การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล


การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

                    การบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

                                 (Good  Governance)

                 การบริหารราชการบ้านเมืองที่ดี  เป็น  การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมาย  เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน   เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ  ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น  มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์  ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ  และมีการการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

                การบริหารราชการบ้านเมืองที่ดีตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้  มีสาระสำคัญอยู่หลายประการ ดังนี้  

                1.  การบริราชการที่ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน  หมายถึง  การปฏิบัติราชการที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  ความสงบ  และความปลอดภัย ของสังคมส่วนรวม  ตลอดจนประโยชน์สูงสุดของประเทศ

                2.  การบริหารราชการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์  หมายถึง  การบริหารงานมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานที่สอดคล้องเป็นไปในแนวเดียวกับภารกิจและวัตถุประสงค์ที่กำหนดขึ้นไว้สำหรับงานนั้นๆ   โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีความคุ้มค่ากับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน   ซึ่งส่งผลต่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อความต้องการของประชาชน

                3.  การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ  โดยการกำหนดวิธีการปฏิบัติงานของส่วนราชการให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล  และวัดความคุ้มค่าในแต่ละภารกิจ  โดยให้ส่วนราชการยึดหลัก  ความโปร่งใส  ความคุ้มค่า  และความชัดเจนในการปฏิบัติราชการ 

                ข้อ 4, 5, 6.   เป็นการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน  และการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ  โดยในการปฏิบัติงานได้จัดให้มีการกระจายอำนาจการตัดสินใจ  เพื่อความรวดเร็วและลดขั้นตอนการปฏิบัติราชการ  โดยในการอนุญาต  การอนุมัติ  การปฏิบัติราชการ  การดำเนินการอื่นใดของผู้ดำรงตำแหน่งใดให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนั้นโดยตรง  เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการให้บริการ

                7.  วิธีการดำเนินการ  คือ  ต้องมีหลักเกณฑ์ควบคุม  ติดตามและกำกับดูแล  การใช้อำนาจมีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้รับมอบอำนาจและผู้มอบอำนาจให้ชัดเจน  ไม่สร้างขั้นตอนหรือกลั่นกรองงานที่ไม่จำเป็น

                 การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ตามหลักธรรมาภิบาล   เป็นวิธีการที่ดีที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการองค์การหรือประเทศให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ  มีคุณธรรม  โปร่งใส  ยุติธรรมและตรวจสอบได้และตรวจสอบได้และมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของสังคม นำมาซึ่งความเจริญในด้านต่าง  ๆ  จะเห็นว่าธรรมาภิบาลมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการและเป็นประโยชน์ต่อองค์การ  ชุมชน  สังคม  ประเทศชาติ  และสังคมโลก  ดังต่อไปนี้

                1.  เป็นหลักการพื้นฐานในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม  เอื้อประโยชน์ให้กับคนทุกระดับทั้งคนรวยคนจน 

                2.  การใช้หลักธรรมาภิบาลในทุกระดับส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน 

                3.  หลักธรรมาภิบาลช่วยลด  บรรเทา  และแก้ปัญหาต่างๆได้

                4.  หลักธรรมาภิบาลจะช่วยให้สังคมมีความเข้มแข็งในทุกด้าน  ฃ

                5.  หลักธรรมาภิบาลช่วยลดปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง

                6.  หลักธรรมาภิบาล  เป็นแนวคิดที่เกื้อหนุนสังคมประชาธิปไตย  และส่งเสริมให้คนมีส่วนร่วมซื่อสัตย์สุจริต

                7.  หลักธรรมาภิบาลจะช่วยให้ระบบริหารของรัฐมีความยุติธรรมที่น่าเชื่อถือได้

                8.  หลักธรรมาภิบาลเป็นมาตรฐานสากลที่บ่งชี้ถึงระดับการพัฒนาของประเทศ  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคมการเมือง 

                9.  หลักธรรมาภิบาลมีหลักการการบริหารหลายรูปแบบที่ถูกนำมาใช้ในการบริหาร   เช่น  ระบบมาตรฐานสากลภาครัฐแห่งประเทศไทย   ระบบการควบคุมคุณภาพ  ระบบมาตรฐานสากล  การบริหารคุณภาพทั้งระบบ  การบริหารที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน 

                10.  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  มาตรา  9  กำหนดให้จัดโครงสร้างระบบและกระบวนการจัดการศึกษาโดยยึดหลักกระจายอำนาจและหลักการมีส่วนร่วม  ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล 

                11.  หลักธรรมาภิบาลเป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศยากจน

                12.  หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักการสำคัญที่องค์การระหว่างประเทศใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจนหรือประเทศที่กำลังพัฒนา

                13.  หลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบให้สังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข 

                14.  หลักธรรมาภิบาลมีกระบวนการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ  ที่เป็นธรรมต่อคนในสังคมให้ความมั่นใจแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและยากจน  มีการจัดระบบเศรฐกิจที่มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ  และรักษาความสมดุลของระบบเศรษฐกิจ สังคม  และการเมืองของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ 

 

                                 องค์ประกอบของหลักธรรมาภิบาล

                ระเบียบสำนักนายกรัฐมนคีว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี  พ.ศ. 2542  ได้กล่าวถึงหลักธรรมภิบาลว่ามีองค์ประกอบ  6  ประการ  ดังนี้

                1.  หลักนิติธรรม   ได้แก่  การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับต่างๆ  ให้ทันสมัยและเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับของสังคม  และสังคมนิยมพร้อมใจปฏิบัติตามกฎหมาย  ข้องบังคับเหล่านั้น  โดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล

                2.  หลักคุณธรรม  ได้แก่  การยึดถือในความถูกต้องดีงาม 

                3.  หลักความโปร่งใส  ได้แก่การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ  โดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้มีความโปร่งใส  มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย  ประชาชนเข้าถึงข่าวสารได้สะดวก  เป็นกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องได้ชัดเจนขึ้น

                4.  หลักการมีส่วนร่วม  ได้แก่  การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้  แสดงความคิดเห็นในการตัดสินใจปัญหาของประเทศไม่ว่าด้วยการแจ้งข่าวสารหรือการไต่สวนสาธารณะ  การประชาสัมพันธ์  การแสดงประชามติ

                5.  หลักความรับผิดชอบ  ไก้แก่  การตระหนักในสิทธิหน้าที่  ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม  การใส่ใจปัญหาของบ้านเมือง  และกระตือรือร้นช่วยแก้ปัญหาตลอดจนการเคารพในความเห็นที่ต่างกัน  และความกล้าที่จะรับผลจากการกระทำของตนเอง

                6.  หลักความคุ้มค่า  ได้แก่  การจัดการและใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม  โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด  ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

 

         เครื่องมือในการเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

                เครื่องมือในการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลมีหลายชนิด  ที่นำมาใช้บูรณาการเพื่อให้การบริหารองค์การดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้  ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวที่นำมาใช้ประกอบการบริหารองค์การตามหลักธรรมาภิบาลมีดังต่อไปนี้

                1.   การวางแผนและการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic  Planning  and  Strategic  Management)  การวางแผนยุทธศาสตร์  เป็นวิธีการที่ประกอบไปด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ภายนอกและภายในองค์การ  และนำมาพิจารณากำหนดวิสัยทัศน์  พันธกิจ  และยุทธศาสตร์ที่เป็นทิศทางในการดำเนินงานขององค์การนั้น  เป็นเครื่องมือในการกำหนดบทบาทภารกิจ  หรือสิ่งที่องค์การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำในอนาคต 

                 2.  การบริหารโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result-based  Management)  การบริหารโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result-based  Management)  หมายถึง  การบริหารงานโดยมีการกำหนดผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน  โดยมีตัวชี้วัด (Key  Performance  Indicators)  และมีการติดตามาวัดประประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดดังกล่าวอย่างชัดเจน  จริงจัง  ซึ่งจะช่วยให้เกิดความโปร่งใส  ว่าใครจะต้องกระทำงานอะไร  ให้บรรลุผลเช่นใดด้วยปริมาณและคุณภาพเท่าใด 

                3.  การบริหารกระบวนงาน  (Business  Process  Management)  เป็นการบริหารวงรอบเวลาให้มีความคุ้มค่ามากที่สุด 

                4.  การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้  (Information  Technology  Management)   เพื่อความรวดเร็ว  โปร่งใส  ตรวจสอบได้  ไม่สิ้นเปลืองเวลา

                5.  การบริหารต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity-based  Costing  and  Management)  การศึกษาและการคำนวณต้นทุนในการดำเนินกิจกรรม  (Activity-based  Costing)  เป็นเครื่องมือในการพิจารณาความคุ้มค่าของกิจกรรมขั้นตอนต่างๆ  ที่ดำเนินการอยู่  และสร้างความตระหนักให้กับพนักงานเกี่ยวกับต้นทุนและความสิ้นเปลืองในการดำเนินงาน

                6.  การบริหารคุณภาพทั่งทั้งองค์การ (Total  Quality  Management) 

                7.  การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human  Resource  Management)  การบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์การในปัจจุบัน  มักจะใช้การบริหารทรัพยากรบุคคลโดยใช้ขีดสมรรถนะเป็นหลัก  (Competency-based  Management)  โดยมีการกำหนดขีดสมรรถนะหลักและขีดสมรรถนะเฉพาะตำแหน่ง  ของบุคลากรอย่าชัดเจน  มีการประเมิน  พัฒนา  และพิจารณาความดีความชอบ  แต่งตั้งโยกย้ายโดยอาศัยข้อมูลขีดสมรรถนะเป็นเกณฑ์ 

                               ธรรมาภิบาลกับการบริหารการศึกษา

                 การพัฒนาคุณภาพการศึกษา  จะมุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา  เขตพื้นที่การศึกษา  และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อให้ทุกองค์กรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ  โดยการบริหารจัดการอาศัยหลักธรรมาภิบาล  ดังนี้

                1.  กระจายอำนายการบริหารและการจัดการศึกษาให้กับสถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา

                2.  พัฒนาระบบบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลให้มีประสิทธิภาพ

                3.  พัฒนาการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

                 4.  พัฒนาระบบบริหารจัดการ  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคเอกชน และทุกภาคส่วนในการจักการศึกษาและสนับสนุนการศึกษาและเรียนรู้ให้มากขึ้น

                     4.1  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคคล  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรชุมชน  เอกชน  องค์กรเอกชน  องค์กรวิชาชีพ  สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ  และสถาบันสังคมอื่นในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น

                     4.2  ส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ให้เข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการจัดการศึกษามากขึ้น

                5.  พัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ

 

                 การสร้างวัฒนธรรมการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

                ในการเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลให้เป็นวัฒนธรรมองค์การ   ควรคำนึงจึงปัจจัยดังต่อไปนี้

                1.  สิ่งที่ผู้นำให้ความสำคัญ  และคอยติดตาม กำกับดูแล  และทุ่มเทกวดขันอยู่เสมอก็จะเป็นสิ่งที่คนอื่นๆ  ในองค์การต้องให้ความสำคัญไปด้วย

                2.  ลักษณะงการปฏิบัติงานและปฏิบัติตนของผู้นำในสถานการณ์ต่างๆ  ซึ่งเป็นการบ่งบอกแก่สมาชิกทั้งหลายในองค์การว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้  ซึ่งบางครั้งวิธีการแก้สถานการณ์ของผู้นำ  อาจมีผลต่อพฤติกรรมในองค์การมากกว่านโยบายที่ประกาศไว้

                3.  การจงใจปฏิบัติตนของผู้นำให้เป็นตัวอย่างและการยกย่องบุคคลตัวอย่างในองค์การเป็นการทำให้เห็นว่าค่านิยมที่สำคัญขององค์การเป็นอย่างไร

                4.  การที่ผู้นำพยายามสื่อสารโดยตอกย้ำหลักการและข้อความปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวาในทุกๆ  ครั้ง  ตามที่โอกาสจะอำนวย  ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะสะท้อนความเอาจริงเอาจังในการสร้างธรรมาภิบาลขึ้นในองค์การ

                5.  หลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาความดีความชอบ  การลงโทษ  และการแต่งตั้งโยกย้าย  เลื่อนตำแหน่งก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อวัฒนธรรมาภิบาลในองค์การ

                                  กลไกที่ช่วยสร้างธรรมาภิบาล

                กลไกที่สามารถส่งเสริมสร้างหลักธรรมาภิบาลในการปกครองบริหารองค์การ  มีหลากหลายรูปแบบ  เช่น   นำกลไกจากภายนอกเข้ามาคานกับอำนาจภายนอก  เช่น  การตั้งกรรมการตรวจสอบกำกับดูแลกิจการที่มีกรรมการอิสระจากภายนอก  หรือกลไกของการรับรองมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการจากสถาบันภายนอก  เช่น  ISO  หรือ  Malcolm  Baldrige  National  Quality  Award  เพื่อเป็นแรงขับจากภายนอกในการทำให้องค์การปฏิบัติงานโดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล

                หลักธรรมาภิบาล  เป็นหลักที่ใช้ปกครอบบริหารจัดการที่ดี  ที่สามารถทำให้องค์การรักษาสมดุล  ระหว่างความสุข  ความสำเร็จ  ทั้งต่อตนเองและหน่วยงานขององค์การได้เป็นอย่างดี 

 

                                        ......................................

                                                 อ้างอิง

 

คณะครุศาสคร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สพฐ., กพร . (2553). การบริหารจัดการ

       ที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล.  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 

หมายเลขบันทึก: 417635เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2011 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท