การวิเคราะห์และการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ “เรื่อง มองต่างมุมภาษีเหล้า สิงห์-ช้าง-จอห์นนี่ฯ-ชีวาส วิถีต่าง…หนทางขัดแย้ง”


วิเคราะห์กฎหมายภาษี

สรุปสาระสำคัญจากบทความ:

เรื่อง มองต่างมุมภาษีเหล้า สิงห์-ช้าง-จอห์นนี่ฯ-ชีวาส วิถีต่างหนทางขัดแย้ง

โครงสร้างภาษีสรรสามิตถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลกับความสามารถด้านการแข่งขันของสินค้าในกลุ่มแอลกอฮอล์ประเภทเหล้าเบียร์ ทั้งนี้เพราะโครงสร้างภาษีสรรพสามิต เป็นตัวกำหนดราคาสินค้าซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค

และในขณะนี้ทางกระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีใหม่ไปใช้ตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ ตามแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จากปัจจุบันที่ใช้โครงสร้างภาษีสองแบบคือ คิดตามมูลค่าของสินค้าและตามดีกรีแอลกอฮอล์ ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนให้ภาษีกับรัฐได้มากกว่ากัน

การเปลี่ยนโครงสร้างภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระดับราคาและความสามารถแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละรายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะผู้ผลิต นำเข้าและทำการตลาดสินค้าแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย 4 บริษัท ซึ่งต่างก็มีความเห็นแยกออกเป็นสองด้าน ชนิดที่เรียกว่าเป็นความเห็นต่างหนทางแย้งกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้เนื่องจากระดับปริมาณแอลกอฮอล์ที่อยู่ในสินค้าประเภทเหล้าเบียร์แต่ละยี่ห้อนั้นไม่เท่ากัน ดังเช่น ตอนนี้เบียร์ช้างมีแอลกอฮอล์ผสม 6.4% สูงกว่าแอลกอฮอล์ที่ผสมในเบียร์สิงห์และลีโอซึ่งมีอยู่ 6% และ 5% ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ด้านหนึ่ง คือ บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เจ้าของเบียร์สิงห์, ลีโอ, ไทเบียร์ และบริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด ผู้นำเข้า-จัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์จอห์นนี่ วอล์กเกอร์, สเปย์ รอยัล, โกลด์เด้น ไนท์, เบนมอร์ซึ่งเป็นเหล้ากลุ่มพรีเมียม จึงออกมาสนับสนุนแนวคิดการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีในครั้งนี้อย่างสุดตัว ด้วยเหตุผลที่เหมือนกันคือ การเปลี่ยนโครงสร้างภาษีใหม่จะช่วยลดปริมาณการดื่มเหล้าราคาถูก แต่มีปริมาณแอลกอฮอล์สูงได้ ในขณะที่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ทำการตลาดเบียร์ช้าง, อาชา, เหล้าขาว, เหล้าสีแม่โขง แสงโสม ออกมาแสดงท่าทีว่า การพิจารณาเปลี่ยนโครงสร้างภาษีของภาครัฐควรคำนึงถึงความสามารถทางด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วย เช่นเดียวกันบริษัทเพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้า-จัดจำหน่าย และทำการตลาดชีวาส รีกัล, ฮันเดรด ไพเพอร์ส ซึ่งเป็นเหล้ากลุ่มเซกันดารี่ ได้ออกมาบอกว่าโครงสร้างภาษีสองแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว

หากโครงสร้างภาษีเปลี่ยนไปใช้ตามดีกรีตามดำริของนายกรัฐมนตรีจริง ก็หมายความว่าภาษีที่เบียร์ช้างต้องจ่ายจะสูงกว่าเบียร์สิงห์ เว้นแต่ช้างจะทำเบียร์ที่มีดีกรีต่ำลง หรือ ภาษีที่เหล้าสีเหล้าขาวจ่ายจะเป็นภาษีอัตราเดียวกับเหล้าพรีเมียม ส่งผลให้ราคาสินค้าทั้งสองกลุ่มมีความใกล้เคียงกัน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับ วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2548                 

                                                              จาก คอลัมน์ เศรษฐกิจ หน้า 19

การวิเคราะห์และการแสดงความคิดเห็นต่อบทความ:

จากบทความข้างต้น มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิต กล่าวคือ การเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตจากปัจจุบันที่ใช้โครงสร้างภาษีสองแบบคือ คิดตามมูลค่าของสินค้าและตามดีกรีแอลกอฮอล์ ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนให้ภาษีกับรัฐได้มากกว่ากัน ไปเป็นคิดตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์นั้น จะสนองต่อวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของรัฐหรือไม่  และโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบบใหม่จะยังคงสอดคล้องกับลักษณะของภาษีอากรที่ดีหรือไม่ หากไม่สอดคล้องจะส่งผลกระทบอย่างไร

ในประเด็นแรก การเปลี่ยนโครงสร้างภาษีในลักษณะดังกล่าวจะเป็นการสนองต่อวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของรัฐหรือไม่นั้น พิจารณาได้ดังนี้

ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่สร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมการบริโภคโดยตรง ถ้ารัฐต้องการควบคุมการบริโภคสินค้าประเภทใด อันอาจเนื่องมาจากสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ ฟุ่มเฟือย หรือทำลายสุขภาพของคนในสังคม รัฐก็จะกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตขึ้น บางคนเรียกว่า sin tax หรือ ภาษีบาป เมื่อสินค้าประเภทที่รัฐกำหนดถูกเก็บภาษีสรรพสามิตก็จะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นทั้งนี้เพราะผู้ผลิตต้องบวกมูลค่าภาษีเพิ่มเข้าไปด้วย ผู้บริโภคก็จะลดการบริโภคลงเพราะไม่มีกำลังซื้อหรือเสียดายที่จะซื้อเนื่องจากสินค้ามีราคาแพง

ตามบทความดังกล่าวหากรัฐเปลี่ยนโครงสร้างภาษีในส่วนของฐานภาษีจากปัจจุบันที่รัฐสามารถเลือกเก็บภาษีในทางที่มากกว่าของภาษีที่คิดตามมูลค่าสินค้าหรือคิดตามดีกรีแอลกอฮอล์ ไปเป็นคิดตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ จะเกิดผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคสินค้าประเภทเหล้า เบียร์ กล่าวคือ กลุ่มผู้บริโภคเหล้าสี เหล้าขาว  เบียร์ช้าง และเหล้ากลุ่มเซกันดารี่ อาจลดการบริโภคลง เนื่องจากเหล้า เบียร์ กลุ่มดังกล่าวมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง เมื่อรัฐจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์กลุ่มนี้ก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาเหล้า เบียร์เพิ่มขึ้นจนทำให้กลุ่มผู้บริโภคเหล้า เบียร์ดังกล่าวไม่มีกำลังซื้อ เช่นนี้ก็จะเป็นการสนองต่อวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ตามที่รัฐต้องการควบคุมการบริโภคเหล้า เบียร์อันเป็นสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ และทำให้เสียสุขภาพ  แต่อย่างไรก็ตามยังมีเหล้า เบียร์ในกลุ่มพรีเมียม และเบียร์สิงห์ ลีโอ ซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยที่อาจได้รับประโยชน์กล่าวคือเสียภาษีสรรพสามิตลดลงเพราะฐานภาษีมิได้คำนวณจากมูลค่าสินค้าอีกต่อไปแล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภค หันมาบริโภคเหล้า เบียร์ในกลุ่มนี้แทน หรือกลุ่มบริโภค ที่บริโภคเหล้า เบียร์ในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ก็จะบริโภคมากขึ้นเพราะสินค้ามีราคาถูกลง  อันแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีมิได้ทำให้การบริโภคเหล้า เบียร์ลดน้อยลงแต่อย่างใด ซ้ำยังอาจทำให้การบริโภคเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการขัดและไม่สนองต่อวัตถุประสงค์ของรัฐในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอีกต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่ารัฐควรจะเก็บภาษีโดยใช้ฐานภาษีจากทั้งมูลค่าสินค้า และตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ควบคู่กันไปเสียมากกว่าที่จะเปลี่ยนไปเป็นคิดตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว

ประเด็นต่อมา โครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบบใหม่จะยังคงสอดคล้องกับลักษณะของภาษีอากรที่ดีหรือไม่ หากไม่สอดคล้องแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร

ลักษณะของภาษีที่ดีนั้น ต้องมีความเป็นธรรม มีความแน่นอนชัดเจน มีความสะดวกในการจัดเก็บ มีประสิทธิภาพ มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ ช่วยอำนวยรายได้  และมีความยืดหยุ่นสูง

ภาษีที่ดีต้องช่วยอำนวยรายได้ให้แก่รัฐ หมายถึง รัฐสามารถเก็บภาษีได้มาก เป็นกอบเป็นกำ เพียงพอต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล การที่รัฐใช้โครงสร้างภาษีสองแบบซึ่งก่อให้เกิดทางเลือกในการจัดเก็บภาษีในแบบที่ให้ประโยชน์กับรัฐมากกว่าจึงเป็นไปตามหลักอำนวยรายได้

จากบทความที่จะมีการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในส่วนของฐานภาษีอันเป็นสิ่งจะที่นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีสรรพสามิตในสินค้าประเภทเหล้า เบียร์ จากปัจจุบันที่มีฐานภาษีให้เลือกสองแบบคือ คิดตามมูลค่าสินค้า หรือ คิดตามดีกรีแอลกอฮอล์ ไปเป็นคิดตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์อย่างเดียวนั้น อาจทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลง ทั้งยังทำให้รัฐหมดทางเลือกที่จะใช้โครงสร้างภาษีที่จะเป็นประโยชน์กับรัฐมากกว่าด้วย  ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าไม่สอดคล้องกับหลักอำนวยรายได้ อันเป็นลักษณะของภาษีอากรที่ดีที่รัฐต้องคำนึงถึงหากจะจัดเก็บภาษี ผลเสียที่จะตามมาก็คือรัฐเก็บภาษีได้น้อยลง รายได้ของรัฐก็น้อยลงไปด้วย ซึ่งถ้ารายได้น้อยจนไม่เพียงพอต่อรายจ่ายเมื่อใดแล้วก็อาจจะทำให้รัฐต้องก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย ซึ่งสุดท้ายแล้วผู้ที่จะต้องแบกรับภาระหนี้นี้ก็คงหนีไม่พ้นประชาชนคนรุ่นต่อไป

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า หากรัฐต้องการจะเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิต นอกจากรัฐจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับตามหลักอำนวยรายได้แล้ว รัฐควรคำนึงด้วยว่าการเปลี่ยนโครงสร้างภาษีจะเป็นการแทรกแซงการแข่งขันทางการประกอบธุรกิจในภาคเอกชนมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งรัฐต้องพิจารณาให้ดีเพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 87 ได้กำหนดไว้ว่า “รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม...” ถ้ารัฐเปลี่ยนโครงสร้างภาษีสรรพสามิตครั้งนี้ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้ประกอบการบางรายมากเกินควรแล้ว จะถือได้อย่างไรว่ารัฐเข้าไปกำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ผู้เขียน นางสาวฑิตา พิทักษ์สันติสุข

คำสำคัญ (Tags): #ภาษีสรรพสามิต
หมายเลขบันทึก: 410310เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท