จากบวชป่ากิ่วม่วงสู่ฮักเมืองน่านที่เติบใหญ่


ลำพังเราจะอาศัยพระอาศัยผีอย่างเดียวไม่ได้ถ้าชุมชนนั้นๆ ไม่เข้มแข็ง ป่าก็จะไม่ลุก ดังนั้นเราจำเป็นต้องดึงชุมชนมาเป็นแนวร่วม มาเป็นเจ้าของ จึงเกิดจิตสำนึกไปทั่วบ้านทั่วเมือง อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน

……...จุดเริ่มต้นของการเกิดกลุ่มฮักเมืองน่านก็ดี จุดประสงค์ความเป็นไปเป็นมาต่างๆ นั้น ก็สืบเนื่องมาจาก สัญชาตญาณอันหนึ่ง ซึ่งอาตมาภาพเองไม่ใช่คนในเมือง เป็นคนชนบท เกิดในป่า โตในป่า ได้รับประโยชน์จากป่ามามากมาย พอมาอยู่ในเมืองจุดประสงค์ก็อยากให้ในเมืองมีป่าเกิดขึ้น และอยากให้คนที่อาศัยอยู่ในป่านั้นมีจิตสำนึกรัก และหวงแหนป่ามากขึ้น จึงประสานระหว่างคนในเมือง และคนในป่าให้มาเป็นกลุ่มเดียวกัน ทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวคิดฮักเมืองน่าน ซึ่งกลุ่มฮักเมืองน่านนั้นจริงๆ แล้วเรามีการรวมกลุ่ม รวมตัวกัน ริเริ่ม คิด สร้าง และก็ปลุกจิตสำนึกให้กับคนท้องถิ่น คนจังหวัดน่านมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2530 อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัว การจัดเวทีคุยกัน ชักชวนชักจูงเอาคนหลายๆ กลุ่มมาเป็นพรรคพวก มาเป็นแนวร่วม พยายามประสานความคิด ให้มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เราเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 พอเราเริ่มมีการชักชวน ชักจูง คนหลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฝ่าย มีทั้งเอ็นจีโอในจังหวัดน่าน สมัยนั้นเอ็นจีโอในจังหวัดน่านก็มีหลายพรรค หลายพวก หลายกลุ่ม เราก็พยายามตะล่อมให้มาเป็นกลุ่มเดียวกันซะ มาทำงานร่วมกันตัวแทนชาวบ้านมีทั้งผู้ใหญ่บ้าน มีทั้งกำนัน มีทั้งชาวบ้านที่อยู่ใกล้ป่า อยู่ใกล้แม่น้ำก็พยายามไปชวนมา ใครทำอะไรอยู่ที่ไหนในพื้นที่จังหวัดน่าน เช่น มีกลุ่มอนุรักษ์ป่าเกิดขึ้นที่ไหน เราก็ตามไปดู อย่างกรณีกลุ่มบ้านหลวงหวงป่าโดยการนำของพ่อปั๋น อินหลี อดีตกำนันตำบลสวด อำเภอบ้านหลวง ที่นั่นเค้ามีการรวมตัวกันอนุรักษ์ป่า หวงแหนป่า เราก็ตามไปดู ที่ไหนเขามีกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำลำธาร อย่างเช่น พ่อสมาน ค่ายอาจ จากบ้านดอนแก้ว อำเภอท่าวังผา นำแกนนำชาวบ้าน ลูกหลาน ช่วยดูแลรักษาวังปลาหน้าวัดดอนแก้ว อำเภอท่าวังผา เราก็ตามไปดู ไปศึกษาเรียนรู้ ที่ไหนมีกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้น ทำกิจกรรมอยู่ที่ไหนเราก็ตามไปดู พอเราไปรู้ไปเห็นการทำงานของแต่ละกลุ่ม เราก็พยายามเชิญเอาท่านเหล่านั้นมาเป็นที่ปรึกษา มาเป็นคณะกรรมการ

พอเราชักจูงชักชวนกลุ่มองค์กรในจังหวัดน่านมารวมตัวกันได้พอสมควร เราก็ได้ริเริ่มทำกิจกรรมขึ้น กิจกรรมแรกที่เราทำร่วมกันเป็นกิจกรรมแรก คือ กิจกรรมการบวชป่า เราทำกันที่บ้านกิ่วม่วง ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอาตมาภาพ

ก่อนที่จะมีการบวชป่า อาตมาทราบว่ามีพระรูปหนึ่งจากภาคอีสาน ท่านได้ทำการอนุรักษ์ป่าขึ้น นำผ้าเหลืองไปผูกกันต้นไม้ในพื้นที่ป่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าต้นไม้ต้นนี้พระจองแล้ว ห้ามตัด อาตมาก็ตามไปดู ตามไปศึกษากับท่าน ก็คือ ท่านพระประจักษ์ พุทธจิตโต จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ท่านไม่ได้รวมกลุ่ม รวมก้อนลักษณะนี้ ท่านบุกเดี่ยว ท่านพระประจักษ์ท่านบุกเดี่ยว เราก็ไปศึกษาวิธีการของท่านมาปรับประยุกต์ใช้ที่เมืองน่าน ทราบข่าวว่ามีพระรูปหนึ่งท่าน ทำพิธีสืบชะตาต่ออายุให้กับแม่น้ำที่จังหวัดพะเยา อาตมาก็ตามไปดู ก็คือ หลวงพ่อพระครูมนัสนทีพิทักษ์ เจ้าคณะอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ปัจจุบันท่านเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดพะเยา เป็นเจ้าคุณแล้ว อาตมาก็ตามไปดูท่านทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำแม่ใจ ก็ไปศึกษาวิธีการของท่าน และนำมาปรับใช้กับเมืองน่าน ทราบว่าที่จังหวัดสุพรรณบุรีมีการอนุรักษ์แม่น้ำท่าจีน มีการอนุรักษ์วังปลาขึ้น อาตมาก็ตามไปดู ไปนอนที่วัดพระนอน ไปศึกษาวิธีการอนุรักษ์แม่น้ำท่าจีน เค้าทำกันยังไง จัดการกันยังไงก็นำมาปรับใช้กับเมืองน่าน ทราบว่าแม่น้ำนครนายก เค้ามีการอนุรักษ์วังปลา ทำกันเป็นจุด เป็นแห่งๆ อาตมาก็ตามไปดูที่แม่น้ำนครนายก ไปศึกษาก็นำเอาปรับประยุกต์ใช้ที่เมืองน่าน จากนั้นเราก็นำเอาความรู้ต่างๆ ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านั้นมาผสมผสานกัน เอามาปรับเสร็จแล้วก็มาจัดกิจกรรมขึ้นที่เมืองน่าน

ครั้งแรกที่เราบวชป่าขึ้นที่อำเภอสันติสุข ที่บ้านกิ่วม่วง เราก็มีการถวายทานผ้าป่าต้นไม้ โดยไปขอกล้าไม้จากป่าไม้ แล้วก็เก็บเมล็ดพันธุ์ไม้มาเพาะเองในวัด ได้มากพอสมควรเราก็ขนเอาไปตั้งกองผ้าป่าต้นไม้ขึ้น เพื่อเป็นกองทุนในการดูแลรักษาป่า สมัยนั้นคำว่า ป่าชุมชน ยังไม่มี มีแต่ป่าสงวนของหมู่บ้าน เราก็เลยประกาศเขตป่าสงวนหมู่บ้านขึ้น ขยายพื้นที่เขตอนุรักษ์ มอบหมายให้ชาวบ้าน แบ่งหมวดกันดูแลป่าเป็นเขตๆ ไป จากนั้นในปีต่อมาเราก็มีการบวชป่าเป็นครั้งที่สองที่อำเภอสันติสุขอีกที่ป่าขุนน้ำพงษ์ ป่าต้นน้ำพงษ์ หลังจากบวชป่าแล้ว เราก็อุปโลกน์ต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีลักษณะสวยงามอยู่ในเขตที่เหมาะสม อุปโลกน์ให้เป็นประธานป่า แล้วก็อัญเชิญเอาพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ใต้ต้นไม้ที่เป็นประธานป่า บวชต้นเดียวเท่ากับบวชต้นไม้ในเขตอนุรักษ์ หาเศษผ้าเหลืองไปผูกกับต้นไม้ไว้เป็นสัญลักษณ์

จากนั้นก็มีการบวชป่าไปเรื่อยๆ ในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมาที่ริเริ่มบวชป่าในจังหวัดน่าน แล้วก็มีการบวชป่าไปเรื่อยๆ ทุกปี จน ณ วันนี้ วันที่ 8 ธันวาคม 2553 นี้ก็จะมีการบวชป่าที่อำเภอบ่อเกลือ ที่บ้านด่าน โดยโครงการปิดทองหลังพระจะเป็นเจ้าภาพดำเนินการ กระแสของการบวชป่า จึงทำให้เกิดป่าชุมชนขึ้นโดยมีชาวบ้านเป็นเจ้าของป่า มีการจัดการดูแล มีกิจกรรมเข้าไปเสริม เช่น การปลูกป่าเสริม ขยายพื้นที่ป่า วิธีการปลูกป่า นอกจากเราจะใช้กล้าไม้ปลูก เราก็ใช้เมล็ดพันธุ์เอาไปบ่มในก้อนดิน ปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ตากแห้ง ยิงเข้าป่า แต่ไม่ใช่ยิงสัตว์ป่า คือยิงเพื่อให้เมล็ดพันธุ์เข้าไปตกหล่นอยู่ในป่า เพื่อจะได้งอกงามขึ้น และก็มีกติกาเกิดขึ้นในพื้นที่ป่า เช่น ห้ามตัดต้นไม้ในเขตอนุรักษ์ บางบ้านมีป่ากว้างขวางก็แบ่งเป็นเขตอนุรักษ์ และเขตใช้สอย เขตใช้สอยตัดได้ตามมติคณะกรรมการอนุญาตเท่าที่จำเป็น ส่วนเขตอนุรักษ์ ก็คือเขตต้นน้ำ เราจะไม่ตัดเลย บวชเสร็จแล้วจะไม่ตัดไม่แตะต้องเลย แต่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปหากินได้ เช่น หาหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บยอดผัก ยอดไม้ต่างๆ เอามาเป็นอาหารได้ ต้นไม้ยืนตายก็สามารถเก็บเอามาเป็นฟืนได้ เราก็จะมีกติกาขึ้น บางแห่งประกาศเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าด้วย ห้ามไปล่าสัตว์ป่าในเขตป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ มีกติกาขึ้น ใครยิงหมูป่าก็ตัวละ 5,000 เก้งตัวละ 5,000 กระรอกกระแตตัวละ 500 อะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่ชุมชนนั้นๆ ก็จะตั้งกติกาขึ้นเอง ควบคุมดูแลกัน คือพยายามให้ชาวบ้านเข้าไปบริหารจัดการตนเองนั่นแหละ

ก็เลยเกิดกระแสป่าชุมชนขึ้น ไปทั่วบ้านทั่วเมือง บ้านไหนไม่มีป่าชุมชนก็ถือว่าไม่มีแหล่งอาหารแล้ว แหล่งอาหารธรรมชาติตัวเองจะไม่มี จะไปหาอาหารจากแหล่งป่าชุมชนบ้านอื่นไม่ได้ ก็จำเป็นต้องลุกขึ้นมาหาพื้นที่ กันเอาไว้เป็นเขตป่าชุมชน เป็นของหมู่บ้านของตนเอง อันนี้ก็เกิดเลยกระแสขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ต่างจังหวัดสนใจมาดูงานที่เมืองน่านไม่ขาดสาย ก็มีการนำเอาพิธีกรรม เอาตัวอย่างไปทำไปทั่วประเทศ เพราะกลุ่มฮักเมืองน่านออกทีวีบ่อย คนเปิดทีวีดูก็อยากเห็น อยากดูตัวอย่างก็พากันขึ้นมา แห่กันขึ้นมาไม่ขาดสาย ไม่เฉพาะต่างจังหวัดในประเทศไทย ต่างประเทศ ที่มาบ่อยที่สุดคือพม่า ปีนี้มาหลายชุด ลาว ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ที่มาดูงานที่นี่ มีพระสงฆ์จากภูฐาน ศรีลังกา ท่านมาดูงานที่เมืองน่าน แล้วกลับเอาไปทำพิธีที่บ้านของท่าน ภูฐานก็มีการบวชป่าขึ้น สืบชะตาแม่น้ำ อย่างนี้เป็นต้น ก็ทำให้แนวคิดที่เราคิดริเริ่มกันที่เมืองน่านถูกแผ่ขยายไปทั่วบ้านทั่วเมือง อันนี้ถือว่าเป็นผลพลอยได้ เป็นผลดี ที่เรารวมกลุ่มและรวมตัวกันทำกิจกรรมขึ้นที่นี่

นอกจากเราจะดูแลรักษาป่า ให้ชาวบ้านเข้าไปดูแลจัดการป่าของตนเอง เราก็ลงสู่แม่น้ำ ก็พยายามเอาตัวอย่างอื่นที่เค้าอนุรักษ์วังปลามาปรับประยุกต์ใช้ ตั้งกองทุนรักษาแม่น้ำ ตั้งกติกาขึ้นไม่ให้ใครนำขยะมูลฝอยไปทิ้งในแม่น้ำ ใครฝ่าฝืนกฎระเบียบชุมชนไปก็ปรับเป็นเงินบ้าง ปรับให้ทำงานทดแทนบ้าง มีการสืบชะตาต่ออายุให้กับแม่น้ำ มีการถวายทานผ้าป่าพันธุ์ปลาเกิดขึ้น ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เราพยายามเอาพิธีกรรมทางศาสนาพุทธบ้าง ศาสนาพราหมณ์บ้าง มาปรับประยุกต์ใช้ บางแห่งนับถือผี เราก็มีการอุปโลกน์ศาลเจ้าขึ้นในป่าที่เขาอนุรักษ์ อัญเชิญวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขามาสิงสถิต บางหมู่บ้านนับถือผีเจ้าฟ้าเราก็อัญเชิญเจ้าฟ้ามาสถิตอยู่ บางแห่งก็นับถือผีบรรพบุรุษ บางแห่งนับถือผีเจ้าหลวง ผีอะไรก็แล้วแต่เราไม่ไปขัด ไปคัดค้านเค้า เราไปส่งเสริมสนับสนุนให้เขารวมตัว รวมกลุ่มขึ้น ยกเอาผี เอาเจ้าต่างๆ มาเป็นที่พึ่ง แล้วก็จะได้พึ่งพิงอาศัยเจ้าเหล่านั้น ผีเหล่านั้นมารักษาป่าไปด้วย รักษาแม่น้ำไปด้วย จึงมีนิยามว่า “พระดี ผีดุ ช่วยกันดูแลรักษาป่า”

ลำพังเราจะอาศัยพระอาศัยผีอย่างเดียวไม่ได้ถ้าชุมชนนั้นๆ ไม่เข้มแข็ง ป่าก็จะไม่ลุก ดังนั้นเราจำเป็นต้องดึงชุมชนมาเป็นแนวร่วม มาเป็นเจ้าของ จึงเกิดจิตสำนึกไปทั่วบ้านทั่วเมือง อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน ได้ทำอะไรไปบ้างในอดีต 20 ปีผ่านไป นอกจากเราจะปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านรัก หวงแหนป่า หวงแหนแม่น้ำ กันเขตอภัยทานขึ้น มีเขตวังปลาเกิดขึ้น ณ วันนี้ท่านไปที่ไหนๆ ของจังหวัดน่าน ท่านไปถามหาวังปลา อยู่ที่ไหนท่านจะเห็นปลาออกมาแหวกว่ายเต็มพื้นที่ไปหมด โดยไม่ต้องอะไรมากั้นมาบัง ไม่ต้องทำขอบเขต เพียงแต่บอกแนวว่าเขตอนุรักษ์จากจุดนี้ถึงจุดนี้ หัววังถึงหางวัง ชาวบ้านเขาเข้าใจเขาก็จะไม่ไปแตะต้อง แต่ถ้าช่วงไหนน้ำหลาก ปลาก็กระจายออกไปสู่ท้องไร่ท้องนา แม่น้ำลำห้วย จะจับกินก็ได้ จะเอาไปขายก็ได้ แต่ห้ามจับในเขตวังปลา ถ้าทะลักออกไปนอกเขตไม่เป็นไร อย่างนี้เป็นต้น พอน้ำแห้งเค้าก็กลับมาอยู่ที่เดิม พอหน้าน้ำหลากเค้าก็กระจัดกระจายไปบ้าง อันนี้เป็นจุดเริ่มแรกที่เราคิด ไปเห็นตัวอย่าง ที่อื่นเค้าทำเราก็นำมาปรับประยุกต์ให้เหมาะกับท้องถิ่น จึงก่อให้เกิดวังปลาขึ้น เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้น เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสามารถหารายได้จากวังปลา ก็จะสามารถหางบประมาณเข้าสู่ชุมชนได้มาก เช่น ตั้งกองผ้าป่าพันธุ์ปลาขึ้น โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานกลับมาบ้าน แขกนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ บางชุมชนเขาจะมีวิธีการหาเงิน ด้วยการไปขอพันธุ์ปลาจากประมง เอาใส่กระชังตาถี่ลอยในแม่น้ำ และคอยตักเอามาใส่ถุงเล็กวางที่โต๊ะ ตั้งกองผ้าป่าตรงที่จุดอนุรักษ์วังปลานั้นๆ ใครไปเที่ยวก็ชวนให้เค้าซื้อปลาลงไปปล่อยในแม่น้ำมีเงินได้เท่าไหร่ก็ติดยอดผ้าป่าไว้ ตั้งแต่วันล่อง วันที่ 13 เมษายน กะไปถวายผ้าป่าวันที่ 16 ปีๆ ก็สามารถทำเงินเข้าสู่ชุมชนเยอะเหมือนกัน อันนี้ก็เป็นวิธีการที่ปลุกจิตสำนึกให้เค้าริเริ่มทำกัน ก็ก่อให้เกิดขยายผลไปมากมายในพื้นที่

จากป่าลงสู่น้ำ จากน้ำก็เริ่มลงสู่ชุมชน ได้มีการชักชวนให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรแบบัแพอเพียง เกษตรแบบเชิงอนุรักษ์ เกษตรอื่น ก่อให้เกิดเครือข่ายกลุ่มเกษตรยั่งยืนขึ้น มีโรงเรียนชาวนาเกิดขึ้น พี่น้องเกษตรกรที่ทำนาก็สามารถเก็บพันธุ์พืชพื้นบ้านดั้งเดิมเอาไว้ได้ โดยไม่สูญพันธุ์ เช่น พันธุ์พริก พันธุ์มะเขือ พันธุ์ต่างๆ แม้แต่พันธุ์ข้าวในเมืองน่านมีหลายร้อยชนิดพันธุ์ ชาวบ้านเก็บรักษาเอาไว้ได้ แล้วก็นำมาปรับปรุงบำรุงพันธุ์ด้วยการผสมพันธุ์ข้าวให้มันดีขึ้น เจริญขึ้น ข้าวพันธุ์ไหนที่ให้ผลผลิตน้อยแต่ทนทานต่อโรคต่อแล้ง ชาวบ้านก็จะนำมาผสมกับพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมากแต่ไม่ทนทานต่อแล้ง ต่อน้ำท่วม อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็สามารถทำได้จนเป็นครู มีครูภูมิปัญญาเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดน่านมากมาย ต่างประเทศสนใจก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเฉพาะประเทศฟิลิปปินส์ พี่น้องเกษตรกรทางฟิลิปปินส์ เวียดนาม ก็มาขอเรียนรู้จากเมืองน่าน พี่น้องเกษตรกรเมืองน่านก็ไปขอเรียนรู้จากพี่น้องฟิลิปปินส์ ก็เลยก่อให้เกิดเครือข่ายขึ้น ระหว่างเมืองน่านกับฟิลิปปินส์ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้คือเครือข่ายเกษตร

จากนั้นก็ลงไปสู่ชุมชน ไปสนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุถือว่าเป็นบุคลากรสำคัญของบ้านของเมือง เป็นผู้มีประสบการณ์มาก มีความรู้ มีภูมิปัญญา แต่ถ้าเราไม่นำเอาความรู้ เอาภูมิปัญญาดีๆ นั้นมาขยายผลก็จะทำให้ฝ่อ แห้งเหี่ยวตายไป แล้วก็ถูกเผาไปกับศพ ก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เราก็เชิญชวนเอาภูมิปัญญาเหล่านั้นออกมาขยายผล ถ่ายทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลัง ดังที่เราเห็นนำมาแสดง เช่น ของเล่นพื้นบ้าน ถ้าเราไม่ไปสืบสานผู้สูงอายุ ผู้สูงวัยเหล่านั้น ท่านล่วงลับไปก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ภูมิปัญญาของท่านหายไปกับกาลเวลา

ดังนั้น เราก็ไปส่งเสริมสนับสนุน เครือข่ายไหนที่สนับสนุนกลุ่มไหน กลุ่มฮักเมืองน่านเราจะคอยเป็นพี่เลี้ยง ให้กำลังใจ หางบประมาณสนับสนุนกลุ่มนั้นๆ ไป นอกจากนั้นโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน เครือข่ายฮักเมืองน่านเราจะมีกลุ่มเด็กและเยาวชนอยู่หลากหลาย ยุวเกษตร เยาวชนที่สนใจด้านเกษตร เยาวชนสมุนไพร สนใจด้านสมุนไพร เยาวชนชอบเล่นศิลปะพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน เครือข่ายเรามีอยู่ก็ส่งเสริมสนับสนุนไป แม้แต่เยาวชนชาวไทยภูเขาที่ท่านเห็นอยู่หน้าวิหาร อันนี้ก็เป็นเครือข่ายที่เราชักจูงชักชวนเอาลูกๆ หลานๆ ชนเผ่าในพื้นที่จังหวัดน่านมารวมกลุ่มกัน จังหวัดน่านมี 5-6 เผ่าด้วยกัน เราไม่อยากให้ชนเผ่าเหล่านั้นก่อปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เราก็พยายามชักจูงชักชวนให้ลูกหลานพี่น้องชนเผ่าเหล่านั้นให้ฮักแผ่นดินถิ่นเกิดตัวเอง ภูมิใจในชาติกำเนิด จะเกิดเป็นม้ง เป็นเมี่ยน เป็นถิ่น เป็นลั๊วะ เป็นลาว เป็นลื้อ เป็นขมุ เขมร เราก็เป็นคน เป็นมนุษย์ มีสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ไม่ให้รังเกียจกัน ถึงแม้จะอยู่บนภูเขา หรือพื้นราบ เราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เราจะเกิดมุมไหนของประเทศไทย เราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เราต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่รังเกียจกัน อันนี้เป็นสิ่งที่เราเน้นมาก เน้นให้ทุกคนฮักแผ่นดินถิ่นเกิด รักพ่อรักแม่ รักญาติพี่น้อง รักวงศ์ตระกูล รักถิ่นเกิดของตนเอง รักเผ่าพันธุ์ของตนเอง อาตมาเน้นเสมอว่า คนไหนเกิดมาถ้ารู้เผ่าพันธุ์ตนเองได้ สามารถสืบค้นว่าตนเองมาจากเผ่าพันธุ์ไหน นั่นคือคนที่ได้เปรียบ เพราะรู้ที่มา คนไหนเกิดมาแล้ว ไม่รู้เผ่าพันธุ์ตนเอง คือคนเสียเปรียบ เพราะไม่รู้ที่มาของตนเอง ดังนั้นเราต้องภูมิใจ พยายามให้ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น แม้กระทั่งภาษาถิ่น เราก็มีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการนำมาใช้ โดยเฉพาะลูกๆ หลานๆ เยาวชนถือว่าเป็นกำลังสำคัญของชาติ เป็นพลังอันสำคัญ เป็นมรดกชิ้นสำคัญที่เราจะต้องช่วยกันถนุถนอม จึงก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นระหว่างเยาวชน เช่น กลุ่มเยาวชนต่อต้านโรคเอดส์ กลุ่มเยาวชนป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด กลุ่มเยาวชนเล่นสะล้อ ซอ ปิน กลองยาว กลองสะบัดชัย เหล่านี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมสนับสนุน

นอกจากนั้น ก็รุกเข้าสู่กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน กลุ่มวัยแรงงานทั้งหลายที่ทำอาชีพ แล้วก็กองทุนชุมชน เราก็มีการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการออมทรัพย์ อย่างกรณี บ้านน้ำเกี๋ยน ก็เป็นเครือข่ายหนึ่งของฮักเมืองน่าน ก็มีการตั้งกองทุนวันละบาทเกิดขึ้น ถือว่าเป็นแห่งแรก เป็นต้นแบบของกลุ่มอื่นๆ ที่ทำมา ก็ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจของชุมชนน้ำเกี๋ยน อย่างนี้เป็นต้น ก็มีกองทุนชุมชนเกิดขึ้น กองทุนออมทรัพย์เกิดขึ้น

นอกจากนั้นก็มีเครือข่ายภาคประชาชนที่รวมตัวกันทำงานด้านป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการมีกฎระเบียบ มีกติกา มีเทคนิควิธีการเวลามีปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดในชุมชนของตนเอง เราไม่ไปโทษตำรวจ ไม่ไปโทษทหาร ไม่ไปโทษเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ถือว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาหน้าหมู่ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันหาทางป้องกันและแก้ไข เราไม่โยนภาระให้กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ เราต้องช่วยกันรับผิดชอบชุมชนของตนเอง หาทางป้องกันและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันตัวเองเอาไว้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราส่งเสริมสนับสนุนให้กับคนเมืองน่านทำมาโดยตลอด

นอกจากนั้นก็มีกลุ่มเครือข่ายพระสงฆ์ อาตมาก็พยายามที่จะชักชวนพระสงฆ์ให้รวมกลุ่มทำงานเป็นเอกภาพ จึงก่อให้เกิดสมัชชาสามเณรขึ้น แล้วก็ก่อให้เกิดกลุ่มสามัคคีสงฆ์น่าน และก่อให้เกิดกองทุนเผยแผ่พระศาสนาเกิดขึ้นที่จังหวัดน่าน อันนี้ก็เริ่มต้นกันที่นี่เมื่อนับถอยหลังไป 20 ปี

นอกจากนั้นก็มีเครือข่ายต่างๆ เกิดขึ้น เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายหมอยาพื้นบ้าน เราก็พยายามเชิญเอาท่านเหล่านั้นมาเป็นเครือข่าย อนาคตนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อาตมาก็มีโครงการอยู่ในหัวเหมือนกันว่า จะมีการออกสำรวจเก็บข้อมูลรวบรวมภูมิปัญญาพื้นบ้านในจังหวัดน่าน ซึ่งนับวันจะมีเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ปีหน้า ปี 2554 วันนี้แหละวันที่ 28 พฤศจิกายน เครือข่ายภูมิปัญญาเหล่านั้น ท่านจะมารวมตัวกันที่นี่อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ท่านเหล่านั้นจะถูกเสนอรายชื่อทั้งหมดถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย เนื่องจากพระองค์จะเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา ดังนั้นภูมิปัญญาพื้นบ้านในจังหวัดน่านจะต้องอยู่ในระบบบัญชีและก็เป็นกลุ่มเดียวกัน ใครมีภูมิปัญญาความรู้ในด้านไหน เราก็พยายามค้นหา และก็นำเอามาเสนอ เอามาเผยแผ่ ขยายผล เอามาถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นหลังต่อๆ ไป อันนี้เป็นโครงการที่คิดไว้ว่าจะทำ ก็คิดว่าคงจะเริ่มตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป วันนี้เราก็ออกตระเวนเก็บภาพภูมิปัญญาอยู่แล้ว ต่อไปเราก็ต้องติดตามไปถึงบ้าน ติดตามไปพบปะ ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มาวันนี้เราก็จะต้องตามท่านไปถึงบ้าน เพื่อจะได้เชิญเอาท่านเหล่านั้นมาเป็นแนวร่วมมาเป็นเครือข่ายเดียวกัน ทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไป

อันนี้อาตมาก็เล่าคร่าวๆ การก่อกำเนิดกลุ่มฮักเมืองน่านจนพัฒนามาเป็นมูลนิธิฮักเมืองน่านในวันนี้ ทุกปี วันที่ 28 พฤศจิกายน ถือว่าเป็นวันกำเนิดของกลุ่มฮักเมืองน่าน เราก็จะมาพบปะกันที่นี่ จัดงานใหญ่อย่างนี้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สำหรับงานย่อยๆ กลุ่มย่อยๆ พบปะกันอยู่เป็นประจำ ที่ผ่านมาก็ เราก็จัดกันอยู่ตลอด ย้ายสถานที่ไปเรื่อยๆ จุดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นที่วัดอรัญญาวาสแห่งนี้ เพราะเป็นจุดศูนย์กลาง.............

‘’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’

ที่มา : ปาฐกถาพิเศษ “จากบวชป่ากิ่วม่วงสู่ฮักเมืองน่านที่เติบใหญ่” ในงานมหกรรม “ฮักเมืองน่าน : 2 ทศวรรษ สู่คนน่านจัดการตนเอง” วันที่ 28 พฤศจิกายน 2553 ณ ลานโพธิ์ ลานไทร วัดอรัญญาวาส อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

โดย พระครูพิทักษ์นันทคุณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮักเมืองน่าน

ขอบคุณ

วิทยุคลื่นขยายความดีเยาวชนตำบลถืมตอง ที่เอื้อเฟื้อไฟล์เสียง

บัวตอง ที่ประสานการถอดเทปเสียง

และทีมงานฮักเมืองน่านทุกคน ที่ช่วยสรรค์สร้างงาน

หมายเลขบันทึก: 413668เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2010 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 16:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พระวีระยุทธ วิสุทฺธธมฺโม

เริ่มที่จิต ต่อติดที่ปณิธาน สานพลังสู่ความเป็นปึกแผ่น ขมวดปมเกลียวแน่นสู่การขับเคลื่อนสังคมแห่งสัมมาปฏิบัติ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท