พบเภสัชรอบสุดท้ายรึยัง?


   “พบเภสัชรอบสุดท้ายรึยัง?” คำพูดคำนี้ได้ยินเสมอๆ จากพี่ป้อม ซึ่งเป็นพยาบาลที่รับผิดชอบอยู่หน้าห้องตรวจเบาหวาน  แต่ก่อนเราฟังแล้วก็คิดตาม นั่นสิ ทำไมต้องรอบสุดท้าย แสดงว่าต้องพบเภสัชฯหลายรอบงั้นเหรอ  แล้วการพบเภสัชฯ หลายรอบนี่มันดีจริงรึเปล่า... 

   ที่ลำปางเภสัชกรจะร่วมทีมดูแลผู้ป่วยกับพยาบาล หมอ คือจะเห็น 3 วิชาชีพนี่ยืนพื้นที่คลินิกพิเศษโรคเบาหวาน  ตอนเริ่มมาร่วมทีมใหม่ๆ คนไข้ก็จะงงๆ ว่า เภสัชคือใคร มาทำอะไร  แม้กระทั่งหมอ ก็ยังงง ว่า เภสัชจะมาทำอะไรที่คลินิกพิเศษ  ช่วงแรกๆ ตอนนั้นคลินิกพิเศษโรคเบาหวานจะอยู่ที่ชั้นล่างของตึกพระสงฆ์อาพาธ  และเค้าจะมีห้องสุขศึกษาสำหรับให้ความรู้คนไข้  เภสัชที่เข้าไปร่วมทีมตอนแรกๆ ก็เข้าไปจับจองห้องนั้น เอาโต๊ะมาตั้ง 2 ตัว และนั่งประจำรอให้คนไข้เดินเข้ามาหาหลังจากที่คนไข้พบหมอเรียบร้อยแล้ว  บทบาทของเภสัชตอนนั้นก็จะทำขั้นตอนเดียวคือให้ความรู้เรื่องยาหลังจากที่คนไข้พบแพทย์แล้ว คือพูดอย่างเดียว คุยกับคนไข้ว่าเค้ากินยายังไง แล้ววันนี้หมอปรับยาใหม่เป็นยังไง  จากนั้นให้ไปพบพยาบาลเพื่อรับใบนัดและไปรับยาที่ห้องจ่ายยาต่อไป

   หลังจากสร้างความคุ้นเคยในช่วงแรกๆ เภสัชก็เริ่มกล้าที่จะเข้าไปคุยกับหมอ เช่น หลังจากคุยกับคนไข้แล้วพบว่าไม่ได้กินยาตามสั่ง  ก็จะเข้าไปปรึกษาแพทย์เพื่อแจ้งว่าคนไข้ไม่ได้กินยาตามสั่งนะคะ  จะปรับยาเลยหรือจะให้คนไข้กินยาให้ถูกต้องเสียก่อน คำตอบก็มักจะเป็นอย่างหลัง ทำให้ต้องมาแก้ไข order ทั้งใน OPD card และใบสั่งยาอีกรอบ  ก็ทำแบบนี้มาเรื่อย จนกระทั่งวันหนึ่ง  ห้องตรวจคลินิกพิเศษจะต้องย้ายจากบริเวณที่อยู่เดิมไปยังที่ใหม่ชั่วคราวเพื่อรอการปรับปรุง OPD อายุรกรรม ที่จะใช้ห้องผ่าตัดกระดูกเดิม ปรับใหม่ให้เป็น OPD อายุรกรรม  ที่ใหม่ที่ต้องย้ายไปอยู่ ไม่มีห้องอะไรเลย ทุกคนนั่งประจันหน้ากัน อ้อ ยกเว้นห้องตรวจของแพทย์ค่ะที่จะต้องมิดชิดหน่อย  เภสัชต้องออกมากจากห้องนั่งประจันหน้ากับพยาบาล  คือ ใกล้ชิดกันมากกว่าเดิมว่างั้นเถอะ 

   ในบรรยากาศที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้เรามองเห็นการทำงานของพยาบาลว่า เค้ายุ่งแต่เช้าเลย ต้องซักประวัติ  วัดความดัน ตรวจเท้า  วัดรอบเอว ฯลฯ ไหนจะต้องบริหารจัดการคนไข้บางคนที่ไม่เข้าใจในกระบวนการทำงานของคลินิกพิเศษ  แล้วเภสัชล่ะ ทำอะไร นั่งรอคนไข้ที่เดินออกมากจากห้องหมอหลังจากที่หมอตรวจเสร็จแล้ว...บรรยากาศทำให้เราได้คิด เราคงจะนั่งว่างๆ กันไม่ได้แล้ว 

   กระบวนการซักประวัติเรื่องยาก่อนพบหมอก็เลยเกิดขึ้นค่ะ หลังจากที่พยาบาลวัดความดัน ซักประวัติแล้ว พยาบาลก็จะบอกคนไข้ว่า “พบเภสัชต่อเลยค่ะ โต๊ะนี้/โต๊ะนั้น”  เภสัชกรก็จะทำการซักประวัติการใช้ยาของคนไข้ว่าใช้ยาได้ถูกต้องตามสั่งหรือไม่ และเขียน pharmacist note ลงใน OPD card เพื่อแจ้งหมอทราบ  จนกลายเป็นวัฒนธรรมของคลินิกพิเศษโรคเบาหวานที่คนไข้จะต้องนำยาเก่ามาด้วยทุกครั้งเมื่อมาพบหมอและให้เภสัชตรวจการกินยาก่อนทุกครั้ง จนเกิด “ถุงเขียวใบย่อม ต้อมยามาโรงพยาบาล” ขึ้นแลหมอเองก็เริ่มชินกับ note เภสัช ซึ่งเค้าจะหาอ่านทุกครั้งก่อนที่จะ order ยาให้คนไข้  ทีนี้เภสัชก็ไม่ได้นั่งว่างๆ รอคนไข้เดินออกมากจากห้องหมอแล้ว  และเพื่อป้องกันไม่ให้ทางเดินของคนไข้ทับกันไปมาก็ได้ย้ายตัวเองไปนั่งข้างๆ พยาบาลค่ะ คือจากโต๊ะพยาบาลก็ขยับมาตรวจการกินยาต่อได้เลย...

   หลังจากคนไข้พบหมอแล้วก็จะต้องพบเภสัชรอบสุดท้าย กิจกรรมในการพบเภสัชรอบสุดท้ายก็จะเป็นการทำ prescription analysis และอธิบายการเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาให้กับคนไข้ รวมไปถึงปรับจำนวนเม็ดยาให้พอดีกับวันนัดโดยการหักลบจำนวนยาที่จ่ายออกด้วยยาที่เหลืออยู่ที่คนไข้นำมาด้วย  คนไข้สมัยแรกๆ ก็ถามนะว่าเมื่อกี้ก็มาทีแล้ว ต้องเจอเภสัชอีกรอบเหรอ แล้วคนไข้คนนั้นก็เกิด DRP เภสัชต้องเดินเข้าไป consult หมอให้  อันนี้ก็ทำให้คนไข้เค้าเข้าใจเองว่าทำไมต้องเจอเภสัชอีกรอบ

   ก็คิดว่ามันโอเคนะคะการเจอเภสัช 2 รอบเพราะเราสามารถที่จะอุดรูรั่วได้ และที่สำคัญก็คือทำให้คนไข้ปลอดภัยมากขึ้น  คนไข้ปลอดภัยเภสัชก็ดีใจค่ะ  แต่ก่อนคนไข้ก็มักจะเรียกพวกเราว่าหมอ  แต่ตอนนี้ไม่แล้วค่ะ คนไข้เค้าจะเรียกเราว่าเภสัชเจ้า เภสัชคะ คุณเภสัช...สุดแล้วแต่คนไข้จะเรียก  แต่ทุกคนสื่อว่าเราคือคนที่ดูแลเค้าเรื่องยา...

   สิ่งที่ทำให้ได้คิดอีกอย่างก็คือ คำพูดของเหล่าพยาบาล และน้องชุดเหลือง เค้าจะพูดจะถามคนไข้ที่เดินมายื่น OPD card ที่เค้าตลอดเลยว่า พบเภสัชรึยัง? เอายามาด้วยรึเปล่า? หรือแม้กระทั่งหมอที่ตรวจเสร็จแล้วก็จะบอกคนไข้ว่า “ออกห้องแล้วเลี้ยวขวาเข้าห้องเภสัชนะ”  ดูเถอะ วิชาชีพอื่นเค้ายังให้เกียรติ  ยกย่องวิชาชีพเราขนาดนี้  แต่พวกเรากันเองล่ะ  เคยเห็นคุณค่าของกันและกันบ้างไม๊  เคยมองด้วยหัวใจออกมาจากห้องที่มีแอร์เย็นๆ รึเปล่า ลองถามตัวเองดูนะคะ...

คำสำคัญ (Tags): #dm clinic
หมายเลขบันทึก: 413779เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 03:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

  • ขอบคุณเภสัช ที่ลำปางครับ
  • เป็นตัวอย่างที่ดี เสมอเลย

บรรยายเก่งมาก คิดตาม จนเห็นภาพ ความยุ่งเหยิงแต่เช้าของทุก ๆ วันที่เริ่มต้นทำงาน นะหนูปิ แต่ ... ร่วมกันเหนื่อยกาย แต่ไม่เหนื่อยใจเท่าไรนะ เพราะผู้ป่วยได้รับสิ่งดีๆ ที่เราตั้งใจมอบให้นะ ก็หายเหนื่อยแล้ว ... นะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท