ประวัติหลวงพ่อเพชร - ต่อ


 

ในการนมัสการองค์หลวงพ่อเพชรทุกครั้ง  จะต้องกล่าวคำบูชาองค์หลวงพ่อเพชรว่า  นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ (กล่าว 3 ครั้ง)  และต่อด้วย

“กาเยนะ  วาจายะ  เจตะสา  วา  วะชิรัง  นามะ
ปะฏิมัง  อิทธิปาฏิหาริยะกะรัง  พุทธะรูปัง
อะหัง  วันทามิ  สัพพะโส  สะทา  โสตถี  ภะวันตุ เม”

           ข้าพเจ้าขอนมัสการองค์หลวงพ่อเพชร  พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ด้วยกาย  วาจา  และใจ  ขอความสุข  ความเจริญ  จงมีแก่ข้าพเจ้าตลอดทุกเมื่อ เทอญแล้วขอพรอันประเสริฐตามที่ปรารถนาในสิ่งที่ดีงามเพื่อความสงบสุขของชีวิตและครอบครัว สาธุ  สาธุ  สาธุ

แผ่นป้ายแสดงคำบูชาองค์หลวงพ่อเพชร  
ที่มา  :  (โดยสุเทพ  สอนทิม)

3.  พุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชร 
                      หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธามากองค์หนึ่งของประเทศไทย มีพุทธลักษณะที่งดงาม มีความวิจิตรบรรจงในการสร้างโดยนักวิชาการของกรมศิลปากรได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก  หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาฏิหยัก

เป็นเขี้ยวตะขาบสั้นเหนือพระอุระ เกตุบัวตูม ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว (1.40  เมตร) สูง 3 ศอก 3 นิ้ว (1.60 เมตร) ประทับนั่งบนฐานดอกบัวบานหงายรองรับ ต่อจากฐานโลหะเป็นแท่นชุกชี หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งคือฐานชุกชี มีลวดลายปิดทองประดับกระจก 

พุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชร  พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน 
ที่มา  :  (โดยสุเทพ สอนทิม)

              จากพุทธลักษณะของหลวงพ่อเพชรที่กล่าวมาข้างต้น  สามารถนำมาอธิบายรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงประวัติของการสร้างพระพุทธรูปในยุคต่าง ๆ  และปางของพระพุทธรูปได้ดังนี้

          ปางพระพุทธรูป 

          ปางพระพุทธรูป คือ ลักษณะของรูปสมมติของพระพุทธเจ้าในอิริยาบถ (ท่าทาง) ต่างๆ  ซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อในพุทธประวัติ จากเหตุการณ์ที่สำคัญบางเหตุการณ์  นับตั้งแต่  ประสูติ  ตรัสรู้  จนถึงปรินิพพาน  ในสมัยโบราณเริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปไว้สักการะบูชาคือเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 ล่วงไปเล็กน้อย เป็นฝีมือของช่างชาวแคว้นคันธาระ  ซึ่งอยู่ในประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานปัจจุบัน  ต่อมาก็เป็นฝีมือช่างชาวเมืองมธุรา  และช่างชาวเมืองอมรวดี  ซึ่งอยู่ภาคใต้ของอินเดีย  ลักษณะของพระพุทธรูป  ทำตามพระมหาปุริสลักษณะ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา  เท่าที่ค้นพบและประมวลได้  พอจะแบ่งได้ตามแหล่งและยุคสมัยของการเกิดพระพุทธรูปในประวัติศาสตร์ได้ดังนี้

จากแค้วนคันธาระ มีอยู่ 9 ปาง คือ ปางมารวิชัย ปางปฐมเทศนา ปางอุ้มบาตร  ปางประทานพร ปางประทานอภัย ปางลีลา ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางปรินิพพาน

จากอินเดีย มีอยู่ 7 ปาง คือ ปางตรัสรู้ ปางเทศนา ปางทรมานพญาวานร ปางทรมานช้างนาฬาคีรี  ปางลีลา  ปางมหาปาฏิหาริย์  และปางปรินิพพาน

จากลังกา  มีอยู่  5  ปาง  คือ  ปางสมาธิ  ปางรำพึง  ปางลีลา  ปางประทานอภัย  และปางปรินิพพาน

สมัยทวาราวดี  มีอยู่  10  ปาง  คือ  ปางมารวิชัย  ปางสมาธิ  ปางเทศนา ปางลีลา ปางประทานอภัย  ปางประทานพร  ปางมหาปาฏิหาริย์  ปางบรรทม ปางโปรดสัตว์  และปางปรินิพพาน

สมัยศรีวิชัย  มีอยู่  6  ปาง  คือ  ปางมารวิชัย  ปางสมาธิ  ปางนาคปรก ปางลีลา  ปางประทานอภัย  และปางปรินิพพาน

สมัยลพบุรี  มีอยู่  7  ปาง  คือ  ปางมารวิชัย  ปางสมาธิ  ปางนาคปรก ปางลีลา  ปางประทานพร  ปางประทานอภัย  และปางปรินิพพาน

สมัยเชียงแสน  มีอยู่  10  ปาง  คือ  ปางมารวิชัย  ปางสมาธิ  ปางถวายเนตร ปางอุ้มบาตร  ปางลีลา  ปางเปิดโลก  ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท  ปางประทับนั่งห้อยพระบาท  ปางประทับยืน  และปางไสยา

สมัยสุโขทัย  มีอยู่  8  ปาง  คือ  ปางมารวิชัย  ปางสมาธิ  ปางถวายเนตร ปางประทับยืน  ปางประทานพร  ปางประทานอภัย  ปางลีลา  และปางไสยา 

สมัยอยุธยา  มีอยู่ 7 ปาง คือ ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางประทับยืน ปางลีลา ปางป่าเลไลย์  ปางประทานอภัย  และปางไสยา

สมัยรัตนโกสินทร์  มีอยู่ 5 ปาง  คือ ปางมารวิชัย ปางสมาธิ ปางประทานอภัย ปางขอฝน และปางไสยา

         ในรัชสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ  รัชกาลที่  3  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส  คัดเลือกพุทธอิริยาบถ จากพุทธประวัติที่น่าจะนำมาสร้างพระปางต่าง ๆ เพิ่มเติมจากของเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปประดิษฐานอยู่ในหอราชกรมานุสร  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

         ปัจจุบันมีพระพุทธรูปต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกมากรวมแล้วมากกว่า 50 ปาง มีอยู่ถึง 9 ปาง  ที่เป็นเหตุการณ์ก่อนตรัสรู้  ซึ่งตอนนั้นยังเป็นพระโพธิสัตว์  ยังไม่ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกอบด้วย ปางมารวิชัย ปางประสูติ  ปางออกมหาภิเนษกรมณ์  ปางทรงตัดพระเมาลี ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา  ปางทรงรับมธุปายาส  ปางเสวยมธุปายาส  ปางลอยถาด  และปางทรงรับหญ้าคา

         การที่ปางมารวิชัยเป็นปางที่มีอยู่ทุกสมัย และเป็นปางต้นของปางต่าง ๆมาแต่สมัยโบราณ เนื่องจากปางนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการตรัสรู้ จึงมีความสำคัญพอ ๆ กับปางสมาธิ ซึ่งเป็นปางตรัสรู้ ดังนั้นพระประธานในพระอุโบสถจะเป็นพระพุทธรูปในสองปางนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

 พระพุทธรูปปางมารวิชัย

  

 ลักษณะของพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ที่มา  :  (ชูชาติ  หิรัญรักษ์  และคณะ,  ม.ป.ป.)

      มีลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิ  คือประทับนั่งตั้งพระวรกายตรง  ดำรงสติไว้เฉพาะหน้าพระบาทขวาทับพระบาทซ้าย  พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลาหงายขึ้น  พระหัตถ์ขวาวางอยู่บนพระเพลา คว่ำพระหัตถ์  ปลายพระดัชนีชี้ลงดิน  หมายถึง   เรื่องพระพุทธประวัติเมื่อทรงอ้างพระธรณีเป็นพยานแก่พระยามาร  เครื่องประกอบ มักทำเป็นรูปยักษ์มาร  และนางแม่พระธรณีบีบมวยผม  ชาวบ้านมักจะเรียกพระพุทธรูป  ปางนี้ว่า  ปางผจญมาร  หรือปางสะดุ้งมาร    

ประวัติของปางมารวิชัย

            พระบรมโพธิสัตว์  (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม)  ได้เสด็จไปประทับใต้ต้นมหาโพธิ์ในเวลาเย็น  และนั่งสมาธิกำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนา  เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ  แต่จิตของพระองค์แทนที่จะคิดไปในทางโลกุตตรธรรม กลับหันไปคิดถึงโลกิยสุข  แต่เมื่อครั้งอยู่ครองเรือนในหนหลัง  และผู้แต่งปฐมสมโพธิกถา  ได้แสดงการผจญในโลกิยสุขของพระบรมโพธิสัตว์โดยใช้การผจญของมารเป็นสัญลักษณ์  ดังนี้ว่าเป็น  พระยาวัสสวดีมาร  ซึ่งคอยติดตามพระองค์อยู่จึงเข้าขัดขวาง  โดยขี่ช้างคิรีเมขละ  นำเหล่าเสนามารจำนวนมากเข้ามารบกวน หวังให้พระองค์เกรงกลัวจะได้ลุกขึ้นเสด็จหนีไป  แต่พระองค์ก็ยังประทับนิ่งเป็นปกติโดยมิได้ทรงหวั่นไหว  พระยามารจึงโกรธมาก  สั่งให้เสนามารกลุ้มรุมกันประหารพระองค์  พระองค์จึงทรงนึกถึงบารมี  30  ทัศ  ที่ทรงบำเพ็ญสั่งสมมาทุกชาติ โดยขอให้นางแม่พระธรณีเป็นพยาน  แม่พระธรณีจึงผุดขึ้นมาจากพื้นดิน  แล้วบิด มวยผมจนน้ำท่วม  กระแสน้ำก็พัดพาพวกเสนามารไปหมดสิ้น  พระยาวัสสวดีมาร   จึงยอมแพ้หนีไป

         ความเชื่อและคตินิยม

                      -  เป็นพระพุทธรูปประจำเดือนหก

                      -  พระปางนี้นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ  เป็นคติที่พระองค์ทรงพิชิตพระยามาร

                      -  บ้างเรียกว่าปางผจญมาร, ปางมารสะดุ้ง (ภายหลังผิดเพี้ยนเป็น ปางสะดุ้งมาร)

       ปางขัดสมาธิเพชร

      ปางขัดสมาธิเพชร  เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิไขว้พระชงฆ์  (แข้ง)  หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง  พระหัตถ์วางซ้อนกัน   บนพระเพลา  (ตัก)  พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้าย

          ประวัติของปางขัดสมาธิเพชร

                      เป็นท่านั่งสมาธิที่พระบรมโพธิสัตว์  ประทับนั่งหลังจากที่รับหญ้าคา  8  กำ  จากนายโสตถิยพราหมณ์  แล้วทรงนำไปปูใต้ต้นศรีมหาโพธิ์  แล้วทรงประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชรนี้  แล้วทรงอธิษฐานว่า  “เนื้อและเลือดในสรีระนี้ แม้จะเหือดแห้งไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที ถ้าเรายังไม่บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้” ด้วยพระหฤทัยที่แน่วแน่มั่นคง และทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา หรืออีกนัยหนึ่งพระพุทธเจ้า เสด็จออกไปโปรดสัตว์ในเวลาเช้า เสวยแล้วทรงพักกลางวัน ทรงพระอิริยาบถนั่ง คือนั่งสมาธิ

          ความเชื่อและคตินิยม

         -  นิยมสร้างเป็นพระประธาน

         -  เป็นพระประจำวันพระเกตุเสวยอายุ  บูชาตามพิธีทักษาสำหรับบุคคล  เมื่อพระเกตุเสวยอายุ

4.  ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหลวงพ่อเพชร

      องค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่ทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยกิตติศัพท์นานัปการ  เมื่อใครก็ตามได้ไปเที่ยวจังหวัดพิจิตร  ก็จะต้องไปนมัสการขอพรองค์หลวงพ่อเพชร  เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว  ที่ว่าองค์หลวงพ่อเพชรทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์นั้น  เนื่องจากมีประชาชนที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาอันมั่นคง  เมื่อมีใครเดือดร้อน  เช่น  วัตถุสิ่งของหาย  หรือมีความทุกข์ก็จะเข้ามาบนบานศาลกล่าวขออำนาจ  ขอพรอันประเสริฐจากองค์หลวงพ่อเพชรให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์  อุปสรรค  ภยันตรายต่าง ๆ  ให้หมดหายไป  หรือขออำนาจบารมีหลวงพ่อเพชรให้ช่วยปกปักรักษาคุ้มครอง  ด้วยเดชะบารมีและอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อเพชร  ก็ดลบันดาลช่วยให้ได้รับผลทันตาเห็น  แทบทุกราย  แม้การเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาขอน้ำพระพุทธมนต์หลวงพ่อเพชร ไปดื่ม ไปอาบ  ก็สามารถรักษาหายได้  เมื่อผู้นั้นพ้นภัยอันตราย  พ้นจากความทุกข์ยากแล้วก็จะกลับมาแก้บน  ด้วยการนำหัวหมู  ไก่ต้ม  ไข่ไก่  ขนม  ผลไม้  ถวายแด่องค์หลวงพ่อเพชรที่พระอุโบสถ  กลิ่นควันธูปเทียนมิได้ขาดระยะ  ชาวเมืองพิจิตรทุกผู้ทุกนามต่างให้ความเคารพ  นับถือ  เลื่อมใสอย่างสูงต่อองค์หลวงพ่อเพชร  ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญ  ศูนย์รวมจิตใจของชาวพิจิตร  ดังจะเห็นได้ในงานเทศกาลประจำปีที่เคยจัดในเดือนธันวาคม - เดือนมกราคม  หรือในเดือนเมษายน  จะมีประชาชนจากที่ต่าง ๆ  พากันมานมัสการกันอย่างล้นหลามแน่พระอุโบสถ  บางวันเกือบจะเดินเข้า - ออกพระอุโบสถกันแทบไม่ได้   แม้ในวันปกติธรรมดาก็มีประชาชนเข้ามานมัสการบูชากันมิได้ขาด

                  จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อเพชร  เป็นมิ่งขวัญของเมืองพิจิตรและประชาชนทั่วไป เป็นที่เคารพสักการบูชาอย่างสูงสุด  เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนให้ยึดมั่นในการประกอบแต่คุณงามความดี  เป็นที่พึ่งทางจิตใจในยามที่มีทุกข์ร้อน เมื่อผู้ใดเข้าไปนมัสการองค์หลวงพ่อเพชรแล้ว  ก็จะบังเกิดความสงบร่มเย็น  สงบกาย วาจา  และใจ  พลังแห่งความเลื่อมใสศรัทธา  เคารพ  นับถือ และพุทธานุภาพขององค์หลวงพ่อเพชร  ไม่เคยจากหายไปจากจิตใจอันดีงามของชาวพิจิตรและชาวพุทธ  ด้วยเหตุหลายประการดังกล่าวมานี้  องค์หลวงพ่อเพชรจึงเป็นพระคู่บุญบารมี  คู่บ้านคู่เมืองพิจิตรนับแต่อดีตจนปัจจุบัน

หมายเลขบันทึก: 411062เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2010 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท