National health act


National health act

National health act

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

บรรยายโดย

ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์  เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

บันทึกโดย: นายชวลิต  กงเพชร การพัฒนาสุขภาพชุมชน ป.โท

 

 เจตนารมณ์ของการออก พรบ. สุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ในกระบวนการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพของประเทศ

ประเด็นสำคัญของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

สุขภาพ หมายความว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล

 ระบบสุขภาพ หมายความว่า ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

โครงสร้าง พรบ. สุขภาพประกอบด้วย

- มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช) นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

- กรรมการมาจากการสรรหา จากตัวแทนจากทุกภาคส่วน

- มีสำนักงานเลขาธิการ (สช)

- ให้มีกลไกการจัดสมัชชาสุขภาพ ทุกระดับ

- มติจากสมัชชาสุขภาพ เสนอเข้าสู่ คสช. สู่ ครม.

- มีกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จาก นโยบายสาธารณะ

- มีกลไกการจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ปรับปรุงทุก 5 ปี

- เพิ่มสิทธิและหน้าที่ของประชาชนด้านสุขภาพ ได้แก่ ข้อมูลสุขภาพเป็นความลับ บุคลากรสุขภาพต้องแจ้งข้อมูลให้ทราบ  สิทธิปฏิเสธการรักษา  และสิทธิปฏิเสธไม่เข้าร่วมการทดลอง/วิจัย

สิทธิ-หน้าที่ของประชาชนตามกฎหมาย

  1. มีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และ มีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่จะดำเนินการ
  2. ได้รับการคุ้มครอง เรื่องข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล
  3. มีสิทธิได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการอย่างเพียงพอ เพื่อการตัดสินใจ (ยกเว้น...) หากปฏิเสธการรับบริการ จะให้บริการนั้นไม่ได้
  4. มีหน้าที่แจ้งข้อมูลการเจ็บป่วยต่อผู้ให้บริการ ถ้าปกปิด/แจ้งเท็จ ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายจากการให้บริการ
  5. มีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์ที่จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต     

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment of Public Policy : HIA)

การประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นความพยายามในการพัฒนาชุดของคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะที่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน (Evidence-based recommendations) ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง และคุณค่าหรือความสำคัญของการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกันของสังคม เพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายสาธารณะ ความมุ่งหวังของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่จะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการนโยบายสาธารณะให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ประกอบด้วยบทบาทหลักใน 4 ด้านด้วยกันคือ

  • การเปิดพื้นที่หรือเปิดกระบวนการ ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสร่วมกันในการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยอาศัยคุณค่า ข้อมูลหลักฐาน และทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่
  • การเพิ่มความสำคัญหรือการเพิ่มคุณค่าของมิติทางสุขภาพ ในกระบวนการกำหนดนโยบาย ในระดับต่างๆ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่าที่แตกต่างกันและการเคารพในการให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ของผู้มีส่วนได้-เสียต่างๆ (เช่น การให้คุณค่ากับมิติสุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนท้องถิ่น) ทำให้การตัดสินใจเป็นไปโดยรอบคอบและมีความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น
  • การแสดงน้ำหนัก และข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพ และข้อห่วงใยทางด้านสุขภาพที่ชัดเจนและเป็นระบบ ซึ่งเป็นข้อค้นพบที่ได้จากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ทำให้การตัดสินใจในกระบวนการนโยบายสาธารณะที่จะเกิดขึ้นยืนอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง และมีความครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น
  • การระดมทรัพยากรของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความตระหนัก และการสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการสร้างเสริม คุ้มครอง และฟื้นฟูสุขภาพของตนเองและสมาชิกอื่นๆ ในสังคม จนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกระบวนการหรือร่วมดำเนินการในนโยบายสาธารณะนั้นด้วยความเต็มใจและตั้งใจ

ขั้นตอนการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพมี 5 ขั้นตอน

  • การกลั่นกรองข้อเสนอนโยบายแผนงานหรือโครงการ ( Screening) เป็นการดำเนินการเพื่อพิจารณาว่านโยบาย แผนงานหรือโครงการใดมีความจำเป็นหรือมีความเหมาะสมที่จะทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
  • การกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ ( Public Scoping) เป็นขั้นตอนพิจารณาร่วมกันถึงขอบเขต ประเด็น ทางเลือกในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนา และแนวทางในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากกิจกรรมการพัฒนานั้น โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ทางเลือกในการดำเนินการ และข้อห่วงใยอย่างเต็มที่ เพื่อให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในแต่ละครั้งสามารถประเมินถึงผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง รอบด้านและสัมพันธ์เชื่อมโยงกันให้มากที่สุด ตลอดจนไม่ละเลยถึงผลกระทบทางสุขภาพทั้งทางตรง ทางอ้อม และผลกระทบสะสมที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนส่วนใหญ่ และเกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ
  • การวิเคราะห์( Analysis) และร่างรายงานการประเมินผลกระทบ( Reporting) เป็นขั้นตอนในการวิเคราะห์ ประมาณการณ์ และคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามขอบเขต ประเด็น และแนวทางที่ได้วางไว้ในขั้นตอนที่ผ่านมา
  • การทบทวนร่างรายงานโดยสาธารณะ( Public Review) เป็นขั้นตอนในการรั้บฟังความคิดเห็นของสาธารณะที่มีต่อร่างรายงานที่จัดทำขึ้น โดยการทบทวนร่างรายงานโดยสาธารณะจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีการให้ข้อมูลในรูปแบบที่เหมาะสม และเวลาที่เพียงพอต่อการทบทวนร่างรายงาน เพื่อให้รายงานและการตัดสินใจที่จะมีขึ้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์ เป็นธรรม และชอบธรรมมากที่สุด ทั้งนี้ การทบทวนร่างรายงานโดยสาธารณะอาจนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงในขั้นตอนการวิเคราะห์และร่างรายงานหรือในบางกรณีอาจต้องย้อนกลับไปปรับปรุงในขั้นตอนของการกำหนดขอบเขตและแนวทางการเมินผลกระทบโดยสาธารณะเลยทีเดียว
  • การมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจ( Influrncing) เป็นขั้นตอนที่สถาบันหรือผู้ที่ทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพจำเป็นจะต้องพยายามให้รายงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเข้าไปมีส่วนร่วมหรือมี่บทบาทในกระบวนการตัดสินใจ โยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้มากที่สุด โดยมุ่งหวังให้การตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นได้คำนึงถึงผลกระทบทางสุขภาพที่คาดการณ์ไว้ มาตรการทางเลือกและมาตรการลดผลกระทบที่เสนอแนะ และความสามารถในการรับมือของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ อย่างจริงจัง ทั้งนี้โดยการดำเนินการผ่านกระบวนการสร้างการยอมรับในทางวิชาการ การสร้างความตระหนักในทางสังคม และการสร้างแรงผลักดันในทางการเมือง ตามลำดับ ในทางปฏิบัติแล้ว การพิจารณาถึงการมีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจจำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการกลั่นกรอง และขั้นตอนการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ เพื่อให้รายงานผลกระทบทางสุขภาพเป็นไปในขอบเขต แนวทาง และวิธีการหรือรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับและมีผลต่อการตัดสินใจของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด
  • การติดตามเฝ้าระวัง และการประเมินผล ( Monitoring and Evaluation) เป็นขั้นตอนในการติดตามว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอจากการประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่จัดทำขึ้นหรือไม่ เพราะอะไร และจำเป็นที่จะต้องจัดระบบการเฝ้าระวัง เพื่อติดตามดูผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งที่ได้คาดการณ์ไว้แล้ว และไม่ได้คาดการณ์ไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงควรมีการประเมินผลในภาพรวมตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อเป็นสร้างสมองค์ความรู้และประสบการณ์ สำหรับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกันต่อไป
คำสำคัญ (Tags): #national health act
หมายเลขบันทึก: 416635เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2010 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท