สอนพิมพ์สัมผัส ตอน 3


วิธีสอนทักษะพิมพ์สัมผัส ตอนที่ 3

ข้อควรคำนึงในการสอนทักษะพิมพ์สัมผัส

ดร. สมบูรณ์ แซ่เจ็ง
[email protected]
9 มกราคม 2554

1. ควรเตรียมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เพียงพอที่จะเรียนได้ 1 คน ต่อ 1 เครื่อง โดยเฉพาะแป้นพิมพ์ (Keyboard) ควรมีสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน หากไม่สามารถจัดให้เรียนได้คนละเครื่องพร้อมกัน ก็อาจใช้วิธีฝึกแบบหมุนเวียนกัน และควรมีเครื่องสำรองในกรณีที่เครื่องของผู้เรียนใช้การไม่ได้

2. ระยะแรกของการสอนควรเน้นเทคนิคการพิมพ์ที่ถูกต้องควบคู่ไปกับความเร็วที่เหมาะสม เมื่อผู้เรียนเริ่มพิมพ์ได้โดยอัตโนมัติแล้ว จึงค่อยมาเน้นความแม่นยำเป็นลำดับต่อมา

3. ควรแบ่งเนื้อหาการฝึกออกเป็นส่วนย่อย ๆ และใช้เวลาฝึกครั้งละสั้น ๆ แต่บ่อยครั้ง ซึ่งได้ผลดีกว่าการฝึกครั้งละนาน ๆ แต่ไม่บ่อย โดยควรเริ่มต้นฝึกพิมพ์ด้วยช่วงเวลาสั้นๆ และค่อยขยายเวลามากขึ้นตามพัฒนาการของผู้เรียน

4. ควรมีการบริหารนิ้วมือเพื่อเป็นการผ่อนคลาย เสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ

5. ครูควรแจ้งผลการฝึกให้ผู้เรียนทราบทันทีหลังจบแต่ละคาบเรียน ซึ่งผู้เรียนวัยเด็กจะสนใจฝึกตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ผู้เรียนที่โตกว่าจะสนใจถ้าได้รับทราบความก้าวหน้าในการฝึกของเขา

6. การฝึกซ้ำๆบ่อยๆจะไม่มีประโยชน์ ถ้าเนื้อหาการฝึกไม่มีความหมายและปราศจากจุดมุ่งหมายของการฝึก โดยครูควรให้เหตุผลในการฝึกแต่ละอย่างแก่ผู้เรียนว่าเหตุใดจึงต้องฝึกเช่นนั้น

7. ครูควรกำหนดเป้าหมายของการฝึกพิมพ์ในทุกบทเรียน โดยเลือกเป้าหมายที่สอดคล้องกับระดับความยากง่ายและท้าทาย แต่ต้องไม่กดดันผู้เรียนให้ผ่านเกณฑ์ตามเป้าหมายเร็วเกินไปถ้าเขายังไม่พร้อม เพราะอาจทำให้ผู้เรียนหันมาใช้นิสัยการพิมพ์ที่ผิด ๆ ได้อีก

8. ควรจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เหมาะแก่การฝึกหัด เช่น จัดโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะกับความสูงของผู้เรียน ห้องเรียนควรปราศจากสิ่งรบกวนสมาธิของผู้เรียน

9. ครูควรหมั่นสังเกตเพื่อปรับแก้ท่าทางและเทคนิคการพิมพ์ของผู้เรียนให้ถูกต้อง

10. โดยธรรมชาติของผู้เรียนมักต้องการพิมพ์ให้ถูก เมื่อเริ่มต้นเรียนจึงมักจะมองแป้นพิมพ์ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ครูอาจยอมรับได้ในระยะแรกของการเรียน แต่การฝึกพิมพ์แบบสัมผัสนั้นต้องประกอบด้วยการจดจำตำแหน่งของแป้นอักษรโดยไม่ต้องมอง ดังนั้นครูจึงควรหาวิธีให้ผู้เรียนละสายตาไปจากแป้นพิมพ์ให้ได้

11. ทักษะการพิมพ์สัมผัสเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล ครูควรเดินดูผู้เรียนให้ทั่วถึง เพราะจะสังเกตเห็นผู้เรียนที่กำลังมองแป้นได้ ซึ่งครูสามารถเข้าไปแนะนำ แก้ไขหรือให้กำลังใจแก่ผู้เรียนได้ง่าย

12. ควรมีการทดสอบพิมพ์จับเวลาเป็นระยะๆอย่างสม่ำเสมอ และบันทึกผลการทดสอบลงในแบบบันทึกความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยผู้เรียนสามารถทดสอบซ้ำได้บ่อยๆเพื่อปรับระดับความก้าวหน้าของตนให้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างความภูมิใจให้ผู้เรียนได้วิธีหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 419263เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 20:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท