อักษราวิมุติ
อักษราวิมุติ มุมพักเหล่านักกลอน

ว่างนัก.....มักนินทา


ว่างนัก.....มักนินทา

อันนินทากาเล เหมือนเทแกลบ ไม่ปวดแสบเหมือนเอาตู๊ดๆ ไปครูดหิน.....

ห้ามพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกได้ซะก่อนค่อยห้ามคนนินทา

แม้องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่พ้นคนนินทา

''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''''

คำกล่าวหลากหลายได้แง่คิด แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเพื่อนร่วมงาน ชอบนินทากันและกัน จนเป็นเหตุให้เหม็นหน้ากัน กระทบถึงงาน ถึงองค์กรที่ทำ

เคยถามตนเองว่าเคยนินทาใครไหม ตอบว่าเคย แล้วทำไมเราถึงนินทา และคำว่านินทากับคำว่าพูดถึงเพื่อนร่วมงานมันต่างกันตรงไหน ส่วนตัวเห็นว่ามีความต่าง เพราะว่าการพูดถึงนั้น อาจพูดถึงในทางดีและไม่ดีก็ได้ แต่ถ้านินทาแล้ว หาความดียาก เพราะนิสัยอย่างหนึ่งของคนคือการอยากรู้อยากเห็น อะไรที่ปิดๆ ก็อยากเปิดธรรมดา แต่ในความธรรมดานั้น ก็มีอะไรที่เราควรหันมองอย่างมีสติ เวลาที่เราถูกนินทา เพราะบางครั้งมันแรงมากจนเรารับไม่ไหว พาลจะเบื่องาน เบื่อองค์กร หลายคนแนะนำว่า ถ้าเชื่อมั่นว่าเราทำดี ก็อย่าได้แคร์....ลมปากออกที่ปากเขาแต่มาเข้าหูเรา พาลไปเจ็บที่ใจ เครียดไปถึงสมอง มีเวลามานั่งคิดเห็นจะจริง แต่ทำอย่างไร เราจะทำใจได้ บางเรื่องมีผลกระทบต่อเราโดยตรง ต่อหน้าที่ ต่อสังคมเรา ลักษณะของคนชอบนินทาประเมินจากตัวเองและคนรอบข้างได้ว่าปัจจัยมีดังนี้

1. ปัจจัยเรื่องเพศ ผู้หญิงมักชอบนินทากว่าผู้ชาย เพราะสังคมการพูดคุยมีมากกว่า และจะมักเก็บเล็กเก็บน้อยมาพูดคุยกันได้ทุกเรื่องตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ(ไม่รู้เกี่ยวอะไรกับสากและเรือ) พอหนักๆเข้าเรื่องชาวบ้านก็อยู่ในนั้นด้วย

2. ปัจจัยเรื่องภาระงาน งานไม่ยุ่งมีเวลามานั่งจับกลุ่มรวมกัน หรืองานที่ต้องสมาคมกัน โอกาสที่จะเก็บเมมโมรี่เรื่องชาวบ้าน และเจอผู้คนก็มาก ทำให้ไม่แคล้วที่จะนินทา

3. ปัจจัยความมีอคติส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่พอไม่ชอบใครก็จะใช้ปากตนเองที่ปกติรับภาระหนักทั้งกินทั้งพูดนั้นเชือดเฉือนฆ่าคนให้ตายคาปากเลยทีเดียว

4. ปัจจัยนิสัยปมด้อยตนเอง ซึ่งคนที่ชอบนินทาส่วนใหญ่ เคยทำและล้มเหลวในชีวิตในเรื่องที่คนอื่นที่ตนนินทานั้นทำ จึงแสดงออกด้วยการชิงไหวชิงพริบนินทาซะก่อน แต่ลักษณะหนึ่งที่คนชอบนินทาทำคือ ขณะที่กดคนอื่นจมดินด้วยลมปาก มักจะพูดว่าตนเองสูงส่งไม่เคยทำ และมีคุณธรรม ลองสังเกตดู

5.ปัจจัยองค์กร ก็ในเมื่อคนทั้งที่ทำงานชอบนินทา แล้วที่อยู่ด้วยกัน จะไม่อยากนินทาบ้างเหรอ เรียกว่านินทากันไปมาข้ามกลุ่มงานสนุกสนานปากไปเลย

 คงเกิดคำถามว่าได้ประโยชน์อะไรจากการได้นินทา

    ผมคิดว่านอกจากความสุขที่ได้พูดถึงคนอื่นในทางเสียหายแล้ว ไม่มีประโยชน์อันใดต่อชีวิตเลย แม้เรื่องที่คนนินทาจะจริงหรือไม่จริง ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ก็ตาม

ทำอย่างไรเมื่อโดนนินทา

    โอ้ย....อันนี้แล้วแต่เหตุการณ์ที่แต่ละคนจะโดนหนักบ้างเบาบ้าง ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมคงกระโดดชกหน้า หรือไม่ก็ถามตรงๆจนหน้าเสีย และกลับมานั่งทุกข์ และหาช่องทางเอาคืนอย่างเมามัน ทีใครทีมัน แต่ทุกวันนี้คือเงียบ มองดูอยู่พัก แล้วถอยหาเหตุผลสนับสนุนว่า ที่เขาพูดเพื่ออะไร เขาได้อะไร ถ้าดูแล้วเขาไม่ได้อะไร แถมคนพูดเองก็มีความทุกข์ล้นอกล้นใจจนต้องหาทางระบาย เพื่อหาความสุขจากลมปากอันเลวร้ายก ก็คงทำใจได้ในวันเดียว พอมีสติมากๆ ก็มานั่งคิดว่า เขาคงทุกข์กว่าเรามาก ถ้าเขาพูดแล้วมานั่งทุกข์ด้วยคงแย่ เขาพูดเสร็จลมปากเน่าๆของเขาจางหายไปในอากาศ แต่ลมปากที่ชั่วร้ายกระทบหูเรา เจ็บไปถึงใจ ก็พยายามอย่างสุดความสามารถจะดึงในให้สงบ และมองอย่างเห็นใจเขาว่า เขาเป็นคนทุกข์ เขาเป็นคนบาป ที่ทำร้ายคนได้แม้ลมปาก พอไม่พูดด้วย ห่างๆคนพวกนี้ สิ่งที่เกิดในใจคนพวกนี้คือเพิ่มความทุกข์ใจตัวเขาเอง กรรมติดจรวดทีเดียว แล้วที่สำคัญคนพวกนี้ ต้องการความเมตตาจากเรา ที่จะให้อภัยเขา

ใครที่มักชอบนินทา คงต้องกลับมาถามตนเองว่า ท่านได้อะไรจากการถ่มน้ำลายรดหัวรดใจคนอื่น มันทำให้ชีวิตท่านประสบผลสำเร็จ หรือว่าหน้าที่การงานก้าวหน้า เงินเดือนขึ้นหรือไม่ หากไม่....ท่านเองก็ควรจะใช้เวลาที่นินทาคนอื่น มองตนเองว่าทำอย่างไรตนเองจะมีความสุขโดยมิใช่บนความทุกข์ผู้อื่น เช่นนินทาเรื่องครอบครัว เรื่องบ้าน เรื่องลูกๆ หรือะไรที่จะสรรหามาเล่า ท่านเป็นอะไรในครอบครัวเขา และท่านเองมีอะไรดีพอหรือยังที่เพื่อนๆจะพูดถึงในทางที่ดี เพราะถ้าไม่มี ท่านเองก็เป็นอีกคนที่ถูกนินทา

     เราไม่ค่อยใส่ใจกับตนเอง ในแต่ละวัน คงต้องมองตนเองว่าในเวลาหนึ่งวัน ท่านเอาเวลาไปใส่ใจเพื่อนร่วมงานมากกว่าครึ่งวันไหม ถ้าใช่ผมว่าท่านคงต้องหาเวลาไปรับยาที่จิตเวชแล้วล่ะ เพราะว่านั่นหมายความว่าท่าน ไม่มีสติกับชีวิตตัวเองแล้วล่ะ

   งานได้ผลคนจะเป็นสุข ถ้าคนทำงานรู้บทบาทหน้าที่ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

อย่าเสียเวลาไปกับการใช้ลมปากทำงานหรือฆ่าคนเลย แล้วองค์กร ประเทศชาติจะมีความสุขอีกเยอะ...

หมายเลขบันทึก: 410224เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2010 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 03:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท