การกรองรังสีของหลอดเอกซเรย์


การกรองรังสีเอกซ์ในหลอดเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อปริมาณและคุณภาพของรังสี

สวัสดีครับ

วันนี้ขอเสนอภาพถ่ายของข้อมูลที่ระบุไว้ข้างหลอดเอกซเรย์ที่ผมพานักศึกษาไปเรียนรู้ ไปดูเครื่องที่ใช้งานจริงตามห้องตรวจวินิจฉัย ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จึงอยากนำเสนอให้กับนักรังสีเทคนิคและผู้สนใจได้ทบทวนกัน ครับ

 

 

 

การกรองรังสี (Filtration)

การกรองรังสี ส่งผลทำให้ปริมาณรังสีเปลี่ยนไปและส่งผลต่อคุณภาพรังสี โดยทำให้ค่าพลังงานรังสีที่ใช้งาน(เฉลี่ย)สูงขึ้น เพราะรังสีพลังงานต่ำถูกกรองออกไปในสัดส่วนปริมาณที่มากกว่ารังสีพลังงานสูง

 

ภาพแสดง ให้เห็นว่าเมื่อมีการกรองรังสี ทำให้รังสีมีคุณภาพมากขึ้น คือ ปริมาณ(เฉลี่ย)ของรังสีพลังงานสูงคงเหลืออยู่มาก สามารถทะลุผ่านแผ่นกรองรังสีออกมาได้ ส่วนรังสีพลังงานต่ำที่มีอำนาจทะลุทะลวงต่ำ มี ปริมาณลดลง ทั้งนี้เพราะรังสีที่มีพลังงานต่ำ มักจะไม่ทะลุทะลวงแผ่นกรองรังสีไปได้ (รังสีพลังงานต่ำ ถูกกรองออกไป)

 

 

 

แผ่นกรองรังสี จะมีประโยชน์ในการช่วยกรองรังสีพลังงานต่ำที่ไปร่างกายผู้ป่วยให้มีปริมาณที่ลดลง ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากขึ้น ไม่ได้รับรังสีมากเกินความจำเป็น

 

 

 

 

ในหลอดเอกซเรย์โดยทั่วๆไป มักจะมีการกรองรังสี 2 แบบ คือ

1. Inherent Filtration เป็นการกรองภายในที่หมายถึง ส่วนประกอบที่อยู่ในหลอดเอกซเรย์ ได้แก่ หลอดแก้ว น้ำมัน ซึ่งแต่ละบริษัท จะมีค่าการกรองแบบนี้แตกต่างกันได้ ขึ้นกับชนิดวัสดุที่ใช้และการออกแบบในหลอดเอกซเรย์แต่ละชนิด แต่ละแบบ

 

เมื่อหลอดเอกซเรย์มีการใช้งานไปนานๆ อิเล็กตรอนจากขั้วลบที่ไปพุ่งขั้วบวก หรือ เป้า (Target) จะทำให้เกิดความร้อน เมื่อเกิดบ่อยครั้ง อาจทำให้วัสดุที่เป็นเป้า เช่น ทังสเตนเกิดชำรุด หรือเกิดเป็นไอทังสเตนมาฉาบบริเวณส่วนของทางออกของรังสี (Window) ทำให้การกรองรังสีแบบนี้เพิ่มมากขึ้น  

ดังนั้น... เครื่องเอกซเรย์ควรได้รับการตรวจสอบคุณภาพ เกี่ยวกับการกรองรังสี เพื่อหาค่าการกรองรังสีที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

 

 

 

 

2. Added Filtration เป็นการเพิ่มการกรองรังสี โดยการเพิ่มแผ่นกรองรังสีจากภายนอกหลอดเอกซเรย์เข้าไป ทำให้การกรองภายในและภายนอก มีค่าเท่ากับข้อกำหนดที่ให้การกรองรวมเป็นเทียบเท่าความหนาประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตรอลูมิเนียม

 

ทำได้โดยการใช้แผ่นอลูมิเนียมบางๆ มาใส่บริเวณหน้าหลอดเอกซเรย์ (Tube port) เพื่อเพิ่มการกรองเข้าไปให้มากขึ้น (ดังภาพ)

ตัวอย่างเช่น ถ้า Inherent Filtration มีค่า 0.5  mm.Al. จะเพิ่ม Added filter โดยใช้แผ่นอลูมิเนียมหนา 1.5 มิลลิเมตรเพิ่มเข้าไป เป็นต้น

 

 

 

 

สำหรับเครื่องนี้ มี Added filter 

คือ Al+CU อลูมิเนียมและทองแดง

 

 

 

 

สำหรับเครื่องนี้มีข้อความเขียนว่า 

Permanent Filtration เป็นชื่อที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย

โดยการใช้งานแล้ว ก็จะหมายถึง Inherent filter นั้นเอง

 

 

ข้อมูลจาก 

Atomic Energy Regulatory Board (Mumbai 400 094)

 

  

สรุป : การกรองรังสีทั้งหมด Total Filtration เป็นผลรวมของ Inherent filter (คือ หลอดแก้วและน้ำมัน+อื่นๆที่อยู่ในหลอดเอกซเรย์) กับ Added filter ( คือ วัสดุที่เพิ่มเข้าไป โดยเพิ่มจากภายนอกของหลอดเอกซเรย์) ปกติแล้ว ค่าการกรองรังสีทั้งหมด จะมีค่าประมาณ 2.0 –2.5 mm.Al. โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกรองรังสีพลังงานต่ำให้ออกไป ช่วยลดอันตรายแก่ผู้ป่วยที่มารับบริการตรวจ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 408744เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2010 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณครับอาจารย์ ที่มาช่วยรื้อฟื้นความรู้เก่า ๆ ให้

มาชื่นชมกับ ความตั้งใจ ของ อ.ต้อม ที่จะใช้ Blog เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ครับ

เรียน คุณnainop

ขอบคุณที่มาทบทวน มารื้อฟื้น เป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่ง สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ ครับ

เรียน อ.จิตเจริญ ที่เคารพ

บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างคณาจารย์กับบัณฑิต คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

อาจารย์เป็นต้นแบบที่ดีคนหนึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นให้พวกเราได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครับ

ขอบที่แวะมาเยี่ยม ครับ

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์..สำหรับความรู้ Instrument...ดีมากๆค่ะ

สวัสดีครับ อ.ต้อม ผมเปิดอ่านทุกเมล์ที่ อ.ต้อม ส่งมา แต่ไม่เคยตอบ

ได้แต่เอาความรู้จากอาจารย์ มาสอน นศ.ฝึกงาน กับ จนท.ในแผนกฯ

ส่งความเห็นมาแสดงความคาราวะเป็นอย่างสูง ในวิทยาทานครับ

เรียน คุณฐิตินันท์ และ คุณสุรวุฒิ

ความรู้ ยิ่งแจก ยิ่งได้ หมายถึง ความรู้เผยแพร่ออกไป กระจายออกไปในวงกว้าง คนที่ได้รับรู้ ได้เรียรู้ จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หากองค์ความรู้เหล่านี้ได้นำไปต่อยอด ก็จะมีแต่คนได้รับประโยชน์ในทางตรง ทางอ้อม และมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย

ความรู้ หากเก็บไว้กับตัวเอง ไม่เผยแพร่ ไม่นานก็เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม มาแลกเปลี่ยน มาบอกเล่าบางส่วนของประสบการณ์ ครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์เข้าใจชัดเจนมากกว่าเดิม

ทบทวนแบบ mini ได้ดีมากคะ ขอบคุณมาก

เรียน คุณmetahasit และ พี่ Ped

การทบทวน เป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความทรงจำ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ ได้อ่านและทำความเข้าใจในเนื้อหาแล้ว จะนำเอาเนื้อหาไปใช้สอบของวิชาอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท