งานดีได้แม้ขาดแคลนปัจจัย


การปรับวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันจนบรรลุการเป็นทีม จึงไม่ใช่เรื่องเกินวิสัย ภาวะผู้นำ นับเป็นจุดตั้งต้นสำคัญยิ่งเมื่อพิจารณาจากสามตัวอย่างที่เล่ามาแต่ต้น

ประเด็นยอดนิยม เวลาวิเคราะห์ว่า ทำไมงานจึงเป็นไปอย่างจำกัดในเกือบทุกวงการ  คือ ขาดคน ขาดของ ขาดเงิน

มีคำถามต่อว่า ถ้าแกล้งลืม “ความขาดแคลน” เหล่านี้ ยังมีทางแก้ปัญหาหรือพัฒนางานได้มั๊ย

โชคดีครับ  มีคนตอบด้วยการพิสูจน์อย่างจะแจ้งว่า “ได้เลย”  ต่อไปนี้เป็นเรื่องย่อว่าเขาตอบอย่างไรครับ

1.     โจทย์ คือ ทำอย่างไร จึงจะป้องกันการติดเชื้อของสายสวนหลอดเลือดดำเพื่อให้อาหารและยาผ่านเข้าไปทางหลอดเลือดำเส้นโตใกล้หัวใจ (มักต้องแทงเข็มผ่านบริเวณร่องเหนือกระดูกไหปลาร้า)  ในคนไข้นอนไอซียู  ซึ่งในสหรัฐ แต่ละปี พบการติดเชื้อ 80000 รายเข้ากระแสเลือด จนปลิดชีวิตคนไข้ 28000 ราย และเปลืองค่าใช้จ่ายเพื่อเยียวยาเฉพาะเรื่องนี้รายละ 1,350,000 บาท รวมๆกันปีหนึ่งก็หมดเงินมากถึง 69พันล้านบาท

2.     แนวคิด CCM คือ

a.       ทำให้มาตรฐานการดูแลรักษาที่อยู่ในตำราหรือคู่มือจำนวนหลายหน้ากระดาษ(แปลว่า น้อยคนที่อยากอ่าน) กลายเป็นข้อเตือนความจำเพียงหน้ากระดาษเดียวหรือ2-3 หน้า โดยให้ทุกคนในทีมดูแลคนไข้ที่ต้องสวนหลอดเลือดดำเห็นชอบร่วมกัน เรียกขั้นนี้ว่า checklist

b.      แล้วให้พยาบาลเล่นบท ผู้กำกับการแสดง คอยเช็คว่า หมอ พยาบาล ที่กำลังจะสวนหลอดเลือด ทำตามขั้นตอนในข้อเตือนความจำอย่างถูกต้องโดยลำดับ หรือไม่ ถ้าพบความคลาดเคลื่อนก็ให้ทักทันที จะได้แก้ไขทันที เรียกขั้นนี้ว่า culture change

c.       บันทึกผลการปฎิบัติและติดตามว่ามีการติดเชื้อตามมาหรือไม่  เพื่อแจ้งให้ทุกคนในทีมได้รับทราบเป็นระยะตามที่ตกลงกันไว้ เรียกขั้นนี้ว่า measure

3.     ผลปรากฎว่า  ภายใน 3 เดือนแรก จากเดิมทุก 1000 วันที่คาสายสวนไว้ คนไข้ติดเชื้อ 2.7ราย  ลดเหลือศูนย์  โดยรวมเหลือ 1.6 ตลอดช่วงเวลา 18 เดือน ที่ปรากฎรายงานการติดตามผลการปรับปรุงวิธีสวนหลอดเลือดดำนี้

รายละเอียดการทดลองนี้ ปรากฎใน An Intervention to Decrease Catheter-Related Bloodstream

Infections in the ICU  N Engl J Med 2006;355:2725-32 ครับ

 

ฟังแนวคิดดูคล้ายง่ายๆ   แต่ผมว่า ก็คงจริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง  แหละครับ

ครึ่งที่ไม่จริง(ไม่ง่าย)  ถ้าให้ผมเดา ก็คือ การทำให้หมอยอมฟังพยาบาลตักเตือน นี่แหละ 

โดยทั่วไป ในรพ. หมอคือ “นายใหญ่”  แม้แต่ผู้อำนวยการรพ.(ส่วนใหญ่เป็นหมอด้วยกัน)ก็ยังสั่งหมอไม่ได้  วัฒนธรรมนี้มีทั้งข้อดีและข้อจำกัด  ข้อดีคือ ทำให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจในวงการแพทย์  จนเป็นเอกลักษณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่รัฐมนตรีเคยถูกปลดและสุดท้ายติดตาราง ก็เพราะเสียโวยของแพทย์จำนวนหนึ่ง  (ก็คดีทุจริตยา 1400 ล้านที่เคยโด่งดังนั่นไง ครับ) 

ข้อจำกัดคือ ทำให้แพทย์ฟังไม่ค่อยเป็น โดยเฉพาะจากคนที่แพทย์เห็นว่า ด้อยความรู้กว่าตน  หรือไม่ใช่พวกเดียวกัน  แพทย์จึงไม่ชอบทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานเป็นทีมแต่ละคนต้องพร้อมเล่นบททั้งผู้นำและผู้ตามในจังหวะที่เหมาะสม โดยยึดถือเป้าหมายร่วมกัน เคารพศักดิ์ศรีของสมาชิกทีมอย่างเท่าเทียม เห็นความสำคัญและพยายามสื่อสารกับคนอื่นเพื่อให้การรับรู้ทัดเทียมกันในเรื่องที่มีความจำเป็นแก่การดูแลคนไข้เป็นทีม

อย่างไรก็ตาม ผมก็เคยเห็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานเป็นทีมระหว่างแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสายอื่น เช่น

-           ที่รพ.มวกเหล็ก การทำงานเป็นทีมอันประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรประจำสถานีอนามัย ผู้แทนอบต. โภชนากร ทำให้การดูแลคนไข้เบาหวานเป็นไปอย่างราบรื่น และอำนวยประโยชน์แก่คนไข้ทั่วทั้งอำเภอ

-           ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอยุธยา การทำงานเป็นทีมระหว่างสถานีอนามัยกับรพ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้คนไข้ที่ถูกส่งตัวจากสถานีอนามัยไปรักษาต่อที่รพ. เอ่ยปากว่า ได้รับการเอาใจใส่ดีทัดเทียมกันเสมือนสถานีอนามัยและรพ.เป็นพวกเดียวกัน

การปรับวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันจนบรรลุการเป็นทีม จึงไม่ใช่เรื่องเกินวิสัย  ภาวะผู้นำ นับเป็นจุดตั้งต้นสำคัญยิ่งเมื่อพิจารณาจากสามตัวอย่างที่เล่ามาแต่ต้น  (นพ.Peter Pronovostในตัวอย่างแรก  พญ.ศิรดา ภูริวัฒนพงศ์ ในตัวอย่างที่สอง นพ.วีระพล ธีระพันธุ์เจริญ ในตัวอย่างที่สาม) 

ภาวะผู้นำ อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่เสมอไป  ในสามตัวอย่างนี้ สองท่านหลังคือผู้อำนวยการรพ. และ ท่านแรกไม่ใช่  ในแง่มุมหนึ่งภาวะผู้นำ ประกอบด้วย ความสามารถในการคิด และสื่อสาร ผ่านหลายช่องทาง หลายจังหวะโอกาส การดำรงตนเป็นแบบอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ก็ถือเป็นการสื่อสารชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญในระยะยาว

ผมยังจำได้ว่า นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีต รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นบุคคลตัวอย่างของการสื่อสารอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ว่า ความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่สำคัญกว่าการเอาใจนาย เคยได้ยินเรื่องเล่าว่า ท่านมักกล่าวแก่ บรรดาผู้มาต้อนรับท่านเวลาไปเยี่ยมพื้นที่ต่างๆว่า “วันนี้ พวกหนูว่างงาน รึอย่างไร”    และท่านจะปฎิเสธการอาสาถือกระเป๋าเอกสารให้ท่านเสมอ  สมัยท่านจึงไม่เห็นขบวนต้อนรับ/ส่ง ”นาย”    น่าเสียดายที่วัฒนธรรมเช่นนี้ ไม่ได้รับการสืบสานในยุคหลัง

ภาวะผู้นำที่ดี อาจเป็นหนทางแก้ปัญหา หรือพัฒนางาน ด้วยต้นทุนต่ำ ตรงกันข้ามภาวะผู้นำพร่อง อาจสร้างต้นทุนมหาศาลให้กับงาน

 

หมายเลขบันทึก: 418621เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2011 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อรุณสวัสดิ์ค่ะอาจารย์หมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท