คุณหมอหวล สังข์พราหมณ์ : แพทย์แผนไทย แพทย์แห่งการให้...


เมื่อสักครู่ (เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.) ระหว่างที่พิมพ์บันทึกเรื่อง NKM5 : ไม่ได้ไป แต่ขอใช้กายและใจให้เป็นประโยชน์... ก็มีเด็กมาตามบอกว่ามีหมอ ๒ คนมานวดให้ ถ้าว่างให้ไปนวด ตอนนั้นเราก็ตอบอย่างเต็มปากเต็มคำว่า "ไม่ไป" แต่ทว่า อีกไม่กี่อึดใจก็ได้ยินเสียงหมอ ๒ ท่านนั้นมาใกล้ ๆ เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว หนึ่งในสองท่านนั้นคือ คุณหมอหวล สังข์พราหมณ์ ปรมาจารย์ แห่งวงการ "แพทย์แผนไทย..."

ข้าพเจ้าเคยบันทึกเกี่ยวกับคุณหมอหวลไว้ครั้งหนึ่งที่ การแพทย์แผนไทย : คุณหมอหวล สังข์พราหมณ์ และช่วงประมาณกลางปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเองก็ได้มีโอกาสเข้าเรียนการรักษาโรคแผนไทยเบื้องต้นจากท่านที่จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงไม่รอช้ารีบยื่นตา ยื่นหน้าออกไป และขอหยิบบัตรคิวเป็นเบอร์ ๑

กว่าสองชั่วโมงที่ได้รับการนวดจากคุณหมอหวล นอกจากจะได้รับความสบายจากอาการคลายของโรคต่าง ๆ ลงไปได้มากแล้ว ก็ยังได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาโรคแผนไทยได้อีกมากโข

และโดยเฉพาะเมื่อถามถึงลูกศิษย์ท่านคนหนึ่ง ก็ได้ทราบข้อมูลที่น่าดีใจว่า ตอนนี้ลูกศิษย์ของท่านมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างดีที่เดียว

ย้อนกลับไปในอดีต คุณหมอหวลเคยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับลูกศิษย์ท่านว่า เขาเคยทำงานอยู่ในบริษัท เงินเดือน ห้าหกพันบาท คุณหมอหวลก็เลยชักชวนให้มาเรียนนวดรักษาโรคแผนไทยกับท่าน และบอกว่าเดือนหนึ่งจะหาเงินสักห้าหกหมื่นบาทก็ไม่ยาก

นับตั้งแต่ข้าพเข้าอยู่ที่นี่ ก็ได้เห็นลูกศิษย์ท่านคนนี้ติดสอยห้อยตามคุณหมอหวลอยู่นานนับปี ไปไหน ไปด้วย ทั้ง ๆ ที่คุณหมอหวลมีลูกศิษย์มาก แต่ก็จะมีลูกศิษย์คนนี้คอยถือกระเป๋าติดตามขึ้นเหนือล่องใต้อยู่ไม่ขาด

และเวลาไม่ถึงสามปีที่ข้าพเจ้าจำได้ จากคนที่เคยทำงานบริษัทได้เงินเดือนห้าหกพัน วันนี้ได้ทราบคร่าว ๆ ว่า เขารักษาผู้ป่วยได้รายได้วันละห้าหกพัน (ท่านพูดคร่าว ๆ ว่าลูกศิษย์ท่านคนนั้นมีรายได้ประมาณเดือนละสองแสน)

เมื่อข้าพเจ้าได้ยินดังนั้นก็พูดกับหมอหวลขึ้นมาทันทีว่า เด็กไปเรียนปริญญาตรี ๔ ปีจบมาได้เงินเดือนแค่เจ็ดแปดพัน ถ้าเด็กมาติดตามคุณหมอสักสี่ปีนี่คงได้วิชาไปมากหลาย

คุณหมอหวลก็ตอบอย่างชัดเจนว่า "แน่นอน" ถ้าติดตามแบบติด ๆ สักสี่ปีนี่ได้เกือบทั้งหมด เพราะเห็นอาการของคนไข้อย่างมากมาย ผู้ป่วยแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะที่รักษาแล้วหายว่าต้องรักษาอย่างไร

ในแต่ละครั้งที่ได้นวดกับคุณหมอหวล ท่านจะมีเทคนิคต่าง ๆ มาบอกอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ในฐานะลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับท่านครั้งหนึ่ง

วันนี้ท่านก็ได้ใช้วิธีการนวดสองอย่างเปรียบเทียบให้ได้สังเกตุ คือ การนวดแบบเดิมคือ การนวดไปตามเส้น หรือนวดไล่เส้น กับการนวดขึ้นไปลงล่าง ที่ท่านใช้คำพูดที่จำได้ง่าย ๆ ว่า จากดินขึ้นฟ้า จากฟ้าลงดิน ใช้นิ้วหัวแม่มือกดไล่ขึ้นลงไปตามเส้นเส้นหน้าแข้งและน่อง ซึ่งจะละเอียดกว่าการไล่เส้นแบบเดิม

นอกจากนี้ประโยคที่ท่านพูดได้อย่างกินใจสำหรับแนวทางในการเผยแพร่การรักษาโรคแผนไทยแบบนี้ท่านได้พูดว่า

"ถ้านวดแล้วเก็บ ก็ต้องนวดจนตาย..."

มีอะไร รู้อะไรก็ต้องเผยแพร่ออกไป มีความรู้มีวิชาก็ต้องถ่ายทอด ถ่ายทอดให้เขาเราก็เบา แบ่งเบาภาระของเราไปได้มาก...

ทำให้นึกย้อนไปถึงครู ถึงอาจารย์สมัยนี้ ที่มีอะไรก็จดสิทธิบัตร เก็บรักษาไว้กลัวใครแย่ง

เก็บไว้หนักอยู่คนเดียว มีทองเท่าหนวดกุ้งยังต้องนอนสะดุ้งทั้งคืน

ครูดี คือผู้ให้ ผู้ให้อย่างสุดใจ อันเป็นผู้ให้อย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ...

 

 

หมายเลขบันทึก: 410052เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2010 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปัญหาของเด็กไทยไม่ใช่อยู่ที่เขาไม่ขยัน ไม่มีความเพียร

แต่ปัญหาของนักเรียนไทยคือไม่มีโอกาสที่จะได้อยู่กับครูที่ดี

เด็กนักเรียนได้อยู่กับครูที่ไม่มีความเป็นครู ได้เรียนรู้กับอาจารย์ที่ไม่มีความรู้

คนเราถ้าได้อาจารย์ดี อนาคตก็จะดีไปกว่าครึ่ง

ครูบาอาจารย์ที่ดีจริง ๆ นอกเหนือจักมีความรู้ที่ดีอันเป็นความรู้แท้แล้ว ครูบาอาจารย์ที่ดียังดูแลเอาใจใส่ "จิตใจ" ของนักเรียนให้ดีอีกด้วย

ครูบาอาจารย์ก็เปรียบเสมือนผู้บริหารที่มีหน้าที่จัดการนักเรียนที่ไหลเข้ามาสู่สายการผลิต

ถ้าครูบาอาจารย์เก่ง คือ มีความรู้ เขาจะรู้จักวัตถุดิบว่าอ่อน ว่าแข็ง เปียก หรือแห้ง ควรจะทำสิ่งใดก่อน สิ่งใดหลัง

บางครั้งไม้แข็ง ๆ ไปรีบดัดมันก็หักแค่นั้น ข้าวเปียก ๆ นำไปสีก็พาข้าวถังอื่นขึ้นราตามไปด้วย

นักเรียนปัจจุบันมีความเพียรมากอยู่แล้ว เพราะเกิดจากแรงบันดาลใจที่มักใหญ่และใฝ่สูง

ดังนั้น ถ้าเจอครูบาอาจารย์ที่ดีเขาจะไปได้ไกลมาก

ความดีของคน มิใช่การอัดฉีดเงินลงไปแล้วส่งไปเรียนที่ไกล ๆ

ความดีของคนอยู่ที่ศีล อยู่ที่ธรรม

ความกตัญญู กตเวทิตาคุณเป็นคุณธรรมเบื้องต้นในจิตใจ

ความกตัญญูนั้นหมายรวมถึงการรู้จักบุญคุณของสรรพสิ่ง

นั่งกินข้าวอยู่ก็รู้จักคุณของข้าว เขาจัดให้มีเทศกาลลอยกระทงก็ให้รู้จักบุญคุณของพระแม่คงคา

หากจะคิดพัฒนาเด็กไทยในวันนี้ ก็ขอให้พัฒนาจิตใจของครูให้ดีเสียก่อน

หากใครเป็นครูก็พึงพัฒนาตนเองให้เป็นครูที่ดี หากใครเป็นครูที่ดีอยู่แล้วก็พึงพัฒนาตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

จงเตือนตนด้วยตนเอง คนที่จะพัฒนาเราได้ดีที่สุดก็คือตัวของเราเอง

ไม่มีใครที่ไหนอยู่ใกล้ชิดกับเราได้เท่าตัวของเรา

เราทำผิด เราทำถูกเราก็รู้ เราก็ชี้ผิด ชี้ถูก ชี้โทษ ชี้ภัย ชี้แนวทางแก้ไขให้ตนเอง

ถ้ารักชาติพึงพัฒนาตนเอง

ถึงแม้นในวันนี้เราไม่ใช่ครู ในวันหน้าเราอายุมากขึ้น เราก็กลายเป็นครูของน้อง ๆ กลายเป็นครูของลูกน้อง กลายเป็นครูของลูก เป็นครูของหลาน เป็นตัวอย่างให้กับอนุชนรุ่นต่อ ๆ ไป

ตัวเรานั้นเป็นเหตุที่จะสร้างความมืดหรือความสว่างไสวให้กับอนาคตของเมืองไทยในภายหน้า

พึงพัฒนาตนเองให้ดี สร้างตนเองให้เป็นตัวอย่างที่ดี การกระทำที่ดีนั้นสำคัญกว่าคำพูด

ครูที่ดี คือ คนที่กระทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ อยู่ในทุกขณะที่ลืมตาตื่น หรือเมื่อหลังจรดพื้นก็ยังมีมโนกรรมที่ดี

ครูดีเป็นศรีแก่ชาติ ครูดีจักเป็นผู้ประสิทธิ์ประศาสน์วิชาที่จะนำพาศิษย์ทั้งหลายให้ "เจริญ..."

เมื่อก่อนข้าพเจ้าเคยตั้งคำถามกับตนเองเกี่ยวกับการทานยาแก้อักเสบเมื่อครั้งเกิดอาการปวดฟันว่า “ไอ้ยาที่กินเข้าไปแต่ละเม็ดมันจะไปรู้ได้อย่างไงว่าเราเจ็บป่วยตรงไหน...?”

และวันนี้เมื่อคุณหมอหวลมาทำการนวดให้กับข้าพเจ้าอยู่นั้น ข้าพเจ้าก็ได้ถามคำถามที่ดูเหมือนจะเป็นคำถามโง่ ๆ กับท่านอีกครั้งหนึ่ง เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่าการรักษาโรคด้วยการใช้ศาสตร์ทางแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะการนวดกดจุดลงไปตามจุดที่เกี่ยวเนื่องกับจุดที่เจ็บนั้นจะได้ผลตรงและไวกว่าการกินยา โดยเฉพาะไม่ต้องรับผลข้างเคียงจากการทานยาอาทิยาแก้อักเสบจนครบโดสด้วย

คำถามที่ข้าพเจ้าคิดขึ้นมานี้ ในทางการแพทย์อาจจะชี้แจงว่ายาแก้อักเสบอาจจะมีเซนเซอร์ที่สามารถวิ่งปรู๊ดปร๊าดไปยังส่วนที่เจ็บได้โดยทันที
อาทิ ข้าพเจ้าปวดฟัน เมื่อทานยาแก้อักเสบและถูกย่อยสลายที่กระเพาะอาหารแล้ว สารเคมีจากยาแก้อักเสบนั้นจะนัดรวมตัวและวิ่งมาที่ฟันของข้าพเจ้าโดยทันที

ถ้าทานยาเข้าไปในขนาด 500 มก. มันจะนัดรวมตัวกันและพุ่งมาที่ฟันซี่นั้นของข้าพเจ้าทั้งหมด

แต่ถ้าไม่ยาทั้ง 500 มก. ที่ทานเข้าไปจะวิ่งไปตามส่วนไหนบ้าง เป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าอดคิดต่อไม่ได้ ว่าส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะอาหารที่สัมผัสกับยาโดยตรงจะมีการซึบซับยาไปบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะยาแก้อักเสบที่มักจะต้องทานร่วมกับอาหาร ไม่ว่าก่อนหรือหลังอาหาร ยาทั้ง 500 มก. นั้นไปไหนบ้าง

หรือคำถามคลาสสิกที่สุดที่เคยมีคนเคยพูดเล่น ๆ กันในชีวิตของเราบ่อย ๆ ว่า “ทำไมเวลาปวดหัว ปวดท้อง เป็นไข้ ไม่สบายแล้วต้องกินพารา...?”

วันนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสคุยกับคุณหมอหวลเรื่องหนึ่ง คือ การบรรเทาอาการเจ็บป่วยตามส่วนต่าง ๆ ด้วยการกระตุกที่ปลายรากผม

เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้เล่าให้หมอหวลฟังว่า ข้าพเจ้าเคยเห็นเทคนิคการรักษาแบบนี้มาแล้วจากช่างชาว “ไทยใหญ่”
ครั้งนั้นข้าพเจ้ามีคนงานชาวไทยใหญ่มาทำงานด้วย วันหนึ่งก็ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งมัดผมเป็นกระจุก ๆ แล้วมีเพื่อนอีกคนหนึ่ง “กระตุก” อย่างแรง
ข้าพเจ้าเห็นแล้วก็ตกใจ จึงว่าทำอะไรกันอยู่...?
คนงานคนหนึ่งตอบว่า เพื่อนเขาไม่สบาย และเทคนิคการรักษาโรคแบบนี้คนแถวบ้านเขาทำกัน

ข้าพเจ้าก็เก็บคำถามไว้ในใจต่อว่า ทำแบบนี้แล้วหายไหม...?
คำตอบที่ได้รับ อาจจะไม่ตรงนัก ก็ได้คำตอบคร่าว ๆ ว่า เขาก็ไม่เห็นตาย ไม่เห็นมีอาการทุกข์ อาการร้อนจากการเจ็บป่วยไม่สบายตรงไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นผมของเขาก็ไม่ได้หายไปไหนยักดกดำและเงางามอยู่เสมอ...

หลังจากนั้นคุณหมอหวลก็ได้เมตตาเล่าถึงวิธีการรักษาโรคด้วยการนวดแผนไทยให้ฟังอีกว่า คนเราไม่ควรนวดครั้งหนึ่งติดต่อกันเกินสามชั่วโมง เพราะจะทำให้ป่วย หรือ ถ้านวดจนผู้นวดรู้สึกร้อนผ่าวไปทั้งฝ่าเท้าแล้ว ถ้าขืนนวดต่อไปอีกสักยี่สิบนาทีนั้นรับรองว่าป่วยแน่

คุณหมอนวลได้เล่าถึงสาเหตุว่าทำไมนวดนาน ๆ ถึงป่วยว่า เกิดจากเส้นเลือดใหญ่ทำงานหนักจนเกินไป...

นอกจากนั้นยังบอกอีกว่า เวลานวดรักษาโรคนั้นถ้าถูกต้องแล้วต้องนวดเบา ๆ การนวดแรงไม่ใช่วิธีการผ่อนคลายเพราะจะทำให้เส้นเลือดใหญ่เกิดอาการติดขัด และไม่ควรทำการนวดทุกวัน อย่างมากที่สุดสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง

สิ่งที่ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังนี้เป็น Tacit knowledge ของคุณหมอหวล และเป็นเพียง Explicit knowledge ของข้าพเจ้า

แต่ข้าพเจ้าเองก็ขอรับฟังและบันทึกไว้เพื่อที่จะสังเกตุอาการของข้าพเจ้าและคนไข้ที่ในอนาคตข้าพเจ้าคงจะได้มีโอกาสช่วยเหลืออาการทุกขเวทนาของเขาบ้าง

เพราะในอนาคตข้างหน้า ข้าพเจ้าคงจะต้องเข้ารับการฝึกปรือวิชาแพทย์แผนไทยจากคุณหมอหวลอีกเป็นแน่แท้ ซึ่งข้าพเจ้าก็ฝากบอกคุณหมอหวลไว้ว่า อย่าเพิ่งด่วนหนีไป “สุขคติ” เสียก่อน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท