อบผ้า’ ด้วยสมุนไพร


อบผ้า’ ด้วยสมุนไพร

บรรเทาหอบหืด-กลิ่นแก้เครียด

 

 

 

          นอกจากสรรพคุณของสมุนไพรใช้ในการบำบัดโรคคือการรักษา ใช้บำรุงร่างกายคือการป้องกันแล้ว สมุนไพรยังมีรูปแบบการใช้อันหลากหลาย กินก็ได้ ทาก็ดี เป็นยาน้ำ ยาเม็ด ยากวาด น้ำมัน และยังร่วมสมัยเป็นเครื่องหอมบำบัดหรือใช้กลิ่นบำบัดที่เรียกกันทั่วโลกว่าอโรมาเธอราปี (aroma therapy)

 

          และที่แน่กว่าวงการแพทย์สมัยใหม่ ล้ำสมัยกว่าสารสังเคราะห์ตรงที่ สมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรานำเอาสมุนไพรมาเป็น "น้ำยาปรับผ้าหอม" จากธรรมชาติแท้ ติดทนนานนับปี

 

          เพื่อนๆ และชาวบ้านในเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันของมูลนิธิสุขภาพไทย ได้สืบค้นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ยังมีการทำใช้ในหมู่บ้านแล้วมาสาธิตให้คนกรุงเทพฯ ได้รู้จักและลอกเลียนแบบโดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ในวาระส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีใหม่ จึงปรารถนาให้ทุกคนหอมกายหอมใจกันทุกคน

 

          หมู่บ้านในละแวกตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีการใช้สมุนไพรในท้องถิ่น เพื่อบำรุงรักษาสุขภาพของตนเองและคนในชุมชนอยู่เป็นประจำ และยังมีภูมิปัญญาที่สืบทอดใช้กันมาตลอด นั่นคือการนำสมุนไพรในชุมชนมาเป็นเครื่องหอมในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ ชาวบ้านยังมีการสืบทอดและใช้ประโยชน์ เช่น ทำเป็นแป้งหอมผัดหน้า สีผึ้งทาปาก ใช้สมุนไพรหอมผสมลงในอาหาร ที่แปลกแหวกแนวกว่าใคร แม่ชีสังเวียน แม่เศียร เสาศิลา และ แม่เจียน ทองผา ผู้ถ่ายทอดความรู้จากบรรพชนสู่คนรุ่นใหม่เรื่องเครื่องหอมสำหรับอบผ้า

 

          โดยที่ คุณสายวรุณ บุญกองชาติ นักศึกษาระดับปริญญาโทที่ผันตัวเองไปใช้ชีวิตเป็นลูกชาวบ้าน ได้บันทึกและฝากผ่านมูลนิธิ มาเผยแพร่ให้ช่วยกันอนุรักษ์ศิลป์และศาสตร์โบราณนี้ไว้ สำหรับภูมิปัญญาพื้นบ้าน การอบผ้านั้นส่วนใหญ่จะอบผ้าสไบเพื่อใช้ห่มเวลาออกงานสำคัญต่างๆ แต่ก็มีการอบเสื้อผ้าต่างๆ ให้หอมได้ด้วย การอบผ้าแบบภูมิปัญญานั้นคงเหมือนหนุ่มสาวปัจจุบันที่ต้องการให้ผ้ามีกลิ่นหอมเหมือนการใช้น้ำหอมในปัจจุบัน

 

          แต่การอบผ้าด้วยสมุนไพรมีข้อดี คือสามารถหาสมุนไพรพื้นบ้านได้ช่วยประหยัดเงินได้มาก และถือว่าการอบผ้าแบบสมุนไพรเป็นการส่งเสริมสุขภาพอย่างดี นอกจากกลิ่นจะติดทนนานนับปีแล้ว กลิ่นเหล่านี้เป็นของธรรมชาติแท้ๆ ไม่มีสารสังเคราะห์เจือปน ไม่มีการผสมแอลกอฮอล์เหมือนในน้ำหอมทั่วไปซึ่งอาจทำให้ผิวหนังบางคนแพ้ได้ และสมุนไพรที่ใช้อบผ้าเหล่านี้ยังมีคุณสมบัติช่วยป้องกันแมลงต่างๆ ในตู้เสื้อผ้าไม่ให้มากัดกินเนื้อผ้าได้ด้วย

 

          สมุนไพรที่ใช้ในตำรับเครื่องหอมอบผ้ามีดังนี้

 

          1. ใบเล็บครุฑประมาณ 10 กิ่ง

 

          2. ใบอ้มประมาณ 10 ใบ

 

          3. รากแฝกหอมประมาณ 5 - 10 ต้น

 

          4. ต้นสาบแร้งสาบกาประมาณ 10 ต้น

 

          5. เปราะหอมประมาณ 10 ต้น

 

          6. ขมิ้นชัน

 

          7. รากเครือหมาหลงประมาณ 3 รากขึ้นไป

 

          8. เมล็ดสุกของตะครองประมาณ 20 เมล็ดขึ้นไป (ผ่าครึ่ง)

 

          9. ดอกลำเจียกถ้ามีก็ใช้ ถ้าหาไม่ได้เพราะไม่ใช่ฤดูออกดอกก็ไม่ต้องใช้

 

 

 

          วิธีการอบผ้า

 

          1. นำส่วนผสมทั้งหมดไปสับให้มีขนาดประมาณ 1 ซ.ม. แล้วห่อใบตองนึ่งประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง หรือจนกว่าส่วนผสมทุกอย่างจะสุก ขั้นตอนนี้มีเคล็ดลับคือ พยายามอย่าให้น้ำ (ไอน้ำ) เข้าในตัวสมุนไพรเด็ดขาด

 

          2. นำสมุนไพรที่นึ่งสุกแล้วไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วนำไปตำหรือบดให้ละเอียด

 

          3. สมุนไพรเครื่องหอมที่บดแห้งแล้ว เป็นส่วนที่สามารถเก็บในภาชนะปิดฝาสนิทแล้วเก็บได้นานนับปี เวลาจะใช้ ให้นำสมุนไพรเครื่องหอมบดแห้งนี้มาตำผสมกับสมุนไพรสด ใบเล็บครุฑ ใบอ้ม ต้นเปราะหอมทั้งต้น ต้นสาบแร้งสาบกา และดอกลำเจียกให้ละเอียด แล้วนำไปคลุกกับผ้าชุบน้ำที่ต้องการจะอบ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมอบผ้าไหมที่ย้อมด้วยมะเกลือ เนื่องจากกลิ่นจะติดทนนานกว่าผ้าที่ไม่ได้ย้อมมาก

 

          4. เสร็จแล้วนำผ้าไปห่อใบตองนึ่งประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

 

          5. นำผ้าไปตากแดดให้แห้ง ถ้าต้องการซักผ้า ควรซักด้วยน้ำมะเฟืองเท่านั้น เนื่องจากกลิ่นหอมของเครื่องหอมจะได้ไม่หายไป ผ้าบางชิ้นกลิ่นหอมติดนานหลายปี

 

          กลิ่นหอมจากสมุนไพรให้ความหอมนวลสูดดมแล้วชื่นใจคลายเครียด ในทางยาสมุนไพร กลิ่นจากใบต้นอ้มหรือเนียมอ้มใช้บรรเทาอาการหอบหืดได้ด้วย ในอดีต หนุ่มสาวออกงานมักทัดใบอ้มไว้ที่หลังหูให้กลิ่นหอมแทนน้ำหอม ในปัจจุบันมีผู้นำใบอ้มมาใส่ไว้ในรถยนต์ช่วยสร้างบรรยากาศลดความเครียดเวลารถติดๆ ได้ดี

 

          ส่งท้ายปีเก่ารับขวัญปีกระต่าย ลองใช้เวลาปลายปีอบเสื้อผ้าอาภรณ์ตามขั้นตอนอย่างละเอียดที่ฝากไว้ให้หอมนานตลอดปี เพื่อสุขกายและใจกันทุกคน

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย ใบเล็บครุฑ

 

 

Update : 24-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

หมายเลขบันทึก: 418320เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2011 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท