ดีประจำตำบลหรือดีทั้งตำบล


โรงเรียนดีประจำตำบลกับคุณภาพการศึกษาไทย

โรงเรียนดีประจำตำบลกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

ความเป็นมา

          คุณภาพการศึกษาของระบบการศึกษาที่ผ่านมา มีปัญหามากที่สุดในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีโรงเรียนหลายแห่งที่มีคุณภาพมาตรฐานที่เทียงเคียงได้กับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่เจริญแล้ว ในจังหวัด ในตัวเมือง ขณะเดียวกันช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างโรงเรียนเหล่านี้กับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไป อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง ซึ่งนอกจากจะกระทบคุณภาพของการศึกษาในภาพรวมแล้ว ยังสร้างปัญหาในความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้นด้วยเหตุผลนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดในเรื่องการสร้างคุณภาพของโรงเรียนให้กระจายในทุกพื้นที่ของประเทศ โดย ศธ.ได้วางแนวทางในการเริ่มต้นขับเคลื่อนไปในระดับตำบล ดังที่ได้มีการจัดทำโครงการอยู่ในขณะนี้ และได้ตระหนักถึงปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเหล่านั้นด้วย

จากคำแถลงของ นายชินวรณ์  บุญเกียรติ ความว่าวันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์การศึกษาไทยอีกครั้งหนึ่ง ครั้งแรกคือสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งให้คนไทยได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงโดยการตั้งโรงเรียนประชาบาล  และครั้งนี้เราจะร่วมกันสร้างโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อกระจายทั้งโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาให้ถึงท้องถิ่นชนบท จึงถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประวัติศาสตร์การศึกษาไทยต้องจารึกไว้

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เนื่องมาจากความคิดที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาในชนบทให้สูงขึ้นโดยการสร้างโรงเรียนดีประจำตำบล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาคน และเครื่องมือพัฒนาคนที่ดีที่สุดคือ การศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาสำหรับคนในฐานล่างสุด  การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองจึงกำหนดวิสัยทัศน์และแนวคิดไปสู่คุณภาพของพลเมือง ซึ่งต้องสร้างแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน

วัตถุประสงค์

  • เพื่อพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นชนบทให้เป็นโรงเรียนคุณภาพ มีความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านวิชาการ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อาชีพ และการพัฒนาสุขภาพอนามัย เป็นศูนย์บริการวิชาการสำหรับโรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และมีกิจกรรมบริการชุมชน
  • เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา ที่มีคุณภาพสำหรับนักเรียนในท้องถิ่นชนบท
  • เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปสู่ความเข้มแข็งของโรงเรียนและรองรับการกระจายอำนาจ

 

การดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีชินวรณ์   บุญเกียรติ

  • รูปแบบของโรงเรียนที่เน้นให้เป็น "โรงเรียนดีในกำกับของชุมชน"

รมว.ศธ.กล่าวว่า นโยบายนี้จะสอดรับกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ภายใต้ต้นทุนที่แต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน เพราะรูปแบบของโรงเรียนดีประจำตำบลซึ่งจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๓ ทั้ง ๑๘๒ โรงเรียนนี้จะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากโรงเรียนต้องหารือร่วมกันในชุมชนก่อนว่า ท้องถิ่นนั้นๆ มีความพร้อมที่จะร่วมกันสร้างและพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบลหรือไม่เพียงใด เพื่อให้เป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานสูง และหากตกตงที่จะร่วมมือกัน ก็ต้องมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้บริหารโรงเรียนกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้ง MOU ในส่วนกลางระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงมหาดไทยด้วย ตนจึงขอเรียกโรงเรียนดีๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้ว่าเป็น "โรงเรียนดีในกำกับของชุมชน"

  • เน้นความรวมมือและการระดมทรัพยากร

สำหรับความร่วมมือในชุมชน ซึ่งถือเป็นหลักของการกระจายอำนาจที่ อบต.ควรสนับสนุน เช่น รถโรงเรียน ซึ่งแต่ละ อบต.มีอยู่แล้ว อาจนำไปติดป้ายเป็นรถโรงเรียนดีประจำตำบล เพื่อรับส่งนักเรียนจากบ้านมาโรงเรียน ส่วนการสร้างสระว่ายน้ำ หากตำบลมีความพร้อมที่จะสนับสนุนโดยการจ้างครูพละมาช่วยสอน ทาง สพฐ.ก็พร้อมจะจัดสรรงบประมาณไปให้แห่งละประมาณ ๘-๑๐ ล้านบาท นอกจากนั้นอาจมีการช่วยกันระดมทรัพยากรจากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มเติม ให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนรักท้องถิ่นของตนเอง หลังจากนั้นอาจจะมีการทำ MOU กับโรงเรียนดีประจำอำเภอ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อมาดูแลร่วมกันต่อไป

  • ย้ำ ๓ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายหลังจัดทำ MOU

รมว.ศธ.กล่าวว่า กิจกรรมที่จะดำเนินการภายหลังการจัดทำ MOU นั้นจะให้ที่ประชุมสัมมนาครั้งนี้ช่วยกันคิดต่อ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ชัดเจนอย่างน้อย ๓ ด้านที่สำคัญคือ

 ๑) พัฒนาผู้เรียนให้เกิดความเข้มข้นขึ้น

๒) พัฒนาเทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนให้ดีที่สุด

๓) พัฒนาบุคลากรในโรงเรียน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ศธ.จะดูแลเป็นพิเศษ หากจะต้องมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กภายในตำบลเข้ามาเป็นโรงเรียนดีประจำตำบล

  • ทุ่มงบฯ กว่า ๑,๙๐๐ ล้านบาท สำหรับ ๑๘๒ โรงเรียนดีประจำตำบลในปีแรก

รมว.ศธ.กล่าวว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องงบประมาณอย่างมาก เนื่องจากเป็นรัฐมนตรีเพียง ๓ เดือน แต่ตนใช้ความกล้าหาญในเรื่องนี้มากพอสมควรที่จำเป็นต้องตัดสินใจโครงการนี้ขึ้น โดยใช้งบประมาณกว่า ๑,๙๐๐ ล้านบาท ซึ่งยืนยันว่างบประมาณก้อนแรกจำนวน ๑,๗๐๐ ล้านบาทนั้นต้องได้แน่นอน ส่วนงบฯ ที่เหลือกว่า ๒๐๐ ล้านบาทนั้น ให้ สพฐ.ขอขยายเวลาการจัดจ้างออกไป และงบฯ SP2 นี้เชื่อมั่นว่าต้องเสร็จภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม เพื่อจัดสรรงบประมาณทั้งหมดให้โรงเรียนดีประจำตำบลทุกแห่งนำไปจัดภูมิทัศน์ใหม่ มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน สร้างศูนย์กีฬาหรือสระว่ายน้ำ สร้างศูนย์การเรียนรู้อาชีพ จัดซื้อครุภัณฑ์ สื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษา สร้างหรือปรับปรุงห้องสมุดที่ทันสมัย

  • ขอความร่วมมือจาก ผอ.สพท.

รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอความร่วมมือ ผอ.สพท.ช่วยกันคิดและวางแผนดำเนินการ หากไม่เช่นนั้นกรอบความคิด ๓ เรื่องนี้จะทำยาก คือ

๑) การรับส่งนักเรียนจากบ้านมาโรงเรียน

 ๒) การช่วยกันระดมทำ School Mapping เพื่อดูข้อมูลคนในวัยเรียน วัยทำงาน มีการจัดทำ School Based Management ที่ชัดเจน

 ๓) เร่งการจัดจ้าง ทั้งนี้ ผอ.สพท.จะต้องพิจาณาถึงศักยภาพความพร้อมที่จะให้เกิดความร่วมมือในด้านใดได้ อีกบ้าง

  • ความร่วมมือของ อบต.

รมว.ศธ.ยังได้ฝากให้นายก อบต.ช่วยพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้

๑) หาก อบต.ใดที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการในปีต่อไป ขอให้มาดูต้นแบบของโรงเรียนดีประจำตำบลในปีนี้ด้วย

๒) ช่วยกันทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในตำบลเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการนี้

๓) ช่วยกันผนึกกำลังพัฒนาด้านกายภาพ ความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างแท้จริง

 

เป้าหมาย

ในปี 2553นี้จะเริ่มสร้างโรงเรียนดี ประจำตำบลรวม ๑๘๒ โรงเรียนใน ๑๘๒ เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งหากโรงเรียนใดมีการทำ MOU กับ อบต.ได้ ก็จะมีการจัดงบประมาณไปให้ดำเนินการเต็มรูปแบบ รวมทั้งงบประมาณที่เตรียมไว้ดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๕๔ เพื่อต่อยอดอีก ๒,๓๐๐ ล้านบาท โดยรูปแบบที่ต้องการพัฒนาโรงเรียนนั้นต้องมีรูปแบบดังนี้ 

๑) เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะมีการปรับปรุงทางด้านกายภาพให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทันที คือ มีอาคารหลักอย่างน้อย ๑ หลัง อาคารประกอบอื่นๆ ที่ปรับปรุงซ่อมแซมแล้ว มีจำนวนคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนในสัดส่วน ๑:๑๐ มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีห้องสมุด๓ดี มีศูนย์กีฬาหรือสระว่ายน้ำ รวมทั้งศูนย์การเรียนอาชีพด้านต่างๆ ที่อาชีวศึกษาจะเข้าไปช่วย

๒) มีการบริหารจัดการใหม่ รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครู ผู้บริหารเป็นพิเศษ

๓) มีครูที่ดี มีจำนวนครูที่จบการศึกษาในกลุ่มสาขาวิชาเอกที่สำคัญอย่างน้อย ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้

๔) จะส่งเสริมให้สนองตอบต่อชุมชน ซึ่ง ต่อไปโรงเรียนจะมีหอประชุมขนาดใหญ่ ใช้สำหรับรองรับงานต่างๆ ของชุมชน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นกระบวนการที่ ศธ.สามารถดำเนินการด้วยการสนับสนุนงบประมาณและการบริหารจัดการ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถช่วยได้ คือโรงเรียนต้องปรับตัวเองขึ้นมาเพื่อให้สนองตอบต่อความต้องการของชุมชน

 

ภาพแห่งความสำเร็จของโรงเรียนดีประจำตำบล

1.     สร้างคนไทยยุคใหม่  ให้เป็นคนไทยที่เก่ง ดี มีสุข ใฝ่รู้ ใฝ่ดี คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น มีความจงรักภักดีต่อชาติและพระมหากษัตริย์ หวังว่าพลเมืองยุคใหม่ดังกล่าวต้องเกิดได้จริง

2.    สร้างครูยุคใหม่  เปลี่ยนจากครูที่มุ่งแต่การสอน เป็นการเรียนรู้ให้มากขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการจะพัฒนาครูทั้งระบบ

3.    สถานศึกษายุคใหม่  เราจะมีโรงเรียนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล อย่างน้อยจังหวัดละ 3 โรงเรียน  มีโรงเรียนดีประจำอำเภอ 500 โรงเรียน คืออย่างน้อยอำเภอละ 3 โรงเรียน และโรงเรียนดีประจำตำบล 7,000 โรงเรียน ทั่วประเทศ จะมีส่วนในการสร้างคุณภาพชีวิตคนชนบท โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ

4.     การบริหารจัดการใหม่  ได้ประกาศแนวทางการพัฒนาหลายด้าน การจัดสรรงบประมาณให้กับการพัฒนาบุคลากรมากที่สุด และจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 4 แสนล้านบาทอย่างโปร่งใสถึงผู้เรียนอย่างแท้จริง ภายใต้โครงการ

 

กำหนดยุทธศาสตร์ 777 ในการพัฒนาดีประจำตำบล

                         เพื่อให้การพัฒนาโรงเรียนดีประจำตำบลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์ 777 ในการพัฒนา คือ

                         4 เดือนแรก มีเป้าหมาย 7 ประการ คือ

 1.มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เชื่อมั่นว่าทำได้จริง

2.มีเป้าหมายในการพัฒนานักเรียน ที่ทุกคนเข้าใจถูกต้องตรงกัน

3.สถานศึกษามีความสะอาด

4.มีบริเวณโดยรอบร่มรื่น พัฒนาให้สวยงาม

 5.มีบรรยากาศอบอุ่นเสมือนบ้านสีสันสดใส

 6.มีความปลอดภัย ปลอดสารเสพติด และ

7.เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ

                         4 เดือนที่สอง พัฒนา 7 ประการ คือ

 1.มีห้องสมุด 3 ดี

 2.มีห้องปฏิบัติการ

3.มีศูนย์การเรียนรู้อาชีพ

 4.มีศูนย์กีฬาชุมชน

5.มีห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะ

6.มีครูที่ใช้แหล่งเรียนรู้และใช้ไอซีที และ

 7.มีการบริหารที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นร.ร.ดีประจำตำบล

                         4 เดือนที่สาม 7 ประการสุดท้าย คือ

1.มีร.ร.ที่มีชื่อเสียงดี มีมาตรฐานและมีคุณภาพ

 2.มีนักเรียนที่ใฝ่รู้

3.ร.ร.จะต้องมีลักษณะปลูกฝังใฝ่เรียน

4.ร.ร.จะต้องปลูกฝังให้นักเรียนมีลักษณะใฝ่ดี

 5.มีความเป็นไทย 

6.มีสุขภาพดี และ

 7.รักการอ่าน

 

 เราต้องการโรงเรียนดีประจำตำบล หรือโรงเรียนดีทั้งตำบล ก็พิจารณากันเอาเอง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 410784เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2010 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท