ภาษาเมืองล้านนาวันละคำตอน น้ำพริกอ่อง


การอ่องนำพริกคือการเคี่ยวไฟไม่ร้อนจนน้ำพริกสุกตามต้องการ

กิ๋นข้าวกับอะหยังกาเจ้า....?  ( รับประทานข้าวกับอะไรนะจ๊ะ?)   พี่อ้ายหรือพี่ชายรูปหล่อเตียว(เดิน)ผ่านและเอิ้น(ตะโกน)ถามสาวที่นั่งอยู่กล๋างข่วงบ้าน ?..

ข้าเจ้ากิ๋นข้าวงาย(มื้อเช้า)กับน้ำพริกอ่องเจ้า....?...

น้ำพริกอ่องเป็นน้ำพริกที่มีชื่อเสียงของผู้คนล้านนา...เมื่อใดที่มีงานเลี้ยงขันโตกแบบล้านนา ส่วนมากต้องมีน้ำพริกอ่องเข้ามาร่วมวงขันโตกเพราะถือว่าน้ำพริกอ่องเป็นน้ำพริกที่ลำแต๊ๆ(อร่อยจริงๆ)

น้ำพริกอ่องบางครั้งบางท้องถิ่นเรียกกันว่า  น้ำพริกบ่ะเขือส้ม  เพราะต้องใส่บ่ะเขือส้ม(มะเขือเทศ)ลงไปด้วยทุกครั้ง  หากขาดมะเขือเทศเมื่อใด จะไม่เรียกกันว่า  น้ำพริกอ่องเด็ดขาด   ดังนั้นบ่ะเขือส้ม(มะเขือเทศ)ต้องเป็นดั่งพระเอก  ตามด้วยหมูสับเป็นพระรอง   นำไปผัด ใช้ป้าก(ทับพี)กวนกลับไปมาพอสุกแล้วใส่หรือเติมน้ำลงไปเคี่ยวอ่องจนสุกเละตุ้มเปะนั่นแหละ  จึงยกลงมารับประทาน

ของกินที่ถือว่าเป๋นจู๊(เครื่องเคียง/กับแกล้ม)ของน้ำพริกอ่อง นิยมนำมากินเป็นกับแกล้มเช่นว่า    ผักกะถิน  หัวปลี    แคบหมู     หรือผักพื้นบ้านอื่นๆที่มีอยู่ตามท้องถิ่น เก็บมาใส่วางในขันโตก

เพลงตั๋วอ้ายเป๋นคนสึ่งตึงเนื้อหาตอนหนึ่งมีว่า    "......เหมือนน้ำพริกอ่องคู่กับกะถิน......เหมือนตั๋วยุพินคู่กับตั๋วอ้าย....."

การรับประทานน้ำพริกอ่อง  ต้องรับประทานกับข้าวเหนียวหนึ้งอุ่นๆ  โดยการปั้นข้าวเหนียวหนึ้งมอก(ขนาดก้อน)หัวแม่มือ   แล้วเอานิ้วหัวแม่มือกดลงให้ก้อนข้าวเป็นโอ้ง(บุ๋ม)ลงไป นำไปควัด(ตวัด)เอาน้ำพริกอ่องให้เข้าไปในอุ้งก้อนข้าว ยกขึ้นใส่ปาก  รสส้ม(เปรี้ยว)ของน้ำพริกอ่องรวมกับความอุ่นของก้อนข้าวเหนียวหนึ้งมันปรุงรสที่ลิ้นให้ลำดีแต๊ๆ(อร่อยสุดๆ)

ผักที่นิยมผุย(โปรย/โรยหน้า)ลงบนหน้าน้ำพริกอ่อง คือหอมป้อม(  ผักชี) หอมเตียมคั่ว (กระเทียมผัด)  เมื่อผุยลงไปแล้วก็จะทำให้น้ำพริกอ่องมีกลิ่นห้อม..หอม....เมื่อเห็นแล้วชวนให้น้ำลายย้อย(ไหล/สอ)  ขนาดกำลังเขียนอยู่นี่น้ำลายก็ย้อยแล้วนะเนี่ย....ใคร่อยากกิ๋นข้าวอุ่นกับน้ำพริกอ่องแต๊ๆ...

น้ำพริกอ่อง สามารถเก็บได้หลายๆวัน  เพียงแต่รู้จักแบ่งไว้กิน แบ่งไว้เก็บ  ยิ่งหน้าหนาวอย่างนี้ก็อาจเก็บไว้ได้ถึงสามสี่วัน  แต่อย่าให้เป็นน้ำพริกอ่องขี้ซาก(เศษอาหารในถ้วย/เหลือจากการกิน)  คนล้านนาบ่นิยมกิ๋นของที่เป๋นขี้ซาก

คำว่า "อ่อง"  หากไปพูดกับพี่น้องชาวไทยขึน(เขิน)  ก็จะมีความหมายว่า  สำเร็จดีแล้ว......

อ่อง อีกความหมายหนึ่งหมายถึง   กล้วยน้ำว้า  พี่น้องชาวแพร่บางแห่งเรียกกล้วยน้ำว้าว่า   กะลิอ่อง  หรือกล้วยอ่อง    หรือพี่น้องชาวลำพูนบางท้องถิ่นเรียกกล้วยใต้หรือกล้วยน้ำว้าว่า  กล้วยแม่อ่อง............เมื่อได้ยินอย่างนี้พวกเราก็อย่างไปงงนะครับ...

 

หมายเลขบันทึก: 418441เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2011 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไหว้สาครับพี่อ้ายสรกิจ....

ยินดีนักๆเจ้าที่เข้ามาแว่อ่าน  กึ๊ดเถิงพี่น้องยวนที่สระบุรีเหมือนกั๋นเจ้า.... ขอฮักษาฮีตเก่าฮอยเดิมยวนเอาไว้เน่อเจ้า...ลูกหลานจักได้อิ่มใจ๋ ยินดีในบรรพบุรุษที่แกว่นกล้าเจ้า.....

มีโอกาสขึ้นเปเจียงใหม่แว่แอ่วแหล่งเรียนรู้ผะหญาล้านนาได้จุ๊เมื่อเจ้า..ยินดีต้อนฮับเจ้า...

ด้วยความปรารถนาดีจากลุงหนาน.....พรหมมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท