สอนพิมพ์สัมผัส ตอน 1


ทักษะการพิมพ์สัมผัส

วิธีสอนทักษะพิมพ์สัมผัส ตอนที่ 1

ความจำเป็นในการสอนวิชาการใช้แป้นพิมพ์

ดร. สมบูรณ์ แซ่เจ็ง
[email protected]
9 มกราคม 2554

การใช้คอมพิวเตอร์ในยุคแรกจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลงแต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ประกอบกับการนำมาใช้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้คอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน การมีคอมพิวเตอร์ใช้ส่วนตัวกลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่การใช้คอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพนั้น ผู้ใช้ควรมีทักษะพื้นฐานบางประการ โดยเฉพาะทักษะการป้อนข้อมูลให้คอมพิวเตอร์ เช่น การใช้เมาส์และแป้นพิมพ์ หากผู้ใช้มีทักษะในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการใช้งานคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะทักษะการใช้แป้นพิมพ์ซึ่งแต่ก่อนเป็นทักษะเฉพาะอาชีพเลขานุการหรือพนักงานพิมพ์ดีดเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นทักษะสำหรับทุกคนแล้ว เพราะการมีทักษะดังกล่าวติดตัวจะช่วยให้การใช้งานคอมพิวเตอร์สะดวกมากขึ้น สามารถป้อนข้อมูลข่าวสารได้มากและแม่นยำด้วยเวลาที่น้อยลง ซึ่งเท่ากับช่วยลดเวลาในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ลดความเหนื่อยล้าเบื่อหน่ายของผู้ใช้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการประหยัดในเชิงเศรษฐกิจได้อย่างมาก

ปัจจุบันโรงเรียนมีการจัดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ระดับอนุบาลหรือประถมศึกษากันแล้ว จึงจำเป็นต้องสอนทักษะการใช้แป้นพิมพ์ที่ถูกวิธีให้ผู้เรียนด้วย มิฉะนั้นผู้เรียนอาจติดนิสัยการพิมพ์ที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่ยังเล็ก แม้ภายหลังจะได้เรียนทักษะนี้ในชั้นสูงขึ้นก็ตาม ก็อาจสายเกินไปที่จะแก้ไขวิธีพิมพ์ที่ติดตัวมาอย่างผิดๆได้ และยังเป็นอุปสรรคถ่วงการเรียนรู้คอมพิวเตอร์อีกด้วย ถึงแม้เทคโนโลยีการสอนวิชาแป้นพิมพ์ในปัจจุบันจะก้าวหน้าขึ้น มีสื่อการสอนประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสำหรับฝึกพิมพ์(typing tutor) ให้ใช้มากมาย แต่ครูก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในชั้นเรียนในฐานะของผู้วางแผนการสอน สร้างแบบฝึกที่เหมาะสม ออกแบบกิจกรรมการสอนที่น่าสนใจและสนุกสนาน สังเกตและแก้ไขพฤติกรรมการพิมพ์ของผู้เรียน แนะนำและให้กำลังใจแก่ผู้เรียน รวมทั้งประเมินความสำเร็จของผู้เรียน ซึ่งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้แทนครูได้ จากการสำรวจในบางพื้นที่พบว่าครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีสอนทักษะการพิมพ์สัมผัสที่ถูกต้อง หากครูมีความรู้เกี่ยวกับวิธีสอนและการพัฒนาทักษะการพิมพ์สัมผัสได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จะช่วยให้การสอนบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

บทความต่อไปนี้จะเป็นแนวคิดและหลักการในการสอนทักษะการพิมพ์สัมผัสด้วยแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณครูได้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าและเรียบเรียงจากเอกสารดังนี้
1. งานวิจัย เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของการใช้ชุดการสอนวิชาการใช้แป้นพิมพ์ระดับประถมศึกษา ของสมบูรณ์ แซ่เจ็ง
2. งานวิจัย เรื่องเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาพิมพ์ดีดไทย โดยวิธีสอนด้วยแบบฝึกหัดต่างกัน ของ สมบูรณ์ แซ่เจ็ง
3. งานวิจัย เรื่องการเปรียบเทียบการสอนพิมพ์ดีดโดยวิธีธรรมดากับวิธีใช้สื่อประสม ของ วินัย ไชยอุดม
4. Philosophy and Psychology of Teaching Typewriting by Russon A. R. and Wanous S. J.
และเอกสารอื่นๆอีกจำนวนมากจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศที่ไม่สามารถกล่าวถึงได้หมดในที่นี้ ซึ่งผู้เขียนต้องขออภัยและขอขอบพระคุณมาพร้อมกัน ณ ที่นี้ด้วย

หลักการสอนพิมพ์สัมผัส

ความหมาย

ทักษะการใช้แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ (keyboarding skill) หมายถึงทักษะการป้อนข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์โดยวิธีพิมพ์สัมผัส (touch typing) ผ่านแป้นพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายแป้นพิมพ์ดีด ซึ่งทักษะนี้เกิดจากการสั่งการของสมอง ทำให้เกิดการตอบสนองของกล้ามเนื้อเล็กอย่างประสานกันของตาและมือในการก้าวนิ้วไปเคาะแป้นอักษรที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

การพิมพ์สัมผัส (touch typing) หมายถึงการพิมพ์ด้วยนิ้วมือทั้งหมดโดยไม่มองแป้นอักษร ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องผ่านการฝึกฝนเพื่อให้ผู้พิมพ์สามารถอ่านต้นฉบับและพิมพ์ตามได้ไปพร้อมๆกันโดยไม่เหลียวมองแป้นอักษร

หลักการสอน 

การพิมพ์สัมผัสเป็นทักษะกลไกที่เกิดจากการรับรู้(perceptual motor skill) โดยต้องฝึกฝนจากระดับง่ายไปสู่ระดับที่ซับซ้อน ด้วยการฝึกก้าวนิ้วและเคาะแป้นอักษรทีละตัวจนถึงการฝึกพิมพ์เป็นคำ วลี  ประโยคและพิมพ์เป็นข้อความ ซึ่งต้องอาศัยการถ่ายโยงทักษะเดิมที่เรียนมาแล้วไปสู่ทักษะใหม่ โดยการฝึกพิมพ์ผสมคำใหม่ที่ต้องใช้แป้นอักษรที่เรียนมาแล้ว ครูต้องเสริมแรงด้วยการกำหนดเป้าหมายการฝึกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และสร้างแรงจูงใจทั้งทางบวกและทางลบแก่ผู้เรียน ซึ่งรูปแบบการสอนควรเริ่มจากเทคนิคการพิมพ์ที่ถูกต้องควบคู่กับความเร็วที่เหมาะสมก่อน แล้วจึงค่อยพัฒนาความแม่นยำในภายหลัง ดังภาพ...

รูปแบบการสอนทักษะพิมพ์สัมผัส

 

หมายเลขบันทึก: 419253เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2011 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท