ทศวรรษแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : ปฏิบัติเป็นหลัก...


กว่าสิบปีที่ผ่านมาที่ข้าพเจ้าได้เห็นการปฏิวัติการเรียนการสอนทั้งในห้องและนอกห้องของเมืองไทย จากเดิมที่ส่วนมากเป็นการบรรยายได้กลายมาเป็น "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้..."

จนกระทั่งมาถึงวันนี้ ข้าพเจ้าได้เริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นเกิดผลดีจริง ๆ กับการศึกษาไทยหรือไม่...?

คำตอบที่ข้าพเจ้าได้รับในเบื้องต้นนั้น ข้าพเจ้าพบว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีประโยชน์อย่างมหาศาลกับ "ผู้ปฏิบัติ"

คนที่ทำงาน คนที่อยู่หน้างานจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงาน หรือชุมชน จากเดิมที่เคยแต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ได้มีโอกาสใช้งบประมาณจากหน่วยงานราชการที่ประสานให้คนแต่ละที่ แต่ละแห่งได้มาพบหน้าคร่าตากัน ได้มีโอกาสคุยกัน ใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ มากมายมา "แชร์" ความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge) ให้แก่กันและกัน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต่อยอดความคิดให้กับนักปฏิบัติ สามารถนำไปพินิจพิจารณาสร้างสรรค์ผลงานให้กับตัวเองและชุมชนได้อย่างเอนกอนันต์

แต่ในอีกคำตอบหนึ่งนั้น ข้าพเจ้าได้พบว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้นำพาคนที่เคยปฏิบัติงาน ออกจากหน้างาน แล้วมุ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสำคัญ

จาก Trend หรือกระแสนิยมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เริ่มมีแพร่หลายในวงกว้าง เทคนิคการจัดกิจกรรมก็มีการคิดค้นกันอย่างมากมาย ทำให้คนที่จัดกิจกรรมในยุคต้น ๆ นั้นเป็นที่ต้องการของตลาด

หลาย ๆ คนยึดเป็นอาชีพ หลาย ๆ คนอุทิศตนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

กระแสความนิยมนี้ เกิดขึ้นทั้งกับผู้นำและผู้ตาม

ผู้นำคือ วิทยากร และผู้ตามคือ ผู้เข้าร่วมอบรม

ผู้นำ มีงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงเจ็ดวันต่อสัปดาห์ ผู้ตามก็เริ่มที่จะไม่ได้ทำงานเพราะผู้บริหารเน้นสร้างผลงานด้วยการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้"

สองคำตอบแรกที่ข้าพเจ้าได้พบนั้นเกิดจากผู้ปฏิบัติ ที่กลุ่มหนึ่งใช้เวลาว่างจากการทำงาน ห้าเปอร์เซ็นต์ สิบเปอร์เซ็นต์ หรือไม่ก็มีโอกาสจากหน่วยงานราชการสัปดาห์ละครั้งบ้าง เดือนละครั้งบ้าง หรือปีละครั้งบ้าง มีงบประมาณค่ารถ ค่าเรือ ค่าอาหาร ค่าห้องประชุมมานั่งคุยกัน แชร์กัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน อันนี้ถือเป็นความสำเร็จอันใหญ่หลวงจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

แต่ในอีกทางหนึ่ง ผู้ปฏิบัติที่จากเดิมเคยทำงานดี ทำงานเก่ง ทำงานมาก ก็ต้องละจากงานนั้น บางคนไม่มีโอกาสได้ทำ หรือมีเวลาทำน้อยกว่าเวลาพูด เมื่อพูดมาก ปฏิบัติน้อย ความรู้ฝังลึกที่เคยมีมาก็จะร่อยหรอลงเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งก็อาจจะไม่เหลือหางไว้ให้จับ

ในทางที่สามที่น่าเป็นห่วงก็คือ บุคคลที่ไม่เคยปฏิบัติ โดยเฉพาะ นักเรียน นักศึกษา ที่ไม่เคยปฏิบัติมา มาถึงก็ต้องมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน

เมื่อต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยปฏิบัติ สิ่งที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นจึงไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่ประสบการณ์ แต่เป็น "จินตนาการ" หรือการแลกเปลี่ยนความคิด

ในปัจจุบันนักเรียน นักศึกษา หรือแม้กระทั่งนักวิชาการแลกเปลี่ยนจินตนาการมากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เรากำลังเข้าสู่ยุค "การแลกเปลี่ยนจินตนาการ" กันหรือไม่...? ถ้าปล่อยให้การพูดสำคัญกว่าการปฏิบัติ

เป็นคำถามที่ต้องฝากไว้เพื่อหาคำตอบในทศวรรษต่อไป


สัดส่วนที่ข้าพเจ้าทดลองปฏิบัติกับตนเองแล้วคิดว่าได้ผลคือ จากร้อยส่วน ปฏิบัติ 95 ส่วน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5 ส่วน

หรือถ้าเป็นช่วงเวลา ก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทุก ๆ กึ่งเดือน เวลาที่เหลือให้ปฏิบัติมาก ๆ

หรือด้วยเหตุผลกลใด งานในสาขาวิชาชีพใด ๆ ก็ตาม ขอให้เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานประจำมีสัดส่วนมากกว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

บางคนสมัยนี้อาจจะเข้าใจไปเลยว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นงานประจำ ถ้าเราทำกันมากเกินไป

งานประจำนั้นคืออะไร...?

งานประจำนั้นคือ พันธกิจ วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ขององค์กร สิ่งนี้เราต้องปฏิบัติให้มาก ปฏิบัติมากแล้วมีเวลาจึงมา "แลกเปลี่ยนเรียนรู้"

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะมีผลมากเมื่อเราทำงานประจำมากเท่านั้น

หากไม่ทำงานประจำเลย เราจะเอาอะไรมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

เด็ก ๆ นักเรียน นักศึกษา จะเอาเรื่องราวอะไรต่าง ๆ มาจินตนาการกันนักหนา

ทำได้ก็ต้องไปศึกษาจากทีวีบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ฟังคนโน้นคนนี้พูดบ้าง

การแลกเปลี่ยน Explicit knowledge เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบ เพราะต่างคนก็ต่างคิด ต่างคนก็ต่างจินตนาการ "พูดได้แต่ทำไม่ได้..."

ถ้าอยากให้เด็กแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้องให้เด็กไปทำงาน สั่งงานเด็กไปทำมาก ๆ ทำแล้วจึงนำสิ่งที่เคยทำมานั้นมาพูดกัน แลกเปลี่ยนกัน

ต้องเรียงลำดับให้ถูก ทำก่อนถูกพูด ปฏิบัติก่อนแล้วจึง "แลกเปลี่ยนเรียนรู้"

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การปฏิบัตินั้นสำคัญมากกว่า

อย่าพึงเข้าใจว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือทุกอณูของการปฏิบัติงาน...

ทำให้มาก ไม่ว่าผิดหรือถูก มีเวลาว่าง หรือเป็นเวลาที่หน่วยงานจัดให้ไว้ พึงนำเวลานั้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความเข้าใจ คุณคิดอย่างไรในการกระทำของฉัน...?

ขอให้มั่นคง ซื่อตรงต่อการปฏิบัติงานประจำ แล้วการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นจักนำไปสู่ความก้าวหน้าที่แท้จริง...

พึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยสิ่งที่สองมือเคยจับ และสองเท้าเคยก้าวไป

การแลกเปลี่ยนนั้นจึงจะเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างรากสร้างฐานของเมืองไทย

ที่จะก้าวไปด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง...

หมายเลขบันทึก: 411491เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2010 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท