ศิลปะอันทรงคุณค่า


หมอลำกลอน เป็นศิลปะอันทรงคุณค่า ที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ

ศิลปะอันทรงคุณค่า

*********

***หมอลำกลอน ศิลปะพื้นบ้านของชาวอิสาณ***

 

          สืบเนื่องจากการร่วมงานบุญกฐินเมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา (เสาร์ อาทิตย์ 13-14 พ.ย. 53)

            ทางเจ้าภาพได้ว่าจ้าง"หมอลำกลอน"มาฉลองศรัทธาของชาวบ้านที่ได้ร่วมงานบุญ พอทราบว่า จะมีหมอลำกลอมมาแสดงให้ชม ผมก็ตั้งตารอด้วยใจจดใจจ่อ จำได้ว่า ผมเคยดูหมอลำกลอนสดๆ เมื่อครั้งนานหลายปีมาแล้ว จนลืมไปแล้วว่าเป็นเมื่อไหร่ ตอนนั้นผมยังเยาว์วัยอยู่

            งานบุญกฐินดำเนินไปเรื่อยๆ จนตกเย็น หลังจากแห่กองกฐินเสร็จด้วยความสนุกสนาน ทั้งลูกเล็กเด็กแดง จนกระทั่งไปถึงผู้ใหญ่ เมื่ออาบน้ำอาบท่า กินข้าวกินปลาเสร็จ และแล้วก็ถึงเวลาที่เฝ้ารอ

            21.00 น. (13 พ.ย. 53) หมอแคนขึ้นบนเวทีก่อน ก่อนจะก้าวขึ้นสู่เวทีก็มีการไหว้ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ที่เชิงบันไดก่อน เราคงจะเคยเห็นในหลายกิจกรรมที่ทำกันอย่างนี้ อย่างเช่น นักมวย ก่อนขึ้นสู่เวที ก็มีการไหว้ระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ที่เชิงบันไดก่อนเหมือนกัน

            จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญ โบราณว่า ศิลปะทุกแขนงได้รับการถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนการแสดงก็จะต้องมีการระลึกถึงคุณครูก่อน ถ้าใครลบหลู่บุญคุณของครูบาอาจารย์ ไม่ระลึกถึงคุณของครู ก็จะทำให้ขาดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต

            กลับมายังงานบุญอีกครั้ง เมื่อหมอแคนขึ้นสู่เวทีแล้ว ก็ได้ทำการโชว์ศิลปะการเป่าแคน มีการเป่าแคนด้วยมือข้างเดียว เป่าแคนไปด้วยหวีผมไปด้วย เห็นแล้ว ทำให้ผมทึ่งในความสามารถของหมอแคนผู้นี้จริงๆ ต้องซูฮกให้เลยครับ

            เมื่อปล่อยให้ หมอแคนอุ่นเครื่องได้ที่แล้ว ตัวหมอลำกลอนก็ขึ้นสู่เวที โดยหมอลำฝ่ายชาย (หมอลำกลอนผู้ชาย) ขึ้นสู่เวทีก่อน ตามด้วยหมอลำฝ่ายหญิง

            เริ่มต้น หมอลำฝ่ายชาย เริ่มก่อนด้วยกลอนลำไหว้ครู นอกจากต้องไหว้ครูก่อนขึ้นเวทีแล้ว เมื่อเริ่มลำก็ต้องเริ่มด้วยกลอนไหว้ครูด้วย

            ต่อด้วยหมอลำฝ่ายหญิง ลำต่อด้วยกลอนลำไหว้ครูเหมือนกัน

            พูดถึงหมอแคน วันนี้มีหมอแคนสองคน คือ หมอแคนที่เป่าคู่กับหมอลำฝ่ายชาย และหมอแคนที่เป่าคู่กับหมอลำฝ่ายหญิง เรียกว่า หมอแคนประจำตัวก็ได้

            หมอแคนที่คู่กับหมอลำฝ่ายชาย จะเป่าด้วยความนุ่มนวล และอ่อนหวาน ส่วนหมอแคนที่คู่กับหมอลำฝ่ายหญิง จะเป่าด้วยความหนักแน่น สนุกสนาน เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน

            แล้วก็ต่างผลัดกันลำด้วยบทกลอนที่เป็นคำสั่งสอนของคนโบร่ำโบราณ เช่น ฮีต 12 คลอง 14 (ซึ่งถือเป็นวิถีปฏิบัติตามวิถีชีวิตของชาวอิสาณมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่เดือนแรกของปี จนกระทั่งถึงเดือนสุดท้ายของปี) และอีกหลายกลอนที่เป็นความรู้

            กลอนลำทุกกลอน เป็นเรื่องของความรู้ล้วนๆ เลยครับ ที่สอดแทรกมากับความบันเทิง

            ผมเองตั้งใจดู พร้อมไปกับการเก็บภาพ จนหมอลำฝ่ายหญิง แซวเอาว่า “เบิ่งคักเบิ่งแน ปานได้ทอระทัดใหม่” คือ หมายถึง “ตั้งใจดูเหมือนกับคนที่เพิ่งซื้อทีวีมาใหม่ๆ (ธรรมชาติของคนเรา เมื่อได้อะไรมาใหม่ๆ ก็จะเห่อเป็นธรรมดา) เล่นเอาผมเขินไปเหมือนกัน

            พูดถึงหมอลำฝ่ายหญิงแล้ว ตอนแรกที่ผมเห็น ผมยังนึกปรามาสอยู่ในใจ เพราะว่าเห็นเป็นเด็กๆ จะลำได้ดีซักแค่ไหน แต่ที่ไหนได้ ผิดคาดเลยครับ เธอทำได้ดีจนผมต้องทึ่ง

            ทางด้านคนดูก็สนุกสนานกันไปพร้อมๆ กันกับหมอลำ ต่างร่วมกันฟ้อนรำอย่างมีความสุข

            จนกระทั่ง เวลาล่วงเลยมาจนถึงตีสาม (14 พ.ย. 53) ทั้งหมอลำ หมอแคน และคนดู ต่างสู้ไม่ถอย ไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว คุ้มค่ากับการรอคอยจริงๆครับ และการลำก็ได้ปิดฉากลง

            แต่ความสุขความอิ่มเอมใจ ยังคงตรึงอยู่ในหัวใจของผู้ที่ได้ร่วมรับชมรับฟังหมอลำกลอนในวันนั้นทุกคนตลอดไปครับ...

**********************

 

หมายเลขบันทึก: 409272เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2010 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สืบสานงานศิลป...เป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ค่ะ ประเพณีดั้งเดิมของบ้านเฮา....

สวัสดีครับ..............คุณกศน.ตำบลกุดเค้า...............................

จริงอย่างที่คุณ กศน.ตำบลกุดเค้าบอกนั่นแหละครับการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีของไทย เป็นหน้าที่ของลูกหลานชาวไทยในทุกท้องถิ่นครับ................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท