เรียนรู้กับงาน ๒ ทศวรรษ ฮักเมืองน่าน สู่คนน่านจัดการตนเอง


“ฮักเมืองน่าน เริ่มต้นจากเจตจำนงของคนเมืองน่าน ที่จะทำงานแทนคุณแผ่นดินถิ่นเกิด โดยมุ่งหมายพัฒนาความสามารถของคนเมืองน่านในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและปลุกสร้างสำนึกในฐานะคนต้นน้ำให้มีความสำคัญต่อเส้นชีวิตของประเทศไทย ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องดูแลรักษาต้นน้ำ โดยใช้ภูมิปัญญาการจัดการท้องถิ่น การประสานพลังวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน”

"วงมะแคว้ง" สะล้อ ซอ ปิน เยาวชนบ้านดอนมูลพัฒนา

สองพิธีกรคู่ขวัญ หนานนิท และดีเจอ้อม

“ฮักเมืองน่าน” ก่อตั้งมาครบรอบ ๒๐ ปี ในปีนี้ มูลนิธิฮักเมืองน่าน และเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัดงาน “๒ ทศวรรษ ฮักเมืองน่าน สู่คนน่านจัดการตนเอง” ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ ลานโพธิ์ลานไทรวัดอรัญญาวาส อันที่ตั้งของมูลนิธิฮักเมืองน่าน เครือข่ายน้อยใหญ่ต่างๆ ได้นำเอาบทเรียน ผลงาน และผลผลิตจากการทำงานมาแลกเปลี่ยน แบ่งปันกันและกัน เป็นการย้ำเจตนารมย์ของฮักเมืองน่านในการที่จะสร้างสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด สร้างกระบวนการเรียนรู้ในการที่จะจัดการตนเอง

พระครูพิทักษ์นันทคุณ เล่าเรื่องฮักเมืองน่าน

นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร (ที่ปรึกษาประชาคมน่าน) นายเสนีย์ จิตเกษม (ผวจ.น่าน) นายภิญโญ ทองชัย ประธานมูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย

ผู้คนหลากหลายเครือข่าย

อ.สุภาวดี วาทิกทินกร นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์ พ่อปั๋น อินหลี

มีเครือข่ายต่างๆ ร่วมจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย อาทิเช่น เครือข่ายป้องกันยาเสพติด, เครือข่ายการจัดสังคม,สวัสดิการและองค์กรการเงิน, เครือข่ายเกษตรและสิ่งแวดล้อม,เครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง, เครือข่ายเด็กและเยาวชน, เครือข่ายสื่อภาคประชาชน, เครือข่ายบ้านมั่นคง, เครือข่ายสุขภาพ, เครือข่ายพระสงฆ์, และอื่นๆ อีกมากมาย

พิธีสู่ขวัญข้าว

เครือข่ายครอบครัวเข้มแข็ง

ฝึกทำของเล่นทำมือ

ฝึกฝีมืองานประดิษฐ์ประดอย

ขยะรีไซเคิล

วิทยุคลื่นขยายความดีเยาวชนตำบลถืมตอง

ทีมสื่อภาคประชาชน "เยาวชนต้นกล้าฝัน"

แหล่งเรียนรู้ฮักเมืองน่าน

ผลงานรางวัลของเครือข่าย

ถนนสายวัฒนธรรมและกาดหมั้วครัวฮอม

ศิลปินพื้นบ้านจากน้ำเี๋กี๋ยน ซออย่างม่วน

จับจ่ายซื้อของพื้นบ้านในกาดหมั่วคัวฮอม....หลากหลายผลผลิตจากหัวไร่ปลายนา

กลองสะบัดชัย ของกลุ่ม ฒ เมืองยม อ.ท่าวังผา

รำกลองยาวของเยาชนอรัญญาวาส

การแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านจากเครือข่ายต่างๆ

และอื่นๆ อีกมากมาย

งานนี้ได้ทั้งความรู้ ได้พบปะเครือข่าย ได้รื่นเริง ได้กิน ได้จับจ่ายใช้สอย และได้ความสุข

การแสดงของเยาวชน รร.ศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์

การแสดงของสมัชชาเยาวชนชาวไทยภูเขา

...........................................................

๒๐ ปีฮักเมืองน่าน

กลุ่มฮักเมืองน่าน ได้ก่อเกิดขึ้นมา ด้วยสาเหตุมาจากเมื่อก่อนทรัพยากรดิน น้ำ ป่าถูกทำลายลงมาก ภูเขาก็มีแต่ภูเขาหัวโล้น ดินพังทลาย แม่น้ำแห้งขอด ตื้นเขิน มีการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองมาก เกิดการแย่งน้ำเข้านา เกิดปัญหาทะเลาะกันระหว่างชาวบ้าน ปัญหาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีองค์กรชาวบ้านได้รวมตัวกันกันอยู่หลายแห่ง เพื่อช่วยกันดูแลป่าดูแลน้ำ แลกเปลี่ยนแก้ไขปัญหาที่ได้ประสบ เช่น ตำบลศิลาแลง อำเภอปัว, กลุ่มบ้านหลวงหวงป่า อำเภอบ้านหลวง รวมตัวกันจัดการเรื่องป่า, บ้านดอนแก้ว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา ได้รวมตัวกันกันเขตอภัยทานเพื่อเป็นเขตให้ปลาได้แพร่พันธุ์ และมีกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่รวมตัวกันทำกิจกรรมในพื้นที่ของตนเองอยู่ตามพื้นที่อำเภอต่างๆ

ในขณะเดียวกันในต่างจังหวัดก็มีข่าวออกทางสื่อต่างๆ เช่น พระครูมานัสนทีพิทักษ์ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ได้ต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์แม่น้ำแม่ใจอย่างสันติวิธี, หลวงพ่อประจักษ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประท้วงต่อสู้นายทุนที่เข้ามาสัมปทานป่าเพื่อปลูกป่ายูคาลิปตัส, พระส่ง วัดพระนอน จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการกันเขตอภัยทานหน้าวัดอนุรักษ์ปลาแม่น้ำท่าจีน, จังหวัดนครนายก มีการอนุรักษ์ป่าเขาใหญ่, โคราช มีการประหยัดน้ำ และอีกหลายๆ แห่งได้มีบทเรียนในการทำงานด้านการฟื้นฟูทรัพยากรป่า รักษาแม่น้ำ การจัดการคน และได้ผลดีซึ่งแนวคิดเหล่านี้ล้วนจึงน่าสนใจ รวมทั้งข่าวเหตุการณ์พายุเกย์ถล่มปักษ์ใต้ โคลนถล่มบ้านเรือนผู้คน เมื่อได้ทราบข้อมูลเหล่านี้พระครูพิทักษ์นันทคุณก็ได้เดินทางไปศึกษาข้อมูลในพื้นที่เหล่านั้นด้วยตนเอง แล้วถ่ายรูปนำมาให้ชาวบ้านได้ดู เช่น ไปศึกษาเรียนรู้กับพระครูมานัสที่พะเยา ไปศึกษากับหลวงพ่อประจักษ์ที่บุรีรัมย์ ไปดูพระส่งที่สุพรรณบุรี ไปนครนายกไปดูเขาใหญ่ ไปโคราชไปดูอำเภอบัวใหญ่ อำเภอที่แห้งแล้งที่สุด ไปดูชาวบ้านอาบน้ำแบบประหยัดรวมกันหลายคน น้ำที่อาบเสร็จก็เอามารดน้ำต้นไม้ รดผัก ไปดูหมู่บ้านที่โดนพายุเกย์ถล่ม เมื่อกลับมาก็ได้เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกับคนน่านที่ทำงานด้านอนุรักษ์ในตอนนั้น ทั้งนายสำรวย ผัดผล, นายอรุณ ปัญญา, อาจารย์ประทีป อินแสง, องค์กรเอกชนต่างๆ ทั้งในน่านและต่างจังหวัด มาจัดเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมืองน่าน นำเอาวิธีการต่างๆของแต่ละพื้นที่มาประยุกต์ใช้ รวมทั้งได้ไปชักชวนพ่อปั๋น อินหลี, พ่อสมาน ค่ายอาจ, พ่อเสวียน สองสีขวา, พ่อเสริม ต๊ะแก้ว, พ่อกำนันทองผล มหาวงศนันท์, กลุ่มบ้านน้ำเกี๋ยน, กลุ่มคนบ่อว้าแม่จริม ที่ทำกิจกรรมอย่างลับๆ และผู้ที่ถูกต่อต้าน ถูกลอบยิงที่อำเภอสันติสุข เพราะไปขัดกับนายทุน ก็รวมตัวกัน ซึ่งท่านเหล่านี้มีจิตใจและเป้าหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งพระ นักวิชาการ แกนนำชาวบ้าน ลูกหลานชาวบ้าน จนร่วมกันก่อตั้งเป็น “กลุ่มฮักเมืองน่าน” ขึ้น ก็มีการจัดสัมมนาชาวบ้าน พระ ข้าราชการ ทั้งเครือข่ายต่างจังหวัดที่เคยไปศึกษาดูงานก็มาร่วมกันเล่าประสบการณ์ แลกเปลี่ยนกัน มาร่วมกันประยุกต์ใช้ เริ่มต้นที่เรื่องป่า นำเอาพื้นที่ที่ดำเนินการได้ดีแล้วมาริเริ่ม

เนื่องจากในหลายพื้นที่ที่ชุมชนได้ดำเนินงานเรื่องการอนุรักษ์ป่ามาแล้ว แต่พบกับปัญหาทั้งผู้มีอิทธิพลและคนของรัฐ เช่น พื้นที่บ้านหลวง ชุมชนลุกขึ้นมาปกป้องป่าของชุมชน ในสมัยนั้นทางการได้ของบพัฒนาให้กับอำเภอบ้านหลวงเพื่อแลกกับการสัมปทานป่า แต่ชาวบ้านบ้านหลวงไม่ยินยอม แม้ว่าทางการจะข่มขู่เพื่อจับกุมถ้าขัดขวางการสัมปทานป่า แต่ชาวบ้านหลวงก็ไม่ยินยอม แต่จะยอมถูกจับทุกคนทั้ง 4 ตำบล จนทำให้ทางการยินยอมยกเลิกการสัมปทานป่าในที่สุด จึงเหลือป่าบ้านหลวงมาจนทุกวันนี้ พระครูพิทักษ์นันทคุณก็ได้นำเอาเรื่องดีดีอย่างนี้มาเล่าให้ชาวบ้านฟัง เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่า

ซึ่งในขณะนั้นบ้านกิ่วม่วง (บ้านเกิดของพระครูพิทักษ์นันทคุณ) ก็ได้มีการสัมปทานป่าไม้เช่นกัน แต่ชาวบ้านก็เข้าไปรับจ้างตัดไม้ พอนายทุน และศูนย์อพยพ จนกระทั่งข้าวโพดเข้ามาต่ออีก ชาวบ้านก็พากันปลูกข้าวโพด จนมีคำพูดบอกว่า “ข้าวโพดไปถึงที่ไหนภูเขาหัวโล้นไปถึงที่นั่น ถนนไปที่ถึงไหนป่าหมดที่นั่น ไฟฟ้าไปถึงที่ไหนหนี้สินไปถึงที่นั่น …..ไปถึงที่ไหนอบายมุขไปถึงที่นั่น” พระครูพิทักษ์นันทคุณจึงเริ่มชักชวนชาวบ้านฟื้นป่าคืนมา แบ่งเขตกันรับผิดชอบดูแลรักษา ปลูกต้นไม้ทดแทน ทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า ค่อยๆ ฟื้นป่าให้กลับคืนมา

ในปี พ.ศ.2533 หลังจากที่กลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มพระสงฆ์ กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มลูกหลานชาวบ้านได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนการเรียนรู้และร่วมกิจกรรมกันในบางโอกาส จึงเกิดการรวมตัวกันขึ้นเพื่อจัดการบวชป่าชุมชน ขึ้นเป็นครั้งแรกของจังหวัดน่านที่บ้านกิ่วม่วง ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข (บ้านเกิดของพระครูพิทักษ์นันทคุณ) ซึ่งในช่วงนั้นที่วัดอรัญญาวาสก็ได้ริเริ่มเพาะกล้าไม้ โดยใช้ถุงพลาสติกที่พระเณรไปบิณฑบาตมาล้างและเจาะรูเพาะกล้าไม้แจกให้ชาวบ้านนำไปปลูกด้วย หลังจากนั้นพิธีกรรมบวชป่าได้เป็นที่สนใจของคนทั่วไป ทั้งในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่นมีการติดต่อประสานงานด้านแนวคิด และมีการสนับสนุนเงินทุนต่างๆ เข้ามายังกลุ่มมากมาย กลุ่มจึงเห็นพร้องต้องกันว่าน่าจะมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง จึงได้ก่อตั้งเป็นองค์กรชื่อว่า “กลุ่มฮักเมืองน่าน” ขึ้นมาโดยมีศูนย์ประสานงานอยู่ที่วัดอรัญญาวาส อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

และปี พ.ศ.2534 บวชป่าเป็นครั้งที่ 2 ที่ป่าขุนน้ำพงษ์ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสำคัญของอำเภอสันติสุข โดยการร่วมมือของกำนันทุกตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน โดยการประสานของนายอรุณ ปัญญา มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูป่า โดยของบประมาณจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีการตั้งคณะกรรมการดูแลป่า มีการเดินดูป่าทุกเดือน ถ้าไปเจอไม้ก็จะยึดไม้ เจอเลื่อยก็จะยึดเลื่อย แม้ว่าจะถูกขู่ฆ่า ทำลาย ก็ไม่ย่อท้อ ต่อสู้จนปัจจุบันป่าผืนแห่งนี้ได้รับการประกาศเป็นป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติในหลวงและเป็นป่าผืนเดียวที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ในอำเภอสันติสุข

หลังจากนั้น พระครูพิทักษ์ และแกนนำ ก็ได้ออกตะเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อไปส่งเสริม ให้คำแนะนำ เรื่องการอนุรักษ์ป่า ช่วยกันออกกฎข้อบังคับ พาไปดูงาน ใช้สื่อให้เห็นภาพ ได้นำเอาภาพถ่ายภาคอีสานที่แห้งแล้ง แผ่นดินถล่มปักษ์ใต้มาเล่าให้ชาวบ้านฟัง สร้างจิตสำนึกว่า “เมืองน่านเป็นเมืองป่าต้นน้ำต้องช่วยกันดูแลรักษา ภาคอีสานแม้จะแห้งแล้งแต่ยังสามารถเจาะน้ำบาดาลได้ แต่เมืองน่านถ้าแห้งแล้งเจาะบาดาลก็จะเจอแต่หินเพราะเมืองน่านมีภูมิประเทศเป็นป่าเขา ภาคใต้โคลนถล่มบ้านเรือนเสียหาย แต่ถ้าเกิดที่เมืองน่านถ้าโคลนถล่มก็อาจจะโดนจนมิด เพราะภูเขาสูง” พระครูพิทักษ์ได้เอาเรื่องราวต่างๆ มาเปรียบเทียบถึงความยากลำบากของคนต่างๆ นำเอาวีดีโอ ภาพถ่ายการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์น้ำมาให้ชาวบ้านได้ดู แล้วชักชวนกันอนุรักษ์และบวชป่า ทำอย่าฃต่อเนื่องหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอ

ปี 2535 พระปลัดสงวน จารุวรรณโน ในสมัยนั้นได้รับยศเป็น “พระครูพิทักษ์นันทคุณ” จึงมีแนวคิดการจัดงานฉลองพัดยศ โดยมีแนวคิดที่จะสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์แม่น้ำน่าน จึงร่วมกับพ่อกำนันทองผล มหาวงศนันท์ รวมตัวนิสิตนักศึกษาร่วมกันออกเก็บข้อมูลตลอดลำน้ำน่านตั้งแต่ต้นน้ำน่านอำเภอบ่อเกลือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เรื่อยลงมาจนถึงเขื่อนสิริกิติ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ในสมัยนั้นมีการทิ้งขยะลงในแม่น้ำกันมาก ทำให้มีขยะตกค้างตามริมน้ำ แม่น้ำตื้นเขิน ดินทรายพังทลาย ซึ่งการออกเก็บข้อมูลในครั้งนี้ทำให้ได้ข้อมูลเป็นจำนวนมาก และในระหว่างทางที่เก็บข้อมูลหากว่าผ่านชุมชนใดก็ชักชวนให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลอนุรักษ์แม่น้ำและป่าต้นน้ำ ไม่ให้ทิ้งขยะลงแม่น้ำ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาจัดเตรียมงานฉลองพัดยศที่ลำน้ำน่าน บริเวณข้างโรงพยาบาลน่าน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ หน่วยงานต่าง ๆ โรงพยาบาลน่าน ชาวบ้านในละแวกนั้น ชุมชนต่างๆ มาช่วยกันจัดกิจกรรม โดยจัดกิจกรรม 2 วัน วันแรกเป็นขบวนแห่พัดยศ เครื่องสืบชะตาจากวัดอรัญญาวาสไปยังบริเวณงาน โดยที่ชุมชนต่างๆ ก็จัดผ้าป่ามาร่วมแห่ด้วย ในภาคบ่ายก็ได้มอบโล่รางวัลให้กับหมู่บ้านที่ดำเนินการอนุรักษ์ป่า อนุรักษ์แหล่งน้ำ วัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ ตามที่เราได้เก็บข้อมูลมา ส่วนภาคกลางคืนก็จัดงานขันโตกเชิญเอาแขกมาร่วมงานทั่วประเทศ มีการจัดงาน 4 ภาค เข้าร่วมแสดง ภาคอีสานก็นำลำลาว โปงลางมาแสดง ภาคใต้ก็นำมโนรามาแสดง ภาคเหนือ แพร่ เชียงใหม่ พะเยา เชียงรายก็มาร่วม โดยจังหวัดน่านก็มีการแสดงซอล่องน่าน โดยพ่อครูคำผาย นุปิง ศิลปินแห่งชาติ ในการจัดงานครั้งนั้นทำให้ได้รับงบสนับสนุนการอนุรักษ์น้ำน่าน จำนวน 10,000 บาท จากอาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ (บางกอกฟอรั่ม) และยังมีการบอกบุญไปยังร้านค้า ชุมชน ในการจัดข้าวปลาอาหารช่วยเลี้ยงแขกผู้มาร่วมงาน วันที่สองก็เป็นการทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำน่าน โดยนิมนต์พระสงฆ์มากว่า 200 รูป ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าคณะจังหวัด ราชการ ประชาชน ทั้งในและจากต่างจังหวัด รวมทั้งนักพัฒนา นักวิชาการ สื่อมวลชนต่างๆ มีการร่วมถวายทานผ้าป่าพันธุ์ปลา ปล่อยปลา แจกกล้าไม้ให้ชาวบ้านไปปลูก และหาทุนตั้งกองทุนอนุรักษ์แม่น้ำน่าน โดยครั้งนั้นได้เงินมากว่า 2 แสนบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ปรากฎว่าเหลือเงินจำนวนหนึ่งแสนแปดหมื่นกว่าบาทก็ได้นำมาจัดตั้งกองทุน และจากนั้นก็ได้เริ่มจัดทำโครงการของบจากหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ เพื่อทำกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ งบกิจกรรมที่เหลือจากการดำเนินงานก็นำเอามาสมทบเป็นกองทุน ทำมาอย่างต่อเนื่อง และขยายออกไปในชุมชนต่างๆ

ปี พ.ศ.2541 จึงได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิฮักเมืองน่าน มีการขยายงานจากป่าสู่น้ำ น้ำสู่เกษตร ไปสู่ผู้สูงอายุ สุขภาพ หมอยาพื้นบ้าน การประคบ การนวด สมุนไพร กิจกรรมเยาวชน ยุวเกษตร การส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น เครือข่ายศิลปินพื้นบ้าน กลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ เครือข่ายพระสงฆ์ เครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ เครือข่ายป้องกันยาเสพติด สื่อวิทยุ สมัชชาเยาวชนชาวไทยภูเขา เกิดการขยายเครือข่ายต่างๆมากมาย จนมีเครือข่ายเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย มีกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทุกอำเภอ สานเกี่ยวกันเป็นเครือข่ายฮักเมืองน่านมาจนทุกวันนี้

.......................................................................

ที่มา : พระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน

บรรยายการประชุมติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อฟื้นฟูต้นน้ำน่าน

วันที่ 7 สิงหาคม 2547 ณ ห้องประชุม วิทยาลัยสารพัดช่างน่าน

หนังสือ “กว่าทศวรรษ บนเส้นทางการเรียนรู้ฮักเมืองน่าน”

หมายเลขบันทึก: 411827เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2010 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2015 16:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พ่อน้องซอมพอ

เมืองน่านเปิ้นมีกิจกรรมดีๆมากมายเลย  ชื่นชมๆๆๆเจ้า

 

ยังคงติดตามให้กำลังใจเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท