ฝ่ายบุคคลกับทัศนคติต่อพนักงาน


การทำงานในฝ่ายบุคคลนั้นปัจจุบันถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญมากในการช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจไปถึงเป้าหมายได้ ผิดกับสมัยก่อน(นานมาแล้ว) ที่ฝ่ายบุคคลเป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก และไม่มีใครมอง รวมทั้งไม่อยากมองด้วย บทบาทหน้าที่ของฝ่ายบุคคลในสมัยก่อนก็คือ การรับสมัครพนักงาน ตรวจสอบใบสมัคร แล้วก็ทำสัญญาจ้าง ทำเงินเดือน บริหารสวัสดิการ ดูแลจับผิดพนักงานเรื่องของระเบียบข้อบังคับต่างๆ ฯลฯ ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นงานประจำที่ทำซ้ำๆ และไม่ค่อยมีคุณค่าอะไรต่อองค์กรในภาพรวมมากนัก

แต่ในสมัยนี้ ฝ่ายบุคคลในหลายๆ องค์กรเป็นฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตขององค์กรเลยทีเดียว ในการวางแผนกลยุทธ์ต่างๆ ฝ่ายบุคคลจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง รวมทั้งให้ข้อมูลทางด้านแผนกำลังคน และวางแผนกำลังคนให้ในภาพรวม เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ เรียกได้ว่าตั้งแต่ขั้นตอนในการหาคนเข้ามา ก็ต้องเริ่มคิดเป็นกลยุทธ์แล้วว่าคนที่เราต้องการหาเข้ามานั้นเป็นอย่างไร จะหาได้จากที่ไหน พอหามาได้ ก็ต้องหาทางในการพัฒนาเขาต่อให้ดีขึ้น และรักษาพนักงานไว้ให้ทำงานกับองค์กรไปนานๆ โดยพิจารณาถึงนโยบายและวิธีในการจูงใจต่างๆ ที่เหมาะสมกับพนักงานของตนเอง

ธุรกิจสมัยนี้ส่วนใหญ่ต้องการฝ่ายบุคคลในแบบหลัง ก็คือ เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จขององค์กร และบริหารงานบุคคลในเชิงรุก รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อพนักงานอีกด้วย เพราะในการบริหารบุคคลยุคเก่านั้น ส่วนใหญ่ฝ่ายบุคคลมักจะทำตัวเป็นตำรวจ คอยสอดส่องจับผิดพนักงานไปเรื่อย พนักงานเองก็รู้สึกไม่ค่อยดีนักกับฝ่ายบุคคล เพราะเป็นฝ่ายที่เวลาเข้าไปหา ก็คือเวลาที่มีปัญหาในแง่ของการลงโทษมากกว่าอย่างอื่น

แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า ผมก็ยังพบเจอฝ่ายบุคคลที่ยังคงทำตนเหมือนกับเป็นตำรวจ และเป็นผู้คุมกฎ บางแห่งพนักงานก็เรียกว่าเป็นฝ่ายปกครอง (เหมือนกับในโรงเรียนที่มีครูฝ่ายปกครองซึ่งนักเรียนจะไม่ค่อยชอบเท่าไรนัก) ฝ่ายบุคคลยังคงมีมุมมองที่ไม่ดีต่อพนักงาน มองพนักงานว่าเป็นเพียงคนทำงานที่ใช้แรงงานไปวันๆ ดังนั้นก็มักจะเชื่อว่าพนักงานกลุ่มนี้ก็อยากจะทำผิดระเบียบตลอดเวลา ไม่อยากทำอะไรให้มันถูกต้อง และจ้องที่จะลงโทษพนักงานอยู่เสมอ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นพนักงานในองค์กรแบบนี้ ผมก็คงทำงานอย่างไม่มีความสุขเลย ขึ้นชื่อว่าฝ่ายบุคคลแต่กลับทำหน้าที่จับผิด และลงโทษมากกว่า

ก็มีบางแห่งนะครับที่มานั่งพูดคุยกับผมพร้อมกับบ่นว่า พนักงานของเขาไม่มีอะไรดีเลย ทำผิดวินัย ทำผิดระเบียบ คอยคิดแต่จะเอาเปรียบบริษัท จับกลุ่มรวมหัวกันต่อต้านหัวหน้า ฯลฯ เคยคิดมั้ยครับว่าทำไมถึงเกิดกรณีต่างๆ แบบนี้ขึ้นมาได้ จริงๆพนักงานเหล่านี้ก็ฝ่ายบุคคลเองไม่ใช่หรือ ที่เป็นคนรับสมัครเข้ามา สัมภาษณ์เอง รวมทั้งก็ปฐมนิเทศเองอีกต่างหาก อีกทั้งยังวางแผนในการพัฒนาพนักงานกลุ่มนี้อีกด้วย แต่กลับกลายเป็นว่ามองพนักงานที่ตนเองหาเข้ามาเองว่า ใช้ไม่ได้ทุกเรื่อง แบบนี้ก็เหมือนกับการกล่าวโทษตัวเองมากกว่า

สิ่งที่ฝ่ายบุคคลสมัยใหม่จะต้องทำก็คือ ร่วมกับฝ่ายต่างๆ ในการกำหนดมาตรฐานในการหาพนักงาน และต้องคัดเลือกพนักงานแบบเข้มข้นเพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมกับองค์กรมากที่สุด และจะต้องส่งเสริมให้พนักงานทำดี ไม่ใช่คอยจับผิด การส่งเสริมกับการจับผิดนี่ต่างกันราวฟ้าดินเลยนะครับ จากนั้นก็ต้องมีการวางแผนพัฒนาพนักงาน โดยถ้าพนักงานคนไหนมีอะไรที่ไม่ดี ก็จะต้องใช้วิธีการในเชิงบวกเพื่อพัฒนาพนักงานต่อไป ลองไปดูนโยบายการบริหารบุคคลของ Google ดูก็ได้ครับ เขาเน้นไปในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับครับ

ถามว่าลงโทษได้หรือไม่ ได้ครับ ถ้าพนักงานทำผิดกฎระเบียบก็ต้องลงโทษไปตามกฎระเบียบของบริษัทที่กำหนดไว้ เพื่อให้เป็นตัวอย่าง แต่ไม่ใช่เอาเรื่องของการลงโทษ หรือเรื่องของกฎระเบียบวินัยมาเป็นจุดเน้น เพราะมันไม่มีประโยชน์เลยครับ ผมว่าไปเน้นการบริหารงานเชิงบวกจะดีกว่านะครับ

ผมเคยเห็นฝ่ายบุคคลของบางบริษัทเป็นที่พึ่งให้กับพนักงานได้ทุกคนเลย และพนักงานก็รักฝ่ายบุคคลมาก เพราะเวลามีปัญหาอะไร เขาก็สามารถที่จะให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาเรื่องของคนได้เกือบทุกเรื่อง อีกทั้งยังส่งเสริมสิ่งที่ดี และเหมาะสม จนพนักงานรู้สึกเห็นคุณค่าของฝ่ายบุคคลในองค์กร มากกว่าเป็นหน่วยงานจ้องจับผิดครับ

คำสำคัญ (Tags): #ฝ่ายบุคคล
หมายเลขบันทึก: 408731เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2010 05:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท