การต่อยอดความรู้


การถ่ายทอดการปฎิบัติให้เป็นทฤษฏี เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อยอดความรู้ และทำให้การสืบสาน พัฒนาความรู้เป็นไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว วงการวิทยาศาสตร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้ก็เพราะอาศัยวัฒนธรรมการต่อยอดความรู้ลักษณะนี้

การต่อยอดความรู้

 

 

มีคนจัดประเภทความรู้ไว้ สองลักษณะ ได้แก่ ความรู้ฝังลึก(tacit knowledge)  กับความรู้ประจักษ์(explicit knowledge)  ประเภทแรกเป็นความรู้ที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวันและมักเป็นการใช้โดยไม่รู้ตัว  เช่น ถ้าถามคนว่ายน้ำเป็น ว่าหัดว่ายอย่างไร อาจได้คำตอบว่า ก็แกว่งแขวน กระทุ้งเท้าไปเรื่อยๆ  บางคนอาจแสดงท่าทางให้ดู  แต่น้อยคนจะสามารถบรรยายอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าควรตั้งต้นอย่างไร การว่ายได้เร็วช้าขึ้นอยู่กับอะไร ฯลฯ   

การถ่ายทอดการปฎิบัติให้เป็นทฤษฏี เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อยอดความรู้ และทำให้การสืบสาน พัฒนาความรู้เป็นไปอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว   วงการวิทยาศาสตร์เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้ก็เพราะอาศัยวัฒนธรรมการต่อยอดความรู้ลักษณะนี้

การจัดประเภทความรู้อีกลักษณะ จำแนกความรู้เป็นเชิงคุณภาพ กับเชิงปริมาณ  ท่านไอน์สไตน์ เคยมีกล่าวเปรียบเปรยความรู้ทั้งสองลักษณะไว้ ว่า “ เราอาจใช้วิชาฟิสิกส์วิเคราะห์หรือพรรณาลักษณะของคลื่นให้ละเอียดลึกซึ้งได้มากมาย  แต่การทำเช่นนั้น ย่อมไม่มีความหมาย(ทางดนตรี)ใดๆเมื่อไปใช้กับบทเพลงของบีโธเว่น” 

บางคนอาจตีความหมายคำกล่าวนี้ว่า วิชาฟิสิกส์ซึ่งเน้นการสร้างความรู้เชิงปริมาณ  เป็นคนละเรื่องกับ วิชาดนตรีซึ่งเป็นเรื่องของความรู้เชิงคุณภาพ  เหมือนน้ำกับน้ำมัน ย่อมเข้ากันไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของยามาฮ่าในอุตสาหกรรมเครื่องดนตรี ชวนให้ต้องคิดในอีกมุมหนึ่ง  ก่อนยามาฮ่าจะประสบความเร็จ เปียโนนับเป็นเครื่องดนตรีสำหรับคนส่วนน้อยที่เล่นเปียโนเป็น(ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนยาวนาน)  สำหรับคนส่วนใหญ่เปียโนเป็นได้อย่างเก่งเพียงเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านชิ้นใหญ่ 

ด้วยวิธีคิดนอกกรอบ  ยามาฮ่ามองเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้เปียโนเป็นเครื่องดนตรีสำหรับคนส่วนใหญ่ จึงลงมือค้นคว้าวิจัยโดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับเสียงในวิชาฟิสิกส์  จนสามารถพัฒนาอุปกรณ์อีเลคทรอนิค(Disklavier™)ช่วยให้การเล่นเปียโนง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก โดยการบันทึกเสียงขณะเล่น แล้วสะท้อนกลับให้ผู้ฝึกได้ยิน  รวมทั้งสามารถบันทึกและเล่นเสียงเปียโนของมืออาชีพ ให้เลียนแบบ    ความรู้ใหม่ซึ่งอยู่เบื้องหลังDisklavier™ ได้กลายเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาเปียโนในปัจจุบันและเปิดศักราชใหม่ของการเรียนเล่นเปียโนอย่างแพร่หลายกว่ายุคก่อนๆ

เช่นเดียวกัน walkman ของโซนี่  ที่วิวัฒนาการมาเป็น iPod ของแอปเปิล ก็เป็นตัวอย่างเน้นย้ำคุณค่าของการบูรณาการสรรพศาสตร์

ถ้าวงการพัฒนาสุขภาพชุมชน เปิดใจกว้างและเพิ่มความเพียรที่จะบูรณาการสรรพศาสตร์  การตั้งต้นจากความรู้เชิงคุณภาพ ก็อาจได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เป็นความรู้เชิงปริมาณได้ดังตัวอย่างในรูป  ในทางกลับกันการตั้งต้นจากความรู้เชิงปริมาณก็อาจต่อยอดด้วยความรู้เชิงคุณภาพ กลับไปกลับมาเป็นวงจรหมุนเวียนต่อเนื่องไม่รู้จบ

หัวใจสำคัญประการหนึ่ง อาจได้แก่การเตรียมความพร้อมที่จะคิดใหม่ ทำใหม่อย่างแตกต่าง เหมือนกับที่ Sir Alexander Flaming ได้แสดงแบบอย่างของการคิดแบบมองต่างมุมจึงพลิกผลการทดลองเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียอันล้มเหลวให้กลายเป็นการค้นพบเพนนิซิลิน ...ปฏิชีวินะขนานแรกของโลก   สมดังวจีของหลุยส์ พาสเตอร์ที่กล่าวไว้ ในทำนองว่า  “Opportunity only favors prepared mind”

หมายเลขบันทึก: 412404เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2010 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท