นโยบายรัฐบาลทางการศึกษา


การสร้างวัฒนธรรมที่ผิดให้แก่วงการศึกษา คือวัฒนธรรมบ้า(คลั่ง) ปริญญา หรือคุณวุฒิในกระดาษ ไม่เน้นคุณวุฒิในการปฏิบัติหรือผลงานต่อศิษย์

นโยบายรัฐบาลทางการศึกษา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

1.  ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  และระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา  พัฒนาครู  พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย  พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลักรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์  ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต  และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่  ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง  

2.  ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ  โดยมุ่งเน้นในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา  เพื่อให้สนองตอบความต้องการด้านบุคลากรของภาคเศรษฐกิจ 

3.  พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่ง มีคุณธรรม มีคุณภาพ และมีวิทยฐานะสูงขึ้น ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน มีการดูแลคุณภาพชีวิตของครูด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู  ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เน้นการพัฒนาเนื้อหาสาระและบุคลากรให้พร้อมรองรับและใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า 

4.  จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทั้งผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก   ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา และชนต่างวัฒนธรรม  รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน   

5.  ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น  โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงาน  ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา 

6.  ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้มีการประนอมและไกล่เกลี่ยหนี้   รวมทั้งขยายกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 

7.  ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้

8.  เร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้อย่างบูรณาการในทุกระดับการศึกษาและในชุมชน  โดยใช้พื้นที่และโรงเรียนเป็นฐานในการบูรณาการทุกมิติ  และยึดเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลักในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค  รวมทั้งเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในชุมชน  โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว  สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา 

สาเหตุที่เลือกนโยบายการศึกษา

  1. เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา
  2. เป็นนโยบายที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
  3. สามารถกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมดำเนินการได้
  4. ทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้ศึกษาอย่างทั่วถึง
  5. ช่วยลดภาระงานของครู ครูทำการสอนได้อย่างเต็มความสามารถ

การวิเคราะห์และวิจารณ์นโยบายการศึกษา

            โดยภาพรวมแล้วถือว่าเป็นนโยบายการศึกษาที่เข้ามาแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย นโยบายที่ออกมาทั้ง 8 ข้อ ที่เด่นที่สุดคือข้อที่ 1 ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยมีข้อความดังนี้ “ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา พัฒนาครู พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลักรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์ ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง”

            ที่ว่าเด่น เพราะเป็นเรื่องสำคัญสุดยอดต่ออนาคต แต่แนวทางดำเนินการซ้ำรอย ความผิดพลาดเดิม คือหลงเน้นปฏิรูปโครงสร้าง ไม่เน้นปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน ถ้าทำตามที่เสนอก็จะไม่พ้นผลแบบเดิม คือคุณภาพของผู้จบการศึกษาลดลง ในขณะที่คุณวุฒิและผลประโยชน์ของครูและผู้บริหารการศึกษาดีขึ้น

            แนวทางของการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง คือการพัฒนาจากฐาน   ไม่ใช่พัฒนาจากยอดอย่างที่ทำกันมา 9 ปี และเกิดผลให้ผลการศึกษาเสื่อมลง การพัฒนาจากฐานคือพัฒนาที่โรงเรียน/ครู ที่จัดการเรียนรู้ได้ผลดี โดยส่งเสริมให้ขยายเครือข่ายวิธีจัดการศึกษาที่มีคุณภาพออกไป ส่งเสริมให้ครูที่มีผลงานดีได้ศึกษาต่อ ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสร้างความรู้เชิงทฤษฎีจากผลการปฏิบัติ โดยเชื่อมโยงนักการศึกษาระดับยอดในมหาวิทยาลัยเข้าไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา   ซึ่งจะทำให้มีการพัฒนาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อเด็กไทยยุคปัจจุบัน จากสภาพจริงภายในสังคมของเรา เชื่อมโยงกับศาสตร์ด้านการเรียนรู้ยุคใหม่ของโลก

           ที่ผ่านมาแล้วนั้น ดำเนินการผิดทิศผิดทาง  เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ผิดให้แก่วงการศึกษา คือวัฒนธรรมบ้า(คลั่ง) ปริญญา หรือคุณวุฒิในกระดาษ ไม่เน้นคุณวุฒิในการปฏิบัติหรือผลงานต่อศิษย์   เรื่อง “ผลงาน” เพื่อปรับตำแหน่ง ก็เป็นผลงานในกระดาษ (บางคนจ้างทำ) คำว่า “ทำผลงาน” ไม่เชื่อมโยงกับศิษย์ แต่เชื่อมโยงกับกระดาษ  ครูที่ได้ดีมักไม่ใช้ “ครูเพื่อศิษย์” แต่เป็น “ครูเพื่อนาย” หรือ “ครูที่มีปริญญา”  ผมเสนอว่า วิธีที่จะพัฒนาครู ด้วยวิธีที่ไม่เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของศิษย์ เป็นวิธีที่ผิดและไม่คุ้มค่าแต่อาจได้ผลทางการเมือง ได้คะแนนเสียง

            เห็นด้วยกับนโยบายข้อ 7 ที่มุ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงสร้างสรรค์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีข้อความในนโยบายดังนี้ “ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้” โดยในเชิงปฏิบัติผมว่าภาครัฐมีศักยภาพน้อยมากที่จะทำเรื่องนี้เอง ภาครัฐควรดำเนินการแบบเชื่อมโยงเครือข่าย และร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมที่มุ่งดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 410559เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2010 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท