ตอนนั่งรถลงพื้นที่อ.ชะอวด ผมถือโอกาสหารือกับอ.ไพบูลย์ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเรื่องมหาวิทยาลัยจัดการความรู้เพื่อชุมชน(ซึ่งผมเล่าแนวคิดไว้ก่อนหน้านี้หลายตอนแล้ว)
สรุปสั้น ๆอีกทีคือ เป็นแนวคิดที่ให้คุณค่ากับความรู้ฝังลึกจากประสบการณ์การทำงานจนประสบผลสำเร็จในเรื่องต่าง ๆของคนในสังคมโดยมีชุมชนเป็นฐาน คุณค่าที่ว่าคือ ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรทุกระดับ
อ.ไพบูลย์ถามว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องหลักระหว่างการเรียนรู้พัฒนาและปริญญาบัตร
ผมตอบว่า การเรียนรู้พัฒนาเป็นเรื่องหลัก ปริญญาบัตรเป็นเพียงเครื่องมือ โดยผมได้เล่าถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ก่อนที่จะได้ปริญญาบัตรซึ่งต่างจากการให้ปริญญากิตติมศักดิ์
กระบวนการจัดการเรียนรู้ก่อนที่จะได้ปริญญาบัตรความรู้ฝังลึก คือการบอกให้ทราบว่านี่เป็นยุทธศาสตร์เพิ่มทุนทางปัญญาทั่วท้องถิ่นไทย
โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้พัฒนานักเรียนที่เป็น คุณกิจในชุมชน คุณอำนวยและคุณเอื้อจากหน่วยงานสนับสนุน โดยใช้ปริญญาบัตรเป็นเครื่องมือ
อ.ไพบูลย์เห็นด้วยในหลักการ และเสริมว่าแนวคิดนี้สอดคล้องกับที่อธิการบดีคุยให้ฟังเมื่อคืนว่า คิดคำขวัญของม.วลัยลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษได้แล้วคือ Active learning Serving Communities แต่ภาษาไทยยังนึกไม่ออก
เมื่อนั่งรถไปสักพักอ.ไพบูลย์ได้คิดคำขวัญเป็นภาษาไทยว่า เรียนรู้เชิงปฏิบัติ ชุมชน-รัฐร่วมพัฒนา
แต่ตอนนี้ผมคิดได้อีกคำขวัญหนึ่งคือ เรียนรู้เชิงปฏิบัติ วลัยลักษณ์ร่วมพัฒนาชุมชน