3A = Anything/ Anytime/ Anywhere


3A = Anything/ Anytime/ Anywhere
ไอทีในชีวิตประจำวัน # 3 สามเอในวารสารบัวบาน (9 ตุลาคม 2549 – 15 ตุลาคม 2549) ความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันได้จากการอ่านมากกว่าการฟัง ที่บ้านของผู้เขียนรับวารสารบัวบาน เพราะเป็นวารสารของโรงเรียนที่ผู้เขียนมีตำแหน่งเป็นผู้ปกครองนักเรียน ที่นำมากล่าวถึงในบทความนี้ เพราะพบเรื่องน่าประทับใจหลายเรื่อง เช่น ความเป็นนักวิชาการ นักคิด นักเขียน และผลงานนักเรียนมากมาย โดยเฉพาะบทความด้านไอที คอลัมน์ซุบซิบที่แสดงกิจกรรมทั้งใน และนอกห้องเรียนที่ทำให้ผู้ปกครองรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง การสอนให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเอง และช่วยงานครูเป็นสิ่งที่ดี การฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ จึงเป็นสิ่งที่หลายโรงเรียนให้ความสำคัญ ครูเล็กเล่าว่าในชั้นเรียนได้ฝึกให้นักเรียนช่วยงานครู ส่วนครูพิงชื่นชมนักเรียนที่มีการปรับตัว หรือมีผลงานดี ทำให้นักเรียนรู้สึกมีกำลังใจ ผู้เขียนก็เชื่อมั่นในการสอนที่ใส่ใจผู้เรียนดังคำว่า การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center) ที่สอนตามศักยภาพของนักเรียน ฝึกให้นักเรียนทำงาน และค้นพบคำตอบด้วยตนเอง บางโรงเรียนให้ความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตแก่นักเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ทำให้เด็กได้เห็นโลกกว้างขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะมีคำกล่าวที่ว่า จะหาอะไร ให้ไปหาในอินเทอร์เน็ต เดี๋ยวก็เจอ ครูอานนท์ สายคำฟู เขียนบทความเรื่องความสำคัญของการพัฒนาไอซีทีในการพัฒนาประเทศ ลงในวารสารบัวบาน ซึ่งมีหัวข้อน่าสนใจ และนำไปสานต่อได้มากมาย การนำข้อมูลทั้งหมดมานำเสนอในที่นี้คงเป็นไปไม่ได้ จึงขอนำเฉพาะเรื่องสามเอ (3A = Anything/ Anytime/ Anywhere) มาขยายความตามมุมมองของผู้เขียนที่เป็นครูสอนคอมพิวเตอร์บ้านนอกคนหนึ่ง อะไรก็ตาม (Anything) เป็นหน้าที่ของครูที่ต้องศึกษาหาความรู้ รวบรวมข้อมูล และเผยแพร่ เพราะครูยุคใหม่จะสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ครูทุกคนต้องรู้เรื่องศีลธรรม สังคม อินเทอร์เน็ต ใส่ใจสุขภาพ ครอบครัว และวิชาชีพที่ตนถนัด ผู้เขียนเองสอนหนังสือด้านคอมพิวเตอร์ก็ยังสนใจเรื่อง สื่อลามก ประสบการณ์การแต่งงาน โยคะ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น จดหมายจากสามีถึงภรรยา บันทึกลูก หรือแม้แต่รักลำปาง ผู้อ่านสามารถค้นหาหัวข้อข้างต้นได้จาก google.com จะพบเว็บเพจที่ผู้เขียนเคยบันทึกเรื่องเหล่านั้นไว้ ทุกที่ (Anywhere) ทุกเวลา (Anytime) เกิดจากการที่โลกของเราแคบลงทุกวัน เคยมีคำกล่าวว่า ความเชื่อถูกใช้เติมเต็มความไม่รู้ พอเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ความเชื่อว่าเมื่อทำดีแล้วย่อมได้ดีก็เริ่มจากลง แต่ปัญหาสังคมกลับเริ่มแจ่มชัดขึ้น เพราะมนุษย์เริ่มมีความรู้มาทดแทนความเชื่อ เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุ หรือสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่ามากกว่าจิตใจ เยาวชนยุคใหม่ที่ขาดการชี้นำที่ถูกต้องจะเลือกบริโภคสื่ออินเทอร์เน็ตด้าน บันเทิงมากกว่าการศึกษาได้จากทุกที่ทุกเวลา แม้แต่เวลาที่นักเรียนควรจะอยู่ในห้องเรียน จึงเป็นภาระหนักของครูทั้งประเทศที่ต้องเร่งสร้างเนื้อหาที่เหมาะสม และชี้นำเยาวชนให้รู้จักเลือกสื่อเพื่ออนาคตของตน ปัจจุบันครูสามารถสร้างเนื้อหาที่ดีได้จากทุกที่ทุกเวลา ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน บนรถโดยสาร เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักเรียน ดังความเชื่อที่ว่าครูคือแม่พิมพ์ นี่เป็นโอกาสที่ดีที่ครูจะได้เป็นแม่พิมพ์ให้กับเยาวชน และสร้างผลงานก่อนที่จะจากไปก่อนวัยอันควรดังเช่นครูหลายท่านเคยฝากไว้ ผศ. บุรินทร์ รุจจนพันธุ์
หมายเลขบันทึก: 416889เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2010 01:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท