สายใยข้อมูลในระบบบริการสุขภาพไร้รอยต่อ


seamless health care หรือ บริการสุขภาพไร้รอยต่อ  เป็นภาพฝันหนึ่งที่เชื่อว่า ใครๆก็อยากเห็น  เพราะ ในแง่มุมหนึ่ง บริการไร้รอยต่อคือการทำให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการระดับใด และผู้รับบริการ เข้าถึงข้อสนเทศชุดเดียวกัน นำไปสู่การรับรู้ตรงกัน อันเป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งของการบรรลุการกระทำร่วมกันเพื่อในที่สุด คนไข้มีสุขภาพดี และ ทรัพยากรถูกใช้อย่างเหมาะสม 

แล้ว ความจริงกับภาพฝันต่างกันแค่ไหน    เป็นไปได้จริงหรือว่า ภาพฝันนั้นไม่ไกลเกินเอื้อม ถ้าจะไปให้ถึงภาพฝันควรมีแนวทางอย่างไร

ในความรับรู้อันจำกัด ผู้เขียนเชื่อว่า ความจริงกับภาพฝันต่างกันยังห่างไกลกันลิบลับ ถ้ามองภาพทั่วไปของระบบบริการสุขภาพไทยปัจจุบัน  ดูอย่าง เช่น

  • ในรพ.เดียวกัน หมอหลายคนดูคนไข้คนเดียวกัน ยังแทบจะไม่ได้คุยกันเลย 
  • เพื่อนแพทย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า แพทย์ในรพ.ที่เขาทำงานอยู่ ต้องดิ้นรนตามลำพังเพื่อประสานแพทย์และบุคลากรในฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคุณแม่ซึ่งป่วยด้วยหลอดเลือดสมองอุดตันเฉียบพลัน จึงสามารถช่วยให้คุณแม่ได้รับการรักษาที่เพียงพอและทันเวลาจนไม่ต้องเป็นอัมพาต 
  • คนไข้ที่ถูกส่งตัวจากรพ.หนึ่งไปยังอีกรพ.หนึ่ง อาจต้องตอบคำถามที่ไม่จำเป็นซ้ำหลายครั้ง ถูกเจาะเลือด เจาะไขสันหลัง ตรวจเอกซ์เรย ซ้ำ เพราะการส่งตัว ไม่ได้มีข้อมูลใดๆตามมาด้วยยกเว้นใบส่งตัวที่มักจะไม่มีรายละเอียดเหมาะสมเพียงพอต่อการตัดสินใจดูแลรักษา
  • ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม  ภาพฝันนั้นน่าจะไม่ไกลเกินเอื้อม  เมื่อได้สัมผัสกับ"ของจริง" ในที่ที่มีกำลังคนและกำลังทรัพย์จำกัด เช่น ที่อำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี

ที่นี่ ผมได้เห็นตัวอย่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่แพทย์/พยาบาลรพ.แก่งคอย พยาบาลประจำสถานีอนามัยบ้านป่าในเครือข่ายอำเภอแก่งคอย หรือแพทย์/พยาบาลรพ.สระบุรี อำเภอเมือง สามารถมองเห็นข้อมูลคนไข้รายเดียวกันที่ส่งต่อภายในเครือข่ายได้พร้อมๆกันตลอดเวลา   ทุกคนจึงรู้ว่า คนไข้ป่วยเป็นอะไร กำลังได้รับยาอะไร จำนวนเท่าใด ผลการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะเป็นอย่างไร ล่าสุดความดันเลือด เป็นเท่าใด อย่างนี้เป็นต้น  ในขณะเดียวกันก็มีระบบป้องกันการเข้าถึงข้อมูลคนไข้โดยผู้ไม่เกี่ยวข้อง ระบบสำรองข้อมูล ระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อให้แน่ใจว่า ฐานข้อมูลกลางจะทำงานได้ไม่สะดุด มีโปรแกรมเมอร์คอยดูแลระบบข้อมูลให้ทันสมัยตรงใจผู้ใช้ และทำงานราบรื่นสม่ำเสมอ

ระบบสารสนเทศที่เล่ามานี้ ตั้งต้นที่รพ.แก่งคอย ซึ่งเป็นรพ. 60 เตียง แปลว่ามีเงินและคนจำกัดอย่างมากเมื่อเทียบกับรร.แพทย์หรือ รพ.ใหญ่ตามเมืองต่างๆ  แต่ด้วยการมองการณ์ไกล ความมุ่งมั่น ความริเริ่มของนพ.ประสิทธิชัย ผู้อำนวยการรพ.แก่งคอย ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ทีมงานของรพ.และสถานพยาบาลเครือข่ายก็ค่อยๆพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่ดูเหมือนไกลเกินเอื้อมให้ปรากฎเป็นจริง และจะสืบสานต่อไป

การได้เห็นข้อมูลคนไข้ร่วมกันทำให้แพทย์ รพ.แก่งคอยรู้ว่า คนไข้ที่ส่งไปรักษาต่อที่สถานีอนามัยได้รับยาเหมาะสม เพียงใด ผลการรักษาเป็นเช่นไร ควรจะเพิ่มพูนความรู้อะไรเพิ่มเติมให้สถานีอนามัย  พยาบาลที่สถานีอนามัยที่ส่งคนไข้มารพ.แก่งคอยก็ได้รับรู้ว่าแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าอย่างไร รักษาอย่างไร ย่อมช่วยให้พยาบาลได้เรียนรู้ไปในตัว

ไม่เพียงในระดับอำเภอที่ใช้ข้อมูลคนไข้ร่วมกัน  การส่งคนไข้ไปมาระหว่างรพ.แก่งคอยกับรพ.สระบุรีก็มองเห็นข้อมูลร่วมกัน จึงช่วยลดความซ้ำซ้อนในการหาข้อมูลที่ไม่จำเป็นจากคนไข้อีก ไม่ต้องตรวจเลือด หรือเอกซเรยซ้ำ  ที่สำคัญคือ ในกรณีฉุกเฉิน พอคนไข้ส่งต่อจากรพ.แก่งคอยมาถึงรพ.สระบุรีก็สามารถดูแลต่อได้อย่างรวดเร็ว 

นพ.ประสิทธิ์ชัย เล่าให้ฟังว่า ที่ห้องฉุกเฉินรพ.สระบุรี มีกล้องเวปแคมที่ซูมภาพได้ ทำให้หมอที่รพ.แก่งคอยสามารถมองเห็นการดูแลคนไข้ที่ส่งต่อไปได้  เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ร่วมกันอย่างน่าสนใจ  ทำนองเดียวกัน พยาบาลที่สถานีอนามัยก็สามารถติดต่อปรึกษาคนไข้ผ่านกล้องเวปแคมกับแพทย์ที่รพ.แก่งคอยได้ตลอดเวลา นอกเหนือจากการคุยกันทางโทรศัพท์หรืออีเมล

ไม่เพียงประโยชน์โดยตรงด้านการดูแลรักษาพยาบาล ระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงถึงกันนี้ยังช่วยให้แต่ละหน่วยงานย่อยในรพ.แก่งคอย และแต่ละสถานีอนามัยสามารถสกัดความรู้จากระบบไปใช้ในการวางแผน การพัฒนางาน การระดมความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก เช่น ที่สถานีอนามัยบ้านป่าได้นำผลการให้บริการไปใช้ประกอบการนำเสนอขอทุนจากผู้บริหารโรงงานปูนซิเมนต์  และจากอบต. เป็นต้น

เรื่องราวข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาระที่ผมได้รับรู้จากการฟังบรรยายประกอบสไลด์ของทีมงานรพ.แก่งคอยและสถานีอนามัยบ้านป่า  ซึ่งนับเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจติดตามเรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ในอำเภอและจังหวัดอื่น

เชื่อว่า การวิจัยอย่างเป็นระบบจะยิ่งทำให้เห็นและเข้าใจที่มา ที่ไปในรายละเอียดที่ลึกซึ้ง จนได้ความรู้ที่มีน้ำหนักทางวิชาการมากยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ในทางขยายผลให้กว้างต่อไป  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

หมายเลขบันทึก: 412399เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่รพ.ศรีสะเกษมีระบบบริการไร้รอยต่อมาตั้งแต่ปี2550 เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยในระบบส่งต่อในฐานข้อมูลเดียวกันทั้งเครือข่ายและเชื่อมโยงกันทั้งจังหวัดศรีสะเกษด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท