ทิศทางการศึกษาในอนาคต


ปฏิรูปก็ช้าไป ได้เวลาปฏิวัติการศึกษา เพื่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล

ทิศทางการศึกษาในอนาคต

              ทิศทางการศึกษาในอนาคต ผู้เรียน และ ครูผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ จะมีเสรีภาพทางการศึกษา มากขึ้น ผู้บริหารทุกระดับควรปรับบทบาทตนเองจากผู้บังคับบัญชา หรือผู้กำหนดทิศทาง(Director) เปลี่ยนเป็น ผู้อำนวยการบริหารกระบวนการเรียนรู้(administrative facilitator)  ครู(teacher) ควรทำการปรับเปลี่ยนจากผู้สอน เป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้(facilitator)

              การประกันคุณภาพภายนอก มีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนจาก   ผู้กำหนดเกณฑ์เพื่อการประเมิน เป็นการรับรองผลการประเมินภายนอกตามเกณฑ์ที่ผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับผู้เรียน มีส่วนร่วมในการเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ ตามหลักเสรีภาพทางการศึกษา

              หลักสูตรแกนกลาง ควรคงเหลือไว้เท่าที่จำเป็นตามความเห็นชอบของ ผู้ใกล้ชิดกับผู้เรียนทั้งมวล มากกว่าการกำหนดโดยคณะบุคคลใด บุคคลหนึ่ง  ทั้งนี้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา สะท้อนภาพอย่างชัดเจนว่า เมื่อจะทำการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแกนกลางแต่ละครั้ง คณะบุคคลใหม่มักอ้างถึงข้อผิดพลาดที่ผ่านมา(โดยคณะบุคคลเดิม) และยืนยันว่าสิ่งที่ทำใหม่ถูกต้องดีกว่า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งต่อ ๆ ไปก็ใช้เหตุผลทำนองเดียวกัน แต่ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่เคยมีคณะบุคคลใดประกาศความรับผิดชอบต่อผู้เรียน เป็นผลให้ผู้ใกล้ชิดกับผู้เรียน และผู้เรียน ต้องรับผลแห่งข้อผิดพลาดนั้นโดยตรง  ดังนั้น แนวคิดการจัดทำหลักสูตรแกนกลาง จึงควรเปลี่ยนแปลงเป็น ให้เสรีภาพทางการศึกษากับผู้เรียน และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดแกนกลางร่วมกันโดยผู้เชี่ยวชาญคณะต่าง ๆ ปรับบทบาทจากผู้กำหนด เป็นผู้อำนวยการจัดกระบวนการจัดทำหลักสูตรแกนกลาง ที่สอดคล้องกับสภาพผู้เรียนทั้งมวล นั้นคือ หาสิ่งที่เป็นแกนกลางร่วมกันจริง ๆ มากกว่าการกำหนดโดยคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งจัดทำแล้วเสนอผู้มีอำนาจ ประกาศว่าเป็นหลักสูตรแกนกลาง

                หลักสูตรท้องถิ่น ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ควรมีส่วนร่วมอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ครู ผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ควรปรับบทบาท เป็นผู้อำนวยการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น มากกว่าการแสดงบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น 

               สิ่งสำคัญที่สุด ปรัชญาทางการศึกษา มีความจำเป็นต้องปรับจากแนวคิดวัตถุนิยมและกระบวนการผลิตเชิงอุตสหกรรม ชาตินิยม ภาคนิยม พรรคนิยม ซึ่งมอง ผู้เรียน ครู ฯ เป็นเพียงปัจจัยในกระบวนการผลิตตามคำสั่ง เปลี่ยนเป็น "การจัดการศึกษาของมนุษย์ โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล(ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต)" ทั้งนี้ มีบทพิสูจน์เบื้องต้นจากโรงเรียน ซึ่งอำนวยการบริหารกระบวนการเรียนรู้ โดย ท่านอาจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล โดยเน้นกระบวนการสร้างควาสมดุลย์แห่งความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เรียน จากคณะครูผู้มีภูมิธรรม ภูมิรู้ และ มีจิตอาสาเพื่อมวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยส่วนรวม ก่อให้เกิดอานิสงค์ต่อผู้เรียน ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม เป็นแบบอย่างที่ชัดเจนของการจัดการศึกษาของมนุษย์ โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล เพราะผู้ที่รักมวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล ย่อมมีพื้นฐานที่เห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเกินกว่าการเห็นแก่พรรคพวกใดพวกหนึ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในระดับต่าง ๆ ทุกระดับ ดังที่ปรากฏขึ้นในทุก ๆ สังคม ตั้งแต่ระดับกลุ่ม ชุมชน จนถึงระดับนานาชาติ

               ดังนั้น คงถึงเวลาแล้วที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ควรทบทวนทิศทางการศึกษาในอนาคตอย่างเร่งด่วน เพราะโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขณะนี้คงไม่สามารถรอการดำเนินการที่เชื่องช้า "ปฏิรูปก็ช้าไป ได้เวลาปฏิวัติการศึกษา เพื่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งมวล" ซึ่งมิใช่ปฏิวัติการศึกษาเฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง แต่ควรถึงเวลาที่มวลมนุษย์ทั้งมวลจะได้ทบทวนร่วมกัน นั้นคือ อาจจำเป็นต้องมีหลักสูตรแกนกลางนานาชาติ ที่ทุกชาติจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อมวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งมวลร่วมกัน มากกว่าการมุ่งคิดค้นล่าอาณานิคมในจักรวาลแห่งดาวดวงอื่น อย่างที่บางประเทศกำลังลงทุนดำเนินการในขณะนี้ ตามความเชื่อว่าทรัพยากรมีจำกัด ต้องหาแหล่งทรัพยากรใหม่ ในจักรวาล ควรปรับเปลี่ยนความเชื่อเป็น "ทรัพยากรในโลกนี้มีไม่จำกัด สำหรับมวลมนุษย์ที่รู้จักใช้และส่งคืนทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลย์ แต่ ทรัพยากรในโลกนี้มีจำกัดสำหรับผู้ใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำกัด มุ่งหาแหล่งทรัพยากรใหม่อยู่ร่ำไป โดยไม่คำนึงถึงการสร้างสภาวะความสมดุลย์ของทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน และแม้หาดาวดวงอื่นอยู่ก็คงมีทรัพยากรไม่เพียงพอ หากไม่รู้จักความพอเพียง ตามปรัชญาที่ในหลวงทรงพระราชทานแด่ชาวไทย เพื่อมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งมวล"

 

หมายเลขบันทึก: 413373เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2010 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท