ชาวนา ประชาสังคม สิทธิมนุษยชน และการศึกษา


เราไม่สามารถแยกเรื่องสิทธิมนุษยชนออกจากคุณภาพชีวิต การปราบปรามคอรัปชั่น และการศึกษา

 ผมกลับจากไปอบรมสิทธิมนุษยชนมา พร้อมกับมองผ่านกระจกรถโดยสารไปรอบๆ สิ่งที่รู้มันต่างจากสิ่งที่เห็นอย่างเหลือคณานับ ขณะ อบรม เราได้แรงใจจากเพื่อนนักสิทธิมนุษยชน เราได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆจากวิทยากร และเราใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักเดียวกันตลอดเวลาได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ แม้ว่าผมจะไม่เข้าใจที่เพื่อนพูดทั้งหมด แต่ก็เข้าใจว่าพวกเพื่อนๆ พยายามสื่ออะไร....

 

*************************************************************************************************

ความรู้ในห้องประชุมจะเอามาปรับใช้ยังไงให้เกิดผลในทางปฏิบัติดี ? เป็นคำถามแรกๆ ในหัวผมที่ผุดขึ้นในช่วงที่รถโดยสารเริ่มวิ่งผ่านอยุธยา ท้องนาสีเขียวบ้าง ถูกน้ำท่วมบ้างเรียงรายอยู่สองข้างทาง.........

*************************************************************************************************

 

๑ สัปดาห์ให้หลังผมกลับมาประชุมที่กรุงเทพอีกครั้งในหัวข้อการต่อต้านการคอรัปชั่น 
เรื่องนี้แยกไม่ออกจากสิทธิมนุษยชน.... ผมจำได้ติดใจที่วิทยากรในการประชุมสิทธิมนุยชนบอกผมว่า ปัจจัยในความสำเร็จคือการสร้างคนรากหญ้าให้มีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ผมเติมท้ายให้อีกหน่อยว่า เราต้อง ให้เค้าตระหนักในความเลวร้ายของการคอรัปชั่นด้วย เพราะปัจจุบัน ไม่ใช่ ข้าราชการและพ่อค้าร่วมกันคอรัปชั่นเท่านั้น ประชาชนคนธรรมดาก็ร่วมมือกับเค้าด้วย.... ผมไม่แปลกใจที่มี วลีว่า นักการเมืองโกงทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าใครโกงมากโกงน้อยเท่านั้น แต่ตราบใดที่มีผลงานเรื่องนี้ยอมรับได้..  

 

ผมถามคนขับรถแท๊กซี่ว่าคิดว่าเรื่องนี้แก้ได้ไหม เค้าฟันธงโดยไม่รีรอว่าเรื่องนี้ไม่มีทางแก้สำเร็จ....

ผมเองก็รู้ว่ามันแก้ยากต้องเริ่มที่จิตสำนึกก่อน และเราต้องสร้างระบบตรวจสอบไปพร้อมๆกับการสร้างจิตสำนึก

ผมนึกถึงกรณีที่ลูกศิษย์เล่าให้ฟัง เกี่ยวกับการคอรัปชั่น ว่าชาวบ้านแถว บ้านเค้าร่วมมือกับเกษตรอำเภอโกงเงินอุดหนุนการทำนาของชาวนาโดยใส่ข้อมูลเกินความจริงเพื่อให้ได้เงินเยอะๆ และนำเงินส่วนต่างมาแบ่งกันระหว่างข้าราชการและชาวนา...

ผมเองก็ไม่รู้ว่า ถ้าเป็นกรณีอย่างนี้ ผู้ร่วมประชุมทั้งหลายที่ใส่สูทนั่งอยู่ในศูนย์ประชุมสิริกิตต์จะแก้ไขอย่างไร ใจหนึ่งก็อยากลุกขึ้นถามดังๆ ในที่ประชุม ใจหนึ่งก็อายว่าคนบ้านเราเป็นแบบนี้แล้วหรือ

************************************************************************************************* 

  ๑ สัปดาห์ต่อมา
ผมพึ่งทราบว่าคนใกล้ตัวผมที่ที่ทำงานอ่านหนังสือไม่ออก เขียนเลขไม่ได้เลย ผมแทบไม่เชื่อสิ่งที่ตัวเองรู้มา อาจเป็นได้ว่า ผมอยู่ในกรุงเทพมานานและทำงานในวงการการศึกษามานานจนไม่ได้สัมผัสชีวิตชาวบ้านที่แท้จริงมากๆ  แต่ความจริง คือความจริง ผมได้แต่บอกให้เจ้าหน้าที่คนนั้นไปเรียนเพิ่มเติมดดยยกตัวอย่างคุณยายของผมเองที่เริ่มมาเรียนหนังสืออีกทีตอนอายุสี่เกือบสิบปีตามนโยบาย จอมพล ป. พิบูลสงคราม    

พี่ท่านนั้นกับผมต่างรู้กันดีว่า การขาดการศึกษาเป็นสาเหตุในการถูกโกง และด้อยโอกาสในสังคม...

 

สัปดาห์เดียวกัน ผมดูรายการโทรทัศน์ยามเช้า รายการ กินอยู่ คือ พิธีกร พาผู้ชมไฟฟังความเห็นของคุณ โจน จันได ที่จังหวัดเชียงใหม่ พูดเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและความปลอดภัยในอาหารอันเนื่องมากจากการพยายามผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทข้ามชาติ ที่มุ่ง ทำให้เมล็ดพันธุ์ปลูกได้ครั้งเดียว ขยายต่อไม่ได้เพื่อให้บริษัทได้กำไรมากๆ โดยอาศัยการตัดแต่งพันธุกรรม   คุณโจนพูดถึงพืชพันธุ์พื้นบ้านที่สูญหายไปทุกๆ วัน และเรากินแต่ของด้อยคุณค่าที่ถูกยัดเยีดมาโดยบริษัทข้ามชาติ โดยบริษัทข้ามชาติไม่เคยคำนึงถึงผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการแพ้พืชตัดแต่งพันธุกรรม ที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ในความเห็นของผม การกระทำของบริษัทข้ามชาติกำลังเป็นการละเมิดสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ของคนทั้งโลก

ผมนำหัวข้อมาคุยกับเจ้าหน้าที่ท่านนั้น ที่บ้านเค้าเป็นชาวนา แท้ๆ  ผมพบว่า ผมขาดความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานสังคมไทยอย่างมากโดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนที่เราต้องทำงานด้วย  ไม่ใช่เฉพาะผม ลูกศิษย์ ผมที่นั่งเรียนในชั่นก็มุ่งเรียนแต่ความรู้ที่ระบบการศึกษามุ่งถ่ายทอดให้โดยไม่ได้ดูว่า เราจะนำมันไปใช้จริงอย่างไร...

 

***********************************

 

 ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของท่านคณบดีว่าขณะที่เราสอนลูกศิษย์เราได้มีความรู้และรู้เรื่องรอบโลกนั้น ถ้า เราไม่รู้เรื่องรอบบ้านเรา เราก็ยังถือว่า ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความรู้นั้นเราเอาไปใช้จริงไม่ได้ มันเป็นความรู้ทางทฤษฎีอย่างเดียว

ผมดีใจที่ท่านเห็นความสำคัญของเรื่องนี้  ผมเคยเสนอหลายที่แล้วให้สถาบันการศึกษานอกจากจะต้องตอบสนองนโยบายของประเทศแล้วต้องตอบสนองนโยบายท้องถิ่นด้วย

********************************

 

ความที่สำนึกว่าตัวเราเองยังไม่รู้อีกมากทำให้ ผมปรับการสอนใหม่  ผมนำประเด็นสิทธิในการเข้าถึงอาหารมาสอนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และผมมีวิทยากรมาเล่าองค์ความรู้ที่ผมและลูกศิย์ไม่เคยรู้มาก่อนด้วย วิทยากรนี้เป็นคนที่ผมมั่นใจว่าจะทำให้ลูกศิษย์ผมไม่ลืมรากเหง้าของพ่อแม่พี่น้องของเรา วิทยากรของผมเค้าอ่านหนังสือไม่ออก แต่มีความรู้ภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการผลิตอาหารมาอย่างโชกโชน  ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสอนครั้งนี้นอกจากผมและนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรจะได้องค์ความรู้ภาคปฏิบัติเพิ่มขึ้นแล้ว ตัววิทยากรเองยังได้ความภูมิใจในตัวเองด้วย .... ผมหวังว่านี้จะเป็นการให้การศึกษากับสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง

หมายเลขบันทึก: 409509เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2010 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอขอบคุณท่านอาจารย์ วิว นะครับ ผมได้อ่านข้อความในที่นี้ ผมก็เคยประสบ ปัญหาของ ชาวบ้านในลักษณะแบบนี้ ซึ่งชาวบ้านหลายท่าน "เขาบอกว่าโกงไม่เป็นไรขอให้มันพัฒนาบ้านเมืองเป็นพอ" ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าชาวบ้านยอมรับได้อย่างไรกับเรื่องแบบนี้

ปัญหาในลักษณะแบบนี้ มีทางแก้ไขอย่างไร อาจารย์พอจะมีความเห็นอย่างไรบ้าง ครับ เผื่อผมจะได้มีความรู้ไปเผยแผ่ให้ชาวบ้าน บางกลุ่มที่ ไม่ยอมรับพฤติกรรมแบบนี้ของ กลุ่มคนที่คอรัปชั่น

ขอบคุณมากครับ ที่แบ่งปันประสบการณ์ผ่าน blog ทำอย่างไรผมถึงจะเขียนเก่ง แบบอาจารย์ได้ ผมจะได้นำไปประยุกต์ ในกรื่องอื่นด้วย

นอกจากการฝึกอย่างสม่ำเสมอแล้ว ต้องมีหลักการอะไรบ้าง ผมสามารถไปหาหนังสือได้จากไหนบ้างครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท