ภาคการขนส่งกับการปฎิรูปประเทศไทย


ถึงเวลาหรือยัง ที่ควรมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิอันเท่าเทียมของคนไทยทุกหมู่เหล่าในการเข้าถึงบริการขนส่งที่สะดวก ปลอดภัยและมีคุณภาพ เช่นเดียวกับสิทธิในเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ภาคการขนส่งกับการปฎิรูปประเทศไทย

ภาพตึกเวิลเทรดเซนเตอร์ ลุกไหม้ที่ กรุงเทพมหานคร ๙ ปีหลังจาก ภาพตึกเวิลเทรดเซนเตอร์ ลุกไหม้ที่ มหานครนิวยอร์ค ชวนให้ตีความได้ไม่ยาก ว่า คนไทยยุคนี้กำลังตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งการระบาดของความรุนแรงอันสืบเนื่องจากความรู้สึก ว่า “โลกนี้อยุติธรรม”  นี่คือสัญญาณแห่งยุคสมัยโดยแท้

“ปฎิรูปประเทศไทย” จึงเป็นการขานรับสัญญาณเตือนภัยมหันตร์นี้ ที่มาจากมุมมอง ซึ่งเห็นวิกฤต เป็นโอกาส

ในด้านหนึ่ง รูปธรรมของการขานรับนี้ ก็คือ คณะกรรมการปฎิรูปประเทศไทย สองคณะที่จัดตั้งขึ้นและเชื่อว่าคงกำลังทำงานอย่างขมักเขม่น ในอีกด้านหนึ่ง เชื่อว่า สถาบัน องค์กร กลุ่มบุคคลต่างๆ ก็คงกำลังหารือ ขบคิดว่า จะปฎิรูปประเทศไทยจากจุดที่ตนยืนอยู่อย่างไรดี

ในฐานะผู้เดินทางที่ต้องพึ่งพาระบบขนส่ง(ทางบก) ของประเทศนี้ ผมมีมุมมองที่อยากแลกเปลี่ยนกับเพื่อนคนไทยและหน่วยงานที่รับผิดชอบภาคการขนส่ง   ทิศทางหนึ่งที่สำคัญต่อการปฎิรูปภาคขนส่งประเทศไทยอันอาจช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก็คือ “การสร้างระบบขนส่งที่เป็นธรรม”(equity in transport systems) ดังนี้

1. กว่า 20ปีมาแล้ว ภาคสุขภาพ(หรือ ภาคการสาธารณสุข) ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วยการสลายกำแพงเงินตรา หรือ อุปสรรคทางการเงิน จากเดิมคนจนที่สุดถ้าจะไปหาหมอหรือใช้บริการสุขภาพ ต้องจ่ายเกือบ 1 ใน 10 ของรายได้ครัวเรือน ในขณะที่คนรวยที่สุดจ่ายเพียง 2 ใน 100 มาวันนี้ เมื่อมี ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ความเหลื่อมล้ำนี้ได้หดแคบลงอย่างมหาศาล กล่าวคือ เมื่อไปหาหมอ คนจนที่สุดจ่าย ไม่เกิน 3 ใน 100 ของรายได้ครัวเรือน และคนรวยที่สุดจ่าย 1 ใน 100 

2. ภายใต้ผืนแผ่นดินเดียวกัน ร่มธงไตรรงค์เหมือนกัน จึงเชื่อได้ว่า ภาคการขนส่งย่อมอยู่ในฐานะที่จะสร้างความเป็นธรรมในระบบขนส่ง เพื่อที่คนไทยทุกคนจะได้เข้าบริการขนส่งโดยสารที่มีคุณภาพ สะดวก ปลอดภัยโดยถ้วนหน้า เช่นกัน

3. 50 ปีตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบบการขนส่งทางบกของประเทศไทยให้ความสำคัญกับการสร้างและขยายถนนโดยไม่หยุดยั้ง ทำให้มีถนนบนดิน ถนนลอยฟ้า ถนนใต้ดิน ยาวสะสมกันทั่วประเทศกว่า 2 แสนกิโลเมตร  โดยเป็นที่รู้กันทั่วว่า ส่วนใหญ่ของการลงทุนโครงสร้างถนนกระจุกตัวอยู่ในกทม.   เหมือนกับที่รถไฟใต้ดินและบีทีเอสเป็นเอกสิทธิ์ของคนกรุงเทพฯในวันนี้  และกำลังขยายตัวไปสู่พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลในอีก 5 ปีข้างหน้า  ในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงชัดเจนว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาล้วนลำเอียงเข้าหา คนกรุงเทพและปริมณฑล

4. เมื่อนั่งรถอยู่บนทางด่วน ภาพบนป้ายโฆษณาข้างทางด่วน จำนวนไม่น้อยเป็นของธุรกิจบ้านและคอนโด ของธุรกิจรถยนต์ ของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ฯลฯ ซึ่งตอบสนองวิถีชีวิตของคนรวย และคนชั้นกลางในเมืองเป็นสำคัญ สอดคล้องกับประเภทของยานยนต์ส่วนใหญ่ที่วิ่งไปมาบนทางด่วน นั่นคือ รถยนต์ส่วนตัว  จึงเห็นชัดเจนอีกเช่นกันว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเลือกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยลำเอียงเข้าหาคนรวยและชนชั้นกลางในเมืองใหญ่โดยเฉพาะกทม.

5. อันที่จริงความลำเอียงเช่นนี้ ปรากฎทั่วโลก ทั้งในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน  จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อ ปรากฎภาพคน(ไทย)ขับรถจักรยานยนต์นอนเสียชีวิตอยู่บนถนน ตีพิมพ์ขึ้นปกหน้าหนึ่งวารสารการแพทย์อังกฤษ(British Medical Journal)ฉบับหนึ่ง เขาคือ ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตบนถนน โดยร้อยละ 70 คือ ผู้ใช้จักรยานยนต์  พวกเขาคือ คนจนที่สุดพวกหนึ่งบนถนน มิใช่หรือ  เพื่อนร่วมชะตากรรมของพวกเขา อีกสองพวกที่เห็นเจนตา พวกแรกคือ คนเดินเท้าที่ส่วนใหญ่ต้องปะปนไปกับรถเก๋ง ปิคอัพ รถบรรทุก   เพราะถนนไม่มีฟุตบาท หรือแม้มีฟุตบาทก็ไม่มีพื้นที่ว่างพอสำหรับคนเดินเท้า   อีกพวก คือ ผู้ใช้แรงงานทั้งชายหญิงที่โดยสารไปกับท้ายปิคอัพซึ่งเปิดโล่ง อย่างน่าหวาดเสียวจนการทางพิเศษห้ามไม่ให้ขึ้นไปวิ่ง เพราะเคยเทกระจาดจนเจ็บตายคราวละมากๆ

6.สำหรับคนด้อยโอกาสเหล่านั้น สวัสดิภาพของพวกเขาดูเหมือนจะไม่อยู่ในสายตาของผู้ออกแบบ ก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนมาช้านาน  แม้ความรู้ปรากฎชัดเจนว่า คนเดินเท้า คนใช้จักรยานยนต์และคนขี่จักรยาน เสี่ยงตายมากกว่าผู้โดยสารรถไฟหรือรถบัส 100 เท่า มากกว่าคนใช้รถเก๋งเกิน 10 เท่า

7. ความเป็นผู้ด้อยโอกาส ทำให้เสียงของพวกเขา ได้รับความสนใจน้อย ด้วยเหตุนี้กระมัง เมื่อนานวันเข้า พวกเขาจึงพยายามร้องตะโกนให้ดังขึ้นเรื่อยๆ ดังตัวอย่าง ภาพบนหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้ ฉายให้เห็น เด็กนักเรียนห้อยโหนล้นออกมาจากรถโดยสารนักเรียนที่ดัดแปลงมาจากรถบรรทุกหกล้อในเขตเทศบาลขอนแก่น  บนสะพานลอยคนข้ามถนนที่อยู่เหนือหัวรถคันดังกล่าว มีผืนผ้าสีขาวตัวหนังสือสีแดงขึงเอาไว้ เขียนข้อความว่า “ สะพาน-อุโมงค์ หยุดก่อน! แก้จราจรทั้งระบบ”  หลังจากนั้นราว สองปี หนังสือพิมพ์ก็แพร่ภาพพิธีเปิดอุโมงค์ลอดถนนมูลค่า 300 กว่าล้านบาท ในเขตเทศบาลขอนแก่น ควบคู่กับ ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่ประธานและผู้ร่วมพิธี   นี่คือ ภาพสะท้อนผลแห่งการละเลยเสียงของผู้ด้อยโอกาสใช่หรือไม่ และดูเหมือนวิธีเปล่งเสียงของพวกเขานับวันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

8. การละเลยเสียงของผู้ด้อยโอกาส เป็นประเด็นทางวิชาการที่ปรากฎในรายงานว่าด้วยความยั่งยืนของระบบขนส่ง(Sustainable transportation)  รายงานชิ้นนี้ได้รวบรวมประจักษ์พยานหลักฐานจากประเทศต่างๆทั่วโลก ตีแผ่ทั้งปัญหาและทางออกเพื่อการพัฒนาระบบการขนส่งให้ยั่งยืน  โดยมีสาระสำคัญ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

            8.1 ผู้อาศัยในชุมชนแออัด คือผู้ได้รับผลกระทบจากการขยายถนนในเมือง

            8.2 โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระบบขนส่งไม่ว่าจะเป็นถนนลอยฟ้า ถนนตัดใหม่ รถไฟลอยฟ้า คือ สาเหตุสำคัญของการย้ายถิ่นฐานของผู้อาศัยในชุมชนแออัด  (ยังจำกรณีขัดแย้งระหว่างชุมชนบ้านครัวกับการทางพิเศษในอดีตได้ นะครับ)

            8.3 คนจนในเมืองมักเป็นกลุ่มที่ถูกย้ายถิ่นฐานให้ไกลออกไปจากที่ทำมาหากิน นำไปสู่การเพิ่มค่าเดินทาง

            8.4 การเวนคืนที่ดินในฐานอาศัยคนจนเพื่อทำถนนมักทำให้ราคาที่ดินแพงขึ้นเสมอ

            8.5 ผลกระทบด้านสุขภาพ  คนจนคือกลุ่มที่ได้รับมลพิษจากท่อไอเสียและอุบัติภัยจราจรมากที่สุด  ในแต่ละปี ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจจากการสัมผัสมลพิษในระบบขนส่ง จำนวน 1.1 ล้านคนทั่วโลก โดยสัดส่วนเป็นคนจนมากกว่าคนรวยและชนชั้นกลาง เช่นเดียวกับ ในจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติภัยจราจรทั่วโลก ปีละ 1.2 ล้านคน

            8.6 การลงทุนจำนวนมหาศาลให้กับระบบขนส่งมวลชนอย่างรถบีทีเอสหรือรถไฟใต้ดินโดยไม่คำนึงถึงการเป้าหมายให้ชัดเจนก็อาจก่อผลกระทบต่อคนจน โดยในภาพรวมอาจไม่ช่วยให้การจราจรดีขึ้น(เช่นเดียวกับข้อค้นพบเกี่ยวกับผลการแก้ปัญหาจราจรติดขัดด้วยวิธีนี้ในกทม. ของรศ.ดร.สิทธา เจนศิริศักดิ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

            8.7 ระบบรถไฟใต้ดินส่วนใหญ่ไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการให้บริการหรือบำรุงรักษาระบบ นี่ยังไม่รวมค่าลงทุนโครงสร้างเสียด้วยซ้ำ

9. รายงานว่าด้วยความยั่งยืนของระบบขนส่ง เสนอทางออก ซึ่งอิงหลักการกระจายทรัพยากรให้เป็นธรรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

            9.1 คิดก่อนขยายถนน/ตัดถนนใหม่  ด้วยการบำรุงรักษาถนนเท่าที่มีอยู่ให้ดีเสียก่อน  และจัดสรรสิทธิในการใช้เส้นทางให้สมเหตุสมผลสำหรับความต้องการของผู้ใช้ถนนกลุ่มต่างๆ

            9.2 เมื่อจะขยายถนน/ตัดถนนใหม่  ควรเลือกวิธีก่อสร้างที่ใช้แรงงานเป็นหลัก และจ้างคนจนในท้องถิ่น มีตัวเลขชัดเจนว่า วิธีนี้ประหยัดค่าก่อสร้างได้ ร้อยละ 25-30 เมื่อเทียบกับการใช้จักรกลเป็นหลัก       

            9.3 ในเมือง ให้สิทธิในการใช้ถนนแก่รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก และรถที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น รถม้าลำปาง เพราะดึงดูดนักท่องเที่ยว

            9.4 การออกแบบถนนย่อยในชุมชนแออัดให้เอื้ออำนวยแก่การเดินเท้า ขี่จักรยาน การทำธุรกิจรายย่อย ช่วยลดอุบัติภัย ลดอาชญากรรม และเพิ่มคุณภาพชีวิตได้จริง

 

50 ปีที่ผ่านมา การตัดสินใจลงทุนในระบบขนส่ง อยู่ในกำมือของคนไม่กี่สิบคน ชะตากรรมของผู้สัญจรในระบบขนส่งก็เป็นดังเช่นที่เป็นอยู่ โดยมีความอยุติธรรมปรากฎอยู่ดังกล่าวข้างต้น การสะสมความอยุติธรรมยิ่งนานวัน ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันจนนำไปสู่ความรุนแรงทั้งโดยตรงและโดยอ้อม 

ถ้า การปฎิรูปประเทศไทย ในภาคการขนส่งจะมีความหมาย ควรหรือไม่ ที่ต้องเปิดโอกาสให้เสียงของคนด้อยโอกาสได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียม โปร่งใส บนหลักวิชาการอันถูกต้องทันสมัย 

ถึงเวลาหรือยัง ที่ควรมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิอันเท่าเทียมของคนไทยทุกหมู่เหล่าในการเข้าถึงบริการขนส่งที่สะดวก ปลอดภัยและมีคุณภาพ เช่นเดียวกับสิทธิในเรื่องหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 412415เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2010 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท