รายชื่อสัตว์ทะเลที่เห็นสมควรนำเสนอเพื่อผลักดันให้ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย


ในอดีต สัตว์เศรษฐกิจมีความหมายถึงสัตว์น้ำที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประมง เช่น ปลาเก๋า ปลาทู ฯลฯ แต่ปัจจุบัน การใช้ประโยชน์จากทะเลเปลี่ยนแปลงไป โดยมีเรื่องของการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก

          ททท.ได้ประเมินว่า ชาวต่างชาติร้อยละ 80 ที่เข้ามาในเมืองไทย มีความต้องการจะมาเที่ยวทะเลเป็นอันดับแรก (การประชุมโครงการ "ฟื้นฟูทะเลไทย" ชะอำ, พ.ศ.2542) ข้อมูลยังระบุว่า ในพ.ศ.2542 มีชาวต่างชาติมาดำน้ำแบบ SCUBA ในเขตจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน นอกจากนี้ สถาบันดำน้ำ PADI ยังรายงานว่า ในช่วงพ.ศ.2541-42 มีการเรียนดำน้ำมากกว่าช่วงพ.ศ.2540-41 ถึง 5 เท่า ปัจจุบัน ททท.รายงานว่ากิจกรรมดำน้ำแบบ SCUBA เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำรายได้สูงสุดของประเทศไทย

          การดำน้ำเพื่อลงไปชมสัตว์ทะเล ทวีความสำคัญขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากนิตยสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย เช่น อสท. Advancd Thailand Geographic และ Nature Explorer ได้นำเสนอภาพและเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ทะเลนานาชนิด ทำให้เกิดกระแสความสนใจ ติดตามไปเรียนรู้ชีวิตและพฤติกรรมสัตว์เหล่านั้น เช่น ปลากบ ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ

          จากการรวบรวมข้อมูลในสื่อสิ่งตีพิมพ์ เอกสารการวิจัย และการสอบถามนักดำน้ำ พบว่าสัตว์ทะเลหลายชนิด มีความสำคัญอย่างมาก ต่อธุรกิจการท่องเที่ยวดำน้ำ เช่น นักดำน้ำนับพันคนไปชมกุ้งตัวตลก 5 ตัวที่กองหินริเชลิว ไปชมปลากบ 1 ตัวที่หมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ แต่สัตว์บางชนิดหายาก มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในประเทศไทย

          นอกจากนี้ สัตว์ทะเลอีกหลายชนิด ยังมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หลายชนิดเป็นสัตว์หายากทั่วโลก เช่น ปลามังกรสกุล Rhinopias แต่พบในทะเลไทย การสูญเสียสัตว์เหล่านี้ไป ย่อมส่งผลถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การประกาศเขตอุทยานมรดกโลก (World Herritage Area)

          ผลกระทบต่อสัตว์น้ำสวยงามที่หายากของทะเลไทย เกิดขึ้นได้ทั้งทางอ้อมและทางตรง เช่น การสูญเสียแนวปะการังเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ทำให้ที่อยู่สัตว์น้ำลดน้อยลง แต่ผลกระทบทางตรงที่เห็นชัดคือการตกปลาหรือจับสัตว์น้ำบางชนิดที่หายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการกีฬา และการจับสัตว์น้ำมาเลี้ยงเป็นสัตว์ทะเลสวยงาม

          การตกปลาบางชนิดทำให้เกิดความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น ปลากะรังหน้างอน (Cromileptes altivelis ) จัดเป็นปลาที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ในโครงการความหลากหลายทางชีวภาพ (สผ.) แต่ปลาชนิดดังกล่าวยังถูกตกขึ้นมา เพื่อเป็นกีฬาหรือเพื่อเป็นอาหาร

          การจับสัตว์น้ำมาขาย เพื่อเป็นสัตว์ทะเลสวยงาม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชากรสัตว์สวยงามและหายากของเมืองไทย เช่น กุ้งตัวตลก ปลาไหลริบบิ้น ปลากบ ฯลฯ โดยมีร้านขายปลาอยู่หลายแห่ง เช่น สวนจตุจักร ฯลฯ

          ผลกระทบดังกล่าวยังดำเนินต่อไป เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้จัดสัตว์น้ำเหล่านี้ให้เป็นสัตว์คุ้มครอง จึงไม่สามารถดำเนินการได้ตามกฏหมาย

          หากเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวดำน้ำของประเทศไทย ยังส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลโดยรวมในที่สุด

          กลุ่มรักษ์ฉลามวาฬ จึงใคร่ขอนำเสนอสัตว์น้ำบางชนิด ที่ได้รับการศึกษาจากดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์และทีมงานภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ว่าเป็นสัตว์น้ำที่หายาก มีแนวโน้มว่าอาจจะสูญพันธุ์จากพื้นที่หรือจากประเทศไทย มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวดำน้ำ และมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทะเลไทยโดยรวม

          นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อสัตว์ที่ทางกลุ่มรักษ์ฉลามวาฬ นำเสนอขึ้นมา เช่น ดอกไม้ทะเล กุ้ง ปู และปลาบางชนิด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้พิจารณา ให้ความคิดเห็น โดยบางชนิดอาจไม่ใช่เป็นสัตว์หายาก แต่เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญ ทั้งในด้านระบบนิเวศ และในด้านความรู้สึกของประชาชน

          กลุ่มรักษ์ฉลามวาฬฯ ยังจัดทำข้อมูลระบุถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ต่อการประมงพื้นบ้านและต่ออุตสาหกรรมประมง หากสัตว์น้ำเหล่านี้ ได้รับการประกาศเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฏหมาย ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

          นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอรายชื่อสัตว์น้ำและข้อมูลเหล่านี้ เพื่อขอความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป โดยจะทำผ่านทาง www.whalesharkthai.com และ www.talaythai.com ตลอดจนสื่อประชาสัมพันธ์อื่นๆ เช่น นิตยสาร หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุและโทรทัศน์ ฯลฯ ต่อไปในอนาคต

          ทางกลุ่มรักษ์ฉลามวาฬ ขอบคุณทุกท่านล่วงหน้าที่ให้ความคิดเห็น อาจตรงหรือขัดแย้ง ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ทางกลุ่มจะรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดนี้ นำเสนอแก่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และท่านอธิบดีกรมประมง ในปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2543

          อนึ่ง รายชื่อสัตว์ทั้งหมดนี้ นำเสนอในนามของกลุ่มฯ ไม่ได้นำเสนอในนามของดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ของ TalayThai.com หรือของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

คำสำคัญ (Tags): #สัตว์น้ำ
หมายเลขบันทึก: 415804เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2010 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท