ระบบนิเวศชายฝั่ง


ได้รู้เกี่ยงกับทะเล

ปลูกป่าชายเลน     ป่าชายเลน
         ป่าชายเลนหรือที่คนทั่วไปรู้จักกันว่า "ป่าโกงกาง"  เนื่องจากชาวบ้านได้รับประโยชน์จากการนำไม้โกงกางไปทำฟืนและถ่าน  ซึ่งโกงกางเป็นพันธุ์ไม้หลายชนิดหลายตระกูล และมีพวกที่เป็นใบเขียวตลอดปีขึ้นอยู่ตามชายฝั่งทะเลที่มีน้ำขึ้นสูงสุดและที่ลงต่ำสุด  ระบบนิเวศป่าชายเลนประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ  องค์ประกอบส่วนที่เป็นโครงสร้างระบบนิเวศและส่วนที่เป็นหน้าที่หรือกิจกรรมของระบบนิเวศ
         ความสำคัญของป่าชายเลน  คือ  เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง  ได้แก่  เป็นที่รวมพันธุ์ไม้หลายชนิด  เช่น  โกงกาง  แสม  เสม็ด  ถั่วขาว  โปรงหนู  โปรงทะเล  โปรงขาว  โปรงแดง  หยีทะเล   เป็ง  ลำพูน ลำแพน  ฝาดดอกแดง  พังกาหัวสุมดอกแดง  ฯลฯ  มีสาหร่ายซึ่งอยู่อาศัยบริเวณลำต้น  รากหรือรากอากาศของไม้ป่าชายเลน  เป็นสาหร่ายสีแดง  สาหร่ายที่อาศัยบริเวณโคลนเป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินและสาหร่ายสีน้ำตาลบางสกุล
         ที่สำคัญคือจะเป็นแหล่งที่มีประชากรสัตว์น้ำเป็นจำนวนมาก  มีปลา 4 กลุ่มใหญุ่ ๆ คือ  ปลาที่อาศัยอยู่ประจำ  ปลาที่อาศัยอยู่ชั่วคราว  ปลาที่มากับกระแสน้ำ และปลาที่พบในบางฤดูกาล  ปลาที่สำคัญ  ได้แก่  ปลากระบอก  ปลากะรัง  ปลากระพง  ปลานวลจันทร์ และปลาตีน  เป็นต้น  มีกุ้งประมาณ 15 ชนิด  ตัวอย่างเช่น  กุ้งก้ามกรามและกุ้งน้ำจืด  กุ้งแชบ๊วย  กุ้งกุลาดำ  มีปู 54 ชนิด  อาทิ  ปูแสม  ปูก้ามดาบ  ปูดำ  มีหอยมากกว่า 20 ชนิด  อาทิ  หอยนางรม  หอยเจาะ  หอยดำ  หอยขี้นกและหอยขี้กา  เป็นต้น  มีนกประมาณ 88 ชนิด  ทั้งนก  อพยพและนกท้องถิ่น  อาทิ  นกในกลุ่มนกยางควาย  นกยางกรอก  นกเหยี่ยวไดท์  นกหัวโต  มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 35 ชนิด  อาทิ  ค้างคาว  ลิงกัง  นาก  แมวป่า  มีสัตว์เลื้อยคลาน  ประมาณ 25 ชนิด  อาทิ  งู  กิ้งก่า  เต่า  จระเข้  รวมทั้งมีแมลง 38 ชนิด
         ในด้านนิเวศวิทยา  ป่าชายเลนจะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน  แหล่งที่อยู่อาศัย  การสืบพันธุ์  วางไข่และหลบภัยของสัตว์น้ำและสัตว์บก  เป็นแหล่งธาตุอาหารพืชและสัตว์และอินทรีย์วัตถุที่สำคัญ  เป็นแหล่งเก็บกักตะกอน และกลั่นกรองความสกปรกที่มีจากพื้นที่บก  ซึ่งถูกพัดพาจากทะเล  เป็นแนวเปลี่ยนและแนวกันชนระหว่างบกกับทะเล  ช่วยสร้างสมดุลของสภาวะอากาศ และลดความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางขบวนการตามธรรมชาติ  ช่วยรักษามวลดิน และมวลทรายมิให้ถูกพัดพาออกจากขอบฝั่งและริมตลิ่ง  ช่วยเพิ่มพื้นที่ขอบฝั่งและริมตลิ่ง  เนื่องจากการงอกของพื้นดินช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวดินและส่งเสริมกิจกรรมของจุลินทรีย์  ตลอดจนถึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสูง
         ความสำคัญต่อด้านเศรษฐกิจได้แก่ให้ผลผลิตทางการประมง  การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง  การเก็บของป่า  การเผาถ่าน  ให้ผลผลิตการผลิตสารสกัดจากพันธุ์ไม้  ให้ผลผลิตยารักษาโรค  ลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการป้องกันชายฝั่งรายได้จากการท่องเที่ยว
         ป่าชายเลนในปัจจุบัน  กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่วิกฤติโดยพื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว  และเกิดสภาพป่าเสื่อมโทรมเนื่องมาจากการแสวงหาผลประโยชน์ต่าง ๆ  ได้แก่  การเพาะเลี้ยงสัตว์  เช่น  การทำนากุ้ง  บ่อปลา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งอื่น ๆ  การทำเหมืองแร่  ส่วนใหญ่เป็นแร่ดีบุก  การเกษตรกรรม  ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน  ทำนา หรือทำไร่  การขยายตัวของชุมชน  ทั้งที่เป็นการครอบครองโดยถูกต้องตามกฏหมายและการบุกรุก  นอกจากจะทำให้ป่าชายเลนลดจำนวนลง  เนื่องจากการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในระยะเริ่มดำเนินแล้ว  ยังมีผลต่อเนื่องในระยะยาวอีกด้วยการสร้างเขื่อนและการขุดลอกร่องน้ำ

หมายเลขบันทึก: 415000เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2010 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท