care แล้ว นี่คือ การดูแลรักษาอย่างมีมนุษยธรรม มันคือ humanized medicine นั่นเอง ไม่ต้องไปหารูปแบบใหม่ ไม่ต้องไปหาวิธีการใหม่...เสียเวลา”

“การดูแลรักษาแบบนี้ palliative care นั้นมี spectrum กว้างมาก ตั้งแต่การ support ด้านจิตใจทั่วไป จนถึง end of life care ซึ่งหมอทุกๆคนต้องทำเป็น และฝึกตัวเองให้ทำเป็น เราจะทำได้ทั้ง holistic, humanized… ต่างๆ ทุกอย่าง มันจะเบ็ดเสร็จอยู่ในตัวของ palliative care”

       เป็นเรื่องปกติที่พบเสมอในโรงพยาบาลต่างๆ ว่า คนไข้ถูกส่งมาพบจิตแพทย์ โดยไม่มีการบอกกล่าวอะไรไว้ก่อน              

        หากทุกคนในทีมผู้รักษามีความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับ palliative care เราคงช่วยเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นใจให้คนไข้ ยามที่ชีวิตเสมือนตะวันใกล้ลับฟ้า ไร้ความหวัง และน่าจะนำคนไข้ไปสู่ชีวิตก่อนตายที่มีคุณภาพเพื่อนำไปสู่การตายอย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงการพัฒนาประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากขึ้นในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของทีมผู้รักษาเอง

        มีอีก 2 -3 อย่าง ที่เกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาล..............นั่นคือ..............

       แพทย์เจ้าของไข้จำนวนมากไม่ได้บอกผู้ป่วยของตนเองว่าเขากำลังเป็นโรคที่มีเวลาอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน และบ่อยครั้งญาติไม่ต้องการให้แพทย์บอกอะไรกับผู้ป่วย และ....บ่อยครั้งที่แพทย์ลำบากใจที่จะบอกผู้ป่วยด้วยเหตุผลต่างๆ

   คำถามคือ “หากผู้ป่วยคนนั้นเป็นคนที่เรารัก ในฐานะญาติ เราจะบอกเขาไหม ว่าเขาจะอยู่ได้อีกไม่เกิน 3 เดือน”

   หลายคนอาจตอบว่า   “ไม่บอก”       

   ถ้าเช่นนั้นมีคำถามต่อว่า   

      “หากเราเป็นคนป่วยคนนั้น เราต้องการให้ญาติที่เรารัก หรือ หมอ บอกเราตามความเป็นจริงหรือไม่ ว่าเรามีเวลาอยู่ในโลกนี้อีกไม่นานนัก”

       หลายท่านอาจมีคำตอบอยู่ในใจ และแน่นอน........

       “ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ ขอเลือกที่จะรับรู้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเอง มากกว่าที่จะให้ใครปิดบังสิทธิในการรับรู้และตัดสินใจ ซึ่งนั้นหมายถึงการขัดขวางการวางแผนชีวิตส่วนที่เหลือของผู้เขียนอีกด้วย”        

         ผู้ป่วยส่วนมากต้องการรู้ว่าเขาเป็นอะไร มีเวลาอีกเท่าไร แม้ว่าไม่แน่ใจว่า จะรับกับสิ่งที่ได้ยิน ได้หรือไม่ และ ผู้ป่วยไม่ต้องการให้แพทย์และญาติโกหกตน

       และแน่นอน หลายคนต้องการที่จะได้จัดการ และเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้ายของตนเองด้วยตนเอง       

         ปัญหาที่ตามมาคือ “จะบอกอย่างไร ” การแจ้งข่าวร้ายอย่างไม่ได้เตรียมตัว และ ไม่มีประสบการณ์ ทำให้คนไข้และญาติต้องเจ็บปวด และแน่นอน ผู้แจ้งข่าวร้ายเองก็ทั้งรู้สึกผิดและหวาดหวั่น อาจรู้สึกผิดว่าตนเป็นคนทำให้เขาเจ็บปวด และอาจจะต้องหวาดหวั่นว่าเขาจะมาเอาเรื่อง  มาฟ้องร้อง

          ปัญหาการสื่อสารไม่น่าเป็นสิ่งที่สร้างปัญหา ในเมื่อเราสื่อสารอยู่ทุกวัน แต่ก็เพราะการสื่อสารอยู่ทุกวัน เราจึงชินที่จะสื่อสารอย่างเดิมๆ  แล้วลืมหาวิธีการที่เหมาะสม และแน่นอน ผู้รับสาร-ผู้สื่อสารเป็นมนุษย์มีจิตใจเป็นตัวแปร

          ทำให้การจัดการกับอารมณ์และการจัดเรียงคำพูดที่จะสื่อออกไป รวมถึงความพร้อมในการรับสาร “ไม่คงที่”          

   ทักษะในการสื่อสารกับผู้ป่วย จึงเป็นสิ่งที่สมควรพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง 

 

palliative care เป็นหน้าที่ของใคร(3)

 

            palliative care จึงเป็นหน้าที่ของทีมรักษาทุกๆคน     

และ...........                           

            palliative care คือ relief suffering  และ improve quality of life

            การทำงานของแต่ละท่านในทีมรักษามีหน้าที่ที่ต่างกันและ overlap กันอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อ จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ บรรเทาความทุกข์ทรมานกายและใจ  เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

            ซึ่งหากเป็นอัตภาพของ end stage of life ก็เป็นไปเพื่อการคงไว้ของสังขารร่างกายที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพ เพื่อนำเข้าสู่การตายอย่างมีศักดิ์ศรี หรือ การตายดีนั่นเอง

 

   บทบาทของจิตแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายคืออะไร(4)(5)

          จิตแพทย์มีหน้าที่โดยตรง เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่ยากลำบากต่อการปรับตัวต่อการรับรู้ในภาวะที่ตนเองเป็น ปัญหาคิดไม่ตกต่างๆ เช่น ปัญหาระหว่างบุคคล ปัญหาส่วนตัว ปัญหาอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง/ทรุดหนัก ซึ่งอาจจะกระทบจิตใจรุนแรงถึงขั้นเป็นภาวะซึมเศร้า  วิตกกังวล  มีอาการเพ้อ สับสน นอนไม่หลับ มีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น 

          รวมถึง การดูแลด้านจิตวิญญาณและความเชื่อที่ผู้ป่วยมีอีกด้วย  เพื่อรักษาจิตใจให้มั่นคงได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

          ซึ่งจิตแพทย์จะประเมินและพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งอาจจำเป็นต้องให้ยา บางรายเพียงให้การรักษาประคับประคองจิตใจ แต่บางรายอาจต้องทำจิตบำบัดแบบต่างๆ และอาจรวมถึงการดูแลญาติของผู้ป่วยด้วย ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้ทักษะในการสื่อสารและตีความหมาย และต่างจากการสนทนากันตามธรรมดา

 

      เอกสารอ้างอิง

  1. "WHO Definition of Palliative CareH". HWorld Health OrganizationH. Retrieved March 7 2006.  Available from :  HUhttp://www.who.int/cancer/palliative/definition/en/U
  2. สุธี พานิชกุล. กายป่วย ใจไม่ป่วย. สารชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย 2550; 2, 1-4.
  3. Gregory B Crawford, Sharonne D Price.Team working: palliative care as a model of interdisciplinary practice. MJA. 2003;179,s32-34.
  4. Scott A Irwin, Frank D Ferris.The Opportunity for Psychiatry in Palliative Care. The Canadian Journal of Psychiatry 2008;53, 713-724.
  5. Jeffrey L. Spiess,  Colleen J. Northcott, Julian D. OffsayJudith H. W. Crossett. Palliative Care: Something ElseWe Can Do for Our Patients. PSYCHIATRIC SERVICES.2002; 53(12), 1525-1529.
คำสำคัญ (Tags): #palliative care#จิตแพทย์
หมายเลขบันทึก: 419591เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2011 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท