อภิธรรม


อภิธรรม

๒.๗.๕ จิตที่เป็นฝ่ายกุศล

ในจิตตุปปาทกัณฑ์ได้พูดถึงจิตที่เป็นกุศลซึ่งมีทั้งที่เป็นชั้นกามาวจร(ชั้นต่ำ) กุศลชั้นรูปาวจร อรูปาวจร(ชั้นกลาง) และกุศลชั้นโลกุตตระ(กุศลชั้นสูง)  มี ๒๑ ชนิด คือกุศลกามาวจร ๘ ชนิด กุศลชั้นรูปาวจร ๕ ชนิด กุศลชั้นอรูปาวจรมี ๔ ชนิด กุศลชั้นโลกุตตระมี ๔ ชนิด[1]

                                     กุศลชั้นกามาวจร  ๘  สภาวะ

กุศลจิต ๒๑                      กุศลชั้นรูปาวจร    ๕  สภาวะ

                                     กุศลชั้นอรูปาวจร  ๔  สภาวะ

                                      มัคคจิต            ๔  สภาวะ

 จิตที่เป็นฝ่ายกุศลนี้เป็นจิตที่เป็นเหตุให้ทำความดี  มีลักษณะเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่ในตัวมนุษย์ ให้มนุษย์สร้างคุณประโยชน์ให้เกิดแก่ตนเองและต่อสังคม

ลักษณะของกุศลจิตนี้เป็นธรรมที่ให้ผลเป็นสุข เป็นธรรมที่ไม่มีโทษ มีความสะอาดหมดจดอยู่ในสภาวะ เมื่อสภาวะของกุศลเกิดขึ้นจะทำให้สภาวะจิตของบุคคลนั้นมีความมุ่งมั่นในการที่จะทำงานในกิจการของตนที่ตั้งไว้ให้สำเร็จไปในทางที่ดีเป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อผู้อื่น

 ๒.๗.๖ จิตที่เป็นฝ่ายอกุศล

  ในจิตตุปปาทกัณฑ์ได้กล่าวถึงจิตที่เป็นอกุศล มี ๑๒  ดวง ชนิด เกิดจากโลภะ(ความอยาก) มี ๘ ชนิด เกิดจากโทสะ(ความโกรธ) มี  ๒ ชนิด เกิดจากโมหะ (ความหลง) มี ๒ ชนิด[2]

จากการศึกษาอกุศลจิต  ทราบว่าอกุศลจิตนี้เป็นจิตที่เป็นเหตุให้ทำความไม่ดี เป็นจิตที่ทำให้สุขภาพจิตไม่ดี  จิตที่มีโทษ และให้ผลเป็นความทุกข์ เมื่อสภาวจิตเช่นนี้เกิดขึ้นทำให้ตนเองต้องกระวนกระวายใจ  มักจะเกิดขึ้นได้ง่าย เช่นเมื่อความโลภะเกิดขึ้นได้ชื่อว่าเป็นโลภจิต   มีต้นเหตุ เกิดมาจาก ความอยากได้ ความต้องการ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความติดใจ ความชอบใจในอารมณ์  เมื่อโทสะเกิดขึ้น มีต้นเหตุมาจาก ความไม่ชอบ ความเสียใจ รำคาญใจ หงุดหงิด โกรธ เกลียด กลัว ประทุษร้าย ทำลาย  หรือเมื่อโมหะเกิดขึ้น มีต้นเหตุมาจากความหลง ความงมงาย

 ๒.๗.๗ จิตที่เป็นฝ่ายอัพยากตะ (จิตที่เป็นกลาง)

ในจิตตุปปาทกัณฑ์ได้อธิบายอัพยากตจิตว่า เป็นจิตที่เป็นกลางๆ ไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศล  อัพยากตจิตมี ๒ ประเภท คือวิบากจิต และกิริยาจิต วิบากจิตมีทั้งหมด ๓๖ ชนิด คือ วิบากชั้นกามาวจร  ๒๓ ชนิด วิบากชั้นรูปาวจร ๕ ชนิด  วิบากชั้นอรูปาวจร ๔ ชนิด วิบากชั้นโลกุตตระมี ๔ ชนิด กิริยาจิตมีทั้งหมด ๒๐ ชนิด  คือกิริยาจิตที่เป็นกามาวจร ๑๑ ชนิด กิริยาจิตที่เป็นชั้นรูปาวจร ๕ ชนิด กิริยาจิตที่เป็นชั้นอรูปาวจร ๔ ชนิด[3]

 สรุปว่า วิบากจิตเป็นจิตที่เกิดสลับกับกุศลจิตบ้าง สลับกับอกุศลจิตบ้าง หรือเกิดในขณะมนุษย์นอนหลับ คือจิตที่เป็นวิบากทำหน้าที่เป็นภวังคจิต(หน้าที่รักษาภพ) ไม่ให้มนุษย์นั้นตาย  จิตเป็นภวังค์ได้แก่จิตที่ไม่ได้รับอารมณ์ความรู้สึกจากสัมผัสทั้ง ๖ แต่จิตก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา คือเกิด ดับ วิบากจิตคือจิตที่เป็นผลของกุศลและอกุศล  ส่วนกิริยาจิตนั้นเป็นจิตที่ไม่เป็นบุญเป็นบาป หรือไม่ได้เป็นผลของกุศลและอกุศล

                  จากการที่ได้ศึกษาจิตในจิตตุปปาทกัณฑ์ทำให้ทราบว่า จิตมี ๓ ฝ่าย  คือฝ่ายกุศล เป็นสาเหตุให้ทำความดี มีทั้งหมด ๒๑ สภาวะ ฝ่ายอกุศลเป็นเหตุให้ทำความชั่ว มีทั้งหมด ๑๒ สภาวะ และฝ่ายอัพยากตะซึ่งเป็นจิตฝ่ายกลางๆ มีทั้งหมด ๓๖ สภาวะ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือจิตที่เป็นฝ่ายดี ฝ่ายไม่ดี และฝ่ายกลางๆ

 


        [1] สรุปจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔, ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

        [2] สรุปจากพระไตรปิฎกเล่มที่  ๓๔, ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

        [3] สรุปจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔, ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙. 

คำสำคัญ (Tags): #อภิธรรม
หมายเลขบันทึก: 410117เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2010 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
สานุ มหัทธนาดุลย์

อาจารย์แม่ดูแลรักษาสุขภาพ และพักผ่อนมาก ๆ นะครับ ผมอยู่ที่ประเทศ UAE. United Arab Emirate เมือง Dubai ครับผม...

กราบสวัสดีครับ อ.แม่ฯ

คราวนี้ผมอยู่ที่ Sydney (Australia) มีปัญหาอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์แม่ฯ ครับว่าจิตของคนเรานี่จะเกิด-ดับเร็วแค่ไหนน่ะครับ ? แล้วมันพอที่จะนับได้เป็นครั้งต่อวินาทีหรือเปล่าครับผม ?

สานุ (เพชร)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท