การพัฒนาแนวพุทธ ความเสมอภาค และความยุติธรรม


ความเสมอภาค และความยุติธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ดีได้

              การพัฒนาแนวพุทธ ความเสมอภาค และความยุติธรรม   

โดย  ดร.ปรีชา  เปี่ยมพงศ์สานต์

              จุดยืนของเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

                เมื่อวัฒนธรรมตะวันตก เริ่มมีบทบาทในการในการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ทำให้ความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้นำวัตถุและปัจจัยการดำรงชีวิตมาสู่คนกลุ่มหนึ่งที่ยึดติดกับความสะดวกสบาย วัฒนธรรมตะวันตก มาเยือนพร้อมกับวิถีการพัฒนาแบบ “อุตสาหกรรมนิยม” ซึ่งเกิดช่องว่างมากมาย คนจนมีมากขึ้น ความว่างเปล่าทางวัตถุมีมาก และเกิดความทุกข์ยากทางจิตใจ

                ในสถานการณ์ชีวิตและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย การคิดคำนึงถึงวิถีทางใหม่ เพื่อให้หลุดพ้นจากวิกฤตที่ดำรงอยู่ ทำให้ “เศรษฐศาสตร์ของชาวพุทธ” ที่หวนกลับไปยังปรัชญาและสัจธรรมพื้นฐานดั้งเดิมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสังคม โลก ธรรมชาติ และมนุษย์     โดยมี

                 จุดยืน 2 ข้อ   คือ ด้านหนึ่ง ต้องการให้ความสำคัญสูงแก่เรื่องความรัก ความห่วงใยและความเข้าใจในหมู่มนุษย์ด้วยกัน อีกด้านหนึ่ง ต้องการให้การดำเนินการปกป้องคุ้มครองธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาความหลากหลายของชีวิต ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการพัฒนาวัตถุและการพัฒนาจิตใจพร้อม ๆ กับการส่งเสริมทางด้านการแสวงหาภูมิปัญญาที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นและนิเวศวิทยาพื้นบ้าน

           โลกทรรศนะของพุทธเจ้า

                พระพุทธเจ้ามองโลกและมองสังคมบนพื้นฐานที่มีอยู่ 3 ข้อ คือ

  1. พระพุทธเจ้ามองโลกและสังคมแบบไดนามิค สังคมและโลกมิได้หยุดนิ่ง

  2. พระพุทธเจ้าย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเราก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาชีวิตได้

  3. คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีหลายมิติด้วยกัน คือ เน้นเรื่องจริยธรรม จิตวิญญาณของมนุษย์ เรื่องของธรรม ศีลธรรม และการเสนอแนวคิดมนุษย์ควรจะจัดระบบเศรษฐกิจของตน

             มนุษย์และความเสมอภาคแบบพุทธ

                พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญสูงมากแก่หลักการ ความเสมอภาค ซึ่งจะสรุปมาได้ 5 ข้อ  คือ

                 1. มนุษย์รับรู้เรื่องทุกข์ยากและปัญหาของผู้อื่น

                2. มนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนตาย ทุกคนอยู่ใน กฎแห่งวัฎจักรสงสาร….…..เดียวกันหมด

                3.มนุษย์ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน มีฐานะ มีตำแหน่งอะไรก็ตาม ทุกคนมีศักดิ์ศรีเหมือนกันหมด

                4. มนุษย์ทุกคนย่อมมีโอกาสเท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเองอย่างมีอิสระ

                5. ทุกคนมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์และมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

                เมื่อมองความเสมอภาคแบบชาวพุทธแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องของลัทธิ แต่เป็นเรื่องของหน้าที่ เรื่องของจิตสำนึก และจะเน้นในเรื่องการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติอย่างเดียว โดยไม่มีมิติทางจริยธรรมเลย  เราได้ละเลยมิติของความเสมอภาคในแนวพุทธ ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม จนถึงปัญหาความไม่เป็นธรรม วันนี้เรายังคงถามอยู่เหมือนเดิมว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะโตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่จะไม่ถามเลยว่าคนจนจะเป็นอย่างไร

            หลักธรรมสำหรับผู้ปกครองแผ่นดิน            

                พระพุทธเจ้าให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองแผ่นดินว่า จะต้องดูแลให้ระบบธรรมมะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจทางสังคม และเศรษฐกิจสังคมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นความเสมอภาคและความยุติธรรม นโยบายเศรษฐกิจใหม่จะต้องไม่แฝงด้วย ความโน้มเอียงต่อชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

                พระพุทธเจ้าได้เน้นหลักประชาธิปไตยในการบริหารแผ่นดิน หลักการที่บอกว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม หมายความว่า ต้องมีการใช้หลักธรรมเป็นการนำ   ในการวางเป้าหมายสูงสุด นั้นคือ สังคมจะต้องมีเสถียรภาพ มีสันติธรรม และประชาชาติมีความรุ่งเรือง ประชาชนมีความสุข ผู้ปกครองในอุดมคติของพุทธปรัชญา คือ ธรรมราชา

             การจัดระบบเศรษฐกิจสังคมแบบพุทธ

                การสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีเสถียรภาพ และส่งเสริมฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน ขึ้นอยู่กับ 4 ประการ คือ

  1. มีผลผลิตความมั่นคง โดยใช้ความรู้ความเพียรพยายามและเน้นเรื่องประสิทธิภาพ

  2. มีการรักษาความมั่นคงนี้เอาไว้ โดยการออมทรัพย์

  3. มีการจ่ายอย่างระมัดระวังเพื่อการบริโภค

  4. การผลิตต้องสนองความต้องการของสังคมเป็นหลัก

              การจัดระบบเศรษฐกิจในแนวพุทธ เป็นการจัดระบบเพื่อก่อให้เกิดวิธีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีการสะสม และที่สำคัญก็คือ ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้คนยากจนควรได้รับความช่วยเหลืออย่างใครเพื่อน คนมั่งมีควรจะกระจายทรัพย์สมบัติไปให้ผู้ยากไร้ 

                ทฤษฎีว่าด้วยความยุติธรรมสมัยใหม่ กฎของ Rawls บ่งว่าผู้ที่ยากไร้ที่สุดในสังคมควรที่จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรเป็นพิเศษนับว่าสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง

                ความสำเร็จของการพัฒนา มิได้วัดกันด้วยการมีวัตถุ มีการผลิต มีการบริการหรือรายได้ประชาชาติที่ขยายตัวในอัตราที่สูงเราควรจะพึ่งวัดด้วยความไม่มีคนอดยากยากไร้ มากกว่า  นโยบายเศรษฐกิจของชาติต้องยึดคนเป็นหลัก ไม่ใช่ยึดวัตถุการผลิตหรือรายได้ส่วนรวมของชาติเป็นหลัก  คนต้องหลุดพ้นจากความทุกข์ยากทั้งทางร่างกายละจิตใจ

          รัฐสวัสดิการของชาวพุทธ

               หลักการของการปกครองแผ่นดินหรือการวางนโยบายเศรษฐกิจชาวพุทธ สรุปได้ 5 ข้อใหญ่ด้วยกัน คือ

  1. ผู้ปกครองแผ่นดินต้องยึดหลัก ธรรมาธิปไตย

  2. ต้องมีการจัดระบบการคุ้มครองทางสังคมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดินอย่างเสมอภาค

  3. ต้องป้องกันไม่ให้มีความไม่เป็นธรรมใด ๆ เกิดขึ้นในแผ่นดิน

  4. ต้องส่งเสริมให้มีการโยกย้ายทรัพยากร และแบ่งปันให้แก่ผู้ไร้ทรัพย์

  5. ผู้ปกครองแผ่นดินต้องปรึกษาเรื่อง ความดี ความชั่ว กับสถาบันสงฆ์อยู่เสมอ

             การปกครองแผ่นดินและการวางนโยบายต่างๆ ต้องให้หลักธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่มวลชนทุกกลุ่มทุกส่วนของสังคม เราเรียกได้ว่า   นี้คือแบบจำลอง รัฐสวัสดิการแบบพุทธ

             วิถีชีวิตแห่งมนุษยนิยม

   พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ล้มเหลวในการแสวงหาวัตถุเงินทอง

สอนให้ประหยัดเพื่ออนาคต ไม่ส่งเสริมให้มีการสะสมทรัพย์สินเกินความจำเป็น   สอนให้

 คนมีใจกว้าง ให้บริจาค หรือให้ทานแก่ผู้ยากไร้ตลอดเวลา

 

               

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 412416เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2010 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท