สอนพิมพ์สัมผัส ตอน 4


วิธีสอนทักษะพิมพ์สัมผัส ตอนที่ 4

การสอนวิชาการใช้แป้นพิมพ์ระดับประถมศึกษา

ดร. สมบูรณ์ แซ่เจ็ง
[email protected]
9 มกราคม 2554

ความพร้อมในการเรียน
นักเรียนชั้นประถมศึกษามีความสามารถในการฝึกทักษะการพิมพ์สัมผัสด้วยแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งครูจะต้องให้ความสำคัญกับวิธีสอนที่สอดคล้องกับการรับรู้ของผู้เรียน โดยการจัดให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะนี้ก่อนที่จะเริ่มเรียนรู้การพิมพ์คำหรือข้อความลงในคอมพิวเตอร์

ระยะเวลาการสอนที่เหมาะสม
การพิมพ์สัมผัสเป็นวิชาทักษะปฏิบัติ จึงควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติบ่อยครั้งเพื่อพัฒนาทักษะให้ก้าวหน้าและคงทน หากเป็นไปได้ควรจัดสอนทุกวันโดยใช้เวลาคาบละ 30 ถึง 60 นาที

เนื้อหาการสอน
ควรเริ่มต้นสอนส่วนประกอบหลักของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ การเปิด-ปิดเครื่อง และการเข้าสู่โปรแกรมฝึกพิมพ์ จากนั้นจึงให้ผู้เรียนได้ฝึกท่านั่งและเทคนิคการพิมพ์ที่ถูกต้องไปพร้อมกับการฝึกเคาะแป้นเหย้าจนครบทุกแป้น แล้วจึงค่อยทยอยฝึกแป้นอักษรใหม่ตามวิธีการสอนแบบผสม(skip around) ซึ่งสามารถสอนแป้นอักษรใหม่คาบละ 2 ถึง 4 แป้นแล้วแต่ความพร้อมของผู้เรียน โดยการสอนแป้นอักษรนี้ครูสามารถสอนโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนหรือโปรแกรมประมวลผลคำก็ได้ โดยจัดลำดับเนื้อหาการสอนดังนี้
1. ส่วนประกอบหลักของไมโครคอมพิวเตอร์ การเปิด – ปิดเครื่อง การเข้าสู่โปรแกรมฝึกพิมพ์
2. การฝึกท่านั่ง การวางนิ้ว การเคาะแป้นอักษร การใช้สายตา
3. การฝึกเคาะแป้นเหย้าด้วยท่าทางที่ถูกต้อง
4. การฝึกเคาะแป้นอักษรใหม่ คาบละ 2 – 4 แป้น
5. ให้แทรกการฝึกพิมพ์ทบทวน 1 คาบ เมื่อได้เรียนแป้นอักษรใหม่ครบ 3 ถึง 4 คาบ(ในกรณีที่มีเวลาเพียงพอ)
6. เมื่อสังเกตเห็นว่าผู้เรียนมีพฤติกรรมการพิมพ์ที่ถูกต้อง สามารถเคาะแป้นอย่างมั่นใจในจังหวะที่สม่ำเสมอ และได้ฝึกพิมพ์ถึงระดับการพิมพ์เป็นประโยคข้อความแล้ว ครูสามารถให้ผู้เรียนฝึกพิมพ์จับเวลาครั้งละไม่เกิน 1 นาที เพื่อพัฒนาทักษะความเร็วและความแม่นยำได้

ปัจจัยเกื้อหนุนต่อการเรียนรู้
ผู้เรียนประถมศึกษาซึ่งมีอายุอยู่ใน ช่วง 6 ถึง 12 ปี เป็นวัยที่อยู่ในสภาวะพร้อมที่จะรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้ดีที่สุด ซึ่งประสิทธิภาพการเรียนรู้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ระดับความสนใจของเด็ก
2. การได้ลงมือปฏิบัติ
3. การได้เรียนจากประสบการณ์ตรง
4. การอยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้
5. การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนอย่างกระฉับกระเฉง
6. มีโอกาสรับทราบคำติชมทันท่วงที
7. การได้เรียนสิ่งที่สนใจมากกว่าสิ่งที่ถูกบังคับให้เรียน
8. การได้ลงมือทำมากกว่าการฟังจากครู
9. การได้เรียนจากประสบการณ์รูปธรรมมากกว่าประสบการณ์นามธรรม
10. การมีตัวแบบที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กเรียนได้รวดเร็วขึ้น
11. การได้อยู่ในบรรยากาศที่อบอุ่นใจ
12. การอยู่ในสภาพการณ์ที่เปิดกว้างทั้งจิตภาพและกายภาพ

บทบาทของครู
1. ครูสามารถเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนของเด็กประถมศึกษาได้ ด้วยการเปิดใจตัวครูเองโดยยอมรับสภาวะของนักเรียนเท่าที่เขาเป็นอยู่ ไม่คาดหวังมากเกินไป ลดความก้าวร้าวของครูให้น้อยลง เช่น ไม่พูดเสียงดังโดยไม่จำเป็น มีกิริยาวาจาที่สุภาพ ไม่ถืออภิสิทธิ์ ไม่อวดความยิ่งใหญ่โดยการดุด่าประจานหรือพูดเหน็บแนมให้นักเรียนอับอาย ไม่อวดเก่งว่ารู้หมดทุกอย่าง ไม่ติเตียนแต่ควรใช้คำชมเชย ไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ

2. การสอนทักษะการพิมพ์สัมผัสในระดับประถมศึกษานั้น ความเข้าใจของครูที่มีต่อผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เด็กประถมศึกษาพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของครูโดยไม่มีข้อสงสัย  และเด็กในวัยนี้จะจดจำและยึดมั่นในคำสัญญาที่ครูเคยให้ไว้ต่อพวกเขาอย่างไม่ลืม

3. นักเรียนประถมศึกษามักจะมีสมาธิในการเรียนรู้ที่สั้น ครูจึงต้องสรรหากิจกรรมการสอนที่น่าสนใจ สนุกสนานและหลากหลายมาใช้อย่างต่อเนื่อง

4. เด็กประถมศึกษาจะแสดงความรู้สึกและความต้องการอย่างตรงไปตรงมา และบ่อยครั้งที่เด็กเหล่านี้ต้องการความสนใจจากครูและจะดึงเวลาทั้งหมดของครูให้มุ่งมาที่ตนเพียงผู้เดียว ครูจึงต้องพยายามดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง มิฉะนั้นอาจทำให้ผู้เรียนคนอื่นๆ เกิดความรู้สึกอิจฉาขึ้นได้

5. บางครั้งเด็กวัยประถมศึกษาอาจจะกลายมาเป็นผู้ช่วยสอนของครูก็ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กจะช่วยสอนกันเองทั้งชั้นเรียนจนละเลยงานของตนเอง ซึ่งครูก็ต้องไม่ลืมเตือนให้เด็กสนใจทำงานในส่วนของตนให้เสร็จด้วย

6. การฝึกพิมพ์นาน ๆ ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อและสายตา ครูจึงควรให้ผู้เรียนได้บริหารกล้ามเนื้อบริเวณ มือ นิ้ว ต้นคอและสายตาบ้าง เพื่อเป็นการผ่อนคลาย

7. ควรให้เด็กได้บันทึกและรวบรวมผลงานของตนไว้ เพื่อใช้ประกอบการประเมินผลตามสภาพจริง โดยจัดให้ผู้เรียนมีสื่อบันทึกข้อมูลเป็นของตนเองและจัดหาที่เก็บสื่อบันทึกข้อมูลให้ด้วย อีกทั้งควรจัดหาแฟ้มเก็บผลงานให้เด็กแต่ละคนไว้เก็บผลงานของตน

8. ครูไม่ควรใช้เวลาอธิบายความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์นานเกินไป เพราะเด็กวัยนี้ต้องการรู้วิธีการใช้งานมากกว่า ดังนั้นในวันแรกของการเรียนครูควรสาธิตให้ผู้เรียนได้เห็นและได้ฝึกวิธีใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ท่านั่ง การวางนิ้วที่ถูกต้องและการฝึกเคาะแป้นเหย้า

9. การจัดชั้นเรียนควรคำนึงถึงความสูงต่ำของสรีระผู้เรียน ถ้าพบว่ามีเด็กคนใดเตี้ยไม่สามารถวางเท้าราบกับพื้นในเวลานั่งเรียนได้ ครูก็ควรจัดหาวัสดุมารองเท้าให้เด็ก เช่น กล่องไม้เป็นต้น

10. ครูผู้สอนจะต้องเปล่งเสียงให้ชัดเจนโดยเฉพาะการขานคำ การสะกดคำ หรือการพูดถึงศัพท์ที่ยาก

11. ในกรณีที่พบว่าเด็กพิมพ์ผิดครูก็ไม่ควรลงโทษเด็ก แต่ควรอธิบายให้เด็กรู้ว่าทุกๆ คนสามารถพิมพ์ผิดได้ทั้งนั้น และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมครูควรสอนวิธีการแก้ไขคำที่พิมพ์ผิด รวมทั้งบูรณาการกับวิชาทักษะทางภาษา เช่น การฝึกสะกดคำมาใช้ในชั้นเรียนวิชาแป้นพิมพ์ด้วย

12. โดยธรรมชาติของผู้เรียนวัยประถมศึกษามักชอบเรื่องราวที่เป็นนิทาน ซึ่งครูอาจมอบหมายให้นักเรียนได้ฝึกพิมพ์ทบทวนตัวอักษรที่เรียนมาแล้วในรูปของการแต่งเรียงความเป็นเรื่องราวหรือนิทานต่างๆ โดยให้ผู้เรียนเลือกใช้คำที่คิดขึ้นเอง

13. ครูควรสร้างแรงจูงใจให้เด็ก โดยให้รางวัลสำหรับผลงานที่ดีซึ่งอาจอยู่ในรูปของการให้เครื่องหมายดาวหรือเครื่องหมายอื่นๆ บนชิ้นงาน หรือการพิมพ์ข้อความชมเชยให้แสดงที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ของเด็กผู้นั้น ซึ่งเด็กๆ มักจะชอบข้อความชมเชยที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ ที่สำคัญควรให้เด็กนำผลงานที่ตนทำไปให้ผู้ปกครองได้ดู เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่มักอยากรู้ว่าลูกหลานของตนทำอะไรบ้างในชั้นเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งในบางโอกาสก็อาจเชิญผู้ปกครองของเด็กให้เข้าไปเยี่ยมเยียนในชั้นเรียนบ้าง เมื่อเรียนจบครูอาจจัดให้มีพิธีปิดภาคเรียนในวิชานี้โดยเชิญผู้บริหารมามอบใบประกาศนียบัตรให้แก่เด็กๆ และจัดกิจกรรมรื่นเริงกันตามสมควรก็ได้

หมายเลขบันทึก: 419266เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท